10 ม.ค. 2021 เวลา 03:09 • ปรัชญา
🎐นกอาสา สื่อธรรมะดังตฤณ
ถาม : พยายามขายของให้ได้ตามเป้า แต่วันไหนไม่ได้ก็จิตตก เรียกโลภไหม ควรทำใจอย่างไร?
https://www.facebook.com/groups/DharmaDungtrin/permalink/3677482672294929/
ดังตฤณ : พ่อค้าแม่ค้า หรือนักธุรกิจแต่ละคน
มีคาแรคเตอร์ของจิตที่แตกต่างกัน ไม่ต้องมาเอาผิดเอาถูก
ถ้าค้าขายแล้วไม่ตั้งเป้าต่างหาก ที่จะทำให้ธุรกิจผิดปกติ
1
.
ทุกการค้าขาย ต้องมีการตั้งเป้า ไม่อย่างนั้นจะไม่มีมาตรวัด
แต่ประเด็นอยู่ที่ พอไม่ได้ตามเป้า แล้วเราใจเสีย
ตอนที่ใจเสีย รู้สึกแย่
ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาสติมาจัดการกับมันได้ง่าย ๆ
ในการค้าขาย มีขั้นตอนมากมาย
เริ่มตั้งแต่ เล็งสินค้า ดูว่าจะถูกใจคนไหม
หาสินค้าเข้ามา ต้องลงทุน ซึ่งเรารู้ว่าเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่
การที่จะทำให้ได้อย่างเป้าที่ตั้งไว้
จิต ต้องผ่านกระบวนการใช้สติ ใช้กำลัง แรงงาน แรงสมอง
ตรงจุดที่ใจเสีย จึงเป็นผลรวมของอะไรมากมายที่ผ่านมา
.
ฉะนั้น แค่จะมาบอกว่า
1
ขอให้มีสติขึ้นมา แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ..ไม่ใช่
1
มันก็ยังอยู่ตรงนี้แหละ
.
สติ จะสั่งสมมาใหญ่แค่ไหนก็ตาม
แต่ไม่ใช่อยู่ ๆ จะมาลบล้างกระบวนการ เป็นวันเป็นเดือน
ที่เราทำมาได้ง่าย ๆ .. นี่คือ ประเด็น
.
พอเห็นภาพรวมได้อย่างนี้ เราจะไม่มาว่าตัวเอง
ว่าทำไมเราทำใจไม่ได้ เหมือนคนอื่นเขา
เพราะคาแรคเตอร์ทางจิต ทางความคิด
วิธีการค้าขายของแต่ละคน แตกต่างกัน
.
พอตัดคำว่าถูกหรือผิดออกไปได้ สิ่งที่เหลือ จะเริ่มเข้าท่าแล้ว..
อย่างเช่น พอรู้สึกแย่ รู้สึกใจเสีย อยู่ทั้งคืน คิดอะไรไม่ออก
อย่างน้อย เราไม่มาโทษตัวเองซ้ำ
เราจะจัดการกับ (ความคิด) ที่มันหนักอยู่แค่นั้น
.
จัดการอย่างไร .. คือ "ดู"
ฝึกให้เคยชิน ให้เห็นว่า
สภาวะรู้สึกแย่ คิดอะไรไม่ออก อยู่กับเราได้นานแค่ไหน
ก่อนที่จะรู้สึกค่อยๆ โล่งขึ้น ค่อยๆ สบายใจขึ้น
ซึ่งบางทีก็กินเวลาเป็นชั่วโมง
แต่ Point ก็คือ พอหลังจาก 1 ชั่วโมงผ่านไป
จะได้เกิดปัญญาขึ้นมา เห็นว่าสภาวะแตกต่างไป
.
จากที่รู้สึกแย่ ๆ ซึม ๆ ไปไม่ถึงไหน
พอผ่านชั่วโมงหนึ่งไปได้ จะรู้สึกว่าแตกต่างไป ..
.
ตอนที่เรามีสติ เห็นว่าไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด
สิ่งเดียวที่จะเป็นหลักฐาน จับได้มั่น คั้นได้ตาย
คือ ความแตกต่างไปของอารมณ์ ของความรู้สึกแย่ๆ นี่ต่างหาก
.
การจะเอาเรื่องของการภาวนา มาบวกเรื่องของทางโลก
ไม่ใช่การมาตัดสินว่า เราอยากได้ดังใจ แล้วมันไม่ได้
ถ้าไม่อยากได้ไว้ก่อน ก็ไม่รู้จะทำการค้าอย่างไร
เพราะการค้า ต้องเริ่มต้นด้วยการอยากได้ นี่คือความถูกต้องทางโลก
แต่ความถูกต้องทางธรรม จะมาสานต่อ
ตอนที่เรารู้สึกแย่ ที่ไม่ได้ดังใจนั่นแหละ
มารู้ทีหลังว่า มันเป็นสภาวะที่แสดงความไม่เที่ยง
.
คืนแรกที่เห็น จะยังไม่เกิดอะไรขึ้น ชีวิตจะยังเหมือนเดิม
มีขึ้นมีลง รู้สึกว่า เดี๋ยวก็ได้ดังใจ เดี๋ยวก็ไม่ได้
เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เหมือนเดิม
แต่พอทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน
เห็นว่าความเสียใจ (สมมติ) อยู่ได้นานหนึ่งชั่วโมง
เห็นอย่างนี้ไปเป็นเดือน ๆ อยู่มาวันหนึ่ง
จะเกิดความรู้สึกว่า ความเสียใจตั้งอยู่ได้แค่นาทีเดียว
แล้วอยู่ ๆ หายไปไหนก็ไม่รู้
.
ตรงนี้ อนิจจสัญญา จะเริ่มเกิด
จะรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่าความเสียใจที่กำลังประสบอยู่ชัดๆ ตรงนี้
เดี๋ยวก็ต้องผ่านไป
.
"อนิจจสัญญา" ตรงนี้แหละ
1
ที่เราจะได้จากการภาวนาในระหว่างการใช้ชีวิตแบบฆราวาส
.
การใช้ชีวิตแบบฆราวาส ไม่ใช่การไปเล็งเอาแบบพระ
ว่าไม่ต้องสน อย่างไรก็ได้
แม้แต่พระ จริง ๆ แล้วท่านก็สนนะ
อย่างพระมหากัสสปะ ท่านได้ยินคนพูดว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ก็ดี
จะได้ไม่มีคนมาบัญญัติพระวินัยเพิ่ม
ท่านก็ว่าคิดแบบนี้ อีกไม่นานพระวินัยก็ต้องหายไป
ท่านก็เลยทำสังคายนาขึ้นมา
.
ใจท่านปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางโลกทั้งใบ
แต่กับเวลาที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกตามหน้าที่
ท่านก็ไม่ปล่อย
ใจท่านปล่อยหมดแล้ว ..แต่โดยหน้าที่ ท่านไม่ปล่อยนะ!
คำถามเต็ม : มีอาชีพค้าขายเป็นแม่ค้า ชอบตั้งเป้าว่าจะต้องได้เท่านั้นเท่านี้ในแต่ละวัน แต่ละเดือน พอไม่ได้ก็จะรู้สึกหดหู่ จะพยายามขายๆ จนทำให้คนรอบข้างเรา แฟนเรา จิตตกไปด้วย
อย่างนี้คือโลภหรือเปล่า โลภมากไปไหม หรือควรพอใจกับที่ทำได้แล้ว และอย่างนี้ เหมือนเรายิ่งไกลจากพระพุทธศาสนาและการภาวนาไหมคะ
ดังตฤณวิสัชนา @ ศูนย์เรียนรู้วรการ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
ถอดคำ : นกไดโนสคูล
ตรวจทาน / เรียบเรียง : เอ้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา