23 พ.ย. 2020 เวลา 11:44 • การศึกษา
ความอิจฉา...กำลังบอกอะไร ?
เบื้องหลังของความอิจฉา ล้วนเก็บงำความเจ็บปวด และซ่อนความผิดหวังเจ็บแค้นไว้ในหัวใจ
ในชีวิตประจำวันของเรา
มีคำถามและคำพูดมากมายที่สามารถสะท้อนความคับข้องใจ
ตัวอย่างเช่น
-ทำไมไม่มีแบบเค้า
-เพราะอะไรถึงทำไม่ได้เหมือนคนอื่น
-ไม่อยากให้เป็นแบบนี้เลย
ข้อความเหล่านี้แสดงถึงการเปรียบเทียบ
รวมทั้งความไม่พอใจที่ปะทุออกมา
และตามมาด้วยการอยากมี/อยากเป็น
“เจ็บใจในสิ่งที่ตนเองมี และอยากได้เหมือนที่คนอื่นมี”
หากจะสรุปเป็นคำสั้น ๆ เราอาจจะเรียกว่า “ความผิดหวัง”
ความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิต
คล้ายกับการที่เราพยายามสร้างบ้านบนผืนดินที่กว้างใหญ่ไพศาลแห่งหนึ่ง
ซึ่งผืนแผ่นดินแห่งนี้รอบ ๆ ตัวเราก็มีคนที่สร้างบ้านเช่นเดียวกัน
แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง “ดันเกิดเหตุแผ่นดินไหว”
เล่นงานจนบ้านทุกหลังสั่นสะเทือน
บ้านบางหลังก็ยังยืนหยัดอยู่ได้
บ้านบางหลังก็มีความเสียหายหรือรอยแตกร้าวบ้างเล็กน้อย
และมีบ้านที่โชคร้ายหลังหนึ่งได้พังทลาย
ตัวเจ้าของบ้านที่พังพินาศหลังนั้น
อาจพูดออกมาว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน…ทำไมมันซวยแบบนี้”
ท่ามกลางความสูญเสียครั้งใหญ่
เค้าอาจมองเห็นบ้านหลังอื่นที่ยังสวยงามและไม่โดนทำลาย
“จนเกิดเป็นความไม่พอใจ ความอิจฉาในใจ และคำถามในใจ”
ว่าเพราะอะไร…
ถึงไม่ได้ครอบครองบ้านที่แข็งแรงแบบที่ผู้อื่นมี
และทำไมตนถึงได้โชคร้ายอยู่คนเดียวแบบนี้
หากเราไม่รีบด่วนตัดสินว่า “ความอิจฉา คือ สิ่งที่ไม่ดี”
เราย่อมสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์นี้ได้
ถึงสิ่งที่ผลักดันให้เกิดเป็นความอิจฉาขึ้นมา
เราอาจเริ่มจากมองดูธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์
นั่นคือ “ความเปราะบาง”
มนุษย์เรานั้น ถือเป็นเผ่าพันธุ์ที่เปราะบางอย่างยิ่ง
“โดยเฉพาะตอนแรกเกิด”
หากไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเพียงพอ
เราก็อาจตายได้ตั้งแต่ตอนคลอด
หรือตอนที่ยังเป็นทารกตัวน้อย ๆ
“ตัวประสบการณ์แห่งความเปราะบางและอ่อนแอ”
จึงสามารถปรากฏขึ้นได้ในร่างกายและจิตใจของเรา
เช่น
-ตอนที่เราเจ็บป่วย หรือแม้แต่ การเฉียดใกล้ความตาย
-ช่วงเวลาที่เราเศร้าเสียใจอย่างหนัก
-เกิดความสูญเสียบางอย่างในชีวิต เช่น การงาน ครอบครัว คนรัก พี่น้อง และลูกหลาน
ทั้งหมดนี้นั้น
“สามารถทำให้เรา…เสียศูนย์”
ถ้าเราอยู่ในช่วงเสียศูนย์หรือตกต่ำอย่างที่สุด
“อาจรู้สึกเจ็บปวด…เจ็บใจในชะตาชีวิตตนเอง”
แล้วบางครั้งจะด้วยอะไรก็ตาม
เราอาจจะได้เห็นชีวิตของคนอื่นที่ดูดี/ดูเป็นสุข/ดูสมหวัง
“สุขมากกว่าตัวเรา”
จุดนี้หัวใจของเราอาจจะปั่นป่วน
ทั้งเจ็บปวดจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
ทั้งผิดหวังในจุดที่ชีวิตตนเองยังพังพินาศอยู่
“ทั้งเจ็บใจ…ทั้งอิจฉา”
จึงเป็นธรรมดาของชีวิต
ที่เราอยากจะหนีภาวะเสียศูนย์เหล่านี้ไปให้พ้น
เพื่อจะได้มีความสุขไว ๆ และพบความสุขสมหวังแบบผู้อื่นบ้าง
เบื้องหลังความอิจฉาอันขมขื่นเหล่านี้
ล้วนมีร่องรอยมาจากความเจ็บปวดรวดร้าว
“เป็นน้ำตาที่รินไหลอยู่ภายในใจ”
คำว่า “อิจฉา”
จึงไม่ใช่เพียงแค่คำพูดลอย ๆ
หรือ เป็นการอยากได้/อยากมี/อยากเป็น
แต่ยังหมายถึงปรากฎการณ์ในใจที่สามารถเกิดขึ้นมากมาย…
-เป็นความผิดหวังที่ฝันของตนเองพังทลายลง
-เป็นความสงสาร และความเห็นใจที่มีต่อตนเอง
-เป็นความโกรธแค้นในโชคชะตา และเสียงกรีดร้องที่ดังกึกก้องในใจ
-เป็นการเผชิญความจริงอันโหดร้ายอย่างกล้ำกลืน
“เป็นความเจ็บปวดในจุดที่ตนเองเป็น…ปรารถนาจะก้าวข้ามฝันร้ายในชีวิต”
การรีบด่วนตัดสินความอิจฉา ว่า เป็นสิ่งเลวร้าย
จึงอาจทำให้เรามองข้ามเสียงในหัวใจที่แท้จริง
“มองไม่เห็นความเจ็บปวดในใจ…ที่พยายามสื่อสารข้อความบางอย่างให้กับเราและผู้อื่น”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา