21 ธ.ค. 2020 เวลา 11:26 • ปรัชญา
🎐นกอาสา สื่อธรรมะดังตฤณ
1
ถาม : จะพูดเปลี่ยนใจคนที่มองเรื่องศีลและการเจริญสติ เป็นเรื่องไร้สาระ และไกลตัวได้อย่างไร
https://www.facebook.com/groups/DharmaDungtrin/permalink/3630640206979176/
ดังตฤณ : แต่ละคน มีจุดคลิกที่จะเปิดประตูทางธรรมะไม่เหมือนกัน
คือ แต่ละคนเหมือนถือกุญแจคนละดอก
ที่จะมาไขประตู เข้าสู่อาณาจักรของธรรมะที่พระพุทธเจ้าสร้างไว้
.
ถ้าเขาอยู่ในเมืองไทย ก็สันนิษฐานไว้ก่อน ว่าเขาน่าจะมีสิทธิ์
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ที่จะเข้าใจว่าธรรมะสำคัญอย่างไร
.
บางคนมองศีล 5 เป็นเรื่อง Common Sense (สามัญสำนึก)
แต่จริง ๆ แล้วไม่ Common Sense เลยนะครับ
.
สมมติ ใครคนหนึ่งแต่งงานไป แล้วสามี หรือภรรยาเกิดนอกใจ
วันนั้น เขาจะเข้าใจออกมาจากแก่นของความรู้สึกในชีวิต
ว่าศีลข้อ 3 สำคัญอย่างไร และการที่มีศีลไม่เสมอกันในข้อ 3
ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวขนาดไหน หรือว่าชีวิตพังอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใจเขาจะเริ่มเปิด
"ฟัง" คำว่าศีล 5 หรือ ศีลข้อ 3 ไม่ใช่แค่แบบ ไปขอศีลจากพระ
.
นี่เป็นเรื่องของใจ ที่ถ้าไปไม่ถึงคำว่า ศีล
ก็จะทำให้ชีวิตนั้น หลงทาง
แล้วก็อยู่ในวงกตของความทุกข์ ได้ยืดเยื้อยาวนานขนาดไหน….
.
มีคนเล่าให้ฟังว่า สามีไปมีเมียน้อย ตอนนั้น เขาก็ทำอะไรไม่ถูก
แล้วก็เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่โวยวายอาละวาด
ทำเรื่องที่เลวร้ายอยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
แต่พอเขาอ่านข้อความในหนังสือ คลิกอยู่จุดหนึ่งที่บอกว่า
.
การที่อยู่ด้วยกัน แล้วไปไม่รอด หรือว่าอีกฝ่ายมีคนใหม่
ไม่ใช่เพราะว่าเขาเลวอยู่ตั้งแต่ต้น
แต่เพราะว่าอยู่ด้วยกันแล้ว
ไม่พยายามเติมความสุขเข้าไปทุกวันต่างหาก....
.
ตรงนี้ทำให้เขานึกออก ถึงคำพูดของผมคำต่อไป ก็คือว่า …
ถ้าสามีมีเมียน้อย สิ่งที่เราจะทำไม่ใช่อาละวาด
แต่เป็นการทำให้เขาเกิดข้อเปรียบเทียบว่า
เรา เย็นกว่า ดีกว่า และเป็นที่น่าเข้าหา มากกว่าคนใหม่ที่เขาไปหา
ถ้าเราทำไม่ได้ เขาไม่มีทางกลับมา
.
ตรงนี้ที่ทำให้เขาคิดได้ แล้วพอเขายึดคำหนึ่ง
คือ คำว่า "อโหสิแบบไม่มีเงื่อนไข"
"อภัยแบบไม่เอาความ" จริง ๆ ออกมาจากหัวใจ …
เขาทำด้วยใจจริง ๆ ว่าสามีถึงอย่างไร
อย่างน้อยก็กลับมาหาลูก แล้วก็ยังพูดคุยกันได้ดี ๆ อยู่
สองเดือนผ่านไป โดยที่เขาไม่ได้คาดหวัง
สามีกลับมา และสำนึกผิดมากมาย
.
ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่เกิดจากความรู้สึก "คิด" ได้เองเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการรู้สึกผิด ที่เกิดจากการ "เห็น"
ภรรยาตัวเอง มีความนิ่ง เย็น และพูดจาดี
ต่างไปจากคนเดิมที่เขารู้จัก
.
.. นี่คือจุดพลิก ..
.
.
กว่าจะคลิกได้ ไม่ใช่ด้วยคำพูด
คำพูดแบบมาตรฐานที่ชักชวนคนเข้าศาสนา
ว่าศาสนาพุทธ นำทางไปสู่นิพพานอย่างไร
คนฟังไม่มีทางเข้าใจ ณ จุดที่ยังรู้สึกว่า
ตัวเองยังมีความสุขอยู่ ชีวิตตัวเองยังดี ๆ อยู่
.
แต่เมื่อไหร่ ที่ชีวิตเขามีปัญหา
แล้วพุทธศาสนาเป็นคำตอบให้..
ตรงนั้นแหละ จะยิ่งกว่าคำชักชวน ..
ตรงนั้นแหละ จะยิ่งกว่าการที่เราไปจาระไน
ให้เขาฟังว่า ศาสนาดีอย่างไร
.
หลักการพื้นฐานของพุทธศาสนานี่
พวกเรา ที่เข้ามาแล้ว ถ้าได้ทำจริงและทำให้เกิดขึ้นเป็นธรรมะ
เป็นความสว่างที่ประดิษฐานอยู่กลางหัวใจของเรานี่
ก็สามารถนำไป apply (ประยุกต์) กับทุกสถานการณ์ในโลกได้
โดยไม่อิงตำรา
.
ยกตัวอย่างผมเอง มีประสบการณ์จริง ๆ ในเรื่องของการอภัย
ซึ่งต้องใช้กำลังใจมหาศาล ไม่ใช่แค่คิด ๆ เอา ว่าอภัยเถอะ
แต่ออกมาจากความเข้าใจว่า คำว่าอภัยทาน ไม่ใช่แค่ด้วยการพูด
แต่ต้องออกมาจาก วัน เดือน ปี
ที่เปลี่ยนความเจ็บปวด ให้กลายเป็นความสุข ..
สุขของเราก่อน แล้วก็ทำให้เขามีความสุขตามได้ด้วย
.
แล้วเกิดความรู้ชัดว่า ผลของอภัยทาน
ทำให้เส้นทางกรรมนี่แตกต่างไปอย่างไร
.
เรื่องนี้ เวลาที่ไปพูดกับคนอื่น ต้องเข้าใจเรื่องจังหวะ
เรื่องความพร้อมทางใจของเขาว่า
ณ จุดหนึ่ง ที่เรามีความรักความปรารถนาดีให้เขา
อยากให้เขามารู้จักพระพุทธศาสนา
เขามี "ช่องรับ" แล้วหรือยัง
.
ธรรมะนี้เป็นของสูงนะครับ ต้องใช้พานทองมารับ
ถ้าเขาไม่มี แม้แต่ช่องว่างที่จะรับธรรมะขั้นเบสิคแล้ว
เราก็ต้องทำไว้ในใจ ว่าอุเบกขาไว้ก่อน
พูดให้เขาฟัง หรือทำให้เขาเห็น ว่าเราอยู่ในเส้นทางของธรรมะ
แต่จะไม่ใส่แรงเข้าไป แบบขี่ช้างจับตั๊กแตนนะครับ
.
ธรรมะนี่ .. ถ้าเขามีช่องว่างที่จะรับจริง ๆ เราออกแรงแค่นิดเดียว
แต่สังเกตไหม.. ถ้าเขายังไม่พร้อม
เราจะรู้สึกออกแรงอย่างมากมายมหาศาล
แล้วเขาก็ยังไม่ได้อะไรเลย
.
สรุปว่า ถ้าเรารักและปรารถนาดีกับใครจริง ๆ
เวลาฟังว่าเขาพูดจาดูถูก หรือ แสดงอาการไม่เห็นค่าของพุทธศาสนา
ให้ทำไว้ในใจก่อนว่า เขามาเกิดในประเทศไทย
แล้วยังไม่ตายในวันสองวันนี้
น่าจะแปลว่าเขามีสิทธิ์
น่าจะแปลว่าเขาก็มีบุญ ในแบบที่ยังไม่ถึงเวลา
.
พอทำไว้ในใจอย่างนี้แล้ว เราจะใจเย็นลง
แล้วก็ สังเกตมากขึ้นว่า มีจังหวะไหน เวลาใด
ที่เขาจะไปเจออะไรขึ้นมาเอง แล้วก็มาถามเรานะครับ
ถ้าเราพูดโปรยไว้ พูดเอาไว้อย่างนั้น
แล้วเขาจะมานึกได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ 20 ปีข้างหน้า
มันก็คือ ชีวิตเดียวกันนั่นแหละ ก็คือ ยังไม่สายเกินไป
.
ถ้าเขายังไม่ถึงเวลานี่ แล้วเราไปชวน
ก็เหมือนกับ การเอาเนื้อคู่ ไปให้ทำความรู้จักกัน
ในเวลาที่ไม่เหมาะสม
.
พอเราได้ฟัง ได้รับรู้
ถึงเส้นทางการเข้ามาทางธรรมของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป
เราก็จะทำใจได้มากขึ้น เป็นอุเบกขาได้มากขึ้น
ว่าแม้แต่ตัวเราเอง
ตอนที่จะเข้ามาทางธรรมะนี่ อยู่ ๆ ใครมาพูดให้ฟังว่า
ธรรมะดีอย่างโน้น ธรรมะดีอย่างนี้ ฟังแล้วไม่เข้าใจ
.
จุดพลิกธรรมะของเราเองนี่ ไม่ใช่เกิดจากการฟังคนอื่นชักชวน
แต่เกิดจากความทุกข์ บีบคั้น
.
ทุกคนในโลก จะมีจุดอยู่จุดหนึ่งในชีวิต ที่มีความทุกข์
และถ้าหากว่าตอนที่ทุกข์ แล้วเจออะไรบางอย่าง
ที่ทำให้นึกถึงจิตใจตัวเองขึ้นมา เป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง
แล้วก็ทำให้ สภาวะจิตใจ เบิกบาน ชุ่มชื่นขึ้นมาได้ สว่างขึ้นมาได้
..นั่นแหละ คือ วันที่เขาจะคลิกธรรมะนะครับ!
คำถามเต็ม : เราอยู่ในกลุ่มที่กำลังไปในทิศทาง ที่เรามีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติภาวนาเพื่อพัฒนาปัญญา หรือรักษาศีล
แต่ในสังคมภายนอก บางคนมองเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เป็นเรื่องไกลตัว
หลายคนพูดเหมือน ๆ กันว่า แค่ไม่ผิดศีล 5 หรือแค่คิดดี ทำดี พูดดี ไม่ทำร้ายใคร ก็เพียงพอแล้ว แต่ในคำว่า คิดดี ทำดี พูดดี ของเขานั้น บางครั้ง เรา (ผู้ถาม) ก็ยังสงสัย ว่าเขาทำได้ขนาดไหน
จริง ๆ เขาก็ยังมีความสุขอยู่ แค่เขาพยายามอยู่ในกรอบของศีล 5 เขาก็อยู่ได้ เลยไม่เห็นความจำเป็น ที่ต้องเข้ามาอยู่ในจุดแห่งการปฏิบัติสมาธิเพื่อพัฒนาปัญญา
ถ้าเจอคนแบบนี้ ควรให้ความกระจ่างเขาอย่างไร เพื่ออย่างน้อยกระตุกเตือนให้เขาเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องจำเป็น?
ดังตฤณวิสัชนา @ ศูนย์เรียนรู้วรการ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
ถอดคำ : นกไดโนสคูล
ตรวจทาน / เรียบเรียง : เอ้ 🙏💛

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา