12 ม.ค. 2021 เวลา 22:30 • สุขภาพ
โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) คืออะไร?
โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia)
เป็นความกังวลเมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองจากผู้อื่น
กลัวว่าตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้า
มักเป็นสถานการณ์ที่รู้สึกว่า กำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนหลายคน
เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการเดินเข้าไปในที่คนเยอะ ๆ และ รู้สึกว่าสายตาหลาย ๆ คู่กำลังมองมาก็จะเกิดความประหม่าขึ้นมาอย่างมาก
จนบางคนไม่กล้าเดินเข้าไปในที่มีคนมาก ๆ
เพราะ... "กลัวตกเป็นเป้าสายตา"
โดยบางคน...
ตอนอยู่ในกลุ่มเพื่อน พูดคุยเก่ง พูดจาคล่องแคล่ว ร่าเริงดีปกติ แต่เมื่อต้องไปพูดหน้าชั้น กลับพูดไม่ออก เกิดอาการประหม่าอย่างมาก
3
สาเหตุโรคกลัวการสังคมเป็นอย่างไร?
1
สาเหตุหลักมี 2 ประการ คือ ด้านจิตใจ และ ด้านร่างกาย
1. สาเหตุด้านจิตใจ
ผลจากอดีต...
- เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต เช่น เคยพูด หรือ แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่นๆ แล้ว ได้รับการตอบรับที่ไม่ดี หรือ เกิดความรู้สึกอับอาย ประสบการณ์เลวร้ายนั้น จะกลายเป็นแผลในใจ จนเกิดความรู้สึกฝังใจ
- เคยมีอาการประหม่าตื่นเต้นตอนพูด หรือ แสดงออก แล้วถูกคนจับได้ หรือ เกรงว่าคนจะจับได้ เลยเกิดความประหม่า กังวลขึ้นมาทุกครั้งที่ต้องเจอสถานการณ์แบบเดิม
- เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ พ่อแม่มักวิพากษ์วิจารณ์เด็กตลอด จนเด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ มองว่าตนเองไม่เป็นที่น่ายอมรับ
หรือ พ่อแม่ที่มักทำให้เด็กรู้สึกอับอาย (Shame)
หรือ เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่แคร์สายตาคนอื่นมาก ๆ อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบตัวอย่างมาก ยึดถือความคิดเห็น หรือ คำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นมาก เด็กก็จะสั่นไหว อ่อนไหว และ แคร์สายตาคนอื่นมากไปด้วยเช่นกัน
(ที่เรียกว่า แคร์สื่อมาก)
ผลจากตัวเอง...
- มักมองตนเองในแง่ลบ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ค่อยเห็นข้อดีของตนเอง ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง มีความคิดกับตนเองในแง่ลบบ่อย ๆ เช่น ถ้าฉันแสดงตัวตนของฉันออกไป คนจะต้องปฏิเสธฉันแน่นอน หรือ ความคิดเห็นของฉันไม่ได้เรื่อง เป็นต้น
- มีความคาดหวังกับตัวเองมาก มีมาตรฐานกับตัวเองสูง จนไม่ค่อยรู้สึกพอใจกับตัวเองสักที
1
- รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอยู่ตลอด มองว่าตนเองสู้คนอื่นไม่ได้ (Inferior)
- ขาดความมั่นคงจากภายใน ต้องการการเติมเต็มจากคนภายนอกอย่างมาก จึงสั่นไหว กับสายตาคนอื่นอย่างมาก
- คนที่มีลักษณะวิตกกังวลง่ายอยู่เดิม และ มักชอบคิดเรื่องต่าง ๆ ไปล่วงหน้า โดยเฉพาะมักคิดไปในแง่ลบ
ผลอิทธิพลในสังคม หรือ วัฒนธรรม...
- สังคมหรือวัฒนธรรม ที่ใช้ความรู้สึกอับอายต่อสายตาคนอื่นเป็นการลงโทษ
- สังคมที่อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
- สังคมที่เน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก หรือ มีมาตรฐานสูง
- สังคมที่มักตัดสินคนอื่นๆที่การแสดงออกเป็นหลัก
- สังคมที่อัตราการแข่งขันสูง
- สังคมที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก
- สังคมที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคำตำหนิ
2. สาเหตุด้านร่างกาย
- ผลด้านพันธุกรรม
พบว่าในญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า
- ผลจากสารสื่อประสาทในสมอง
ที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหลั่งผิดปกติ ทำให้เกิดความกลัวกังวลง่ายกว่าคนทั่วไป จนเกิดอาการกังวลขึ้นทั้งทางร่ายกายและทางจิตใจไวกว่าปกติ
อาการทางร่างกาย
สัญญาณหรืออาการที่แสดงออกทางร่างกายของผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคม ได้แก่
- หน้าแดง
- รู้สึกมวนท้อง คลื่นไส้
- เหงื่อออกมาก
- ตัวสั่น
- พูดติดขัด คิดอะไรไม่ออก
- เวียนศีรษะ หน้ามืด
- หายใจไม่ทัน
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- อาการทางจิตใจและพฤติกรรม
ผู้ที่มีโรคกลัวการเข้าสังคมอาจมีอาการทางจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้...
- วิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การเข้าร่วมงานเลี้ยง หรือแม้แต่การสบตากับผู้อื่น
- กังวลล่วงหน้าหลายวันหรือหลายสัปดาห์แม้เหตุการณ์จะยังไม่เกิดขึ้น หรือกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนในอดีต
- กังวลว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น และจะถูกผู้อื่นตัดสิน เยาะเย้ย หรือถากถาง
- กังวลว่าผู้อื่นจะสังเกตเห็นความเครียดหรือความกังวลของตนเอง เช่น หน้าแดง มือสั่น หรือพูดติดขัด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพยายามทำตัวกลมกลืนไปและไม่ให้เป็นจุดสนใจของผู้อื่น
- พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม
- ขาดเรียน หรือขาดงาน
การรักษา
1. การรักษาด้านจิตใจ
1) พฤติกรรมบำบัด
- การรักษาโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว (exposure therapy)
- การใช้เทคนิคผ่อนคลาย (relaxation technique) เช่น นั่งหรือยืนในท่า ที่สบายๆ หายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ ไปเรื่อย ๆ สัก 3-5 นาที หรือ อาจถึง 10 นาที หรือ มากกว่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเกิดความสงบมากขึ้น จากร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ จิตใจที่สงบมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นคงจากภายในมากขึ้นหรือ การจินตนาการถึงสิ่งที่ดี
- การจินตนาการ สถานการณ์จำลอง ที่ตนมักกลัว เพื่อสร้างความคุ้นชินเพื่อลดความกลัวกังวล
และ ถ้ามีการบันทึกความก้าวหน้าของการเผชิญสถานการณ์ที่กลัว จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้มากขึ้น
2) การปรับวิธีคิด
ปรับวิธีคิดที่มองตนเอง หรือ สถานการณ์ต่างๆรอบตัวแย่เกินจริงไปมาก จนเกิดความวิตกกังวล หรือ มักแปลความสิ่งต่าง ๆ ไปในแง่ลบมากเกินไป การรักษาปรับวิธีคิด หรือ วิธีแปลความสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามความเป็นจริง ให้กลับมามองเห็นสิ่งดีๆ เห็นศักยภาพในตนเอง หรือ แปลความสถานการณ์รอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง
3) การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดแบบเชิงลึก เพื่อหาที่มาและช่วยแก้ไขปมขัดแย้ง ในจิตใจ ซึ่ง รักษาโดยจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาคลินิค เพื่อให้กลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เกิดความรู้สึกมั่นคงขึ้นภายใน จะลดความสั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลงไปอย่างมาก
1
2. การรักษาด้านร่างกาย มียาที่ใช้รักษาหลายชนิด (การใช้ยารักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์)
เช่น...
- กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Serotonon-Specific - Reuptake Inhibitors (SSRI)
- กลุ่มยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม benzodiazepine
- ยาในกลุ่ม beta-adrenergic antagonist เช่น propranolol ใช้ในลดอาการประหม่าทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เป็นต้น
#สาระจี๊ดจี๊ด
การมีความกลัวกังวล หรือ ใส่ใจสายตาต่อสังคมรอบตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และ ด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำเพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการกลับมาเพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเอง และ ต่อคนอื่นได้
#สาระจี๊ดจี๊ด
ผู้ป่วยโรคกลัวสังคมจะแตกต่างกับคนขี้อาย โดยคนขี้อายจะมีอาการไม่มากเท่ากับผู้ป่วยโรคกลัวสังคม บางครั้งอาจมีอาการและบางครั้งอาจไม่มี ไม่ได้มีอาการตลอดเวลา เหมือนกับผู้ป่วยโรคกลัวสังคม และคนขี้อายมักมีอาการในสถานการณ์สำคัญหรือในสถานการณ์ที่มีคนที่เขาแคร์มากอยู่ด้วย
#สาระจี๊ดจี๊ด
เมื่อเวลาผ่านไป อาการของโรคกลัวสังคมอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลเสียในระยะยาว และอาจมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาวะกดดันหรือสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวล
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา