Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
14 พ.ย. 2020 เวลา 22:52 • ปรัชญา
๒. เค้าขวัญวรรณกรรม : มหากาพย์กับมนุษย์
คำถาม : ความหมาย ที่มา ประวัติศาสตร์ รวมทั้งแรงบันดาลใจในการก่อรูปของมหากาพย์
คำตอบ : มหากาพย์เป็นเรื่องของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เรื่องราวที่มีอยู่ในมหากาพย์เป็นภาพสะท้อนวิญญาณของเผ่าพันธุ์ เป็นประวัติศาสตร์ด้านในของชีวิตมนุษย์กับการเดินทางไกลในตัวชีวิตเอง
เรามาดูลักษณะของมหากาพย์กันก่อน คือเป็นกาพย์ที่ยิ่งใหญ่ ชื่อบอกอยู่แล้ว โครงเรื่องเป็นการเดินทางไกลของวีรบุรุษ ต้องเป็นเรื่องยาว อันผู้ประพันธ์ร้อยกรองอย่างตั้งใจ
วีรชนนั้นต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเคารพต่อวิถีธรรมหรือวิถีแห่งเทพที่ตนเลื่อมใสบูชา เคารพเทพองค์ใดแล้ว เทพองค์นั้นก็ตามปกป้องจนกว่าจะกลับคืนสู่เมืองแม่หรือแหล่งกำเนิด หรือรบทัพจับศึกฆ่ายักษ์มารแล้วครองเมือง
เราต้องเข้าใจโครงสร้างของทั้งหมดก่อนเข้าสู่รายละเอียด ไม่งั้นเราจะหลงทาง พอเราหลงทาง เราจะคิดว่านิยายนี้บ้า ๆ บวม ๆ ดี มียักษ์ตาเดียว มีวังน้ำวน มีปีศาจ มีอะไรมากมาย
ผมเสนอโครงสร้างกว้าง ๆ ก่อน ไม่ได้จำกัดเฉพาะซีกโลกตะวันออกหรือตะวันตก เหตุที่มันมีจุดร่วมเพราะว่ามันถูกสร้างด้วยน้ำมือ สมอง น้ำใจของมนุษย์นั่นเอง มันจึงมีส่วนร่วม
นักจิตวิทยาอย่าง ซี.จี.ยุง (C.G.Jung) บอกว่า มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มันเป็นภาวะร่วมกัน เป็น Seemness เช่น มหาภารตะนี่คล้ายกับโอดิสซี หรือรามายณะกับอีเลียดของตะวันตก
สรุปความต่อโครงสร้างว่าต้องมีการเดินทางไกล การผจญอุปสรรคของวีรชนผู้กล้าหาญ มีน้ำใจกับเพื่อนมนุษย์แล้วก็บูชาเทพเจ้า เทพเจ้าก็ตามคุ้มครองจนกลับถึงเมืองแม่ นี่คือโครงสร้างหลัก หรือมองในแง่หนึ่งก็คือ เป็นการแสดงความสัมพันธ์ของทั้งสามโลก
โดยมนุษย์เป็นอยู่ในภาคพื้นของโลกเทพยดาหรืออมนุษย์ที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งอมนุษย์นี่มีทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ที่เป็นเทวดาเอื้ออำนวยก็มี เป็นเทวดาที่รังควานก็มี นี่เป็นเทวโลก แล้วก็ยมโลกของผู้ตาย หรือบาดาล คือโลกที่ต่ำต้อยลงไป
มหากาพย์หรือปกรณัมเหล่านี้ได้กลายมาเป็นศาสนาของชุมชนนั้น ๆ เป็นศาสนาแห่งปกรณัม ไม่ใช่ศาสนาอย่างพระพุทธศาสนาหรือลัทธิเล่าจื๊อ หรือขงจื๊อ เป็นศาสนาที่มุ่งอธิบายด้วยสัญลักษณ์ทำให้เป็นบุคลาธิษฐาน
คำถาม : มหากาพย์ของชาวสุเมเรียนนี้เขียนใส่ที่ไหนคะ
คำตอบ : อักขระในหินสลัก แต่ที่เล่าทอด ๆ กันมาคือ เล่าเรื่องวีรชนคนหนึ่งซึ่งเติบโตขึ้นมาภายใต้การช่วยเหลือของ ๒ สหาย กิลกาเมศ ตัวพระเอก มีสหายอยู่ ๒ คน คือ อิตนา และเอนกิดู หรือมีนาทัว เทพหัววัวผู้ชั่วร้าย ส่วนอิตนานั้นดูเหมือนจะฝ่ายบวกฝ่ายดี
ดังนั้นสหายสองคนที่จริงก็เป็น ตรีมูรติ อยู่ในมนุษย์นี่ คือตัวมนุษย์อยู่กลางตัวหนึ่ง ตัวกลางไม่ดีไม่ชั่ว ข้างขวาอาจจะเป็นตัวดี ข้างซ้ายอาจจะเป็นตัวชั่ว ทำเป็นบุคลาธิษฐาน
พระพุทธศาสนานั้นนิยม “ธรรมวัตร” หมุนตามธรรม คือพูดตามจริง ไม่ต้องอุปมาอุปไมยมากนัก เพราะไม่ใช่ศาสนาแห่งปกรณัม หมายถึงศาสนาอิงเทวปกรณัม แทนที่จะบอกว่าไฟคือความร้อนก็กลายเป็นพระอัคนี ลมซึ่งโดยธรรมดาเราก็รู้ว่าลมคืออะไร แต่เมื่อมองไปสู่ความลี้ลับของสภาวะต่าง ๆ ฉะนั้นลมก็ถูกยกเป็นพระพาย แล้วจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการบูชา
ศาสนายุคโบราณหรือศาสนาปกรณัมมีหลักปฏิบัติคือการบูชา บวงสรวง เห็นได้ชัดพุทธศาสนาเกิดมา ๒,๐๐๐ กว่าปี แต่ไม่เกี่ยวกับหลักบวงสรวงบูชา แต่เกี่ยวกับหลักการเจริญวิปัสสนา ซึ่งไม่เกี่ยวกับบวงสรวงตามแบบศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นหลัก
แต่ตอนนี้เรากำลังศึกษามหากาพย์ เราจะเอาพุทธเข้าไปจับไม่ได้ ถือว่าพุทธก็เป็นวิวัฒนาการทางภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีวรรณกรรมมหากาพย์เป็นลักษณะของพุทธเอง เช่น ลลิตวิสตระ หรือพุทธจริต เป็นต้น
เราลองพิเคราะห์ความหมายของสัญลักษณ์เจ้าแห่งนกคือพญาครุฑซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพาหนะของเทพเจ้าในแทบทุกศาสนา
โดยเฉพาะฮินดูไม่ได้หมายถึงครุฑที่เราเห็นหรือเรามีมโนภาพแต่เป็นนก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังลี้ลับของธรรมชาติ พาหนะของเทพเจ้าคือพลังที่จะพามนุษย์หรือเทพเจ้าไปตามต้องการ
ในสุธนชาดกก็มี ตอนพระสุธนตามมโนห์ราไปถึงป่าหวายดงดิบ แล้วข้ามไม่ได้ สุดวิสัยที่มนุษย์จะข้ามไปได้ ก็ได้อาศัยซุกปีกนกลึกลับชนิดหนึ่ง พาเหินข้ามฟ้าไป หรือมีพลังลึกลับที่จะพามนุษย์ไปสู่จุดมุ่งหมาย นี่เป็นการไขความไปสู่พลังลี้ลับ ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์จากมนุษย์สามัญไปสู่มนุษย์ของพระเจ้าได้ ผมเกริ่นทั่วไป เพื่อให้เข้าใจสัญลักษณ์ทั่วไป สะท้อนมิติทางจิตใจ
ปกรณัมเหล่านี้มุ่งอธิบายเรื่องภาวะภายในของมนุษย์ การเดินทางภายในของมนุษย์ แต่ทำให้เป็นรูปธรรมด้วยการเดินทางภายนอก เช่นเดียวกับเรื่องชาดกหลายเรื่องของพุทธศาสนาหรือนิทานพื้นบ้าน ที่มีโครงเรื่องคล้ายคลึงกันนี้และเป็นที่ระอาสำหรับนักอ่านที่มุ่งอ่านแบบนวนิยาย เพราะเป็นเรื่องที่ซ้ำซาก พระกุมารออกไปศึกษาวิทยาการกับพระฤาษี สำเร็จวิชากลับบ้าน ฆ่ายักษ์แล้วครองเมืองก็จบ ทุกเรื่องจะซ้ำ ๆ อย่างนี้ น่าเบื่อสำหรับนักอ่านที่ติดรสของนวนิยาย
นวนิยายนั้นเพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งเน้นอรรถรสในเรื่องอารมณ์ ความคิดนึกยุคใหม่ ก่อนหน้านั้นต้องมหากาพย์หรือนิทาน เขามุ่งอธิบายเรื่องการเดินทางไกลภายในของมนุษย์ กว่าจะบรรลุถึงภูมิภาคอันร่มรื่นของชีวิต หรือป่าไร้แสงเดือนแสงดาว ไปปรากฏอยู่บนสรวงสวรรค์ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า
มหากาพย์นั้นมีสาระลุ่มลึกและมีความยาว สลับซับซ้อน นั่นเองที่เป็นสาเหตุทำให้คนรุ่นหลังเริ่มปฏิเสธ คือมันลึกเกินไป กว้างเกินไป ยาวเกินไป
ส่วนนวนิยายนั้น ได้รับรสอารมณ์ของมนุษย์โดยตรง และไม่ต้องสู้ต้องตีความให้ลำบาก ไม่ว่านิยายรักรัญจวน, นิยายเสมือนจริง เป็นเรื่องของคน แล้วก็การต่อสู้ในสังคม และอารมณ์หรือกิเลสของคน บางทีก็มุ่งแสดงความทุกข์โศกความเศร้า
ความรักอย่าง โรมิโอ&จูเลียต อะไรก็มุ่งจุดสูงสุดของอารมณ์ ตรงที่ว่ารักกันแล้วก็ต้องตาย หรือ ลิลิตพระลอ ยืนตายเคียงข้างพระเพื่อนพระแพง ธนูเสียบรอบตัวอะไรนี่ เป็นเรื่องของคนเท่านั้น
นิยายโรแมนติกอย่าง ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ อะไรนั้น ผมว่าถ้าเอาศาสนามาจับ ก็มองว่ามันตอบสนองสัญชาตญาณพื้นฐานในเรื่องเพศ ซึ่งไม่มีสาระมากมาย สู้กวีนิพนธ์โบราณของอินเดียคือ สาวิตรี ไม่ได้ การใช้ความเฉลียวฉลาดปฏิภาณจนเอาชนะพญายมได้ ที่มาพร่าวิญญาณของสามี (พระสัตยวาน)
กวีกาลิทาสมุ่งจะแสดงว่าความรักที่ยิ่งใหญ่ ความรักทางจิตวิญญาณและสติปัญญาแห่งรักนั้นสามารถเอาชนะพญายมได้ เขาลึกอย่างนั้น ถ้าไม่เคยอ่านต้องไปอ่านเสีย
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย