27 ม.ค. 2021 เวลา 10:18 • ปรัชญา
✴️ ศรียันตรา ✴️
รูปแบบทางเรขาคณิตอันศักดิ์สิทธิ์แห่งบรรพกาลของชาวตะวันออก
(ส่วนเมอร์คาบา หรือ Star of David คือรูปแบบทางเรขาคณิตอันศักดิ์สิทธิ์แห่งบรรพกาลของชาวตะวันตก)
Shri Yantra
ศรียันตราคือสัญลักษณ์ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป — ทั้งบนเสื้อยืด, เครื่องประดับ, ถ้วยกาแฟ, ผ้าพิมพ์ลายแขวนผนัง และ ฯลฯ ศรียันตราซึ่งเป็นสัญลักษณ์บรรพกาลกลับได้รับความนิยมจากผู้คนในยุคสมัยใหม่  แต่ทว่า มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงความซับซ้อน, ความหมาย, และสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ของสามเหลี่ยมที่ซ้อนและเชื่อมต่อกันทั้งเก้าและวงกลีบดอกบัวทั้งสองชั้น
เนื่องจากมีคำถามและข้อสงสัยถึงพลังแห่งรูปแบบที่ถูกต้องแม่นยำของศรียันตรา ดังนั้น ในปี 1987 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียจึงได้ใช้ 'เครื่องตรวจวัดและบันทึกการทำงานของคลื่นสมอง' (EEG – Electroencephalography) เพื่อพิสูจน์ว่ารูปทรงทางเรขาคณิตของศรียันตราทำให้ผู้ที่จ้องมองมันเข้าสู่สภาวะแห่งสมาธิได้อย่างรวดเร็ว (ที่มา : คณะชีวะวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมอสโก, 30 ตุลาคม 1987)
EEG – Electroencephalography
🔸ยันต์ หรือ ยันตราคืออะไร?🔸
ในภาษาสันสกฤต คำว่า “ยันตรา” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ยัม” ที่มีความหมายว่า 'เครื่องมือ' หรือ 'เครื่องสนับสนุน' และคำว่า “ตรา” ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ตรานา” ที่แปลว่า 'หลุดพ้นจากพันธนาการ'
ความหมายที่แท้จริงของ “ยันตรา หรือ ยันต์” จึงหมายถึง 'เครื่องมือที่ช่วยให้หลุดพ้นจากพันธนาการ'
ยันต์ (โดยความตั้งใจเดิมแล้ว) ถูกเขียนขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสมาธิ★ และการปฏิบัติวิปัสสนา★★ เพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้จิตวิญญาณเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งปวง
★เพื่อเข้าสู่สภาวะฌานได้ง่ายขึ้น
★★เมื่อจิตเป็นสมาธิจึงทำให้สามารถพินิจพิจารณาถึงหลักธรรมหรือสัจจะความจริงได้ง่ายและดีกว่าจิตที่ไม่เป็นสมาธิ
— แอดมิน —
มียันต์มากมายหลายร้อยรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเหล่าทวยเทพ กฎเกณฑ์แห่งจักรวาลและดาวนพเคราะห์ ที่ถูกนำไปใช้ในงานพิธีมงคลและพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา รูปแบบหรือลวดลายของยันต์สามารถพบได้บนกระดาษหรือเปลือกไม้ หรือแม้กระทั่งถูกสร้างจากกลีบดอกไม้ ขี้เถ้า และข้าวสาร
ส่วนวิธีการสร้างยันต์ของฮินดู หรือ วาสตุ★ (จะเรียกว่าศาสตร์ฮวงจุ้ยของฮินดูก็ได้) นั้น แผ่นยันต์จะถูกทำให้เป็นลายนูนบนแผ่นทองแดงสี่เหลี่ยมชุบด้วยทองคำ จากนั้นแผ่นยันต์เหล่านี้จะถูกนำไปทำพิธี “เพื่อประจุพลัง” โดยนักบวช – หมายความว่าวัตถุทางกายภาพ (ยันต์) จะถูก "ปรับจูน" ให้มีคลื่นความสั่นสะเทือนหรือพลังงานที่เฉพาะเจาะจง เมื่อประจุพลังแล้วแผ่นยันต์ (หรือผ้ายันต์) ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นวัตถุมงคล
ศรียันตราบนแผ่นทองแดงและแผ่นทอง
★วาสตุศาสตร์ (สันสกฤต: Vāstu śāstra) หรือ วัสดุศาสตร์ หมายถึงระบบการวางแผนทางสถาปัตยกรรมแบบฮินดู ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม" วาสตุศาสตร์เป็นเอกสารที่พบในอนุทวีปอินเดีย อันอธิบายถึงหลักในการออกแบบโครงสร้าง การจัดวางองค์ประกอบ การเตรียมพื้นที่ การจัดแบ่งพื้นที่โล่ง และ เรขาคณิตเชิงพื้นที่ วาสตุศาสตร์พบได้ทั่วไปในคติของศาสนาฮินดู แต่ก็พบในศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน
เป้าหมายในการออกแบบแบบวาสตุศาสตร์คือการผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติ การใช้งานที่เชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ และการใช้แบบแผนเรขาคณิตแบบโบราณ (ยันตร์) หรือมณฑล (มันดาล่า) มาผสมผสานกัน
แผนผังการสร้างยอดหอคอยตามวาสตุศาสตร์ ดังที่พบในการสร้างหอโคปุรัม, ศิขร, และวิมาน วาสตุศาสตร์เป็นส่วนเอกสารของวาสตุวิทยา (Vastu Vidya) ซึ่งเป็นแขนงความรู้อย่างกว้างที่เกี่ยวกับการออกแบบศิลปะ อันเป็นทฤษฎีที่สืบทอดมาแต่อินเดียโบราณ วาสตุวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่กว้างและมีหลักการอันซับซ้อนที่ผสมผสานพลังทางธรรมชาติและเหนือธรรมชาติเข้ากับสิ่งก่อสร้างและเทวรูป ไปจนถึงศิลปกรรมที่ใช้ตกแต่ง ส่วนแปลนที่ใช้ในการสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นจะอ้างจากส่วนของ "วาสตุบุรุษมณฑล" (Vaastu Purusha Mandala)
หลักการของวาสตุศาสตร์นั้นรวมไปถึงหลักการออกแบบ "มนเทียร" (โบสถ์พราหมณ์) การออกแบบบ้าน คฤหาสน์ เมือง หมู่บ้าน สวน สถานที่ราชการ การวางผังเมือง ไปจนถึงระบบการคมนาคม เช่น ระบบถนน และ ระบบการประปา
— แอดมิน
สถาปัตยกรรมแบบฮินดู โคปุรัม, ศิขร, และวิมาน (เรียงจากซ้ายไปขวา)
🔸ศรียันตรา : ราชินีแห่งยันต์ทั้งปวง🔸
ศรียันตรา นั้นถูกเรียกว่า “ราชินีแห่งยันต์” เพราะมันคือสัญลักษณ์แห่งกฎเกณฑ์, ต้นกำเนิดแห่งพลังงานทั้งมวล, พลังอำนาจ, และความคิดสร้างสรรค์ของพระแม่ศักติอันยิ่งใหญ่★
★พระแม่ศักติ คือ พระชายาของพระศิวะ เป็นตัวแทนแห่งพลังหยิน หรือพลังแห่งเพศหญิง ของฮินดู – แอดมิน
ตามความเชื่อของชาวฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศรีวิทยา” โรงเรียนที่สอนวิถีแห่งตันตระ ถือว่าศรียันตรานั้นเป็นตัวแทนของจักรวาล เช่นเดียวกันกับร่างกายของพระแม่เจ้า★ ที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ของศักติหรือพลังงานของเพศหญิง (พลังหยิน) ทุกๆเส้น ทุกๆสามเหลี่ยม และทุกๆกลีบดอกบัวเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของพลังแห่งศักติประเภทหนึ่งๆ
★พระแม่เจ้า/พระเจ้า (Goddess/God) คือสิ่งเดียวกัน คือความเป็นหนึ่งเดียวกันของหยินและหยาง (พลังแห่งเพศหญิงและเพศชาย หรือหยินและหยางนั้นแยกตัวออกมาจากพระองค์) หรือจะเรียกว่า เต๋า หรือ พระพุทธเจ้าอนันตกาล หรือพระพรหม ก็ได้ — แอดมิน —
ภาพวาดศรียันตรา
สี่เหลี่ยมที่ล้อมอยู่รอบนอกเป็นตัวแทนของธาตุดิน ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดูเรื่องรูปทรงเรขาคณิตอันศักดิ์สิทธิ์ สี่เหลี่ยมนั้นเป็นสัญลักษณ์ของโลก ส่วนพื้นที่ด้านนอกสี่เหลี่ยม เป็นตัวแทนของอารมณ์ทางโลก เช่น ความโกรธ ความกลัว และความปรารถนาในทางโลก
โยคีที่ทำสมาธิที่พื้นที่ด้านนอกสี่เหลี่ยม ก็เพื่อขจัดพลังงานกีดขวางเหล่านี้ (ที่คอยพันธนาการจิตวิญญาณเอาไว้ไม่ให้เป็นอิสระ) โครงสร้างรูปตัว T ในสี่เหลี่ยมถือเป็นประตูทั้งสี่ทิศและทางเข้าของยันต์
ส่วนต่อไปก็คือ วงกลม 3 วง เป็นตัวแทนของ อดีต, ปัจจุบัน, และอนาคต วงแหวนของกลีบดอกบัว 16 กลีบที่อยู่รอบนอกแสดงถึงการเติมเต็มความหวังและความปรารถนาทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลีบดอกบัวยังเป็นตัวแทนของอวัยวะแห่งการรับรู้ และการ กระทำทั้ง 10 (ลิ้น, จมูก, ปาก, ผิวหนัง, ตา, หู, เท้า, มือ, แขน, และอวัยวะสืบพันธุ์) และธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน, น้ำ, ไฟ, อากาศ, และที่ว่าง (หรืออวกาศ)
กลีบดอกที่ 16 เป็นตัวแทนของ จิตใจ ที่คอยรวบรวมและตีความข้อมูลที่ได้รับมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับธาตุต่างๆที่เข้ามากระทบ
ส่วนต่อไปก็คือ กลีบดอกบัว 8 กลีบที่อยู่รอบใน แต่ละกลีบเป็นตัวแทนของกิจกรรมเฉพาะ : การพูด, การหยิบจับ, การเคลื่อนไหว, การขับถ่าย, การทำสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินใจ, การผลักไสเพราะไม่ชอบ, การดึงดูดเพราะชอบ, และความมีใจเป็น กลาง (อุเบกขา)
1
ที่อยู่ในวงกลมด้านใน คือ สามเหลี่ยมที่เชื่อมประสานกัน (43 อัน) สามเหลี่ยมที่ปลายชี้ขึ้นเป็นตัวแทนของกฎเกณฑ์หรือพลังแห่งเพศชาย — ส่วนที่ชี้ลงเป็นตัวแทนของกฎเกณฑ์หรือพลังแห่งเพศหญิง สามเหลี่ยมทั้ง 43 อันนี้ ยังเป็นตัวแทนของคุณสมบัติต่างๆของศักติ
เริ่มจากสามเหลี่ยมอันที่อยู่ล่างสุดวงนอกสุด วนไปทางทวนเข็มนาฬิกา (สีน้ำเงินมี 14 อัน) เป็นตัวแทนของ : ความกระวนกระวาย, การไล่ตามเป้าหมาย, การดึงดูด, ปิติสุข, ความหลง, การนิ่งเฉย, การปลดปล่อย, การควบคุม, ความพอใจ, ความลุ่มหลงมัวเมา, การบรรลุความปรารถนา, ความฟุ่มเฟือย, มนตรา และการทำลายความเป็นคู่
สามเหลี่ยมวงถัดมา เริ่มจากอันที่อยู่ล่างสุด และวนไปทางทวนเข็มนาฬิกาเช่มเดิม (สีแดง มี 10 อัน) : (1)สามเหลี่ยมอันแรกหมายถึง 'ผู้มอบความสำเร็จทั้งปวง' (2)อันที่สองหมายถึง 'ผู้มอบความมั่งคั่ง' (3)อันที่สามหมายถึง 'ผู้มอบพลังแห่งพฤติกรรมที่ทำให้ทุกคนพอใจ' (4)อันที่สี่หมายถึง 'ผู้นำมาซึ่งพรทั้งปวง' (5)อันที่ห้าหมายถึง 'ผู้มอบความปรารถนาทั้งมวล' (6)อันที่หกหมายถึง 'ผู้ขจัดความทุกข์ทั้งปวง' (7)อันที่เจ็ดหมายถึง 'ผู้ปลอบโยนเมื่อวาระสุดท้ายบนโลกมาถึง' (8)อันที่แปดหมายถึง 'ผู้ก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง' (9)อันที่เก้าหมายถึง 'ผู้นำมาซึ่งความงาม' (10)อันที่สิบหมายถึง 'ผู้มอบความโชคดีทั้งมวล'
สามเหลี่ยมวงถัดมาซึ่งคือวงที่สาม เริ่มจากอันที่อยู่ล่างสุด และวนไปทางทวนเข็มนาฬิกาเช่มเดิม (สีดำ มี 10 อันเช่นกัน) เป็นตัวแทนของ : (1)สัพพัญญู (รู้ทุกสิ่ง), (2)ความสามารถไร้ที่สิ้นสุด (ทำได้ทุกอย่าง), (3)การมีอำนาจสูงสุดในการควบคุม (ปกครอง) ตนเอง, (4)พุทธิปัญญา, (5)การขจัดสิ้นซึ่งโรคภัยไข้เจ็บทั้งมวล, (6)การเกื้อหนุนโดยปราศจากเงื่อนไข, (7)การกำราบความชั่วร้ายทั้งปวง, (8)การปกป้อง, (9)การบรรลุความปรารถนาทั้งมวล, (10)ความเมตตากรุณาอันไม่มีประมาณ
สามเหลี่ยมวงที่ 4 ซึ่งเป็นวงสุดท้ายเริ่มจากอันที่อยู่ล่างสุด และวนไปทางทวนเข็มนาฬิกาเช่มเดิม (สีเขียว มี 8 อัน) เป็นตัวแทนของ : การดำรงอยู่, การสร้าง, การสลาย (การสิ้นสุด), ความสุข, ความทุกข์, ความเฉยเมย, ความกระตือรือร้น, และความสามารถในการเลือกกระทำ
สามเหลี่ยมที่อยู่ตรงกลางสุด (สีเหลือง) หมายถึง 'ผู้มอบความสมบูรณ์แบบทั้งมวล' กึ่งกลางของสามเหลี่ยมกลางคือ “พินทุ” ซึ่งแสดงถึงจิตสำนึกที่บริสุทธิ์และสภาพเดิมแท้แห่งตัวตน (คือแก่นแท้แห่งความเป็นเรา ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเอง)
ภาพลายเส้นศรียันตราที่ถูกต้อง
🔸การวาดศรียันตรา🔸
รูปทรงเรขาคณิตของศรียันตรานั้นวาดยากกว่าที่ตาเห็น — เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ที่นักคณิตศาสตร์ถูกเรียกร้องให้สร้างศรียันตราที่ถูกต้องแม่นยำและปราศจากข้อผิดพลาด เพราะมันถูกลงความเห็นว่า ไม่ว่าจะสร้างขึ้นอย่างระมัดระวังเพียงใด มันก็จะมีความไม่ถูกต้องเล็กน้อยที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
จงจำเอาไว้ว่า — ยิ่งวาดเส้นหนาและวาดแบบลวกๆมากเท่าไหร่ (ไม่ใส่ใจองศาของมุม ความกว้าง ความยาว ของเส้นสามเหลี่ยม เป็นต้น) ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้ภาพศรียันตราที่ไม่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น เว็บไซต์ Shri Yantra Research★ ได้ให้คำแนะนำในการวาด แถมยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่นำเสนอการวาดยันต์ที่ถูกต้องในทางคณิตศาสตร์
★เว็บไซต์ที่ทำการวิจัยเรื่องศรียันตรา :
https://sriyantraresearch.com/ — แอดมิน
ภาพศรียันตราและศรียันตราแบบนูนสามมิติ
🔸วิธีการใช้ศรียันตรา🔸
หากคุณนำศรียันตราไปไว้ที่บ้านหรือในที่ทำงาน นักบวชในศาสนาฮินดูแนะนำให้ตัวยันต์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หรือวางไว้ทางทิศตะวันออก)
นอกจากนี้พวกเขายังแนะนำให้อาบน้ำให้ตัวยันต์เป็นครั้งคราว หากว่าตัวยันต์เป็นแผ่นทองแดงหรือทองคำ ก็ให้อาบด้วยน้ำนมหรือน้ำแช่ดอกกุหลาบ (หรือน้ำหอมกลิ่นกุหลาบ) หากคุณต้องการไปให้สุด (บูชาแบบจัดเต็ม) ก็ให้แต้มครีมไม้จันทน์หอม (sandalwood paste) ไว้ที่มุมทั้ง 4 ของยันต์
เก็บรักษายันต์ของคุณไว้ให้ปราศจากจากฝุ่นหรือสิ่งสกปรก หากโลหะเปลี่ยนสีไปเพราะการถูกอาบด้วยน้ำนมหรือน้ำกุหลาบก็ไม่ต้องตกใจไป ยันต์ของคุณสบายดี (พลังมงคลยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน)
ภาพศรียันตราแบบขาวดำ
🔸วิธีการจ้องมองศรียันตราเพื่อการทำสมาธิ🔸
มีหลากหลายวิธีในการใช้ศรียันตราในการทำสมาธิ แต่มีวิธีหนึ่งที่ตรงไปตรงมามากในการนำรูปทรงเรขาคณิตเข้าสู่จิตสำนึก ก็คือวิธีการจ้องมองไปที่ภาพตรงๆ
สิ่งที่จำเป็น :
1️⃣ กำแพงโล่ง กว้าง สีขาว หรือ กระดาษสีขาวสักแผ่นหนึ่ง
2️⃣ ภาพศรียันตราที่ลายเส้นถูกต้องแม่นยำ★ และมันจะดีที่สุดหากใช้ภาพสีขาวดำธรรมดา
★ส่วนวิธีการเช็คว่าภาพนั้นมีความถูกต้องหรือไม่เข้าไปดูได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ – แอดมิน
▪️ปลายทั้งสามของสามเหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุดทั้งสองควรสัมผัสกับวงกลมด้านนอก
▪️จุดบนสุดของสามเหลี่ยมแต่ละอันควรแตะกับเส้นฐานแนวนอนของสามเหลี่ยมถัดไปหรือต่ำกว่า
3️⃣ นาฬิกาจับเวลา
___
เมื่ออุปกรณ์พร้อมแล้ว จงนั่งในท่าที่สบายแต่ตื่นตัว (หลังไม่งอและไม่พิง) ถือภาพศรียันตราไว้ที่มือหรือวางไว้บนพื้นผิวว่างๆด้านหน้า (หน้าไม่ก้ม แค่เหลือบตามองต่ำ) หากใช้ภาพแปะไว้บนกำแพงสีขาว ให้แน่ใจว่าคุณสามารถมองเห็นภาพได้อย่างละเอียดชัดเจน
ตั้งนาฬิกาจับเวลาเป็นเวลา 5 นาที จากนั้นก็เริ่มจ้องภาพยันต์ อย่าเพ่งจ้องจนเกินไปให้มองแบบสบายๆ ผ่อนคลายดวงตาและปล่อยให้ภาพเข้าสู่การรับรู้ทางสายตา
จดจ่ออยู่กับภาพไม่วอกแวก หากใจฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น (ภาพที่อยู่ในสายตาเลือนไป) ก็ดึงการรับรู้ภาพกลับมาใหม่ เลือนไปก็ดึงการรับรู้กลับมาใหม่ เลือนไปก็ดึงการรับรู้กลับมาใหม่ โดยไม่ต้องตัดสินหรือมีปฏิกิริยาอะไร (ทำไปสบายๆ)
เมื่อครบเวลา 5 นาที ให้เลื่อนสายตาไปที่พื้นที่ว่างเปล่าทันที แล้วปล่อยให้ภาพติดตาของยันต์ก่อรูปขึ้นบนพื้นที่ว่างเปล่านั้น (สีของภาพจะกลับกัน เช่น จากสีดำจะกลายเป็นสีขาว) จ้องมองภาพติดตานั้นต่อไปเรื่อยๆเท่าที่สามารถจะมองได้ เมื่อภาพเริ่มเลือนไป (ไม่ค่อยชัดแล้ว) ก็ให้หลับตา แล้วปล่อยให้ภาพติดตาที่ยังตกค้างอยู่ก่อรูปขึ้นในหัว (หรือในจิตนั่นล่ะ) รักษาการจ้องมองภาพยันต์ที่ก่อรูปขึ้นในจิตนั้นต่อไปเรื่อยๆจนกว่าภาพจะเลือนหายไปโดยสมบูรณ์
ทำซ้ำได้หลายครั้งตามต้องการ พยายามปฏิบัติให้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 วัน และคอยสังเกตว่าศรียันตราส่งผลหรือทำให้เกิดอะไรขึ้นในชีวิตบ้าง หลังจากทำสมาธิด้วยวิธีการนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา