11 ธ.ค. 2020 เวลา 08:06 • ปรัชญา
🎐นกอาสา สื่อธรรมะดังตฤณ
ถาม : ความสุขในการเจริญสติเป็นอย่างไร?
ดังตฤณ : พวกเรา เวลาไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็จะทุกข์
ใจกระวนกระวาย ไม่อยากสนใจอะไร
เรียกว่า ความทุกข์อันเกิดจากการไม่ได้อย่างใจ
.
ส่วนความสุขที่ได้อย่างใจ คือ ชื่นมื่น
เหมือนเราเป็นผู้ชนะ เป็นคนที่ใครๆ จะต้องอิจฉา
แต่ ก็แป๊บเดียว
.
สุขเดี๋ยวหนึ่ง แต่ทุกข์ยาวๆ
อย่างนี้เรียกว่า สุขทุกข์แบบโลกๆ
.
ความสุขอันเกิดจากการดีใจ
จิตจะมีอาการ "ขอกอด" สิ่งที่ได้มา ไว้อย่างแน่นเหนียว
ถ้าจะต้องสูญเสียไป จะรู้สึกเหมือนโลกถล่มทลาย ท้องฟ้ามืดมน
.
ความสุขที่เป็นแบบโลกๆ
จึงเป็นสุข ที่พร้อมจะทำให้เกิดความทุกข์
สวิง (Swing) กันไปมา 2 ข้างนี้ จะสมใจหรือไม่สมใจ เท่านั้น
.
.
ความสุขจากการเจริญสติ อยู่ที่มองอีกมุม ว่า
ชีวิตนี้ ที่ได้มาจริงๆ คือความรู้สึกว่าเรา "มี"
และที่เสียไปจริงๆ ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก "เสียใจ"
.
"เสีย" ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ก็คือ เสียใจ นั่นแหละ
ใจที่เสียไป ใจที่มืดมนไป
.
การเจริญสติ เวลาได้อะไรมา ดูมาที่ใจ
ว่าใจเกิดอาการยึด อยากครอบครอง ไม่อยากสูญเสียไป
.
แต่เมื่อไหร่ที่ของชิ้นนั้น ทำความไม่พอใจให้กับเรา
ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็เช่น แฟน
บางคนบอกว่า .. ภรรยา คือ นางในฝัน สุดท้ายพอได้อยู่ด้วยกัน ..
จากนางในฝันดี ก็กลายเป็นนางในฝันร้าย
.
สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ นึกว่าได้มาแล้ว จะมีความสุขที่สุด
รู้สึกว่า "นี่ของกู" ใครมาแย่ง ต้องตายกันไปข้าง
ในที่สุด พอได้มาจริง กลายเป็นถามตัวเองอยู่ทุกวัน
เมื่อไหร่จะพ้นจากภาวะแบบนี้ .. นี่ก็มีเป็นตัวอย่าง ในชีวิตคู่
.
.
การพิจารณาเป็นจิต จะไม่พิจารณาว่า
เราได้อะไรมา หรือเสียอะไรไป ภายนอก
.
ตอนที่ยึด อาจจะยึดผิดก็ได้ นึกว่าเป็นของดี นึกว่าจะมีความสุข
แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นต้นทางของทุกข์มหันต์
ก็จะเกิดมุมมองอีกแบบหนึ่งว่า ความสุขชั่วคราว
หรือ การยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่นนั้น เป็นอาการหลงผิด
.
พอพิจารณาว่า ความหลงผิดนั้น
เป็นแค่ อาการปรุงแต่งของจิตชั่วคราว
จะเกิดความรู้สึก ‘เบา’ ขึ้นมา คลายจากอาการยึด
.
ไม่ใช่ความสุขจากการได้อะไรบางอย่างมา
แต่เป็นอาการคลาย จากความยึดมั่นอะไรบางอย่างไป
.
ถ้าหากรู้หลัก ของการคลายความยึดมั่นได้จริง
จะคลายความยึดมั่น ได้กับทุกสิ่งในชีวิตเลย
พระพุทธศาสนาถึงได้สอนให้อภัย หรือสอนให้รู้จักแบ่งปัน
.
ทุกครั้งที่แบ่งปัน ทุกครั้งที่อภัย เป็นการฝึกคลาย
.
.
แต่การเจริญสติ
ไปไกลกว่าเรื่องของการสละทรัพย์ และการให้อภัย
เป็นชีวิตของคนที่ มีมุมมองภายใน อยู่ตลอดเวลา
ว่ายังยึดอะไรอยู่บ้าง ยังมีสิทธิ์ทุกข์จากการหวงอะไรไว้อยู่บ้าง?
.
ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ บุคคลอันเป็นที่รัก
พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนรัก ลูกหลาน ฯลฯ
ถ้าใครมี และรักบุคคลเหล่านั้นมาก
บางทียอมตาย แต่ไม่ยอมให้บุคคลอันเป็นที่รักนั้น มีความทุกข์
.
จริงๆแล้ว เราไม่ได้รักใครไปมากกว่ารักตัวเอง
ที่ยอมตายให้กับบุคคลอันเป็นที่รักได้
ก็เพราะใจยังยึดอยู่
ใจของเรา.. ศูนย์กลางความรู้สึก ยังทุ่มเทให้เขา
.
ถ้าบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้ไม่สบอารมณ์ บ่อยๆเข้า
ความรู้สึกที่อยากทุ่มเทแม้กระทั่งชีวิตให้ ย่อมหมดไป
.
ตัวยึดมั่น นี่แหละ ที่ทำให้ทุกข์ได้หนักที่สุด
.
ถ้าทำลายอุปาทาน หรือความยึดมั่นทิ้งได้สำเร็จ
ต้นเหตุของความทุกข์ ก็จะหายไป
.
.
ผู้ที่เจริญสติ ไม่ได้เจริญสติเอากับสิ่งที่อยู่นอกกาย
แต่เจริญสติ เพื่อให้ มีสติ ขึ้นมาว่า
ภายในขอบเขตกายใจนี้ ไม่มีสักส่วนเดียว ที่จะไม่เปลี่ยน
จะต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด.. หวงมันไว้ไม่ได้
จะยึดมันไว้แค่ไหน ในที่สุดก็ต้องหลุดจากมือเราไป
.
อย่างเช่น การหายใจเข้า-ออก เป็นลมหายใจของเราอยู่ชัดๆ
แต่เมื่อพิจารณาไป จะเห็นว่า สิ่งที่เข้าออกอยู่ตลอดเวลานี้
เปลี่ยนภาวะไปเรื่อยๆ ไม่เคยซ้ำกันเลย เป็นลมที่พัดเข้าพัดออก
มาในสิ่งที่ เราทึกทักว่าเป็นร่างกายของเรา
แต่พอปล่อยออกไปจากร่างกายของแล้ว จะไปไหนก็ช่าง
ไม่ยึดแล้ว ว่าเป็นลมหายใจของเรา
.
ถ้าตามรู้ลมหายใจ เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นแค่ธาตุลม ไปได้นานๆ
จะรู้สึกอีกแบบว่า สิ่งที่น่ายึดกว่าลมหายใจมีอยู่
คือ ความสุข จากการนิ่ง .. รู้ภาวะของลมหายใจที่ไม่เที่ยง
.
แต่ความสุขที่เกิดขึ้น ก็อยู่แป๊บหนึ่ง
แล้วก็ต้องเปลี่ยน มาเป็นความคิดปรุงแต่งแบบธรรมดา
จิตกระสับกระส่าย อยากโน่นอยากนี่
หรือแม้กระทั่ง อยากกลับเข้าไปมีสมาธิใหม่
.
เป็นลักษณะทุกข์แบบหนึ่งของจิต
ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ความสุขไม่เที่ยง
ส่วนความสุขอย่างเหลือเกิน
อันเกิดจากทำสมาธิ การเจริญสติ
ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า ความทุกข์ไม่เที่ยงเช่นกัน
.
เมื่อเห็นอยู่ว่า ทั้งทุกข์ทั้งสุขไม่เที่ยง
ขึ้นกับการปรุงแต่ง เป็นขณะๆ
ก็จะปล่อยวาง ตัวความสุขความทุกข์
จากนั้น จะเห็นทุกอย่าง ต่างไปหมด
จะมองเข้ามาที่ข้างใน
.
ถ้าลมหายใจ กับความสุขความทุกข์แบบธรรมดาๆ
ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว
ความคิดล่ะ? ...
คิดถึงคนโน้นคนนี้ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่
ยังเป็นเหตุให้จิตกระสับกระส่ายได้อยู่ไหม?
ก็พิจารณาเข้าไป แล้วเห็นว่า
ความปรุงแต่งทางจิต ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
.
เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ เป็นเดือนเป็นปี
เมื่อความฟุ้งซ่าน ความคิด อยากโน่นอยากนี่ เกิดขึ้นมา
จะเห็นเหมือนหมอกควัน จะเห็นเหมือนเงาๆ
เข้ามาบดบังความโปร่งใสของจิตชั่วคราว
แล้วรู้สึกว่าความคิดแบบนี้ไม่ใช่เรา จะเกิดปัญญา
.
ความคิด ผ่านเข้ามาเท่าไหน ก็ผ่านออกไปเท่านั้นหมด
.
ความสุขที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น
จะมีศูนย์กลางสติอยู่ตัวหนึ่ง ที่เป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่ว่า
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น...
.
ยังคงรับผิดชอบการงานทุกอย่าง ทำชีวิตให้ดีทุกอย่าง
แต่ไม่รู้สึกว่านั่นมันเป็นตัวเป็นตน ที่น่ายึดน่าหวง
.
พอเราไปถึงจุดที่เป็น ‘สัมมาสมาธิ’
รสชาติความสุขตรงนั้น จะไม่ใช่ความสุขแบบเบา
แบบชื่นมื่น หรือมีปิติ
เพราะแม้แต่ปิติ แม้แต่ความเบา ก็จะเป็นสิ่งที่ ถูกรู้
1
ว่าเป็นความปรุงแต่งจิตชั่วคราว ไม่เที่ยงเหมือน กัน
.
สติ จะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ที่รู้สึกถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เหมือนกายนี้เป็นโครง โปร่งใสเหมือนแก้ว
หรือจิต สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ ที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง สว่างบ้าง มืดบ้าง
.
ความสุขที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น
จะไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการได้มา
แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการ
ทิ้งอะไรได้ทุกอย่าง ออกจากใจไปหมด …
.
จากมุมมองของการเจริญสติแบบทางพุทธจริงๆ
ทุกคนไม่ได้มี (สัมมา) สติ นะครับ
ทุกคนมีแค่สติทางโลก ที่จะทำงานให้เสร็จ
ที่จะพูดให้รู้เรื่อง ที่จะสื่อสารกับผู้คน
.
แต่ สัมมาสติ ซึ่งตรงกันข้ามกับมิจฉาสติ
เป็นสติอีกแบบหนึ่ง คือ เราอยู่ในชีวิตประจำวันปกติอย่างนี้
แต่ใจเราไม่เปื้อนทุกข์
.
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเจริญสติเป็นทางเดียว
ที่จะมีความสุขได้ถึงที่สุด
และความสุขที่ถึงที่สุดนั้น ก็คือการพ้นทุกข์นั่นเอง
.
ถ้าพ้นทุกข์ได้ หมายความว่า ใจเป็นอิสระ
ไม่โดนทุบ ไม่ถูกกระทบโดยความทุกข์
เป็นอิสระอยู่ มีความสมบูรณ์อยู่
.
การไม่มีทุกข์นั่นแหละ คือ ความสุขอันยิ่งใหญ่ที่สุด!
คำถามเต็ม : ความสุขในการเจริญสติเป็นอย่างไรครับ ผมรู้สึกแต่ทุกข์น้อยลง
รายการดังตฤณวิสัชนา Live#19
วันที่ 8 ม.ค. 2560
ถอดคำ: นกไดโนสคูล
ตรวจทาน / เรียบเรียง: เอ้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา