9 ธ.ค. 2020 เวลา 00:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ECONOMY INSIGHT : เจาะลึกข้อโต้แย้งแห่งปี 2021 !! โลกมีแนวโน้มจะเกิดเงินเฟ้อครั้งใหญ่ (Great Inflation) หรือไม่ ? เพราะอะไร ? ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ? แล้วภาพรวมของแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร ?
5
สำหรับบทความนี้ World Maker จะพาไปเจาะลึกถึงทุกประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับข้อพิพาทซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน นั่นก็คือโลกจะเกิดภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดกันแน่ ? โดยทงเราจะอ้างอิงข้อมูลจากสื่อชั้นนำ รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิคต่าง ๆ
2
แน่นอนว่าบทความนี้จะมีความละเอียดและข้อมูลในเชิงลึกค่อนข้างมาก ดังนั้นคำแนะนำของเราสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมากนักก็คือ ไม่ต้องรีบอ่านทีเดียวให้หมด ค่อย ๆ อ่านและทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ พร้อมกับลองหาข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่ท่านสงสัยและบทความไม่ได้อธิบายไว้ หรือสอบถามได้ที่คอมเม้นด้านล่างเลยครับ
1
ล่าสุด Bloomberg ได้รายงานเรื่องราวของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สำหรับปี 2021 และเตือนให้ตลาดเฝ้าระวังกับภาวะที่เรียกว่า Great Inflation
ชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเห็นราคาพุ่งสูงขึ้นในหลายภาคส่วนสำหรับปีหน้า เนื่องจากการพัฒนาทางด้านวัคซีน COVID-19 ซึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นอันมหาศาลต่อการฟื้นตัวของ Demand ที่พังทลายลงจากการระบาดใหญ่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจแบบเก็บตั๋วเข้าชม และการแข่งขันกีฬา
2
ราคาที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตบางอย่างเช่น ทองแดงและไม้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อสามารถเข้าถึงหรือเกินเป้าหมาย 2% ที่ FED ตั้งใจไว้
2
หลังจากนั้น ตลาดการเงินจะมีการกำหนดราคาให้สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะตามมาด้วยข้อถกเถียงกันว่า FED ควรเริ่มกลับมากระชับนโยบายทางการเงินจากการผ่อนคลายครั้งประวัติศาสตร์หรือยัง
2
แต่องค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ “ตลาดแรงงานที่กำลังตึงตัว” อาจจะกลายมาเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งความสามารถในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ลดโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว และย้ำว่าแม้แต่ Inflation Metrics (เมตริกอัตราเงินเฟ้อ : เป็นดัชนีอัตราเงินเฟ้อที่มีความแม่นยำสูงตัวหนึ่ง) ก็กำลังบ่งบอกว่าอัตราดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเท่านั้น เนื่องการว่างงานคาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปี และการฟื้นตัวของ Demand ในภาคบริการอาจถูกหักล้างด้วยการทรุดตัวลงของธุรกิจประเภทปล่อยเช่า รวมถึงการขายสินค้าบางประเภทอย่างเช่นรถยนต์มือ 2
2
Michael Feroli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของ JPMorgan Chase & Co. กล่าวว่า
1
“We think inflation is going to be muted because unemployment will still be high, There will still be slack in the labor market, which would keep some pressure on wages.”
“เราคิดว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังจะหยุดชะงักลง เนื่องจากการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานจะยังคงซบเซาซึ่งจะยังคงกดดันค่าจ้างอยู่บ้าง”
ในวันพฤหัสบดีนี้ กรมแรงงานของสหรัฐฯ จะอัปเดตดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price) สำหรับเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญตัวหนึ่งสำหรับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ขณะที่คาดการณ์ค่ามัธยฐานของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสำรวจโดย Bloomberg ระบุว่าอัตราดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี
นักวิเคราะห์ที่สำรวจโดย Bloomberg ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 2% ชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่ 2% หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย
Carl Riccadonna และ Yelena Shulyatyeva นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg กล่าวว่า
“2021 will be a year plagued by numerous unwarranted inflation scares. Consumer inflation will remain weak over the medium term -- until the economy fully absorbs the slack resulting from the pandemic.”
2
“ปี 2021 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยปัญหาเงินเฟ้อมากมายที่ไม่ได้รับการรับรอง แต่อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคจะยังคงอ่อนแอในระยะกลางไปจนกว่าเศรษฐกิจจะดูดซับความหย่อนยานอันเป็นผลมาจากการระบาดได้อย่างเต็มที่”
1
อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนทั่วโลกกำลังมีการเดิมพันมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะไม่คงที่
3
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อัตราจุดคุ้มทุน 10 ปี (The 10-year breakeven rate) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของตลาดในช่วงทศวรรษหน้า สร้างขึ้นจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการป้องกัน(หรือหักมูลค่าชดเชย)อัตราเงินเฟ้ออย่างเช่น TIPS (Treasury Inflation-Protected Securities) และพันธบัตรรัฐบาล ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.91% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 และเป็นการพุ่งขึ้นนับตั้งแต่ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีที่ 0.47% ในเดือนมีนาคม 2020
นอกจากนี้ดัชนี Bloomberg Barclays Global Inflation ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายทางด้านบริการที่ซบเซาในปีนี้ ก็อาจมีการฟื้นตัวได้ตลอดปี 2021 เมื่อสหรัฐฯ ได้รับวัคซีน ซึ่งหมายความว่าชาวอเมริกันจะมีความกังวลน้อยลงในการเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสาธารณะต่าง ๆ เช่น การเดินทางไป Disney World การเข้าร่วมรับชม Major League ของกีฬาเบสบอล รวมถึงการรับประทานอาหารตามร้าน และสถานบันเทิงอย่างผับ บาร์ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่อาจทำให้ผู้ให้บริการสามารถขึ้นราคาได้
ภาคบริการคิดเป็นประมาณ 60% ของดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมของประเทศ และคิดเป็นถึง 75% ของดัชนีมาตรการหลักซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงาน
ในบทความหนึ่งของ Bloomberg Opinion เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Bill Dudley อดีตประธาน FED ประจำรัฐนิวยอร์กได้กล่าวว่าการฟื้นตัวของการใช้จ่ายทางด้านบริการชี้ให้เห็นว่า “การขึ้นราคาอย่างรวดเร็วอาจจำเป็นต้องเกิดขึ้น” เพื่อให้ Demand สมดุลกับ Supply ที่มีอยู่
และผลลัพธ์ในเรื่องนี้ก็คือ : ผู้ที่เห็นสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อส่วนเกิน “อาจกำลังตั้งตัวเพื่อสร้างความประหลาดใจที่ไม่พึงประสงค์ให้แก่ตลาด” (กล่าวคืออาจมีการเตรียมตัวเพื่อการเก็งกำไรครั้งใหญ่ต่อสินทรัพย์หรือสินค้าบางอย่าง)
นอกจากนี้ การวัดราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันในช่วงปลายปี 2020 แม้ว่าโรงงานต่าง ๆ จะยังคงใช้กำลังการผลิตในระดับที่เหลือเฟือต่อผู้บริโภค (จริง ๆ แล้วไม่ได้แปลว่าผลิตสินค้าออกมาเยอะนะครับ แต่กำลังผลิตที่ลดไปนั้นยังไม่สามารถชดเชยกับ Demand ที่หายไปได้)
1
เจ้าหน้าที่ของ FED กำลังมองหาข้อมูลของปีหน้าสำหรับแผนการในระยะยาว โดยเป้าหมายของ FED ขึ้นอยู่กับดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures Price Index : PCE) ของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นช้ากว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) โดยเฉลี่ยเล็กน้อย
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายของ FED ได้ประกาศถึงกรอบนโยบายใหม่ในการพยุงตลาดและส่งสัญญาณถึงความเต็มใจที่จะให้อัตราเงินเฟ้อของ PCE สูงเกินเป้าหมาย 2% เป็นระยะเวลาชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่ขัดแย้งกันจาก Matthew Luzzetti หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของ Deutsche Bank AG ซึ่งกล่าวว่า
1
“In 2019 we had a really perfect storm for higher inflation, With low unemployment, goods tariffs and a weaker dollar from prior years, And that really only got us not even back to the Fed’s core inflation objective, so achieving above-target inflation is a really difficult thing for the Fed.”
“ใน 2019 เรามีพายุที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงสำหรับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมด้วยการว่างงานและอัตราภาษีสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงจากปีก่อน และนั่นไม่สามารถทำให้เรากลับไปสู่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานของ FED ได้เลย ดังนั้นการบรรลุอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับ FED”
2
ส่วนอัตราการว่างงานนั้นอยู่ที่ 6.7% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสูงกว่าช่วงปลายปี 2019 เกือบ 2 เท่า (ตอนนั้นอัตราว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่ 3.5%) แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออัตราค่าจ้างของคนงานในปัจจุบันนั้นลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019
อีกภาคส่วนหนึ่งที่อาจเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นคือ medical care เนื่องจากผู้ให้บริการพยายามที่จะชดเชยรายได้บางส่วนที่สูญเสียไประหว่างการระบาดใหญ่ Sarah House นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Wells Fargo & Co. กล่าว
การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อนั้นยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น จำนวนอพาร์ทเมนต์ที่ยังว่างอยู่ รวมถึงปัญหาทางการเงินในอีกหลายแง่ก็อาจจะยับยั้งอัตราการเช่าซื้อได้ (ซึ่งอาจเป็นปัจจัยต่อต้านเงินเฟ้อได้)
World Maker's ViewPoint : เปรียบเทียบระหว่าง 2 มุมมองที่ต่อต้านกัน
(1.) ปริมาณเงินสดในระบบเพิ่มขึ้น แต่อัตราเร็วในการเปลี่ยนมือ (Money Velocity) ลดลง
สำหรับเรื่องนี้ World Maker เคยอธิบายไว้อย่างละเอียดมาก ๆ แล้วในบทความเก่าตามลิ้งนี้ https://www.blockdit.com/posts/5e9077cd6803a318ea1108ab แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งครับ
จากรูปด้านล่างนี้ แสดงถึงปริมาณเงินสดในระบบของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% ภายในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณเงินในระบบนั้นเกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง (ยิ่งมีเงินในระบบมาก ค่าของเงินต่อ 1 หน่วยก็จะลดลง)
แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปีนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นล่ะ ?
ประเด็นก็คือ แม้ว่าจำนวนเงินสดในระบบจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเปลี่ยนมือหรือ Money Velocity ซึ่งบ่งบอกถึง "ระยะเวลา" ในการใช้จ่ายเงินออกจากมือหลังจากได้รับมาของผู้คน ได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นอย่างน้อย
2
ดังนั้นจึงถือเป็นการหักล้างกันกับปริมาณเงินสดที่เพิ่มขึ้นในระบบนั่นเอง ตามสมการ MV = PQ (ใครยังไม่เข้าใจสมการนี้ให้อ่านบทความที่เราแนบไว้ด้านบนครับ)
แล้วจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ?
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นั่นหมายถึง Money Velocity จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ปริมาณเงินสดในระบบนั้นไม่ได้หายไปไหน ดังนั้นแล้ว หากจะมองในระยะยาวก็อาจกล่าวได้ว่า
1
“เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก”
1
ทั้งนี้โดยพื้นฐานมาจากปริมาณเงินสดที่มีอยู่มหาศาลในระบบ และการใช้จ่ายเงินของผู้คนที่รอวันฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
หลังจากเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ FED จะต้องกลับมากระชับนโยบายทางการเงิน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่สิ้นสุดลง และช่วงเวลาแห่งการชำระหนี้ก็จะเกิดขึ้น
(2.) ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และอัตราการประหยัดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้รัฐบาลและ FED จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นและพันธบัตรอย่างมหาศาลแล้ว พวกเขาก็ยังได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับภาคครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ซื้อทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นราว 15% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเก็บออมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดและความไม่แน่นอนทำให้ผู้คนไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้ก็สัมพันธ์กับค่า Money Velocity ที่ร่วงลงต่ำเป็นประวัติการณ์ และก็กลายมาเป็นคู่ปัจจัยอีกอย่างที่หักล้างกัน ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่ขยับไปไหน
เมื่อมองในระยะยาวล่ะ ?
สำหรับประเด็นนี้ มีคำพูดชวนคิดสั้น ๆ จาก Stephen Jen ซึ่งเป็นผู้บริหารของ Hedge Fund และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง Eurizon SLJ Capital กล่าวเอาไว้ว่า
“All of this opens the door for what’s known as demand-pull inflation, Why shouldn’t final demand be robust when sentiment regarding the virus improves? Companies with any market power to raise prices will likely do so.”
“ทั้งหมดนี้เปิดทางสำหรับสิ่งที่เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ส่วนเกิน และไม่มีเหตุผลใดที่ Demand ในตอนสุดท้ายจะไม่แข็งแกร่งขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นเกี่ยวกับไวรัสดีขึ้น ส่วนบริษัทที่มีอำนาจทางการตลาดในการขึ้นราคาก็มีแนวโน้มที่จะทำเช่นนั้น”
(3.) นโยบายของธนาคารกลางกำลังผ่อนคลาย แต่ตลาดแรงงานก็หละหลวมมาก
สาเหตุหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นหลังจากนี้ เป็นเพราะธนาคารกลางซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่รักษาเสถียรภาพของราคา เต็มใจที่จะปล่อยให้มันสูงขึ้นกว่าเดิมชั่วคราว นอกจากนี้ คำมั่นของพวกเขาที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำยังกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่ต่อต้านเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันยังถือว่าหละหลวมมากเมื่อเทียบกับระดับปกติ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็กล่าวว่ามีโอกาสน้อยมากที่อัตราการจ้างงานจะกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว
(4.) Supply กำลังหยุดชะงัก แต่สินค้าคงคลังกำลังเพิ่มสูงขึ้น
ถือเป็น Common Sense อยู่แล้วว่าการหยุดชะงักของ Supply นั้นจะผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น (ผลิตน้อย -> ราคาสูง) ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน ที่อัตราเงินเฟ้อทางด้านอาหารได้เร่งตัวขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
ส่วนความเสี่ยงระยะยาวก็คือ : ไวรัสจะเพิ่มความตึงเครียดเช่นเดียวกับสงครามการค้าและความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ ระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลลังเลที่จะพึ่งพาประเทศอื่นในด้านสินค้าเชิงกลยุทธ์และเทคโนโลยีอย่างเช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงชิปคอมพิวเตอร์ และพวกเขาสามารถกดดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตกลับบ้านเกิด แม้ว่าจะมีต้นทุนแพงกว่าก็ตาม โดยสิ่งนี้จะยิ่งส่งเสริมให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อต้านที่สำคัญคือสินค้าคงคลังโดยรวมทั่วโลกกำลังสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงความจุของคลังที่ลดลงเรื่อย ๆ
แม้ว่าการต่อสู้กับ COVID-19 ในหลายแง่จะเหมือนกับการทำสงครามระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในอดีต แต่ COVID-19 ก็ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญจากความขัดแย้งทางการทหารอยู่
เนื่องจากการสู้รบโดยใช้อาวุธและกองทัพนั้นเป็นการทำลายทางด้าน Supply ของเศรษฐกิจ อย่างเช่น ระเบิดโรงงาน ยึดเส้นทางขนส่ง ทำให้เกิดปัญหาคอขวดและนำไปสู่การขาดแคลนสินค้า จนสุดท้ายก็ทำให้ราคาสูงขึ้น
1
แต่สำหรับ COVID-19 นั้น สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้าน Supply ไม่ได้ถูกทำลายไป แต่ยังคงอยู่ในสถานะที่หยุดชะงักและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (เนื่องจากโรงงานต่าง ๆ ไม่ได้ปิดตัวลงโดยสิ้นเชิง) ดังนั้น Alicia Garcia Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Natixis SA จึงให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า
“In a pandemic, it’s demand that takes the main hit, Capital is not destroyed or depleted, so it is much easier to end up with excess capacity, That distinction is one reason I'm in the deflation camp.”
“ในการระบาดของโรคระบาด แหล่งทุนไม่ได้ถูกทำลายหรือหมดลง ดังนั้นจึงง่ายกว่ามากที่จะจบลงด้วยปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ความแตกต่างนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันมองว่าเรากำลังอยู่ในภาวะเงินฝืด”
ขยายความตรงนี้ก็คือ เมื่อมีสินค้ามากเกินไปในตลาด ผู้ผลิตย่อมจำเป็นต้องลดราคาเพื่อระบายสินค้าออกจากคลัง
มุมมองเพิ่มเติมในระยะยาว
เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นโต้แย้งที่น่าสนใจ แต่ในระยะยาวนั้น จุดสำคัญคงจะอยู่ที่ว่า หากตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมา และ Demand ในภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น (กล่าวคือผู้คนเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากประหยัดตังค์มานาน) ก็อาจจะทำให้เกิดการชอปปิ้งสินค้าในตลาดมากขึ้นอย่างกระทันหัน (อาจเป็นความเก็บกดจากช่วงวิกฤต)
รวมถึงการที่ผู้ผลิตเอง ก็มีความต้องการระบายสินค้าที่ค้างอยู่ออกจากคลังให้เร็วที่สุด จึงทำให้แนวโน้มตรงนี้อาจหักล้างกันได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อใดก็ตามที่ปัญหาสินค้าส่วนเกินหมดไปจากตลาด ก็จะไม่มีอะไรมาขัดขวางปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้อีก
อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่คาดฝันอย่างเช่นสงคราม หรือความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นของมหาอำนาจโลก ซึ่งในอีกแง่หนึ่งนั้นกำลังเป็นภัยเงียบที่เราสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากมีอะไรปะทุขึ้นมา เงื่อนไขของวิกฤตที่ครั้งนี้จะเปลี่ยนไปทันที (หากเข้าสู่ภาวะสงคราม แหล่ง Supply ก็จะโดนทำลายและราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งสูงขึ้นโดยปริยาย)
ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
(1.) ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของยุโรปกำลังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในเขต EU กำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากขึ้น
ทั่วทั้งทวีป มีสัญญาณเพิ่มขึ้นว่าราคาที่ต่ำลงกำลังแพร่กระจายในตลาดมากขึ้น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งสเปนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เรากำลังเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านั้นมีอยู่น้อยมาก และสินค้าส่วนใหญ่ก็มีราคาลดลง” และธนาคารกลางของสเปนก็มีความกังวลภาวะว่าราคาที่ซบเซาแบบญี่ปุ่นกำลังจะเกิดขึ้น โดยแผนภูมิด้านล่างจะแสดงถึงดัชนี CPI ของสเปน ซึ่งดูเหมือนจะชี้ไปในทิศทางนั้นอย่างแน่นอน และคาดว่าจะมีคนพูดถึงภาวะเงินฝืดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
1
(2.) การวิเคราะห์ทางเทคนิคผ่าน Elliott wave โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าภาวะเงินฝืดกำลังจะกลับมาอย่างชัดเจน
หนึ่งในรูปแบบของคลื่น Elliott wave ที่มีความแม่นยำมากที่สุดในการพยากรณ์คือรูปแบบ 3 เหลี่ยม (Triangle Form) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคขั้นสูง รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นได้เพียงไม่กี่จุดในวงจรตลาด ดังนั้นเมื่อมันปรากฏขึ้นก็สามารถให้เบาะแสที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
1
รูปสามเหลี่ยมมักปรากฏในคลื่นลูกที่ 4 (Wave 4) ตามทฤษฎี Elliott wave ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นหรือคลื่น B ​correction (คลื่น B ในช่วงของการปรับฐาน) ดังนั้นเราจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าคลื่นลูกต่อไปจะเป็นคลื่นลูกที่ 5 หรือคลื่น C
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คลื่นลูกถัดไปหลังจากสามเหลี่ยมจะเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของขาขึ้น ซึ่งหมายความว่าหลังจากนั้นจะมีแนวโน้มสูงมากในการกลับตัว (อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ตามตำราเทคนิค ไม่ได้เป็นการการันตี 100%)
ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าตลาดกำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
1
แผนภูมิด้านล่าง จะแสดงความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อในราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่วัดโดยอัตราคุ้มทุน (breakeven rate) ของหลักทรัพย์ระยะเวลา 10 ปีที่ได้รับการคุ้มครองเงินเฟ้อของกระทรวงการคลัง (Treasury Inflation Protected Securities : TIPS) เทียบกับความแตกต่างของผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของกระทรวงการคลังแบบปกติ (normal 10-year Treasury bond)
อย่างที่เราเห็น รูปแบบ 3 เหลี่ยมนั้นชัดเจน ซึ่งเป็นการก่อตัวตั้งแต่ระดับสูงสุดในเดือนสิงหาคมและตอนนี้ก็ดูสมบูรณ์แล้ว และหากการวิเคราะห์นี้ถูกต้อง เราสามารถคาดการณ์ได้ถึง 2 สิ่งคือ
(1.) น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่...
(2.) เมื่อแรงผลักดันครั้งสุดท้ายสิ้นสุดแล้ว การกลับตัวควรเกิดขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการคาดการณ์ราคาของผู้บริโภค และสุดท้ายดัชนีดังกล่าวจะปรับตัวลดลง
หาก 3 เหลี่ยมนี้เป็นคลื่นลูกที่ 4 และเกิดแรงผลักให้สูงขึ้น ก็จะมีแนวโน้มสูงมากว่านั่นคือคลื่นลูกที่ 5 ซึ่งในทางทฤษฎีถือว่าเป็นแรงส่งครั้งสุดท้าย และหลังจากนั้น ทฤษกล่าวว่าอาจเกิดการกลับตัวที่ตามมา ซึ่งจะลึกมากจนอาจถึงจุดต่ำสุดเดิมในเดือนมีนาคมของปีนี้ที่ 0.5%
โดยสรุปก็คือ การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ Elliott wave ที่ทรงพลังนี้ จะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีความกังวลสั้น ๆ เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของราคาผู้บริโภค ตามมาด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดของราคาเมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2021
(3.) ความเสี่ยงหนี้เงินเฟ้อระเบิด
แต่ฟองสบู่ยังคงพองตัว แล้วการระเบิดจะมาเมื่อไหร่?
สถิติหนี้ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันอาจดูน่าเกลียด หากคุณเป็นผู้ที่เชื่อในภาวะ Sound Economics (หมายถึงการนำเสนอข้อมูลที่ดีเกินจริงอย่างแนบเนียนเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ) เนื่องจากรายงานของ Federal Reserve Bank of New York ในเดือนพฤศจิกายนระบุว่าหนี้ภาคครัวเรือนของสหรัฐทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 14,350,000,000,000 ดอลลาร์ (14.35 ล้านล้านดอลลาร์) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย
ภาคครัวเรือนไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่มีอยู่ แต่ยังเพิ่มหนี้สินในกระบวนการ (จากที่เราอธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ใกล้ 0% และการที่ FED ให้คำมั่นว่าจะคงอัตราไว้ในระยะสั้นถึงกลาง คือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมและใช้จ่ายมากขึ้น)
นอกจากนี้ ในเดือนเดียวกัน สถาบันการเงินระหว่างประเทศ Institute of International Finance : IIF) ได้ออกรายงานการวิจัยที่ระบุว่าหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้และคาดว่ายอดรวมจะเกิน 277,000,000,000,000 ดอลลาร์ (277 ล้านล้านดอลลาร์) ภายในสิ้นปี 2020 ซึ่ง 277 ล้านล้านดอลลาร์นี้จะเท่ากับประมาณ 365% ของ GDP โลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 320% ณ สิ้นปี 2019
ความบ้าคลั่งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ? และภาวะเงินเฟ้อของหนี้จะกลายเป็นภาวะเงินฝืดของหนี้แทนหรือไม่ ?
สถิติของ IIF นั้นให้น้ำหนักกับหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เนื่องจากรัฐบาลได้กู้ยืมเงินเพื่อบรรเทาการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการหยุดชะงักของมาตรการควบคุม COVID-19
หนี้ภาครัฐ ขยายตัวขึ้นอย่างมากในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ และทุกประเทศหลัก ๆ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในสถานะเดียวกับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ดังนั้นมันคือภาระทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย
1
(World Maker เคยนำเสนอเรื่องนี้อย่างละเอียดไว้แล้วที่ https://www.blockdit.com/posts/5f7c46a28de3db0faf5c8327)
ส่วนหนี้ภาคเอกชนก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก และก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรงเช่นกันสำหรับปีนี้ เนื่องจากมันได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่บริษัทต่าง ๆ พยายามที่จะปรับโครงสร้างงบดุลและขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่ออยู่รอดจากการระเบิดทางเศรษฐกิจและการล้มละลาย
ขณะเดียวกัน เบาะแสของการผิดชำระหนี้กำลังเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ถือว่าเสี่ยงมากหากธุรกิจไม่สามารถทำกำไรมาชำระหนี้ได้จนเกิดการ Default และล้มละลาย (แน่นอนว่าผลกระทบจะกลายเป็นปฏิกริยาลูกโซ่ต่อไปสู่ตลาดทั่วโลก)
เงินทุนต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการกู้ยืมมาเพื่อลงทุน ก็ถือเป็นหนี้ที่เสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศ และไม่สามารถชำระบัญชีได้ด้วยตนเอง และมันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่ภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ติดหนี้จำนองบ้าน
ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนี้ แต่ผู้ที่ปฏิเสธทฤษฎีฟองสบู่หนี้ ก็ยังกล่าวว่า “ระดับหนี้ไม่ใช่ปัญหา” ตราบใดที่ระบบ (หรือเจ้าหนี้) ยังสามารถให้บริการได้ (กล่าวตามทฤษฎีการเงินสมัยใหม่คือ ธนาคารกลางยังคงมีการพิมพ์เงินอัดฉีดเข้ามาในระบบเรื่อย ๆ)
ซึ่งฟังดูเป็นไปได้ แต่ความสามารถในการชำระหนี้นั้นขึ้นอยู่กับรายได้ และรายได้นั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะในภาค Real Sectors) ที่กำลังอ่อนแอเหมือนอยู่ในโลกคนละใบกับตลาดหุ้น และนี่ก็คือเหตุผลที่ FED และธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ (พยายาม) สูบฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเมื่อมีสัญญาณของภาวะเงินฝืด
ด้วยอำนาจการพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่จำกัด พวกเขาเริ่มขุดหลุมเล็ก ๆ ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน และตอนนี้มันลึกมากจนมีทางเลือกเดียวคือขุดไปเรื่อย ๆ แม้ว่าในปัจจุบันจะจนถึงชั้นหินแข็ง และท้ายที่สุดการขุดหลุมทั้งหมดจะต้องหยุดลง
3
นั่นคือช่วงเวลาที่ความจริงจะปรากฏ และเมฆฝนที่ก่อตัวมานานจนมีขนาดมหึมาอย่างไม่เคยมีมาก่อนก็จะถึงเวลาระเบิดออกโดยไม่มีอะไรมาเหนี่ยวรั้งได้อีกต่อไป หลังจากนั้นตลาดจะได้รับแรงหนุนจากกระแสทางลบที่เกิดจากอารมณ์ทางสังคมไปอีกสักระยะ และโลกจะเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจยุคใหม่ที่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในหลุม จะเหลือทางเลือกสุดท้ายคือการสละสัมภาระบางอย่าง(ในที่นี้เปรียบเทียบกับการสูญเสียอำนาจบางอย่าง) และทำตัวให้เบาที่สุด จากนั้นจึงเอาตัวรอดโดยการรอให้น้ำจากเมฆฝนไหลจนท่วมหลุ่มแล้วจึงลอยตัวขึ้นมา
2
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
โฆษณา