19 พ.ย. 2020 เวลา 09:21 • ปรัชญา
๔.เค้าขวัญวรรณกรรม : มหากาพย์กับมนุษย์
เราพบว่าพระสงฆ์ที่เรียนบาลีหรือสันสกฤตแล้ว เรียนภาษาอังกฤษง่าย เพราะไวยากรณ์และศัพท์เหมือนกันมากมายเป็นพัน ๆ คำ มันพอจะเห็นเค้าได้ว่า ภาษาอังกฤษ ละติน กรีก มีรากร่วมกันกับภาษาของอารยัน ภาษาของอินเดีย สันสกฤตหรือบาลีมาก ๆ
ผมไม่ใช่นักภาษา แต่ว่าจะยกตัวอย่าง “หัตถ” ที่แปลว่ามือ กับ Hand, Noseกับ “นาสิก” ที่ตรงกันมากคือ “หน้าแข้ง” Shank กับ “ชงฆ์”แปลว่าหน้าแข้ง คำว่า “มกโส” กับ Mosquito ยุง แม้แต่เทพเจ้าของกรีกหรือโรมัน เช่น “จูปีเตอร์” “ปิเตอร์” คือ “ปิตระ” ซึ่งหมายถึงบิดร คือพระเทพบิดรจูปิเตอร์ ฝรั่งชื่อนาย Peter ก็หมายถึง ปิตระ “อนุสสรติ” กับ Anniversary วันระลึกครบรอบปี
อ.ปรีดี พนมยงค์ ยกคำว่า “พิลาส” ภาษาบาลีสันสกฤต กับคำว่า Philos แปลว่าความรัก Philosophy แปลว่ารักที่จะรู้ คำว่า Philos ตัวนี้กับคำว่า “พิลาส” ตัวเดียวกัน
แม้แต่คำว่า Burg เช่น Edinburgh คือคำท้ายคำว่า “บุรี” นั่นเอง หรือรัฐในอเมริการัฐหนึ่ง ชื่อ Pennsylvania มีคำว่า “วน” อยู่ในนั้น สวนป่าของเพนน์ วิลเลียม เพนน์ ยกให้อังกฤษ แล้วอังกฤษเรียกชื่อว่า Penn’s vania เวเนียของเพนน์ เวเนียคือคำว่า “วน” คือ ป่า
คำและพยางค์เหล่านี้มันผสมผสานปะทะสังสรรค์กันได้อย่างไร เราก็สาวไปถึงที่มาของชนเผ่าอารยัน แถบทะเลสาบแคสเปียน, เขาคอเคซัส เรียกเผ่าชนเหล่านั้นว่า คอเคซอย เมื่อมีการอพยพลงล่างก็แตกเป็น ๒ สาย สายหนึ่งเข้าไปอยู่อินเดีย เรียกอินโดอารยัน อีกสายหนึ่งเข้าไปทางอิหร่าน (เปอร์เซีย) เรียก อินโดอิราเนียน ซึ่ง อินโดอิราเนียน นั่นเองเป็นต้นตอของละติน
เป็นไปได้ไหมที่วรรณกรรมมหากาพย์ รามายณะ มหาภารตยุทธิ์ โอดิสซี อีเลียด ที่จริงมาจากแหล่งเดียวกัน แล้วมันแตกไป ๒ สาย
ทางซีกโลกตะวันออก รามายณะนั้น ว่ากันว่าพระฤๅษีชื่อวาลมิกิ เห็นนกกระเรียนตัวผู้ร้องเสียโหยหวน เมื่อนกกระเรียนตัวเมียซึ่งเป็นคู่ถูกฆ่าตาย รู้สึกโศกเศร้าขึ้นมาในจิตใจ ด้วยอารมณ์โกรธต่อนายพรานผู้ฆ่า
วาลมิกิเปล่งอุทานคำสาปแช่งออกไป เป็นโศลกแห่งความโศกใจออกมา เลยค้นพบฉันทลักษณ์ใหม่ เรียก โศลก คือ โศก
เพราะฉะนั้นรามายณะทั้งเรื่องเป็นบทคร่ำครวญ
พระรามคร่ำครวญถึงสีดา แล้วก็สะท้อนออกมีอิทธิพลต่อลักษณะดนตรีของอินเดีย อินเดียดนตรีมักเศร้า แต่ความเศร้านั้นเต็มไปด้วยความสุขและศรัทธาในสรวงสวรรค์
ฟังเสียงซีต้าแล้วจะรู้ว่าเศร้า แต่ว่ามันมีความชื่นบานในความเศร้า ก็ถือกันว่าวรรณกรรมชั้นยอดของโลกต้องเป็น Tragedy ตั้งแต่กรีกโบราณจนอินเดีย ส่วน Comedy นั้นเทียบกับ Tragedy ไม่ได้ ถ้าเป็นยอดของวรรณกรรมต้องเป็นโศกนาฏกรรม
คนไทยก็ถืออย่างนั้น คล้อยตามคตินิยม, วิถีทาง, วิธีคิดของอินเดีย เช่น เราถือลิลิตพระลอเป็นยอด Tragedy ถ้าเคยอ่านจะรู้ว่ามันแสนที่จะเศร้า ทุกตอนจะเต็มไปด้วยความโศกเศร้า เช่น ตอนลาแม่ไปหาเมีย ขัดแย้งในใจของพระลอว่าเลือกอยู่กับแม่หรือไปหาเมียดี ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อเมียตน เมียรักร้อยคน ฤๅจะสู้พระแม่ได้ มาจากยอดสุดของอารมณ์ที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงนั้น
กวีเขาฉลาดในการสร้างอารมณ์ขัดแย้งอย่างรุนแรงเพื่อให้เกิดการสะเทือนอารมณ์ของผู้อ่าน โศลกที่ฤๅษีวาลมิกิเปล่งอุทานท่วงทำนองเศร้าจากการเห็นและได้ยินนกกระเรียนร้องโหยหวนหาคู่ ได้กลายมาเป็นบทสวดจนทุกวันนี้ ถ้าไปอินเดียได้ยินแต่บทสวด สวดสรรเสริญ สีตา-ราม รามเกียรตินั้นได้กลายมาเป็นบ่อน้ำพุ, ต้นธารวรรณกรรมต่าง ๆ แตกตัวกันเต็มไปหมด
โอดิสซีเป็นต้นลำธารของนวนิยายรุ่นหลัง แต่นวนิยายนั้นเปลี่ยนมิติไป ที่จริงนวนิยาย Novel คือ New เป็นมิติใหม่ ส่วนรามายณะนั้นได้แตกตัวเป็นรูปของนิทานต่าง ๆ ไม่ยาวเหมือนมหากาพย์ที่เป็นต้นตอ มหากาพย์เป็นเรื่องยาวมาก แล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องการจะประมวลทุกอย่าง เป็นห้องสมุดของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น คนที่อ่านวรรณกรรมมหากาพย์จะรอบรู้ในทุก ๆ ศาสตร์ในนั้น
ยกตัวอย่างตอนพระรามไปยกธนูชิงสีดาเพื่อเลือกคู่ เมื่อพราหมณ์เป่าสังข์ สังข์กี่ร้อยตัวถูกอธิบายหมด ซึ่งในแง่โครงสร้างนั้นไม่จำเป็นต้องมี แต่เขาต้องการจะบรรจุศาสตร์ทุกแขนงในนั้น
ในเวสสันดรชาดกของเรา ก็สืบทอดวิธีเขียนหรือขนบของการเขียนมหากาพย์มา อย่างในกัณฐ์มหาพน ชูชกเดินทางเพื่อไปขอกัณหา-ชาลีจากพระเวสสันดร ต้องไปพบพรานเจตบุตร ผ่านเขาวงกต ผ่านป่าผ่านต้นไม้กี่พันต้นก็บอกหมด ซึ่งที่จริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องโดยตรงนัก
อ่านมหากาพย์แล้วจะรู้ว่า มันเป็นแหล่งของศิลปะและศาสตร์ต่าง ๆ เวลาตัวพระตัวนางออกศึกก็มีการแต่งตัว ก็สอดใส่ความรู้เรื่องนั้น ๆ เราต้องเข้าใจว่ามหากาพย์คือห้องสมุดสรรพวิทยาการ
การแต่งตัวเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง พวกนายภูษามาลาเขาจะรู้ แต่งองค์ให้กษัตริย์ แต่งอย่างไร ใส่สนับเพลา ใส่ทับทรวง อะไรผมยังจำไม่ได้ ในพิธีพราหมณ์เป่าสังข์เหมือนที่ว่าแล้ว สังข์กี่ชนิดกี่อย่างเอามาอธิบายหมด ในแง่หนึ่งก็คือเสริมสร้างความรู้ในเรื่องศิลปะศาสตร์ อีกแง่หนึ่งก็คือความอลังการของพิธีกรรมของพราหมณ์
มหากาพย์นั้นเป็นงานใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเขียนเล่นและไม่ใช่เขียนคนเดียว หลังจากวาลมิกิรจนาขึ้นมาแล้ว ก็ให้ยุวกษัตริย์สององค์ผู้เป็นโอรสของพระราม ลว และกุศ ออกเร่ร่อนร้องสรรเสริญคุณของพระราม-พระราชบิดา ไปทั่วชมพูทวีป
พระรามค่อยๆ กลายจากมนุษย์ธรรมดาที่เป็นกษัตริย์ทรงธรรม ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าไปในที่สุด ฉะนั้น พระรามในอินเดียหมายถึง พระเจ้า แต่จริง ๆ พระรามก็มีตัวตนจริงในทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า
พูดอย่างนี้คนฟังที่ไม่คุ้น คงคิดผมเพี้ยนไปหรือเปล่า วรรณกรรมของเราทำให้เรื่องเพี้ยนไปเองไม่ใช่ผู้เล่าเพี้ยน รามเกียรติ์ทำให้หนุมานกลายเป็นลิงเจ้าชู้ กลายเป็นขุนพลเจ้าชู้ไปเลย ทำให้ความภักดีในพระเจ้ากลายเป็นตัวตลกอะไรบางอย่าง ผู้รวบรวมปรับแปลง แม้ไม่ได้เจตนาที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของวรรณกรรมนี้ก็ตาม
แต่ว่าควรจะรู้อย่างหนึ่งว่า วรรณกรรมนี้เป็นวรรณกรรมทางศาสนา เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ฤๅษีวาลมิกิได้ส่งโอรสทั้งสองของพระรามไปประกาศจริต เกียรติคุณของพระราม ดังนั้น รามเกียรติ์ จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า รามจริตมนัส แปลว่า จริตน้ำใจของพระผู้เป็นเจ้า
พระรามเป็นแบบฉบับบุคคลในอุดมคติ คือเป็นพระเจ้า เป็นสามีที่เลิศที่สุดของภรรยาคือนางสีดา เป็นพี่ชายที่ดีที่สุดของน้องคือพระลักษมณ์ เป็นคนที่ทรงสัตย์ที่สุด รับคำของพ่อไว้แล้ว แม้พ่อตายแล้วยังปฏิบัติต่อ
เท้าความเดิมว่า ท้าวทศรถบิดาของพระรามออกศึกแล้วก็เพลี่ยงพล้ำ ล้อสลักดุมล้อรถหลุด ซึ่งอันตราย เมื่อล้อหลุดก็จะแพ้ถึงแก่ชีวิตได้ในสนามรบ ไกยเกยี (ซึ่งไทยเรียกไกเกสี) ก็เอาแขนเธอสอดสลักแทน ซึ่งกลายเป็นหนี้พระคุณครั้งใหญ่ จนทศรถลั่นวาจาว่า ขออะไรให้ได้ทั้งสิ้นแม้แต่ชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นหนี้พระนางซึ่งเป็นมเหสีรอง
นางก็ไม่ขออะไร ตราบมาถึงวันที่ทศรถจะอภิเษกพระรามขึ้นครองราชย์ พระรามเป็นโอรสองค์โตของภรรยาหลวงเกาศัลยะ (เกาสุริยา) เมื่อวันที่พระรามจะขึ้นครองราชย์นั้น ไกยเกยีก็ทูลขอราชสมบัติให้ภรต (พระพรต) ลูกของทศรถซึ่งเกิดแต่นางขึ้นครองแทน ให้พระรามออกเดินป่า ๑๔ ปี จนกว่าพระภรตจะครองเมืองเรียบร้อยแล้ว
ทศรถโกรธแค้นจนกระอักเลือดตาย เจ็บใจจนตายเพราะว่ารักพระรามมาก ส่วนพระรามนั้นถือสัตย์ คำสัตย์ที่พ่อให้ไว้ต้องปฏิบัติตาม แม้พ่อจะเสียชีวิตแล้วก็ตาม ส่วนภรตลูกของไกยเกยีเองถอดพระแสงจะฟันแม่ให้ตายที่สร้างเหตุยุ่งยากนี้ขึ้น เพราะว่าพรตก็รักพระรามมาก
พระรามมีน้องอีก ๒ องค์ ชื่อ ลักษมัณ(พระลักษมณ์) เกิดจากพระนางสมุทรา ชายาอีกองค์หนึ่งของทศรถ แล้วก็ ศตรุกขณ์ เกิดแต่สมุทราเช่นกัน รวมเป็น ๔ พี่น้อง
เนื่องจากบทบาทของพระรามทรงสัตย์ตลอดเวลา พระรามค่อย ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของสัจจะ คือ ความจริง หรือมหาตมะคานธี เรียกว่า Truth (ครั้งหนึ่งมหาตมะคานธีเดินจงกรมไปมา มีคนใกล้ชิดแอบได้ยิน เมื่อเดินไปเที่ยวหนึ่งพึมพำว่า “God is truth” เดินกลับอีกเที่ยวหนึ่งว่า “But truth is not god” สำหรับพระรามนั้น ติดริมฝีปากของชาวอินเดีย ในฐานะ God คำสุดท้ายที่มหาตมะคานธี อุทานคือ “ราม” แล้วก็ตายเพราะถูกยิง)
รามนั้นกลายเป็นอะไรบางอย่างซึ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในอินเดีย ทั้ง ๆ ที่พระรามจริง ๆ คือกษัตริย์องค์หนึ่ง เดี๋ยวนี้ถ้าไปเมืองอโยธยาจะพบว่า มีสถานที่ๆเป็นครัวของนางสีดา มีพระราชวัง เช่นเดียวกับเราไปกบิลพัสดุ์ หรือลุมพินี
เราไปอินเดียทุกวันนี้ เราจะพบว่าในร้านกาแฟเขาจะคุยกันอ้างถ้อยคำของหนุมาน ฟังดูขำ ๆ สำหรับผู้ห่างเหินจากวัฒนธรรมเก่า แต่ในอินเดียเป็นจริงมาก เขาอาจจะบอกว่า หนุมานเคยกล่าวไว้ว่าอย่างนี้ พระรามพูดว่าอย่างนี้ สีดาพูดว่าอย่างนี้
เพราะว่ามหากาพย์รามายณะติดอยู่กับลมหายใจของชาวอินเดียที่เป็นฮินดู แล้วเขาไปอยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองไหน เขาจะเอาอันนี้ไปเผยแพร่ ไปถึงชวาๆ ก็ได้รับรู้เรื่องนี้ แม้ไปพาหุรัด เดี๋ยวนี้ชาวอินเดียก็ยังเล่าเรื่องหนุมาน เรื่องพระราม เรื่องพระลักษมณ์ให้ฟัง
ดูเค้าเรื่องที่ถูกรจนาขึ้นโดยเอาตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ คือ ราม รามา กษัตริย์ทรงธรรม มาเป็นตัวเอกในเรื่องรามายณะ ส่วนทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น เพื่ออธิบายภาวะภายใน อันนี้ผมอธิบายแล้ว มีเค้าเงื่อนของปราชญ์อินเดีย หลายคนเอะใจเหมือนกัน
จะโยงถึงเรื่องของมหาภารตยุทธ์เลย รามเกียรติ์ รามายณะของอินเดียกับมหาภารตยุทธ์ มีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่เป็นฮินดูเหมือนกัน คนละเรื่องและคนละนิกาย ในขณะที่ มหาภารตยุทธ์ นับถือพระกฤษณะเป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นองค์อาตมัน เป็นอวตารปาง กฤษณาอวตาร
รามเกียรติ์นั้นพระนารายณ์แบ่งภาคมาเป็นพระรามเป็นรามาวตาร ในมหาภารตยุทธ์มีเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่พี่น้องตระกูลปานฑพ ซึ่งถูกเนรเทศและกลั่นแกล้งจากพี่น้องตระกูลเการพ ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นญาติกัน แย่งชิงอำนาจกัน แล้วก็ต้องเร่ร่อนต้องแปลงกายเป็นพราหมณ์ธรรมดา ทั้ง ๆ ที่เป็นกษัตริย์
ยุทธิษเฐียร เป็นพี่ใหญ่ทรงธรรม ได้ชื่อว่าเป็น ธรรมบุตร องค์รองคือ ภีมะ ผู้ทรงพลัง ส่วนอรชุนนั้นเป็นน้องคนที่สาม กับน้องคู่แฝด นกุล-สหเทพ
อรชุนนั้นแม่นธนูและมีอะไรคล้ายโอดิสซูสมาก เมื่ออรชุนไปยิงธนูลอดวงล้อหมุน เพื่อชิงทรุปติ หญิงงาม ที่หวังจะวิวาห์กับชายผู้แม่นธนูที่สุดในแผ่นดิน ก็ไปซ้ำกับเหตุการณ์ของโอดิสซี ตอนที่โอดิสซูสกลับเมืองพิสูจน์ฝีมือว่าเป็นตัวจริง เป็นโอดิสซูสจริง ๆ ก็ยิงธนูลอดเป้าหมุนเช่นกัน
เมื่ออรชุนยิงธนูได้ทรุปติมาแล้ว ก็กลับมาหากุนตี ซึ่งเป็นแม่ของพี่น้องปานฑพ นางกำลังปรุงอาหารอยู่ในครัวไม่ได้หันมาดู เมื่อลูกชายตะโกนว่าแม่จ๋า วันนี้ลูกมีของขวัญมาฝากแม่ กุนตีก็บอกว่า ถ้างั้นเจ้าจงแบ่งเท่า ๆ กันเป็นของทุกคน คนอินเดียนี้ถือคำสั่งของแม่เป็นประกาศิต เปลี่ยนไม่ได้เลย ดังนั้น ทรุปติจึงตกเป็นภรรยาของพี่น้องทั้งห้า
มหาตมะคานธีกังวลใจเรื่องนี้มาก เพราะว่ามันผิดจริยธรรมชาวอินเดียอย่างร้ายแรง แต่แกก็แย้งไปนิดหนึ่งว่าน่าจะเป็นปริศนาธรรมมากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง ๆ เพราะมหากาพย์ซึ่งเป็นเรื่องทางจริยธรรมนั้น ทำไมต้องแต่งเรื่องพิลึก พิสดารอย่างนี้น่าจะเป็นปริศนา ไม่น่าจะเป็นอื่นได้
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เขาคงไม่เลินเล่อสะเพร่าถึงขนาดให้เรื่องเหล่านี้หลุดมาได้ ฉะนั้น ทรุปติไม่น่าจะเป็นผู้หญิง ต้องเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับสีดา
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา