19 พ.ย. 2020 เวลา 08:57 • การศึกษา
การเปรียบเทียบ...คำดูถูกที่เราใช้ซ้ำเติมตนเอง
การถูกสั่นคลอนด้วยคำเปรียบเทียบ ล้วนมีร่องรอยมาจากความเจ็บปวด และความฝังใจจากอดีต
“การเปรียบเทียบ”
เป็นเครื่องมือทางใจอย่างหนึ่งของมนุษย์
ซึ่งเราสามารถรับรู้ถึงเครื่องมือนี้ได้ตั้งแต่วัยเด็ก
การเปรียบเทียบ/การแยกประเภท/การจำแนกความแตกต่าง
เริ่มจาก…
-นี่คือตัวฉัน/นั่นคือสิ่งแวดล้อม เช่น ตนเอง/บ้าน/โต๊ะเก้าอี้/หมาแมว/ภูเขาแม่น้ำ
-ร่างกายตัวเอง/ร่างกายผู้อื่น เช่น ตัวฉัน/พ่อแม่/พี่น้อง/เพื่อน/ครู
-การกระทำ เช่น ฉันเดิน-เธอวิ่ง/ฉันทำการบ้าน/เธอเล่นมือถือ
-การเปรียบเทียบ เช่น ฉันเร็ว-เธอช้า/ฉันได้คะแนนเยอะ-เธอได้คะแนนน้อย/ฉันฉลาด-เธอโง่
-การตั้งเงื่อนไขในสิ่งที่เปรียบเทียบ เช่น ถ้าเก่งและฉลาดจะมีคนรัก/ถ้าเข้มแข็งจะไม่ถูกทิ้ง
-การยึดถือในสิ่งที่เปรียบเทียบ เช่น ฉันต้องเก่งและฉลาดเสมอ/ฉันต้องไม่แสดงความอ่อนแอ
ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที
หากเรายึดถือในคำเปรียบเทียบ/คำอธิบาย “ที่เราสร้างขึ้นเอง”
ซึ่งบางครั้งเราก็จดจำจากผู้คนรอบตัว
รวมทั้งการเรียนรู้จากความสุขและความเจ็บปวด
“ต้องไปทางไหนถึงจะสุข…ต้องเลี่ยงสิ่งใดถึงจะไม่ทุกข์”
ด้วยเหตุนี้
“กระบวนการในจิตใจ”
จึงสร้างความเคยชินที่จะเข้าหาและหลบหนี
ตามมาด้วยการเปิดเผยส่วนที่คิดว่า “สมบูรณ์”
และปกปิดในส่วนที่เชื่อว่า “บกพร่อง”
เช่น
-แสดงความแข็งแกร่ง/ปกปิดความอ่อนแอ “เพราะไม่อยากโดนทิ้ง”
-เปิดเผยความรอบรู้/เก็บซ่อนความงุนงงสับสน “เพื่อจะได้รับคำเชยชม”
-มีความกล้าหาญ/กลบเกลื่อนความหวาดกลัว “เพื่อจะได้มีคุณค่า”
-ชอบเอาชนะ/หลบเลี่ยงความพ่ายแพ้ “เพื่อจะได้การยอมรับ”
-ไล่ล่าความสำเร็จ/หลีกหนีความล้มเหลว “เพื่อจะได้รับความรัก”
-พึ่งพาตนเองทุกอย่าง/เลี่ยงการขอความช่วยเหลือ “เพื่อจะได้ไม่รู้สึกถึงการเป็นตัวถ่วง”
ภาวะเหล่านี้ได้ทำให้เราพยายามรักษาเส้นทางที่สมบูรณ์แบบ
และป้องกันตัวเองอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะไม่หลุดออกนอกเส้นทาง
“รักษาเส้นทาง = รักษารางวัลที่จะได้รับ”
ผลที่ตามมาก็คือ
“การตัดสิน การกดดัน และตั้งคำถามกับตนเองอยู่ตลอดเวลา”
เช่น
-ฉันดีพอหรือยัง
-ฉันเก่งพอรึเปล่า
-ฉันต้องเข้มแข็ง
-ฉันควรเข้าใจทุกอย่าง
-ฉันไม่ควรพ่ายแพ้
-ฉันจะไม่มีวันพึ่งพิงคนอื่น
แล้วพ่วงมาด้วยความเหนื่อยล้า
ช่องว่างในใจ ความโดดเดี่ยว
และความรู้สึกที่โหยหาการเติมเต็ม
ที่เรารู้สึกเช่นนี้
“เพราะเราพยายามเป็น…ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็น”
“การเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็น”
คล้ายกับเราถือของมาหนัก ๆ
แล้วมีคนอาสาจะช่วยเราถือ
เค้าอาจถามเราว่า “หนักไหม…ช่วยถือได้นะ”
และด้วยการหลีกหนีของเรา (ไม่อยากเป็นภาระ/ไม่อยากดูอ่อนแอ)
เราก็อาจตอบไปว่า “ไม่หนัก…ไม่เป็นไร…แค่นี้ถือได้สบายมาก”
“การใช้ชีวิตด้วยคำเปรียบเทียบ และ การหลบหนี เช่นนี้”
อาจช่วยให้เราหลบหลีกความเจ็บปวดในใจเพียงชั่วคราว
แต่กลับต้องแลกมาด้วยการฝืนตัวเอง การปิดกั้นตัวเอง การไม่อยู่กับปัจจุบัน
และการตัดขาดจากมิตรภาพ-สิ่งดี ๆ รอบตัว
“ไม่ยอมใช้ชีวิตอย่างเต็มที่”
“การไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่”
เป็นการมัวแต่ปิดบังอำพราง
ยอมให้ตัวเองสุข-ไม่ยอมให้ตัวเองทุกข์
“ซ่อนตัวเองอยู่ในเปลือก…ขังชีวิตไว้ในคุกทางความคิด”
จึงต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดในระยะยาว
การย่ำอยู่กับที่ และการผิดพลาดซ้ำรอย
“ไม่ได้เรียนรู้…ไม่ยอมเติบโต”
ด้วยเหตุนี้
การเปรียบเทียบ/การดูถูก/การตัดสินตัวเอง
“จึงมีบทเรียนที่รอคอยให้เราได้เรียนรู้”
ที่จะไม่ปิดบังตนเอง ไม่เก็บซ่อนความเปราะบางในตนเอง
ไม่กลบเกลื่อนละเลยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชีวิต
ดังนั้น
สิ่งที่เราทำได้ก็คือ
-สังเกตคำตัดสินที่เรามอบให้กับตนเอง
-สังเกตการปิดกั้นตัวเอง “ความรู้สึกที่ไม่อยากบกพร่อง/ไม่อยากเปราะบาง”
-ยอมรับกับตนเองว่า “ไม่เป็นไรที่เราจะเปราะบาง/ไม่เป็นไรถ้าหากเราจะไม่รู้”
-กล้าเปิดเผยตนเอง “กล้าขอความช่วยเหลือ/กล้าพูดว่าไม่รู้/กล้าพูดว่ารู้สึกเจ็บปวด”
เมื่อเราไม่ปิดบังตนเอง
เราจึงมีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
“เป็นอิสระจากการปิดบังความทุกข์”
ผ่านการเคียงข้างและแบ่งปันสุขทุกข์กับมิตรสหาย
ใกล้ชิดกับครอบครัวผ่านการช่วยเหลือกันยามทุกข์ยาก
“เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถยิ้มได้ในยามสุข และ ร้องไห้ได้ในยามทุกข์”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา