21 พ.ย. 2020 เวลา 23:44 • ปรัชญา
๕..เค้าขวัญวรรณกรรม (มหากาพย์กับมนุษย์)
ปราชญ์ใหญ่ของอินเดียคนหนึ่ง สวามีวิเวกนันทะ ซึ่งเป็นคนประเดิมการตีความในทางปริศนาธรรมต่อรามายณะว่า พระรามนี้ต้องเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะที่เรียกว่า สัจจะหรือสัตยะ เพราะบทบาทตลอดทางของพระรามยึดถือแต่สัจจะ คือเป็นตัวความจริง คือเป็นตัว Truth เรียกว่าพระราม
สีดาน่าจะหมายถึง อาตมัน ตัวตนที่แท้จริงของเรา กับ Truth นี้มันสัมพันธ์กันอยู่ ความจริงของจักรวาลหรือของโลกกับตัวตนธรรมชาติของเรา ตัวจริงของเราเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่รักคู่สวาทกัน เป็นของกันและกัน
ส่วนพระลักษมณ์อาจจะหมายถึง อหิงสา หรืออะไรสักอย่าง หนุมานนั้นไม่ได้หมายถึงลิง หมายถึง พลังภักดีต่อพระเจ้า เพราะตลอดทางหนุมานจะเต็มไปด้วยความภักดีต่อพระราม เมื่อถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้าข้างฝ่ายทศกัณฐ์ หนุมานแหวกอกให้ดู ข้างในมีแต่ภาพของพระรามกับสีดาเท่านั้น
ทศกัณฐ์หรือราวณะ, อหังการ์ ได้ส่งมารีศแปลงเป็นกวางทอง กวางตัวนั้นเป็นมายาภาพ ชื่อของไทยเราเพี้ยนไปเรียกมารีศ ที่จริงเรียกมารีจ เป็นคำเดียวกับ Mirage ภาพลวงตา เกิดภาพลวงตาขึ้นในชีวิตทำให้ สัตยะ กับ อาตมัน แยกกันอยู่ คือถูกลักขโมยไปอยู่ลงกา
ดังนั้นพระรามจึงเกณฑ์สมัครพรรคพวกต่าง ๆ ยกทัพไป พรรคพวกของพระรามไม่ใช่มีเฉพาะลิง ของเรามีเฉพาะลิงอย่างเดียว แม้แต่ชมพูพาน ที่จริงเป็นหมี ของเราบอกว่าเป็นพญาลิง นกก็เป็นบริวารของพระราม ของเราเรียก สดายุ ต้นฉบับคือ ชตายุ ชื่อนี่มันบอกว่าหมายถึงอะไรด้วย
บริวารทั้งหมดของพระรามล้วนเป็นอวตารของพระนารายณ์และบริวาร มหากาพย์นั้นเป็นการเล่าโครงสร้างของการเดินทางไกลในชีวิตจนกว่าบรรลุถึงพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า
ส่วนรายละเอียดในตัวละครเป็นเรื่องของจริยธรรม เช่น คำพูดของพาลีสอนน้องอะไรนี่ ดังนั้นมหากาพย์ ตัวโครงสร้างของการเดินทางไกลของชีวิตจนบรรลุถึงที่สุด ส่วนในรายละเอียดคือคำขวัญ ภาษิต
นล กับ นิล ลิงคู่ฝาแฝด ซึ่งเป็นตระกูลช่างวิศวกร เมื่อพระรามมาถึงริมมหาสมุทร รู้ว่านางสีดาถูกทศกัณฐ์จับตัวไปที่ลงกา แต่ว่าไม่มีปัญญาจะข้ามมหาสมุทร หนุมานนั้นเหาะข้ามไปได้ แต่ก็เป็นกำหนดของสวรรค์ที่ให้จองถนนคือต้องสร้างมรรคไป จะเหาะไปด้วยฤทธิ์ไม่ได้ จะเอาจินตนาการไปสู่ที่สุดทุกข์ไม่ได้ คิดเอาไม่ได้ ต้องสร้างมรรควิถีจนกระทั่งบรรลุถึงความจริงนั้นให้จงได้
ทีนี้นิลกับนล ของเราเรียกชื่อนิลนนท์ กับนิลพัทธ์ นิลกับนลนี้ เขาเป็นตระกูลช่างแต่เขาไม่เสนอตัว เขารู้เขาทำได้สร้างสะพานเชื่อมมหาสมุทรกับเกาะลงกา ในที่สุดหนุมานก็ถามว่า เมื่อพระรามต้องการวิศวกรที่สร้างสะพานเชื่อมแผ่นดินกับลงกา ทำไมท่านไม่อาสา นิลกับนลบอกว่า เป็นความลับของตระกูลช่างของเราที่จะไม่เอ่ยถึงภูมิปัญญาตนให้ใครรู้ แต่ครั้นรับอาสาแล้วย่อมทำสุดฝีมือ แต่ไม่เสนอตัว นี่เป็นคุณธรรมของช่าง ซึ่งตรงข้ามกับคนสมัยนี้ ถึงฝีมือไม่ได้เรื่องแต่เสนอตัวลูกเดียว นี่ตัวอย่างของคำขวัญ หรือภาษิต จะดกอุดมมากในมหากาพย์ อ่านไปเก็บเกี่ยวเอาภูมิปัญญาไป
กวีอินเดีย จะไม่มีกวีคนไหนครั้งอดีตที่เติบโตขึ้นมาโดยเอกเทศ ต้องแหวกว่ายไปในลำธารของมหากาพย์แล้วก็สืบสาน ดังนั้นมหากาพย์ไม่ใช่ฝีมือของคน ๆ เดียว ถัดจากวาลมิกิแล้วก็ตุลสีทาส แต่งรามจริตมหัส คือเรื่องรามเกียรติแต่ย่นย่อให้เหมาะสมกับคนร่วมสมัย
รามายณะของวาลมิกินั้นยาวมาก ภาพรวมของมหากาพย์คือต้นไม้แห่งชีวิต ต้นไม้แห่งศาสนธรรมงอกงามแตกกิ่งเรื่อย ๆ จุดสำคัญก็มาถึงความบิดเบือนอันนี้ มันแตกกิ่งก้านสาขามาก แตกปลายไปมาก กลับหลงต้น ข้อนี้เองกระมังที่ทำให้พระพุทธเจ้าปฏิเสธที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมกาพย์กวีนิพนธ์ วรรณกรรมมหากาพย์ของอินเดียนั้น มั่งคั่งอลังการด้วยท้องเรื่องรายละเอียด รวมทั้งอลังการของภาษาซึ่งวิจิตรพิสดาร
ภาษาชาวบูรพทิศ โดยเฉพาะบาลี, สันสกฤตนั้น ศัพท์แต่ละศัพท์ไม่มีความหมายอยู่อย่างเดียว บางทีศัพท์ ๆ เดียวมีความหมายได้เป็นสิบๆ นัยยะ เช่น เรารู้กันดี “กมล” แปลว่าดอกบัวก็ได้ แปลว่าหัวใจก็ได้ อาการที่ดอกบัวบานก็เป็นอาการเดียวกับที่ใจบาน คำว่า “โค” แปลว่า วัวก็ได้ แปลว่าแสงสว่างก็ได้
ความโยกโคลงคลุมเครือของความหมายนี้เองที่ คริสโตเฟอร์ ติทมุท นักเผยแพร่ธรรมะ อดีตเป็นพระภิกษุชาวพุทธ ระบายให้ผมฟังว่า การเชิญแม่ชีคนหนึ่งทางวัดหนึ่งทางปักษ์ใต้ ไปสอนธรรมะที่อังกฤษ กว่าจะพูดกันรู้เรื่องนี้เหนื่อยเลย จะไปก็ไม่บอก จะไม่ไปก็ไม่บอก พูดเพียงว่าถ้าเชิญก็ไป ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ อะไรทำนองนี้
ซึ่งฝรั่งเขาถือ เวลาไปต่างประเทศ เวลาเราสั่งอาหารอะไรต้องบอกตรง ๆ ไม่ใช่ทำเป็นเหมือนพระนั่งนิ่ง ถวายอะไรก็ได้ ไม่ถวายก็ได้ จนกระทั่งน่ารำคาญ
เรื่องนี้มันก็เชื่อมโยงกับภาษา และผมก็เคยเจอด้วยตัวเอง เมื่อไปยุโรปหนแรกในชีวิต บ๋อยเขามาถามว่าต้องการอะไร เราบอกเขาว่า “อะไรก็ได้” เขาฉุนมาก แล้วย้อนถามว่า “แล้วผมจะเสริฟอะไรคุณ” ซึ่งฝ่ายบ้านเราถือว่าการบอกว่าตัวเองต้องการอะไรนี่ เป็นการน่าละอาย เขาไม่พูดกัน บอกว่าอะไรก็ได้ เป็นเรื่องสุภาพมาก ๆ แล้ว ถ่อมตนที่สุดแล้ว แต่กลายเป็นปัญหาจนได้
ในโลกตะวันตกทุกคนมีสิทธิ์แสดงตัณหาตัวเองได้ อยากได้อะไรต้องบอกตรง ๆ แต่บ้านเราอ้อมมาก ผู้เฒ่าผู้แก่จะกินไก่ แกงไก่ พูดเล่นว่าไก่ตัวนี้อายุก็มากแล้ว พูดให้หลานได้ยินอะไรเหล่านี้ เป็นจรรยาของคนตะวันออก ไม่ด่วนรับคำไม่ด่วนปฏิเสธ เป็นท่าทีที่ดี แต่ว่าสร้างความยุ่งยากให้กับวัฒนธรรมอื่น
วัฒนธรรมตะวันตกนั้นแข็งขัน ประโยคต้องแน่นอน คุณต้องเป็นคุณ คุณจะเป็นอนัตตาไม่ได้ ถ้าบอกว่าผมไม่ใช่ผม คุณเป็นบ้าไปหรือเปล่า
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านถูกพราหมณ์เขาชวนคุยเรื่องชาติหน้า ชาติก่อน ท่านกลับชวนว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า “เธอนั่งตรงนี้ เรานั่งตรงนี้ มาพูดกันว่าทุกข์เกิดได้อย่างไรกันดีกว่าไหม” ท่าทีนี้เป็นท่าทีชาวพุทธ คือทำอย่างไรให้ทุกข์ไปถึงที่สุดในตัวมันเอง ในช่วงชีวิตเป็น ๆ นี้ แต่ถ้าไม่ถึงชีวิตเป็น ๆ เผื่อไว้ชาติหน้าก็ได้ถ้ามันมี
อันที่จริงชาดกหลายเรื่องของพุทธศาสนาก็แตกตัวจากมหากาพย์รามายณะ เช่น สุธน-มโนห์รา พระสุธนก็มีบทบาทคล้ายๆพระรามเดินป่า
ป่า-นอกเหนือจากความหมายถึงป่าดงดิบทางกายภาพแล้ว มันน่าจะเป็นป่าอะไรอีกป่าหนึ่ง คือความรกชัฏ ความมืดครึ้ม ความวกวน หลงทางง่าย อะไรแบบนี้ เป็นที่อยู่ของสิงสาราสัตว์ ดุร้าย คือกิเลส ตัณหา อวิชชา น่าจะคิดได้อย่างนั้นด้วย
ดังวันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสขึ้นเป็นทำนองปริศนาธรรมให้พระภิกษุฟังว่า “ภิกษุทั้งหลายเธอจงตัดป่าแต่อย่าตัดไม้เลย” หรือบางครั้งเมื่อพราหมณ์คนหนึ่งไปถามว่าปฏิบัติธรรมะอย่างไร ทรงตรัสว่า “เธอจงกลับไปฆ่าแม่ ฆ่าพ่อของเธอเสีย และฆ่าพระราชาด้วย” คือการปฏิบัติโลกุตระพราหมณ์ก็ตาเหลือก
คือชวนให้ตีวินิจฉัยว่า ในทางลึกไม่ใช่ทางตื้นก็รู้กันอยู่ว่าพระพุทธเจ้าคงไม่ให้ใครไปฆ่าพ่อฆ่าแม่แน่ แต่พ่อคืออวิชชา แม่คือตัณหา อะไรทำนองนี้ พระราชาหมายถึง ความเพลิดเพลินในอารมณ์ (นันทิ) ในการตอบอย่างนี้ มันได้ผลกับบางคน ในบางสถานการณ์ที่กระชากหนังหัวให้ตื่นเพราะเขายึดติดอะไรมาก ถ้าไปอธิบายธรรมดาเขาไม่ตื่น
มหากาพย์นั้นเป็นผลพวงของภูมิปัญญา เป็นต้นไม้แห่งความรอบรู้ คำว่ารอบรู้ในทุกวันนี้เปลี่ยนไปนะครับ “พหูสูต” ทุกวันนี้แปลว่า เรียนมาก อาจจะกลายเป็นแตกซ่าน ฟุ้งซ่านไปเลย รู้มาก แต่ความรอบรู้ที่เรียก “พหูสูต” คือรู้มากจริง และรวมลงในเรื่องเดียวได้ มีแกนกลาง หลักมันมี
มหากาพย์นี้เป็นหลักกลางของชุมชน สาระคือการเดินทางไกล เพราะทุกคนต้องเดินทาง เกิดมา กายก็เดินทาง กินข้าว กินขนม กินน้ำ คือ โตขึ้นเรื่อย สัญชาตญาณเปลี่ยนไป ความรับผิดชอบ ความว่องไว เติบโตมาถึงวาระก็แก่ตัว นี่การเดินทางภายนอก รวมทั้งสมอง การขบคิดที่คมคายลึกซึ้งกว้างไกล
แต่มีการเดินทางลุ่มลึกภายใน คือเรื่องเส้นทางเรียกว่าใจ เราพบว่า มาถึงทุกวันนี้ โลกกลับมองด้านนอกนี้มากกว่าที่มองลึกเข้าสู่ด้านใน เราจำหน้าของเพื่อนหรือสัตว์ได้ เรามักจะจำที่ใบหน้า มีน้อยคนที่จำเล็บเท้าเล็บมือ เว้นไว้อาจจะเป็นพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู นางนมที่เลี้ยงดูเรามา
ในรามายณะเล่าว่าพระลักษมณ์นั้นเป็นคนมีจริยธรรมสูง หน้าที่ๆ น้องพึงปฏิบัติต่อพี่สะใภ้คือนางสีดานั้นเต็มเปี่ยม พระลักษมณ์จำหน้าพี่สะใภ้ไม่ได้ตลอดชีวิต เพราะไม่กล้าสบตาพี่สะใภ้ แต่จำข้อเท้าได้แม่น เพราะก้มหน้าตลอด ดังนั้นวันที่ไปเห็นกำไลเท้าที่นางสีดาถอดทิ้งไว้เป็นร่องรอยให้ติดตาม พอพระลักษมณ์เห็นก็จำได้ว่าเป็นของพี่สะใภ้ แต่ใบหน้าจำไม่ได้เพราะเป็นจริยธรรมของชาวอินเดียที่ต้องถือว่าพี่สะใภ้นั้นเหมือนกับมารดา
คนเราจะจำหน้าเพื่อนได้ แต่จะจำใจเขาไม่ได้ ไม่เห็นหน้าใจของเขา หน้าใจเขาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ดังนั้นในการภาวนา คือการจำหน้าใจของเราได้ว่าใจจริงเราเป็นอย่างไร แต่ว่าความคิดมันจะปกคลุมอยู่หมด ในที่สุดเราจะจำหน้าตัวเองไม่ได้
การเจริญภาวนาทั้งหมดมันเหมือนกับการท่องมนต์ ท่องสูตรคูณนั้นท่องด้วยปาก อันนี้มันท่องโดยความจำตัวเองได้ จำใจได้ ใจจริงมันคือตัวนี้ พอความคิดเข้ามามันจะลืมเลือน มันจะเลอะเลือนทันที ดังนั้นจากจุดนี้เอง มหากาพย์ได้สร้างใบหน้าหลากหลายที่หลอก ๆ จนกว่าจะพบใบหน้าแท้ของตัวเอง
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา