11 เม.ย. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
สงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
เด็กหนุ่มคนหนึ่งแฮ็กคอมพิวเตอร์ขององค์กรแห่งหนึ่ง เพราะเข้าใจว่ามันเป็นเกมคอมพิวเตอร์ เขาเล่นเกมก่อสงครามกับเครื่องนั้น แต่ในความจริงคือมันเป็นคอมพิวเตอร์ควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ คอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเกมกับเรื่องจริง และเตรียมยิงระเบิดนิวเคลียร์ โลกเข้าสู่โหมดสงครามโลกครั้งที่สามเพราะการเล่นเกม!
7
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องจริง เป็นภาพยนตร์เรื่อง WarGames
3
หนังฮอลลีวูดจำนวนนับไม่ถ้วนใช้พล็อตการเกิดสงครามโลกครั้งสาม ในเรื่อง The Sum of All Fears นวนิยายของ ทอม แคลนซี คนร้ายวางระเบิดนิวเคลียร์ในสนามฟุตบอลที่สหรัฐฯเพื่อลวงให้สหรัฐฯกับรัสเซียก่อสงครามนิวเคลียร์กัน
 
ในเรื่อง Twilight's Last Gleaming ทหารอากาศยึดฐานยิงหัวรบนิวเคลียร์ ขู่จะเริ่มสงครามโลกครั้งที่สาม
3
หนังเรื่อง Watchmen ก็เล่าเรื่องสงครามนิวเคลียร์ แม้ว่าเกิดขึ้นในโลกคู่ขนาน
2
หนังชุด เจมส์ บอนด์ หลายเรื่อง พระเอกหยุดสงครามโลกครั้งที่สามได้หวุดหวิด
แม้แต่หนังตลกก็ยังเล่นเรื่องนี้ ใน Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb หนังพาโรดีล้อเลียนสงครามนิวเคลียร์ของ สแตนลีย์ คูบริก เรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯกับโซเวียต
1
หนังแนวนี้สร้างได้เรื่อย ๆ เพราะยังขายได้ บางทีเรากลัวว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามจริง ๆ จนฝังในจิตใต้สำนึก
3
เราล้วนรู้ว่าสงครามโลกครั้งที่สามน่าจะร้ายแรงกว่าสงครามครั้งก่อน ๆ หลายเท่า อาจถึงขั้นมนุษยชาติล่มสลาย ทั้งนี้เพราะอาวุธที่ใช้คราวนี้คือระเบิดปรมาณู เราหวังว่าประเทศมหาอำนาจจะมีสติปัญญารู้ว่ามันไม่คุ้มที่จะก่อสงครามนิวเคลียร์ เพราะจะไม่มีใครชนะ แต่หากคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้น ก็ต้องใหม่ เพราะมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่บอกเสมอว่า ผู้นำบ้าเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้สามารถทำลายโลกโดยไม่สนใจอะไร
4
และที่สำคัญ สงครามโลกครั้งที่สามหรือสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด!
ในวันที่ 11 มีนาคม 1958 เครื่องบิน B-47 Stratojet เดินทางจากฐานทัพอากาศฮันเตอร์ที่จอร์เจีย สหรัฐฯไปอังกฤษ ขณะผ่าน เซาธ์ แคโรไลนา นักบินเห็นไฟเตือนบอกว่าตัวล็อกลูกระเบิดมีปัญหา
6
เวลานั้นเป็นช่วงต้นของสงครามเย็น เครื่องบินรบสหรัฐฯจำนวนมากต้องติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์เผื่อไว้ว่าเกิดสงครามกับโซเวียตกะทันหัน
2
หัวรบในเครื่องบินลำนั้นคือ Mark 6 ขนาด 25 กิโลตัน อานุภาพร้ายแรงกว่าระเบิด Fat Man ที่ทิ้งลงนางาซากิ
2
นักบินคนหนึ่งตรงไปตรวจที่ตัวล็อกระเบิด พบว่ามันไม่เข้าที่ จึงพยายามแก้ไข แต่พลาดไปคว้าสลักปลดปล่อยระเบิดแทน
6
ลูกระเบิดนิวเคลียร์หล่นลงไปสู่เบื้องล่าง ท่ามกลางความตะลึงงันของนักบิน
4
ปรากฏเกิดระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ระเบิดทำงานอย่างซื่อสัตย์ไม่ผิดพลาด
3
โชคดียิ่งที่ระเบิดยังไม่ได้เชื่อมต่อกับส่วนนิวเคลียร์ จึงเป็นแค่ระเบิดธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระเบิดขนาด 7,600 ปอนด์ไม่ใช่อาวุธเล็กน้อย บ้านเรือนและป่าแถวนั้นกลายเป็นจุรณ หลังระเบิดปรากฏหลุมกว้าง 22 เมตร ลึก 7 เมตรครึ่ง ยังดีที่ไม่มีใครตาย ยกเว้นไก่บ้านโชคร้ายหลายตัว
11
ในคืนคริสต์มาส ปี 1962 ยามคนหนึ่งเดินตรวจตรารอบฐานทัพอากาศ Duluth Sector Direction Center รัฐวิสคอนวิน สหรัฐฯ เขาเห็นเงาร่างใครคนหนึ่งกำลังปีนรั้ว เขายิงร่างนั้น แต่ไม่เป็นผล เขา เชื่อว่าเป็นการบุกของโซเวียต จึงกดปุ่มเตือนภัย
1
ปฏิกิริยาของยามอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินไป เพราะช่วงเวลานั้นเป็นสงครามเย็นที่ร้อนจัด เพียงสองเดือนก่อนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับโซเวียตที่หวุดหวิดเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม สมรภูมิคือคิวบา เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯถ่ายรูปความเคลื่อนไหวในคิวบา พบว่าโซเวียตกำลังตั้งฐานยิงจรวดที่นั่น หมายความว่าโซเวียตสามารถยิงขีปนาวุธใส่สหรัฐฯแบบจ่อยิง ประธานาธิบดีเคนเนดีสั่งกองเรือรบไปปิดล้อมทันที โลกเตรียมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สาม
10
ผ่านไปสิบสามวัน วิกฤติก็คลี่คลาย โซเวียตยอมถอนฐานจรวดออกจากคิวบา แต่ความตึงเครียดของสองประเทศยังไม่คลี่คลาย
2
ดังนั้นเมื่อมีใครคนหนึ่งปีนรั้วฐานทัพอากาศ ยามก็เชื่อว่าเป็นพวกโซเวียต และส่งสัญญาณเตือนภัย ฐานทัพอากาศ Volk Field ที่อยู่ใกล้ ๆ กดปุ่มเตือนภัยผิดอัน มันเป็นสัญญาณเตือนอันตรายขั้นสูงสุด ทันใดนั้นทหารทุกหน่วยก็วิ่งพล่าน เพราะเชื่อว่าสงครามโลกครั้งที่สามกำลังอุบัติ นักบินวิ่งไปที่เครื่องบิน ติดเครื่อง แล่นไปตามรันเวย์ เตรียมทะยานขึ้นฟ้า ทุกลำติดหัวรบนิวเคลียร์
2
ทันใดนั้นใครคนหนึ่งก็เห็นว่าเงาร่างคนที่ปีนรั้วนั้นไม่ใช่คน แต่เป็นหมีดำตัวหนึ่ง
5
ข้อมูลผิดพลาดอย่างแรง แต่เครื่องบินกำลังจะขึ้นฟ้าแล้ว
2
ทหารคนหนึ่งจึงกระโดดขึ้นรถบรรทุก ขับไปตามรันเวย์ไปขวางเครื่องบินรบไว้ทันท่วงที
5
ในเวลาตีสามคืนหนึ่งในยุคประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ มีโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงว่าคอมพิวเตอร์ทหารตรวจพบว่ามีหัวรบสองร้อยหัวกำลังมุ่งหน้าจากโซเวียตมาที่สหรัฐฯ
2
โชคดีที่ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ไม่ต้องอดนอนในคืนนั้นเพราะข้อมูลใหม่มาทันเวลา เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด ชิพตัวหนึ่งในเครื่องรวน
1
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุแบบนี้ อีกครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่เผลอใส่เทปการฝึกหัดการถูกโจมตีเข้าไป ทำให้ทั้งหมดแตกตื่น
วันที่ 25 มกราคม 1995 เรดาร์รัสเซียจับจรวดลำหนึ่งขึ้นจากฐานที่นอร์เวย์ ทำให้ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน อยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมจะกดปุ่ม จนกระทั่งฝ่ายรัสเซียพบว่าทิศของจรวดมุ่งไปทางทะเล ไม่ใช่รัสเซีย
3
ความปรากฏว่ามันเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์ยิงเครื่องมือไปสำรวจแสงเหนือ และทางนอร์เวย์ก็แจ้งต่อสาธารณะล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว แต่ฝ่ายโซเวียตไม่สนใจ
8
และในปี 2010 ฐานทัพอากาศสหรัฐฯไม่สามารถสื่อสารกับหัวรบนิวเคลียร์ห้าสิบลูกชั่วคราว
2
ความผิดพลาดหลุดได้ทุกจุดจริง ๆ
1
มีเหตุการณ์ 'เกือบหลุด'ž แบบนี้อย่างน้อย 22 ครั้งในการเผชิญหน้ากันของมหาอำนาจนิวเคลียร์
ความเข้าใจผิดมีตั้งแต่การเห็นฝูงห่านป่าเป็นขีปนาวุธ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์รวน
ชาวโลกยังโชคดีที่อุบัติเหตุแบบนี้ยังไม่ทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์จริง ๆ แต่ใครจะรู้ว่าเราจะโชคดีอย่างนี้อีกกี่ครั้ง ก่อนที่ระเบิดนิวเคลียร์จะล้างโลก
1
ปัจจุบันมีเก้าประเทศในโลกที่มีหัวรบนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ และอิสราเอล
1
บางประเทศมีหรือพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น แต่เลิกไปแล้ว เช่น แอฟริกาใต้ และสามรัฐย่อยที่เคยอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตคือ เบลารูส คาซักสถาน ยูเครน สามรัฐนี้ส่งระเบิดไปให้รัสเซียเก็บ
4
ข้อมูลปี 2019 ชี้ว่าโลกมีหัวรบนิวเคลียร์รวม 13,865 หัว ร้อยละ 90 เป็นของสหรัฐฯกับรัสเซีย
สหรัฐฯเป็นประเทศแรกที่พัฒนาและผลิตหัวรบมากมายในช่วงสงครามเย็น ในปี 1966 สหรัฐฯมีหัวรบนิวเคลียร์ถึง 31,175 ลูก แต่นั่นเป็นเพียงครึ่งเดียวของหัวรบที่สหรัฐฯเคยผลิต
4
รัสเซีย (เดิมคือสหภาพโซเวียต) เป็นชาติที่สองที่พัฒนาระเบิดปรมาณู ในปี 1986 มีหัวรบราว 45,000 ลูก
5
ปัจจุบันสหรัฐฯกับรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์เหลือประเทศละราวหกพันลูก
1
อังกฤษเป็นชาติที่สามที่มีระเบิดปรมาณูเพื่อรักษาสถานะของ 'ชาติยิ่งใหญ่' มีราว 200 ลูก ฝรั่งเศสมีเกือบ 300 ลูก
จีนมี 300 ลูก อินเดีย 150 ลูก ปากีสถาน 160 ลูก เกาหลีเหนือ40 ลูก อิสราเอล 90 ลูก
หัวรบรวมหมื่นกว่าลูกนี้สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ครึ่งหนึ่งได้ทันที
3
ยังไม่รวมว่าถ้าเกิดสภาวะที่เรียกว่าฤดูหนาวนิวเคลียร์ (nuclear winter) คือเถ้าฝุ่นของระเบิดปกคลุมชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ได้ ทำให้โลกตกอยู่ในสภาวะของฤดูหนาว ไร้แสงอาทิตย์ ชีวิตมนุษย์และอื่น ๆ จะสูญสิ้นไปอีกเท่าใด
3
ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นเพราะคนหรือเครื่องมือ หรือทั้งสองอย่าง
2
ถ้าประธานาธิบดีสั่งการด้วยข้อมูลผิด ก็จะเป็นผู้เริ่มสงครามนิวเคลียร์โดยไม่ตั้งใจ เพราะเมื่อยิงหัวรบไปแล้ว ก็เรียกคืนไม่ได้ ต้องปล่อยเลยตามเลย
1
ถ้าเช่นนั้นเราป้องกันอุบัติเหตุได้หรือไม่?
โดยหลักปฏิบัติในปัจจุบัน แต่ละฝ่ายมีเทคโนโลยีตรวจสอบก่อน เช่น ด้วยดาวเทียมทหาร เฝ้าดูความเคลื่อนไหวที่ฐานจรวดของอีกฝ่าย เมื่อหัวรบของอีกฝ่ายเริ่มขยับตัว ก็ประเมินสถานการณ์ และอาจยิงก่อนที่อาวุธฝ่ายตนถูกทำลาย
แปลว่าต้องมีข้อมูลชัดเจนพอในระดับหนึ่ง
1
สำหรับสหรัฐฯ มีดาวเทียมจำนวนหนึ่งเฝ้ามองจุดต่าง ๆ ของฝ่ายที่มีหัวรบ ดาวเทียมเหล่านั้นอยู่ในระดับ 35,786 กิโลเมตรเหนือเส้นศูนย์สูตรโลก อยู่ในวงโคจรที่เรียกว่า geosynchronous orbit ซึ่งจะเกาะเกี่ยวกับวงโคจรโลกโดยไม่หลุดตำแหน่ง จึงสามารถเฝ้ามองอีกฝ่ายตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง และสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายเริ่มใช้จรวด เมื่อใช้ร่วมกับเรดาร์จำนวนมากมายทั่วโลก ก็สามารถประเมินวิถีการยิงและความเร็วของขีปนาวุธอีกฝ่ายได้ และรู้ว่ายิงมาที่ฝ่ายตนหรือไม่ ถ้าใช่ ผู้นำประเทศก็สั่งยิงตอบโต้ภายใน 5-10 นาทีหลังจากอีกฝ่ายยิง
1
การตอบโต้ต้องทำโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะไม่สามารถตอบโต้เพราะนิวเคลียร์อีกฝ่ายถล่มฝ่ายตนจนราบ
5
ในกรณีที่หัวรบภาคพื้นดินถูกทำลาย ตราบใดที่ยังสื่อสารได้ ก็ยังสามาถใช้หัวรบจากเรือดำน้ำ โจมตีอีกฝ่ายได้
3
ประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ต่างก็รู้ว่ามีโอกาสเกิด 'อุบัติเหตุ' แต่ก็ต้องแน่ใจจริง ๆ ว่า มันเป็นการโจมตีฝ่ายตน ก่อนที่จะกดปุ่มตอบโต้ แต่หากหัวรบนิวเคลียร์มาหล่นตรงตำแหน่งของผู้นำประเทศเล่า?
2
แต่ในเวลาอันสั้นนิดเดียว จะรู้ได้อย่างไร?
1
เราเห็นฉากในหนังที่ผู้นำตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่น สมองปราดเปรียว แก้ปัญหาอย่างฉับไว ในความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น
6
ถ้าข้อมูลผิดพลาดไปถึงผู้นำประเทศตอนกลางดึกขณะนอนหลับ เจ้าหน้าที่ปลุกผู้นำขึ้นมา บรี๊ฟ สถานการณ์ขณะที่ผู้นำกำลังงัวเงีย และให้เวลาเพียง 5-10 นาทีตัดสินใจกดปุ่มหรือไม่ โดยอาจไม่มีคนให้คำปรึกษาครบทุกหน่วย
4
อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็กับผู้นำสหรัฐฯบางคนคือ ประธานาธิบดีหลายคนไม่อยู่ในสภาพครองสติได้ตลอดเวลา บางคนชอบดื่มเหล้าจนเมา บางคนกินยา และมึนด้วยฤทธิ์ยา บางคนก็เป็นโรคประสาทจากความเครียดหลายด้าน
3
เล่ากันว่าสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องคดีวอเตอร์เกต จนภายหลังต้องลาออกจากตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯเกิดอาการประสาทกิน หดหู่ ซึมเศร้า ดื่มเหล้าหนัก จิตไม่มั่นคง สติหลุดเป็นประจำ หากเกิดเหตุขีปนาวุธต่างชาติมุ่งมาหา ประธานาธิบดีในสภาพสติไม่ครบถ้วนจะตัดสินใจอย่างไร ย่อมมีโอกาสพลาดสูง
4
ด้วยจุดอ่อนและช่องโหว่มากมายของกระบวนการกดปุ่ม ทำให้มีคนเสนอความคิดว่า แต่ละประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ควรตกลงกดปุ่มเพื่อการแก้แค้นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเริ่มสงคราม
3
พูดง่าย ๆ คือ รอให้ฝ่ายตนถูกถล่มสักลูกก่อน จึงค่อยยิงตอบโต้
3
ในเก้าประเทศนี้ จีนเป็นประเทศเดียวที่มีนโยบายไม่ยิงก่อน จีนบอกว่าจะไม่ยิงก่อนไม่ว่ากรณีใด ๆ และแสดงให้โลกเห็นโดยการแยกชิ้นส่วนหัวรบ แยกส่วนที่บรรจุนิวเคลียร์ออกจากจรวด เวลาใช้ก็ต้องประกอบกันขึ้นมาก่อน โดยหวังว่าดาวเทียมทหารของอีกฝ่ายจะเห็นว่าไม่ได้คิดยิงก่อน
5
โลกปัจจุบันมีตัวแปรอันใหม่คืออินเทอร์เน็ต มันมาพร้อมการแฮ็ก หรือไวรัส หรือระบบ AI ซึ่งทำให้มือที่สามอาจก่อสงครามได้
2
การใช้ไซเบอร์ก็อาจทำถึงขั้นทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทหารคิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังยิงหัวรบไปหา และก่อสงครามโดยไม่ทันคิด
บางที WarGames อาจไม่ใช่พล็อตในหนังแล้ว แต่เป็นเกมจริง ๆ ที่มนุษย์ผู้คลั่งไคล้สงครามสร้างอาวุธมหาประลัยเพราะความกลัว
1
และความกลัวนี่เองที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา