7 ธ.ค. 2020 เวลา 02:36 • ปรัชญา
🎐นกอาสา สื่อธรรมะดังตฤณ
ถาม : สุขที่แท้ทางพุทธคืออย่างไร?
มูลนิธิบูรณพุทธ
ดังตฤณ :สุขที่แท้ในทางพุทธ
หรือที่พุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่าเป็น บรมสุข
คือ สุขของพระอรหันต์ ที่ท่านอยู่เฉยๆ
ไม่ได้ตั้งใจจะเจริญสติ ไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิ
จิตของท่านก็เป็นอิสระออกมาจากเขตที่ความทุกข์จะมากระทบได้
.
จิตของพระอรหันต์นั้น เป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น
เป็นอิสระจากอุปทานทั้งปวง
เป็นจิตที่ไม่มีความกระสับกระส่ายได้อีกเลย
.
ความขมขื่น ความห่อเหี่ยว ความหมดกำลังใจทั้งหลาย
จิตพระอรหันต์ไม่มีแล้ว
ท่านมีจิตแบบนั้นของท่าน โดยท่านไม่ต้องทำอะไร
นี่คือสุขที่แท้ในทางพระพุทธศาสนานะครับ
.
สมมติว่า เรานึกถึงศัตรู แล้วเกิดความรู้สึกไม่ดี
รู้สึกว่า ทำไมโลกนี้ถึงต้องมีคนๆ นี้
พอมีความปรุงแต่งทางจิตแบบนี้ขึ้นมา ก็เกิดความทุกข์
.
ทีนี้ ถ้าสติเจริญขึ้นมา ณ ขณะนั้น
เอาเฉพาะ ณ ขณะนั้นนะ ไม่ใช่ทุกช่วงอย่างในคำถาม
ขณะที่เกิดความทุกข์หนักๆ จากการคิดแค้น คิดไม่ดีกับใคร
แล้วเราเห็นว่าความทุกข์ตรงนี้ เกิดขึ้น
ยอมรับตามจริงว่ามันเกิด ไม่ไปปฏิเสธมัน
.
เกิดความรู้สึก เกร็งเนื้อเกร็งตัว เท้าจิกพื้น
รู้สึกหน้าดำคร่ำเครียด ตึงขมับ หายใจไม่ทั่วท้อง
ไม่อยากเดินไปไหน ไม่อยากคุยกับใคร
อย่างนี้เรียกว่ากำลังมีความทุกข์
.
เป็นความทุกข์แบบไม่รู้ตัว และปล่อยให้ทุกข์อยู่อย่างนั้น
ปล่อยให้เกร็งอยู่อย่างนั้น นี่คือ ไม่มีสติ
.
แต่พอนึกได้ถึงหลักการเจริญสติ ท่านให้ยอมรับ ว่า
กำลังปรากฏอะไรกับร่างกายของเรา
เท้ากำลังจิกกดอยู่กับพื้น เรายอมรับไปตามจริง มันก็คลายออก
พอเท้าคลายออก
ความทุกข์ ที่เมื่อครู่ กำลังทุกข์มหันต์เหลือเกิน จะเบาลงทันที
นี่แค่คลายเท้านะครับ มีสติรู้ว่าเท้าจิกอยู่ เกร็งอยู่.. แล้วมีสติ พอเท้ามันคลายออกได้ จะมีความรู้สึกสบายขึ้น …
.
แค่เท้าอย่างเดียว ความทุกข์ลดลงแล้ว
ภาวะทางกายทางใจ เป็นอุปกรณ์ในการเจริญสติใช่ไหม
.
มือ ..เห็นศัตรูขึ้นมา หลายคนจะเป็น
คือ มือจะชื้นเหงื่อขึ้นมาทันที
แขนมีอาการเกร็ง กัดฟันกรอดๆ ขึ้นมาทันใด โดยไม่รู้ตัว
แต่ถ้าเรารู้ตัว เลิกกัดฟัน คลายมือออก วางสบายๆ
จะเกิดความรู้สึกมีความสุขขึ้นมาชั่ววูบ
.
เห็นไหม ความสุขอันเกิดจากการเจริญสติ
ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ จะเกิดขึ้นตอนถึงเวลาที่ต้องใช้สติ
.
จะมีภาวะทางอารมณ์ เกิดขึ้นเป็นวูบๆ พักๆ
มีอาการฟุ้งซ่าน เหม่อลอยอะไรก็ตาม ที่เป็นภาวะแย่ๆ
แล้วเราสามารถรู้ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ที่จะฝึกเจริญสติ
.
พอยต์ของการเจริญสติ คือ
ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วเห็นว่ามันต่างไปเป็นขณะๆ
.
ถามว่า จะเห็นมันต่างไปอย่างไร?
เอาลมหายใจเป็นเครื่องเทียบ
ไม่ใช่ไปจ้องดูลมหายใจนะ
แต่ให้ระลึกว่า ณ ขณะตอนคิดถึงคนที่ไม่ชอบหน้า
มีความทุกข์เหลือเกิน เกร็งไปทั้งตัว มืดไปทั้งใจ
.
เราเห็นด้วยอาการยอมรับตามจริงแค่นี้
ลมหายใจต่อมา จะเกิดการเทียบเคียงกันเอง
ว่าร่างกายยังเกร็ง จิตใจยังมืดอยู่ บอดอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า
เหมือนเมื่อลมหายใจที่แล้วหรือเปล่า
.
ถ้าเกิดความรู้สึกว่า คลายไป คลายลง
นี่เรียกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบอ่อนๆ แล้ว
.
แล้วถ้าเราย้ำ ที่จะเห็นอย่างนี้อีกเรื่อยๆ
จะเกิดความสุข มาแทนที่ความทุกข์
ความสุขอันเกิดจากการมีสติ
ได้เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ทุกข์
ตัวนี้แหละ ที่จะเป็นความสุขระหว่างเจริญสติ
.
ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงแบบพระอรหันต์
แต่เป็นความสุขในแบบที่เรารู้สึกว่า
แค่นี้ คุ้มแล้วที่ได้เจริญสติ
ยังไม่ต้องได้บรรลุมรรคผล ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์
เราเห็นว่ามีการออกดอกออกผล งอกเงยขึ้นมาบ้างแล้ว
.
เพราะฉะนั้น ถ้าใครฝึกเจริญสติ
แล้วเกิดความรู้สึกปล่อยวาง
เกิดความรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้น
ตรงนั้นแหละ คือ ความสุขระหว่างทาง
ก่อนที่จะไปเจอความสุขที่แท้จริง
แบบที่เรียกว่าเป็นบรมสุขของพระอรหันต์!
คำถามเต็ม : สติระลึกรู้ทันในทุกช่วงขณะจิต จึงเป็นที่มาของปัญญา จึงมีปีติและสุขในใจ อันนั้น คือสุขที่แท้ใช่ไหม?
รายการดังตฤณวิสัชนา Live#19
วันที่ 8 ม.ค. 2560
ถอดคำ : นกไดโนสคูล
ตรวจทาน / เรียบเรียง : เอ้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา