18 ม.ค. 2021 เวลา 01:40 • หนังสือ
สรุปหนังสือ The Power Of Output (Series 1/3)
ผู้เขียน ชิออน คาบาซาวะ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นรีวิวของหนังสือ The Power of Output กันมาบ้างแล้ว คุณ ชิออน คาบาซาวะ จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือ ถือเป็นหนึ่งในคนที่สร้างผลงานต่อปีได้เยอะจนน่าทึ่ง ทั้งผลิตหนังสือปีละ 2–3 เล่ม สอนสัมมนามากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน แถมยังเหลือเวลาเที่ยวต่างประเทศอีกกว่า 30 วันต่อปี หูยยยย เราขอเรียกเค้าว่า "เทพแห่ง Super Productive" เลยค่ะ ว่าแต่เค้าแบ่งเวลายังไงนะ เราจะมาสรุปให้ฟังค่ะ
สำหรับสรุปของเราจะต่างกับของท่านอื่น ตรงที่เราจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ตามที่เห็นเทคนิคบางอย่างในหนังสือที่ถูกพูดซ้ำ ๆ นะคะ ได้แก่
1. The Magic 3
2. The miracle of happy hormones
3. The body secrets
ด้วยเนื้อหาของบทความเราจะค่อนข้างยาว จึงขอแบ่งออกเป็น 2 ตอน เรียกว่าใครอ่านจบ ไม่ต้องอ่านหนังสือเลยค่ะ ^^ ย่อยข้อเด่นมาให้แล้ว
==========
The Magic 3 (Series 1)
มหัศจรรย์แห่งเลข 3 เป็นหนึ่งในตัวเลขที่เห็นบ่อยมากในหนังสือ The power of Output ไม่แน่ใจว่าคุณคาบาซาวะตั้งใจหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันจำได้ง่ายดีค่ะ…เจ้าเลข 3 เนี่ย มาดูกันมีเทคนิคอะไรบ้างที่ใช้ "The Magic 3 " ในหนังสือเล่มนี้
==========
*** ทำซ้ำ 3 ครั้ง ใน 2 สัปดาห์
เวลาเราอ่านหรือฟังเรื่องอะไรใหม่ ๆ ซักพักเราก็มักจะลืมมัน แต่หากเราเอาข้อมูลพวกนี้มาใช้งานซ้ำ เช่น เอามาเขียนหรือพูด "3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์" เราก็จะจำมันได้นานขึ้น เพราะอะไรที่ใช้ซ้ำบ่อย ๆ สมองจะมองว่า มันน่าจะจำเป็นและสำคัญกับเรา ดังนั้นกลไกในสมองเราก็ย้ายข้อมูลพวกนี้ไปเก็บที่ระบบความจำระยะยาวแทน (long-term memory)
เทคนิคง่ายที่สุดในการทำให้เกิดกลไกสมองที่ว่านี้ คุณคาบาซาวะแนะนำให้ลองเล่าเรื่องที่ได้อ่านหรือฟังมาให้คนรอบข้างฟัง หรือ ถ้าบางคนเขินไม่กล้าเล่า ก็ให้ยืนหน้ากระจกแล้วสมมุติว่าคนในกระจกเป็นเพื่อนเรา การฝึกทำ Output แบบนี้บ่อย ๆ นอกจากจะเป็นการพัฒนาความจำเราแล้ว ยังช่วยเพิ่มทักษะการเล่าเรื่องให้กับเราได้ด้วย
1
==========
*** Input 3 : Output 7 คืออัตราส่วนที่ดีที่สุด
กล้ามเนื้อและสมองมีกลไกสำคัญบางอย่างที่เชื่อมต่อกัน ทำให้เราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น คุณคาบาซาวะเรียกสิ่งนี้ว่า " ความจำระดับกล้ามเนื้อ "
นักเรียงบางคนที่ได้ผลคะแนนไม่ดี ทั้ง ๆ ที่มีการท่องตำราเรียนก่อนเข้าสอบหลายรอบ ส่วนหนึ่งมาจากการเน้นเฉพาะ Input (อ่าน ฟัง) แต่ Output (ทำแบบฝึกหัด) ทำน้อยเกินไป
มีงานทดลองจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันให้เด็กท่องคำศัพท์ภาษาสวาฮีลี 40 คำ และทำข้อสอบชุดเดียวกันทุกคน จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ให้เด็กเข้าสอบอีกครั้ง โดยได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ท่องจำคำศัพท์ทุกคำ และ ทำแบบฝึกหัดใหม่ทั้งหมด
กลุ่มที่ 2 ท่องจำข้อที่ผิด และทำแบบฝึกหัดใหม่ทั้งหมด
กลุ่มที่ 3 ท่องจำคำศัพท์ทุกคำ แต่ทำแบบฝึกหัดเฉพาะข้อที่ผิด
กลุ่มที่ 4 ท่องจำข้อที่ผิด และทำแบบฝึกหัดเฉพาะข้อที่ผิด
1
ผลการสอบปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่ทำแบบฝึกหัดใหม่ทั้งหมดสอบได้คะแนนเท่ากัน และสูงกว่าเด็กกลุ่มที่เหลือ งานทดลองนี้เค้าจึงสรุปออกมาว่า การทำแบบฝึกหัด ถือเป็นการทำ Output ที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาความสามารถและการจดจำของเรา
ดังนั้นหากใครอยากจำแม่นขึ้น แนะนำให้ใช้เทคนิค "ความจำระดับกล้ามเนื้อ" ค่ะ ลองจดโน๊ตไปด้วยระหว่างอ่านหนังสือ หรือ หาแบบฝึกหัดมาทดสอบตัวเองหลังท่องจำค่ะ ช่วยได้มาก ๆ
==========
***พูดเรื่องบวก:ลบ ให้ได้ 3:1 ทุกวัน
ข้อมูลจาก The Happiness Advantage พบว่า องค์กรจะมีประสิทธิภาพได้ เมื่อคนในองค์กรพูดเรื่องบวกมากกว่าลบอย่างน้อย 3 เรื่องขึ้นไป ข้อมูลวิจัยจาก มหาวิทยาลัย North Carolina อเมริกา ยังยืนยันด้วยว่า ทีมงานไหนที่พูดจาเชิงบวกมากกว่าลบ ในสัดส่วน 6:1 จะมีโอกาสได้โบนัสสูงกว่าทีมอื่น ๆ และยังมีผลให้องค์กรมีผลกำไรสูงขึ้นอีกด้วย
แต่ย้ำก่อนนะคะ! การพูดบวกต้องพูดบนพื้นฐานความจริง ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งพูดเอาใจคนอื่น ถ้าเป็นอย่างหลังต่อให้เราพูดจาดีแค่ไหน Output ที่ได้ก็ไม่ก่อเกิดผลดีกับทั้งเราและคนรอบข้าง
เรามาเริ่มกันค่ะ ฝึกพูดฝึกมองในด้านบวกอย่างน้อย 3 เรื่องกันเถอะ
==========
***เพื่อนแท้แค่ 3 คนก็พอแล้ว
เคยได้ยินเรื่องสายสัมพันธ์ของคนเปรียบเหมือนวงปีของต้นไม้มั้ยคะ วงนอกสุดจะอยู่ติดกับเปลือกไม้เป็นวงปีที่ใหญ่ที่สุด ส่วนวงที่ติดกับแก่นกลาง จะมีขนาดเล็กที่สุดและเกิดมากนานกว่าวงปีอื่น ๆ
วงปีเปรียบเหมือนสายสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง ส่วนแก่นไม้ก็เปรียบเหมือนตัวตนของเราค่ะ ซึ่งจะมีคนอยู่ไม่กี่คนที่ได้สัมผัสมันจริง ๆ "สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง หรือ มิตรแท้" ก็คือคนกลุ่มนี้ละค่ะ คุณคาบาซาวะบอกว่าจะมีอย่างมากไม่เกิน 10 คน และในจำนวนนี้ก็มักมีไม่ถึง 5 คนที่ถูกเลือกเป็น "มิตรแท้ที่ให้คำปรึกษาได้"
การมีเพื่อนเยอะ อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกดีไปกว่าการมีเพื่อนแท้แค่ 3 คน
เพื่อนเก่าที่สนิทกันมานาน
เพื่อนสนิทในที่ทำงาน
เพื่อนแท้ที่ชอบอะไรเหมือนกัน
1
คุณคาบาซาวะบอกว่า ขอแค่ 3 ประเภทนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีสังคมรอบข้างที่ดี มีที่ปรึกษาที่จะคอยแนะนำสนับสนุนกับเรา
1
==========
*** หาให้เจอแค่ 3 จุดเด่นในหนังสือก็สุดยอดแล้ว
1
เทคนิคการอ่านหนังสือของคุณคาบาซาวะที่ช่วยให้จดจำได้ดี คือ ขีดเส้นใต้เน้นย้ำส่วนสำคัญ และมีการจดแทรกลงไปข้างบรรทัด เพื่อสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจ รู้มั้ยคะว่า…เคล็ด(ไม่) ลับนี้ นักอ่านคนดังอย่าง Bill gates ก็ใช้มันเช่นกัน เป็นเทคทิคที่น่าสนใจแล้วสิ ^^
1
การเขียนข้อความในขณะที่อ่านหนังสือ คือการสร้าง Input และ Output ไปพร้อม ๆ กัน สมองจะเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่ขีดเขียนลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเขียนคำสั่งที่ทำให้สมองรับรู้ว่าสิ่งนี้มันสำคัญ เช่น
เราอาจจะเขียนข้าง ๆ บรรทัดที่เราสนใจว่า
"อ๋อ เรื่องนี้ต้องจำนะ มันดีมาก " หรือ แม้แต่การขีดเส้นใต้ก็สามารถทำให้เกิดการจดจำได้เช่นกัน
1
แต่ขอย้ำนะคะ อย่าขีดเยอะจนสรุปแล้วไม่รู้ว่าอันไหนที่สำคัญ แบบนี้ไม่ช่วยเลยค่ะ ลายตาด้วย
คุณคาบาซาวะแนะนำว่า "ให้ลองค้นหาประเด็นสำคัญของสิ่งที่อ่านเพียง 3 จุด ก็เหมือนการค้นพบสมบัติล้ำค่าแล้ว" และถ้าอยากจะให้สมองช่วยสร้างกลไกความจำระยะยาวของเรา อย่าลืมทฤษฏี 3 ครั้งใน 2 สัปดาห์นะคะ
==========
1
***ถาด 3 ใบในสมองต้องจัดระเบียบให้ดี
สมองของเราจะสามารถทำ Output ได้ดีที่สุดแค่ 3 อย่างต่อวันค่ะ คุณคาบาซาวะเปรียบสมองเป็นเหมือนถาด 3 ใบ แต่ละถาดจะสามารถวางของได้ทีละ 1 ชิ้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากเราอยากใส่ชิ้นที่ 4 ขึ้นไป ก็ต้องทำการเคลียร์ของในถาดให้เรียบร้อยซะก่อน ซึ่งก็หมายถึง "การทำรายการสิ่งที่อยู่ในสมอง" ให้เสร็จสิ้น เช่น อาจจะกิจกรรมที่วางแผนไว้ให้เรียบร้อยซะก่อน ถึงจะเพิ่มของชิ้นใหม่ลงไปในถาดสมองได้
ความหมายของถาด 3 ใบไม่ใช่ให้ทำงาน 3 ชิ้นพร้อมกันนะคะ เพราะการทำ Multitasking นอกจากจะทำให้งานไม่เสร็จซักอย่างแล้ว ประสิทธิภาพก็จะแย่ลงไปด้วย แต่สิ่งสำคัญของเรื่องถาด 3 ใบก็คือ "การเลือกงานสำคัญ 3 ชิ้น มาทำให้สำเร็จก่อน " แล้วถ้าเวลาเหลือ เราค่อยเพิ่มจำนวนชิ้นงานลงไปในถาดสมองอีกครั้ง
จากประสบการณ์ของเราเวลาทำ To do list น้อยมากที่จะทำได้ดีถึง 5 ชิ้นค่ะ ส่วนใหญ่งานที่ทำได้แบบเป็นชิ้นเป็นอันสูงสุดก็แค่ 3 ตามคุณคาบาซาวะพูด เพราะงั้นเราก็เลยมักทำ To do list ตั้งต้นแค่ 3 งานต่อวันไว้ก่อน ถ้าเวลาเหลือค่อยเพิ่มลงไปค่ะ
==========
***มาเริ่มสร้าง Output ด้วยการจดเรื่องบวก 3 เรื่องต่อวันกันเถอะ
บางคนไม่มีอะไรจะเขียน เลยไม่รู้จะเริ่มสร้าง Output จากอะไรดี ?? คุณคาบาซาวะแนะนำวิธีที่ง่ายและใกล้ตัวเราที่สุด คือ การจดบันทึกชีวิตประจำวันค่ะ
แล้วถ้าเป็นคนเขียนไม่เก่งทำยังไง ??
1
เทคนิคที่คุณคาบาซาวะแนะนำคือ ให้เราเริ่มจากการเขียนเรื่องบวกให้ได้ 3 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องให้เขียนออกมา 3 บรรทัดค่ะ แล้วถ้าเริ่มเขียนจนคล่องแล้ว เราค่อยเพิ่มคำบรรยายและความยาวของบรรทัดขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ…
เรื่องที่เขียนขอให้เป็นเรื่องบวกในแต่ละวัน
เพื่อให้เรามีความสนุกในการเขียน ไม่เน้นคุณภาพและปริมาณ แต่ต้อง "เขียนให้ได้ทุกวัน" เพราะความสม่ำเสมอนี่ละค่ะ จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาสมองของเรา
สำหรับโครงสร้างการฝึกเขียนบันทึก 3 บรรทัด คุณคาบาซาวะได้แนะนำเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ โดยแบ่งเป็น
บรรทัดแรก Before - ก่อนหน้านี้เราเป็นยังไง รู้สึกอะไร
ตามด้วย Discover เราค้นเจออะไร เช่น หลังอ่านหนังสือพบว่า…
จากนั้นจบด้วย To do คือ คำสัญญาว่าเราจะนำไปใช้หรือทำอะไรต่อ
2
==========
***"A-ha" โมเม้นต์ กับ 30 วินาทีทอง
มาถึงเรื่องสุดท้ายของ "The magic 3 " Series กันแล้วค่ะ ซึ่งก็คืออาการ "ปิ๊งแว๊บ! คิดออกแล้ว" ที่มักเป็นกันบ่อย ๆ ตอนนั่งเหม่อ หรือบางทีก็จะเจอตอนวิ่งออกกำลังค่ะ (เรานี่ละเกิดอาการบ่อย แบบต้องหยุดวิ่ง แล้วรีบหยิบมือถือขึ้นมากดยุกยิกเลยค่ะ)
ยูเรก้า หรือ A-ha moment เป็นคำศัพท์ที่ฝรั่งเค้าใช้เรียก " สภาวะระเบิดพลังสมอง "
อาการก็เหมือนกับเราจุดดอกไม้ไฟในความมืด อยู่ดี ๆ ปัญหาที่คิดไม่ตก ก็เหมือนพบทางสว่างซะงั้น ดั่งมีผู้วิเศษมากระซิบคำตอบข้างหู A-ha moment จะมาไวไปไวค่ะ คนบ้านเราเลยเรียกมันว่า "ปิ๊งแว๊บ" เพราะมาภายในเสี้ยววิ แล้วก็จะหายไปจากสมองเราไม่เกิน 30 วินาที แปลว่าเมื่อผ่านช่วงวินาทีทองไปแล้ว เราก็จะจดจำคำตอบเหล่านั้นไม่ได้ เหมือนดอกไม้ไฟที่สว่างไม่นานก็เจอความมืดดังเดิม
ดังนั้นถ้าปิ๊งแว๊บมันเกิดกับเรา อย่ารอนะคะ รีบหากระดาษปากกามาจดเลยค่ะ ก่อนที่ไอเดียดี ๆ จากมันจะมอดดับไป
==========
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากบอกว่า…ยังไม่จบนะคะ ^^
เพราะเรายังมีอีก 2 หัวข้อใหญ่เกี่ยวกับเคมีในสมอง ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้ายังไงรออ่านได้ใน Series ถัดไปค่ะ
1
ด้วยความปรารถนาดี
The Wisdom Diary
References
ข้อมูลหนังสือ The Power Of Output ศิลปะของการปล่อยของ (เปลี่ยนโลกจริงให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ ผ่านหลักคิด พูด เขียน ทำ): ชิออน คาบาซาวะ สำนักพิมพ์: we learn จำนวนหน้า: 340 หน้า ปกอ่อน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา