11 พ.ย. 2020 เวลา 12:46 • การศึกษา
ราคาที่ต้องจ่าย...จากการประเมินตัดสิน
หากเราไม่เท่าทันการประเมินตัดสินในจิตใจ ความคิดเห็นเพียงเล็กน้อย อาจเปลี่ยนเป็นความเดือดดาล “สร้างคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ และท่าทีอันเหี้ยมโหด”
มิตรภาพอันล้ำค่า
อาจถูกทำลายลงในชั่วพริบตา
“หากเราถูกครอบงำด้วยความเดือดดาล”
เราอาจนึกถึงเพื่อนที่รักกันมาก
แต่กลับต้องมาแตกคอกันด้วยความแตกต่าง
เช่น
-ความคิดเห็นต่างกัน
-ความเชื่ออยู่คนละฟากฝั่ง
-ความชอบคนละรูปแบบ
“แกเป็นฝ่ายผิด…ฉันเป็นฝ่ายถูก”
หากสภาวะเช่นนี้ยังคงลุกลาม
แล้วต่างฝ่ายยังคงดึงดันเอาชนะกันอยู่เช่นนี้
ในท้ายที่สุดมิตรภาพก็อาจถึงจุดแตกหัก
ลำพังตัวความคิดเห็น และความแตกต่าง มิอาจสร้างปัญหา
แต่ปัญหาจะเติบโตขึ้นทันที
“หากเราพ่วงด้วยการประเมินตัดสิน”
ซึ่งการประเมินตัดสินนี้
เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจ
มอบอำนาจให้เรา
“เป็นผู้ที่พิพากษาทุกสรรพสิ่งในชีวิต”
ว่าแบบไหนถูกผิด/ดีร้าย
เช่น
-ความขยันเป็นสิ่งที่ดี…ไม่ควรมีความขี้เกียจ
-ความแข็งแกร่งคือสิ่งที่จำเป็น…ไม่ควรแสดงความอ่อนแอ
หากสังเกตอย่างรอบด้าน
เรามักจะพบว่า “มีคำว่า ดี พ่วงมาเสมอ”
การยึดติดในสิ่งที่เชื่อว่า ดี
จึงทำให้เกิดการผลักไสในสิ่งที่เชื่อว่า ไม่ดี
การผูกมัดว่า ควรทำและควรเป็น
จึงทำให้เกิดการต่อต้านว่า ไม่ควรทำและไม่ควรเป็น
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดฟากฝั่งในจิตใจ
“ฟากฝั่งที่ดี/ควร/ชอบ และฟากฝั่งที่ไม่ดี/ไม่ควร/ไม่ชอบ”
การได้เห็นในสิ่งที่ดี/สิ่งที่ควร/สิ่งที่อยากเห็น
ความชอบจึงเกิดขึ้นตามมา
และการได้พบในสิ่งที่ไม่ดี/สิ่งที่ไม่ควร/ไม่ปรารถนา
ความไม่ชอบจึงปะทุตามมา
“ปัญหาจะเกิดขึ้น…หากเราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่อยากเห็น”
จนเราเผลอใช้ความไม่พอใจ
ไปตัดสินสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ตรงตามความชอบของตัวเอง
ไปตัดสินสิ่งที่ไม่ตรงตามนิยามของตัวเองที่เรียกว่า ดี/สมบูรณ์/ควรทำ/ควรเป็น
เช่น
-เห็นเพื่อนไม่ทำงาน…แล้วไปตัดสินเพื่อนว่า “ขี้เกียจ”
แล้วซ้ำเติมต่ออีกว่า แบบนี้ไม่ดี/ไม่ควรทำ/ควรจะขยันสิ
-เห็นเพื่อนร้องไห้…แล้วไปตัดสินเพื่อนว่า “อ่อนแอ”
แล้วตอกย้ำอีกว่า แบบนี้แย่มาก/หยุดซะที/ทำไมไม่รู้จักเข้มแข็ง
ตัวอย่างเหล่านี้
ล้วนแสดงถึงการรีบด่วนตัดสินโดยปราศจากความเข้าใจ
“ไม่ทำความเข้าใจ…เอาแต่ตัดสิน”
ด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวและปราศจากความเข้าใจเช่นนี้
สามารถสร้างแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
โต้เถียง และแตกหักกัน
การแบกคำตัดสินและคำพิพากษา
“ขัดขวางการทำความเข้าใจ”
เราจึงไม่มีทางรู้เลยว่า
เส้นทางชีวิตของแต่ละคน
มีที่มาและความเป็นไปอย่างไร
“คำว่าดีของเรา…อาจจะเป็นยาพิษของผู้อื่น”
“ความชอบของเรา…อาจจะเป็นความเจ็บปวดของผู้อื่น”
ซึ่งปิดบังเส้นทางแห่งความเข้าใจไปจนหมดสิ้น
บางครั้งการพัก ก็ไม่ได้แปลว่า ขี้เกียจ
“แท้จริงแล้ว…แค่เหนื่อยและต้องการหยุดพักเติมพลัง”
บางครั้งการร้องไห้ ก็ไม่ได้แปลว่า อ่อนแอ
“แท้จริงแล้ว…เป็นการยอมรับความเจ็บปวดในหัวใจ”
ความจริงที่แท้นั้น “จึงมีมากกว่า…สิ่งที่ตามองเห็น”
ดังนั้น
แทนที่จะผูกติดอยู่กับการตัดสินว่า
สิ่งไหนดี หรือ สิ่งไหนไม่ดี
สิ่งไหนสมบูรณ์ หรือ สิ่งไหนบกพร่อง
สิ่งไหนควร หรือ สิ่งไหนไม่ควร
เราอาจลองเปลี่ยนจากท่าทีของการประเมินตัดสิน
มาเป็นการทำความเข้าใจอย่างชัดเจนซื่อตรง
-“สิ่งใดที่เหมาะกับแต่ละคน…สิ่งใดที่พอดีกับแต่ละคน”
-“แท้จริงแล้วอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเค้า”
ซึ่งจะช่วยให้เราเปิดใจรับความแตกต่างมากขึ้น
อยู่กับความเป็นจริงตรงหน้าอย่างซื่อตรงมากขึ้น
เห็นใจและเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
“อยู่กับความแตกต่าง...ด้วยจิตใจที่มั่นคง”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา