20 ต.ค. 2020 เวลา 08:30 • การศึกษา
ความรุนแรง...กลืนกินความรัก
“เมื่อความรักสลายไป ความรุนแรงจะเข้ามาแทนที่” ตราบใดที่ความรู้ตัวยังไม่กลับมา ไฟแห่งความรุนแรงจะยิ่งลุกลาม
“ความรุนแรง”
บางครั้งมนุษย์เรา
ก็สามารถสัมผัสสิ่งนี้ได้นับตั้งแต่วัยเด็ก
เช่น
-เห็นพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูทะเลาะกัน
-โดนคำพูดเปรียบเทียบทำร้ายจิตใจ
-ถูกทำลายความไว้วางใจผ่านท่าทีรุนแรงและการล่วงละเมิด
-ได้รับการเพิกเฉยทิ้งไว้จนเป็นเหมือนสิ่งของไร้ค่า
ความรุนแรงเหล่านี้สามารถสร้างรอยบาดแผล
“ประทับเอาไว้ในกายใจ”
จนยากที่จะลบเลือนออกไปได้ง่าย ๆ
ซึ่งบางครั้งเด็กน้อยผู้โชคร้ายเหล่านั้น
ก็อาจตั้งคำถามขึ้นมาว่า
“หนูเป็นลูกของพ่อแม่จริง ๆ รึเปล่า…”
ซึ่งการทำงานในบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษา
ผมเคยได้ยินคำถามเหล่านี้จากผู้รับบริการมากมาย
บอกตามตรงเลยว่า โคตรสะเทือนใจครับ
เพราะนี่เป็นคำถามที่ใสซื่อบริสุทธิ์
“ซึ่งมาจากหัวใจอันปวดร้าว”
บทความในวันนี้ผมจึงขอชวนท่านผู้อ่าน
มาร่วมกันทำความเข้าใจเรื่องของความรุนแรง
“เหตุใดใจของมนุษย์เรา…จึงสามารถสร้างความรุนแรง”
เราอาจเริ่มจากการมองธรรมชาติรอบตัว
เพราะธรรมชาติมีบทเรียนอย่างหนึ่ง
ที่ชวนให้เรากลับมาสังเกตธรรมชาติของชีวิต
นั่นคือเรื่องของ “ฤดูกาล”
ฤดูกาลนั้นได้มอบทั้งความหนาวเย็น
พายุคลื่นลมโหมกระหน่ำ ความร้อนแรงแผดเผา
หยาดฝน สายลมอันอ่อนโยน แสงอาทิตย์อันอบอุ่น
“ส่งผลให้กับทุกชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ”
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้
ล้วนเกิดขึ้นตามจังหวะเวลาของตนเอง
“ผ่านมาแล้วผ่านไป”
ไม่มีการแบ่งแยก
ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ทะเลาะกัน
“เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกัน”
เข้ามาดูแลซึ่งกันและกัน “โดยไม่หวังผลประโยชน์”
ผ่านเข้ามามอบประโยชน์ แล้วจากไปเมื่อเวลามาถึง
ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ที่บางครั้งก็ไม่รู้จักเรื่องของจังหวะ
ถึงเวลาหยุดไม่หยุด ถึงเวลาปล่อยวางแต่กลับแบกไว้
ถึงเวลาต้องไปแต่กลับพยายามยื้อไว้
“หมกมุ่นอยู่กับการกอบโกย”
จิตใจที่เต็มไปด้วยความปรารถนายึดครอง
ทั้งการกอบโกย ก้าวก่าย ล่วงเกิน หวังผล และล้ำเส้น
“มักจะยึดถือตัวเองไว้เป็นศูนย์กลาง”
โดยไม่สนใจว่าผู้อื่นหรือสิ่งอื่น “จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร”
ภาวะเช่นนี้จะมีการแบ่งเขตในจิตใจขึ้นมามากมาย
เช่น
-ฉันอยู่สูง…แกอยู่ต่ำ
-ฉันเป็นฝ่ายถูก…แกเป็นฝ่ายผิด
-ฉันดี…แกเลว
-ฉันต้องชนะเท่านั้น…แกต้องพ่ายแพ้ย่อยยับ
-ฉันรอด…แกตาย
เมื่อใครสักคนอยู่ในภาวะที่จิตใจแบ่งเขตเช่นนี้
“จิตใจจะโหยหาสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง”
แล้วเมื่อผิดหวังไม่ได้ดั่งใจ
ก็พร้อมที่จะทำลายทุกสิ่งที่เข้ามาขัดขวาง
ความรุนแรงจึงเป็นผลปลายทาง
จากการยึดติดอยู่กับสิ่งที่ปรารถนา
“โดยไม่หลงเหลือความใส่ใจต่อชีวิตอื่น ๆ”
ซึ่งทำให้ความคิด คำพูด ท่าที และพฤติกรรม
ถูกเจือปนไปด้วยไฟของความรุนแรง
แล้วเมื่อยิ่งเติมเชื้อเพลิงแห่งความยึดติด
เติมพลังของการไม่รู้จักปล่อยวาง
“อยากได้บางสิ่งจนหน้ามืดตามัว”
ภาพของผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม “ผู้ที่อยู่ในฝั่งที่ขัดขวาง”
ไม่ว่าจะเป็น…ลูก/คนรัก/พ่อแม่/เพื่อน/พี่น้อง/ครูอาจารย์/ลูกศิษย์/คนรู้จัก
ด้วยใจอันโหดเหี้ยมรุนแรงเช่นนี้
อาจเปลี่ยนภาพของเพื่อนมนุษย์
ผู้ที่มีจิตใจและเลือดเนื้อ “ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเคียงข้างกัน”
ให้กลายเป็นเพียงฝุ่นผง
ให้กลายเป็นขยะไร้ค่า
ให้กลายเป็นสิ่งที่จะย่ำยีอย่างไรก็ได้
เราจึงเห็นภาพความรุนแรง
“ที่เกินจะบรรยาย”
ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัว
ในโรงเรียน ในที่ทำงาน
ตามถนนหนทาง ตามสนามรบ
“ทุกที่ซึ่งมีการแบ่งแยกและแบ่งเขต”
ด้วยเหตุนี้เอง
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่เราจะไม่มองเห็นความป่าเถื่อนรุนแรงว่าเป็นเรื่องปกติ
ไม่ปล่อยให้ไฟของความคับแค้นครอบงำจิตใจของเรา
ไม่เชื้อเชิญความเหี้ยมโหดมาแทนที่ความเห็นอกเห็นใจ
“เริ่มจากสังเกตความรักที่กำลังจางหายไปจากหัวใจของเรา”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา