17 พ.ย. 2020 เวลา 08:08 • การศึกษา
หนีความเจ็บปวด...ด้วยการตามหาคนที่ใช่
บางครั้งการหนีความเจ็บปวด ก็มาในรูปของ “การอยากมีใครสักคน”
“สัมพันธภาพ”
เป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกเชื่อมโยง
มอบความใกล้ชิด
เปิดโอกาสให้เราได้เข้าใจ ใส่ใจ
“พึ่งพาอาศัยกัน”
ความผูกพันที่ลึกซึ้งนั้น
สามารถสลายความโดดเดี่ยว
เยียวยาความเดียวดายที่เกาะกุมหัวใจ
มอบความอบอุ่นและความหมายให้แก่ชีวิต
ซึ่งสภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น
-คนในครอบครัวและเครือญาติ
-เพื่อนและพี่น้อง
-ความเป็นศิษย์อาจารย์
-คู่รัก
-คนที่เรารู้จัก
-คนหรือสิ่งที่เราได้ดูแล
-สัตว์เลี้ยงและธรรมชาติรอบตัว
“ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น”
ผ่านการบ่มเพาะจนเกิดเป็นความเข้าใจและใกล้ชิดอันลึกซึ้ง
หากเป็นสัมพันธภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งมิใช่เป็นการบ่มเพาะอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“แต่เป็นการบีบบังคับให้เกิดความผูกพันขึ้นมา”
เราอาจมองเห็นได้จากสัมพันธภาพที่แตกร้าว
ซึ่งจบลงด้วยการทะเลาะ ขัดใจกัน
การไม่เข้าใจ การนอกใจ
จนนำไปสู่ความรุนแรง
และบางครั้งก็อาจถึงขั้นเอาชีวิตกัน
การบีบบังคับ หรือ ควบคุมบงการ
เป็นลักษณะหนึ่งของความคาดหวัง
“เป็นความต้องการ และการอยากได้แบบทันทีทันใด”
ซึ่งรากฐานของความคาดหวัง
มักจะซ่อนความเจ็บปวด ความหวาดกลัว
และความไม่รู้ตัว
“จนสุดท้ายได้สร้างพฤติกรรมแบบบีบบังคับขึ้นมา”
เมื่อเกิดกับการสร้างความผูกพันเสียแล้ว
เราจึงมักพบเห็นปรากฎการณ์มากมาย เช่น
-การหาใครก็ได้มาเติมเต็มและอยู่เคียงข้าง
-การหาใครสักคนมาคลายความเหงา
-การต้องอยู่ใกล้ชิดใครสักคนตลอด
-การทนไม่ได้ที่จะต้องอยู่คนเดียว
-การพยายามควบคุมคนที่เข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์
-การบีบบังคับคนอื่นให้มาทำหน้าที่คอยตามใจและดูแล
ถ้าความผูกพันเป็นไปตามการควบคุม
จะนำมาซึ่งประสบการณ์ของ “การถูกเติมเต็ม/ความใกล้ชิด/มีคนอยู่เคียงข้าง”
ส่งผลให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจตามมา
แต่หากเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามใจหวัง
ความผูกพันที่พยายามควบคุมมาตลอด
เกิดพังทลาย และไม่สามารถควบคุมได้
ย่อมนำมาซึ่งประสบการณ์ของ “ความเจ็บปวด/หวาดกลัว/ความโหยหา/ความโดดเดี่ยว”
ส่งผลให้เกิดความรู้สึกขัดใจและไม่พึงพอใจ
โดยจะนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจ
นั่นคือ “สูญเสียการควบคุม”
รวมทั้งรับไม่ได้ที่ความผูกพันไม่เป็นไปตามแผน
และไม่อยากเห็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อีกต่อไป
ซึ่งอาจทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบ
ทั้งการชวนทะเลาะ ตำหนิ ด่าทอ และการเลิกราอย่างฉับไว
“เป็นการตามหา ควบคุม ผิดหวัง และเลิกรา…วนลูปซ้ำไปซ้ำมา”
เมื่อการอยู่อย่างโดดเดี่ยว
และความรู้สึกสูญเสียการควบคุม
กลายเป็นภาวะที่ต้องหลบหนี
“บีบให้ชีวิตต้องตามหาและบงการใครสักคน”
ทั้งหมดนี้จึงกลับกลายเป็นการตัดสินใจ และแสดงพฤติกรรม
“เพื่อหลบหนีความเจ็บปวดในจิตใจ”
ราคาที่ต้องจ่ายจากการหลบหนีครั้งนี้
จึงเป็นการฝากความสุขไว้กับผู้อื่น
“ฝากความสุขไว้กับการควบคุมบงการผู้อื่น”
ทุกประสบการณ์ในจิตใจของเราที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะทุกข์โศกเพียงใด
“ล้วนเรียกร้องให้เราใส่ใจ…มิใช่หลบหนี”
เพื่อให้เราทำความเข้าใจ และหาทางเยียวยา
อาจเปรียบได้กับร่องรอยแตกร้าวที่มาจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
สิ่งที่พึงทำก็คือซ่อมแซมสิ่งที่แตกร้าว
“มิใช่ทำเป็นไม่เห็น/ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้/เดินหลบเลี่ยงไป”
ดังนั้น
ความทุกข์ในชีวิต “คล้ายกับร่องรอยที่เกิดจากแผ่นดินไหวทางใจ”
มีที่มาซึ่งแฝงเร้นอยู่ในจิตใจ
โดยความทุกข์/ความโดดเดี่ยว/ความเจ็บปวด
ล้วนมีเบื้องหลัง มีสาเหตุ และมีแหล่งกำเนิด
“มีรอยแตกร้าวที่ซ่อนอยู่”
เช่น
-ภาพจำฝังใจ
-สิ่งที่ยังค้างคาใจ
-ความเจ็บปวดและความกลัวที่เก็บซ่อนไว้
“สาเหตุอยู่ภายใน…แสดงออกมาเป็นการเรียกร้องคาดหวัง”
เราจึงมีหน้าที่ในการยอมรับ นอบน้อมต่อความทุกข์เหล่านั้น
มิใช่หมกมุ่นอยู่กับการตามหาใครสักคน
และสร้างวังวนชีวิตอันเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“โอบกอดความเจ็บปวด…มองหาหนทางและทรัพยากรในการดูแลตนเอง”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา