Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
12 พ.ย. 2020 เวลา 22:54 • ปรัชญา
๑.เค้าขวัญวรรณกรรม : กถามุข
โลกเรานี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เหตุแต่คนหนึ่ง ๆ ต้องการจะสื่อความให้อีกคนหนึ่งเข้าใจสิ่งที่ปรากฏขึ้นในตัวเขา เพื่อบรรลุผลประการหนึ่งประการใด
และหากการสื่อความนั้นล้มเหลว นั่นคือเกิดการตีความคลาดเคลื่อนไป หรือถึงกับเข้าใจตรงกันข้าม ก็จะเกิดผลติดตามมาแตกต่างกันออกไปตามเหตุ
หากทั้งสองฝ่ายใช้สัญลักษณ์ในความหมายเดียวกัน ตรงกันในเวลาเดียวกัน ผลสำเร็จก็สูง ความสัมฤทธิผลขึ้นกับการตีความได้ทันท่วงทีและแม่นยำ
โดยความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราแต่ละคนมีความแม่นยำคมชัดในทางเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าเชิงสัญลักษณ์หรือสภาวะล้วนๆ ตามที่เป็นอยู่จริงได้ไม่เท่ากัน
ทั้งนี้เพราะพื้นใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกทั้งสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวก็อาจเปลี่ยนความตระหนักรู้อย่างฉับไวให้เชื่องช้า และมึนงงได้ตามอำนาจแห่งกรรมที่ยังให้ผลอยู่
ความสามารถในการรับรู้แยกแยะตีความของแต่ละคนจึงลุ่มลึกตื้นเขินแตกต่างกันไปตามพื้นใจ อีกทั้งสัญลักษณ์เหล่านั้นผ่านกาลเวลาไปมากเท่าไร ความหมายก็ค่อย ๆ แปรผันไปตามสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง แม้รูปของสัญลักษณ์ยังคงเดิม หรือถูกปรับปรุงขึ้นบางส่วนก็ตาม
ยังมีสัญลักษณ์อีกมากมายในโลกนี้ที่เรายังไม่อาจเข้าใจ การสื่อความหมายของคนโบราณจากอารมณ์รู้สึกมาสู่รูปร่างที่ตาเห็นได้ หรือหูฟังได้ยินและเข้าใจความหมาย
ครั้นกาลเวลาผ่านไป การสะสมสัญลักษณ์ และการตีความก็เติบโตควบคู่กันมา สะสมกันเข้าจนยากแก่การสะสางวินิจฉัย
แม้สัญลักษณ์ที่เป็นรูป สื่อความหมายที่เป็นอารมณ์รู้สึกนี้ก็ยุ่งยากมากมาย ยังมีส่วนที่เป็นสัญลักษณ์เรื่องราวสื่อความหมายของวิวัฒนาการด้านในของมนุษย์ ซึ่งยิ่งยากต่อความเข้าใจยิ่งขึ้น
ในแวดวงของชาวพุทธว่าโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น ยังต้องการข้อวินิจฉัยอันเที่ยงธรรมคมชัดอีกมากต่อสัญลักษณ์ที่แวดล้อมเราอยู่
เช่น พระพุทธปฏิมา เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่รูปเคารพซึ่งผิดต่อแก่นธรรมของชาวพุทธ ขัดแย้งกับคำสอนเรื่องอริยสัจมาก
พระปฏิมาควรเป็นสัญลักษณ์ของพุทธะ ประภามณฑลและส่วนประกอบอื่นในพระปฏิมาจำจะต้องอ่านผ่านรหัส จึงจะได้เนื้อหาสาระพ้นไปจากรูปเคารพได้
ยังมีพระปรางค์ พระเจดีย์ในลักษณะต่าง ๆ ฝ่าพระบาทอันบรรจุทุกสิ่งทุกอย่างไว้ บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของมณฑลธรรม (Mandala) มากกว่าเป็นฝ่าเท้าตามความเข้าใจธรรมดา
สัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณอันแวดล้อมเราอยู่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงรากฐานทางวัฒนธรรมเหล่านั้นควรจะได้รับการใส่ใจ ในที่สุดเราควรจะเข้าใจมันได้จนปรุโปร่ง และนั่นเองคือการสืบทอดสายธารแห่งวัฒนธรรมไว้ได้
สัญลักษณ์เหล่านั้นสัมพันธ์อย่างไรกับเรา? เป็นความจริงที่ว่าเราเติบโตขึ้นในสังคมที่ดกอุดมด้วยสัญลักษณ์ ทั้งที่เห็นได้ด้วยตา ฟังได้ด้วยหู และแม้อารมณ์รู้สึกของเราก็อาจกลับกลายเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งไป
ด้วย ครุฑ นาค หงส์ ป่าหิมพานต์ คนธรรพ์ ยักษ์ ลิง หอยสังข์ ดวงแก้ว การเหาะเหินเดินอากาศ หายตัว เทพศาสตราการเดินป่าของเจ้าชาย การฆ่ายักษ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่อเค้าว่าเป็นการอธิบายถึงโลกแห่งปรากฏการณ์ภายในมากกว่าภายนอก หากแต่เอารูปการภายนอกเข้าไปอธิบายภาวการณ์ภายใน
มหากาพย์การเดินทางต่าง ๆ นั้น บอกเราว่าเป็นการเดินทางภายใน มารหรือยักษ์ อุปสรรคต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นอุปสรรคภายในที่ขัดขวางการเดินทางไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
ดังนั้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แวดล้อมเราอยู่ย่อมต้องสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราแน่ ไม่เพียงแต่เราสามารถเข้าใจและใช้ร่วมกับคนอื่นได้ น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น คือมันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางในภายใน
กล่าวคือเมื่อเราเห็นสัญลักษณ์ภายนอกก็ทำให้มีการตั้งสติเข้าไปในภายในได้ ดังเช่น การได้เห็นพระพุทธปฏิมา หากเราถือเป็นเพียงรูปเคารพ เราก็กราบไหว้ซึ่งอาจส่อเค้าความงมงายยึดติดในรูปเคารพ อันเป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อการเจริญสติภาวนา
พระพุทธปฏิมาคืออะไรกันแน่ มีรหัสอะไรบ้างไหมในพระพุทธปฏิมา ก่อนอื่นขอให้เรามาพิจารณาท่าทีที่ชาวพุทธเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปดู
๑. โดยความเป็นรูปเคารพ (Idol) แทนพระพุทธเจ้าซึ่งน่าเคารพเกรงขาม สร้างด้วยหิน, สำริด, หรือไม้ งดงามหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ท่าทีนี้เป็นท่าทีแห่งไสยศาสตร์
๒. ในฐานะเป็นศิลปะอันงดงามยิ่ง เมื่อเราเฝ้าพินิจหรือเป็นปฏิมากรผู้สร้างศิลปะนี้ก็จะยิ่งได้รับความสงบใจยิ่ง ดังที่มีศิลปินต่างชาติยืนยันถึงพลังแห่งความสงบจากการปั้นพระพักตร์พระพุทธรูป อันนี้เป็นท่าทีของสุนทรีย์และสมถะโดยเพ่งจ้องพระพุทธรูปอันงดงามเป็นอารมณ์ (นิมิต) ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากวิธีการที่ศาสนิกในศาสนาอื่นกระทำกันอยู่
๓. ในฐานะเป็นมณฑลธรรม (Mandala) หรือเป็นแผนภูมิของการภาวนา หรือเป็นสัญลักษณ์แทนช่วงขณะแห่งการตรัสรู้ของพุทธะ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้อันสมบูรณ์ (อนุตรสัมมาสัมโพธิ) เปลวแสงสว่างเหนือเศียรก็ตาม แท่นวัชรอาสน์หรือปัทมอาสน์ก็ตาม เรือนแก้วก็ตาม ล้วนส่อเค้าให้รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคนเลย แต่เป็นองค์ธรรมต่าง ๆ ประชุมกัน เป็นมณฑลธรรมอันบริสุทธิ์โชติช่วง
ความสนใจต่อนิทานพื้นบ้านไทย โดยเฉพาะต้นตอคือ ปัญญาสชาดก ประกอบกับช่วงหนึ่งอาสาเขียนรูปในโรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม เคยอ่านนิบาตชาดก เพื่อเลือกเรื่องดีมาวาด เช่น ลิงล้างหู คำสาบานของคนตรง ฯลฯ
ข้าพเจ้าพบว่ามีเรื่องสนุก ลึกซึ้งมากมายในนิทานเหล่านั้น ความทึ่งใจในมรดกทางจิตวิญญาณเช่นนี้เป็นเหตุให้สืบสาวราวเรื่องเรื่อยมา เห็นเค้าโครงของเนติธรรมเนียม การแต่งเรื่องอธิบายการเดินทางของชีวิตผ่านภูมิต่าง ๆของจิต การละ, ทำลายอุปสรรค จนลุถึงภูมิภาคอันร่มรื่น
ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.๒๕๑๘ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเตรียมการจัดแสดงนิทรรศการทางวรรณกรรมขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเป็นฝักเป็นฝ่ายและขึ้นสู่กระแสสูง การวิพากษ์วิจารณ์งานวรรณกรรมเก่า ๆ ก็เป็นไปอย่างแหลมคมเพื่อสนองทฤษฎีที่ต่างยึดกันไว้
นักศึกษาผู้ดำริการจัดนิทรรศการกลุ่มนั้นเคยไปมาหาสู่ข้าพเจ้าและรับฟังทัศนะต่อวรรณกรรมในระนาบนี้ ดังที่เขียนมาแต่ต้น จึงเห็นดีเห็นงามที่จัดนิทรรศการขึ้นโดยให้ข้าพเจ้าตั้งเค้าโครงให้ (ซึ่งพิมพ์รวมไว้ในตอนท้ายหนังสือนี้ด้วยแล้ว) รวมทั้งเชิญข้าพเจ้าบรรยายในหัวข้อเรื่อง “วรรณกรรมในระนาบจิตวิญญาณ” ณ หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาแห่งนั้น
ผลก็คือ รุ่งขึ้นหลังจากการบรรยาย นักวิจารณ์ผู้มีการศึกษาจากโลกตะวันตกผู้หนึ่งก็กล่าวเบียดเบียนทั้งตัวข้าพเจ้า และทั้งนิทรรศการครั้งนั้น ทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเป็นบ้า เขียนล้อเลียนอย่างไม่ยุติธรรมเลย อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องเก็บงำและวางมือต่อเรื่องนี้ไป
ที่จริงการถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้นให้ผลดีเสมอในทางให้เราย้อนมาพิจารณาการกระทำเสียใหม่ ครั้งนั้นข้าพเจ้าถูกเตือนจากอาจารย์ผู้หวังดีให้เลิกใส่ใจในการทำสิ่งเป็นประโยชน์น้อยเสีย
ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ ข้าพเจ้าถูกเชิญจากคุณเดวิด ลอย ซีเนียร์ติวเตอร์แห่งคณะปรัชญา มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ไปบรรยายและพำนักอยู่กับศูนย์เซ็นถึงสองครั้งสองคราว ครั้งหลังกินเวลานานเกือบ ๑ ปี ที่นั่นพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนจีนผู้ช่ำชองเจนใจกับเรื่องไซอิ๋ว เมื่อต้องแสดงธรรมทุกวันอาทิตย์ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ที่นั่น เรื่องไซอิ๋วก็กลายเป็นสื่อที่ดียิ่งระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง
ข้าพเจ้าเล่าเรื่องในปัญญาสชาดกให้สมาชิกฟังบ่อย โดยเฉพาะสังข์ทอง, พระสุธน มโนห์รา, นางสิบสอง ล้วนแล้วแต่ในนัยยะทางธรรม คุณเดวิด ลอย อาจารย์ชาวอเมริกันได้แสดงความทึ่งตื่นต่อมรดกล้ำค่าของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะคุณเดวิด ลอย นั้นเป็นชาวเซ็นและเป็นสานุศิษย์ของท่านยามาดะ โรชิ ผู้นำของเซ็น ทั้งสองนิกายใหญ่ (โสโตเซ็นและรินชายเซ็น)
อาจารย์ผู้เป็นคฤหัสถ์ผู้นี้ได้รวบรวมและตีความนิทานธรรมจากหนังสือ มูมอนกัน พิมพ์เผยแพร่เป็นที่นิยมของชาวตะวันตกอยู่มาก
นิทานธรรมนั้นเป็นสื่อที่มีคุณลักษณะที่กว้างใหญ่กว่าการอธิบายเชิงตรรกะ ตรรกวิธีนั้นมีอะไรที่แคบและยาก แต่การอุปมาอุปไมย (Analogy) นั้นกว้างและง่าย ทั้งสนุกแบบตีได้ตีเอา ทั้งหมดขึ้นกับประสบการณ์ทางภาวนาของแต่ละบุคคล
วิธีการแบบบุคลาธิษฐาน (Personification) นี้ ไม่ว่าเป็นประเภทปกรณัม (Myth) หรือนิทานพื้นบ้าน (Folklore) ล้วนบรรจุประสบการณ์ฝ่ายวิญญาณไว้ทั้งนั้น
นิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่องที่ต้นเรื่องถือกำเนิดจากการตื่นทางจิตวิญญาณ (Spiritual Wakefulness) เช่น ตากับยายปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า ที่แท้คืออุบายการสอนหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา คือ อิทัปปัจจยตาแก่เด็กในรูปนิทาน (อันนี้เป็นรูปหินสลักที่วัดโพธิ์) ไม่ใช่นิทานเล่าเพียงเพื่อสนุกสนานเท่านั้น
ต่อการมองเค้าทางจิตวิญญาณผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ นี้ ได้เป็นหัวข้อสากัจฉากันเล่นในหมู่เพื่อนฝูงมิตรสหายชาวเกลอกันบ่อย เ
พื่อนคนหนึ่งของข้าพเจ้าเป็นคนมีชื่อเสียงเคยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ข้างจะชมว่าข้าพเจ้าเป็นคนตีความได้แม่นยำ ซึ่งข้าพเจ้าได้ยินแล้วก็ไม่สู้โล่งใจนัก เพราะว่าการตีความนั้นอาจจะถูกมองเป็นลากเข้าหาความได้มากอยู่
ประกอบกับมีบางคนที่เคยมาสนทนากับข้าพเจ้าในแนวทางนี้แล้วก็นำไปเป็นเค้าเงื่อนตีความกันใหญ่ ตีจนเละไปหมด อันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าระอา ประกอบกับคำเตือนของผู้ใหญ่ว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์น้อยก็เลยชะงักมาหลายปีดังเล่าแล้ว ส่วนในใจนั้นยังไม่คิดเลิกรา
การตีความนั้นควรจะมีเหตุให้ตีได้ ไม่ใช่ตีเอาตามอำเภอใจ แต่เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้มุ่งหวังตอบสนองทางวิชาการ จึงทำได้เพียงมองเค้าโครงทางจิตวิญญาณเท่านั้น ประกอบกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในวรรณกรรมหรือนิทานพื้นบ้านนั้นก็ไม่คงเส้นคงวา เรื่องก็ยากขึ้นอีกนี่ก็คงเข้าเค้าตีได้ตีเอาอีกตามวิธีการแบบชาวบ้าน หรือเรียกว่าแบบไทย ๆ ก็คงได้อยู่ ทั้งนี้ก็เพราะมุ่งหวังประโยชน์ทางธรรมเป็นสำคัญ
พิมพ์ครั้งแรกใน “เค้าขวัญนิทานไทย” ปีพ.ศ.๒๕๒๙
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย