29 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 8] แนะนำภาพรวมของภาษากวางตุ้ง
An overview of Cantonese language
สำหรับเนื้อหาในตอนนี้จะแนะนำภาพรวมของ “ภาษากวางตุ้ง” ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร สำหรับภาพรวมของภาษากวางตุ้ง หนึ่งในภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาจีนที่คนไทยน่าจะเคยได้ยิน อาจจะผ่านดนตรีหรือภาพยนตร์ในช่วงกระแสสื่อบันเทิงฮ่องกงรุ่งเรืองเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน การทำงานหรือท่องเที่ยวในฮ่องกงหรือมาเก๊า ภาษากวางตุ้งจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านกันได้เลยครับ
[Credit ภาพ : CNN]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ :
เพลงภาษากวางตุ้ง “1997” ของ MC Jin แร็ปเปอร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน
ภาษากวางตุ้ง (Cantonese) เป็นภาษาทางราชการของฮ่องกงและมาเก๊า ภาษาท้องถิ่นในบริเวณตอนใต้ของจีน (มณฑลกว่างตง และเขตปกครองตนเองกว่างซี) และเป็นภาษาที่ใช้โดยคนเชื้อสายจีนที่อพยพจากบริเวณตอนใต้ของจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะในมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) หรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ภาษากวางตุ้งมาตรฐานจะอ้างอิงจากภาษาที่ใช้พูดกันแถบนครกว่างโจว (Guangzhou) ขณะที่ชื่อเรียกภาษากวางตุ้งในภาษาตนเองคือ “กว๋องต๊งหวา” (廣東話/广东话 ; Gwóngdūng wá/Gwong2dung1 waa2) แต่ในบางครั้งก็ใช้ชื่อ “หยวิดหยวี” (粵語/粤语 ; Yuhtyúh/Jyut6jyu5) ในความหมายสื่อถึงภาษากวางตุ้งแทน ซึ่งชื่อนี้แปลว่า “ภาษาเยว่” กลุ่มภาษาจีนที่มีภาษากวางตุ้งเป็นสมาชิก เมื่อพิจารณาภาษากวางตุ้งแบบรวมกับภาษาเยว่ จะมีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 80 ล้านคน
แผนที่บริเวณตอนใต้ของจีน โดยอาศัยข้อมูลจาก Language Atlas of China ฉบับปี ค.ศ.1987 แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่ใช้ภาษาสมาชิกของภาษาเยว่ ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาจีนกลุ่มหนึ่ง แสดงพื้นที่ที่ประชากรใช้ภาษากวางตุ้งมาตรฐาน (รวมทั้งภาษากวางตุ้งแบบฮ่องกง) ด้วยสีชมพู [Credit แผนที่ : User 'Kanguole' @ Wikipedia.org ]
ภาษากวางตุ้งมีร่องรอยทางภาษาศาสตร์ที่ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งแม้ว่าภาษากวางตุ้งกับภาษาจีนกลางเป็นภาษาสมาชิกร่วมกลุ่มภาษาจีน-ทิเบต มีวิวัฒนาการจากภาษาเดียวกัน ภาษากวางตุ้งยังคงรักษาการออกเสียงตัวสะกดและวรรณยุกต์ที่ซับซ้อนจากภาษาจีนยุคกลาง (Middle Chinese ใช้กันในปี ค.ศ.581-907 ช่วงราชวงศ์ถังปกครองจีน) ซึ่งไม่เหลือในภาษาจีนกลางแล้ว ส่งผลให้ชาวมณฑลกว่างตงมักเรียกตนเองว่า “ชาวถัง” (唐人; tòhng yàhn/tong4 jan4) และเรียกภาษากวางตุ้งในอีกชื่อว่า "ภาษาถัง" (唐話/唐话 ; Tòhng wá/tong4 waa2) รวมถึงคำศัพท์ที่ญี่ปุ่นรับจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังส่วนหนึ่ง ที่ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงใกล้เคียงกับภาษากวางตุ้งมากกว่าภาษาจีนกลาง
ในช่วงราชวงศ์หมิง พื้นที่ปากแม่น้ำจู (Pearl river delta - บริเวณเมืองกว่างโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง มาเก๊าในปัจจุบัน) และเมืองกว่างโจวพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน ภาษากวางตุ้งที่ใช้ในแถบเมืองกว่างโจวจึงก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในภาษาสำคัญในบรรดากลุ่มภาษาจีน การค้ากับชาติตะวันตกที่จีนจำกัดไว้เฉพาะเมืองกว่างโจวช่วง ค.ศ.1757-1842 (เรียกว่า “ระบบกวางตุ้ง” (Canton system)) ร่วมกับมาเก๊าในฐานะอาณานิคมของโปรตุเกส และฮ่องกงในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้ภาษากวางตุ้งเป็นภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาจีนภาษาหนึ่งที่ชาติตะวันตกรู้จักมากที่สุด
ภาพจิตรกรรมแสดงพื้นที่ Thirteen factories ซึ่งเป็นเขตโรงงานและสถานีการค้าของชาติตะวันตกที่เมืองกว่างโจว ในช่วง ค.ศ.1805 โดยในภาพนี้แสดงบริเวณสถานีการค้าของเดนมาร์ก สเปน สหรัฐฯ สวีเดน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ (เรียงตามลำดับธงชาติจากซ้ายไปขวา)
ในขณะเดียวกัน ภาษากวางตุ้งได้เข้ามาเป็นภาษาในงานวรรณกรรมพื้นถิ่น (อย่างบทเพลงพื้นบ้าน งิ้ว งานวรรณกรรมเกี่ยวกับตำนานต่าง ๆ หรือนิยาย) จนเกิดความนิยมภาษากวางตุ้งมากขึ้น แม้จะโดนดูถูกว่าเป็น “ภาษาบ้านนอก”
ตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์ชิงเริ่มมีกลุ่มชาวจีนจากตอนใต้ของจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในชาติตะวันตก จนส่งผลให้ภาษากวางตุ้งเป็นหนึ่งในภาษาสมาชิกกลุ่มภาษาจีนที่ใช้กันมากตาม “Chinatown” ย่านชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในชาติตะวันตกเหล่านี้ เช่น
- กลุ่มชาวจีนอพยพในสหรัฐฯรุ่นแรก ๆ ซึ่งไปกับเรืออเมริกันที่เทียบท่าบริเวณชายฝั่งทางใต้ของจีน (เมืองไถซาน มณฑลกว่างตง) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อออกไปค้าแรงงานบริเวณตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วง “การตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย” ที่ทางสหรัฐฯ ต้องการแรงงานราคาถูก
- ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีกลุ่มชาวจีนอพยพไปยังกลุ่มชาติตะวันตก ทั้งสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
แต่กระแสชาวจีนแผ่นดินใหญ่จากภูมิภาคอื่นของจีนระลอกหลังที่อพยพเข้ามายังชาติตะวันตกต่าง ๆ เริ่มต้นเมื่อคริสต์ศตวรรษ 1980 ทำให้ภาษาจีนกลางเข้ามาแทนที่ภาษากวางตุ้งในย่านชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในชาติตะวันตกดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
อีกตัวแปรหนึ่งในบทบาทของภาษากวางตุ้งคือ “ฮ่องกง” ที่ผ่านยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งการส่งมอบฮ่องกงแก่จีน โดยมีแง่มุมตัวอย่าง ได้แก่
- การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของฮ่องกงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960-1990 จนฮ่องกงกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินนานาชาติในปัจจุบัน
- ช่วงยุคทองของสื่อบันเทิงของฮ่องกงที่ภาพยนตร์ฮ่องกงและดนตรีป๊อบฮ่องกง (Cantopop) ได้รับความนิยมในระดับภูมิภาคในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970-1990
- ฮ่องกงกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ภาพถ่ายจากย่านจิมซาจุ่ยในฮ่องกง แสดงอนุสาวรีย์ของบรูซ ลี (Bruce Lee) ดาราและผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่กลับมาแสดงภาพยนตร์ต่อสู้ในฮ่องกง ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ที่เริ่มเกิดกระแสภาพยนตร์ฮ่องกงในภูมิภาคเอเชีย [Credit ภาพ : Benson Kua]
ประเด็นดังกล่าวทำให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจเรียนภาษากวางตุ้งมากขึ้น จนหนังสือเรียนภาษากวางตุ้งส่วนหนึ่งอ้างอิงจากภาษากวางตุ้งที่ใช้ในฮ่องกง
จากนโยบายของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ส่งเสริมให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาประจำชาติและใช้ในประเทศจีนมากขึ้นมานานกว่า 50 ปี แต่คนท้องถิ่นบริเวณที่ใช้ภาษากวางตุ้งเป็นภาษาแม่ก็ยังคงพยายามใช้ภาษานี้ในฐานะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความภูมิใจในท้องถิ่น และภาษาที่ใช้สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน
ชายคนหนึ่งถือป้ายสนับสนุนการใช้ภาษากวางตุ้ง ตอบโต้การยื่นข้อเสนอของผู้แทนนครกว่างโจวในสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สถานีโทรทัศน์ในกว่างโจวเพิ่มบทบาทภาษาจีนกลาง ลดบทบาทภาษากวางตุ้งในรายการต่าง ๆ จนเกิดการประท้วงในกว่างโจวและฮ่องกงในปี ค.ศ.2010 [Credit ภาพ : AFP]
อนาคตของภาษากวางตุ้งเองก็ยังคลุมเครือ ทั้งแนวโน้มนโยบายด้านภาษาของจีนที่อาจประกาศใช้ในฮ่องกงและมาเก๊า (ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่สนับสนุนให้ใช้ภาษาจีนกลางมากกว่า) รวมถึงแนวโน้มการอพยพในฮ่องกงทั้งขาเข้า (คนจีนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคอื่นย้ายเข้าฮ่องกงหรือชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ) และขาออก (คนฮ่องกงย้ายออกไปอาศัยในดินแดนอื่น)
จุดเด่นของคำและการออกเสียงภาษากวางตุ้ง ได้แก่...
เสียงวรรณยุกต์ของภาษากวางตุ้งมีทั้งหมด 9 เสียง แต่เนื่องจากเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง (3 คู่) ออกเสียงคล้ายกันมากรวมเข้าเป็น 3 เสียง ส่งผลให้ตำราเรียนหรือพจนานุกรมภาษากวางตุ้งมีทั้งแบบเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง และแบบ 9 เสียง ขณะที่นักภาษาศาสตร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่จะถือว่ามีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียงมากกว่า
คำในภาษาเขียนที่ใช้ในภาษากวางตุ้งปัจจุบันมีส่วนที่แตกต่างจากภาษาจีนกลาง ซึ่งมีหลายปัจจัย ได้แก่...
- ความแตกต่างของศัพท์ท้องถิ่นระหว่างภาษาทั้งสองฝั่งที่มีมาอยู่แล้วตั้งแต่โบราณ
- ภาษากวางตุ้งยังคงใช้คำเดิม แต่ภาษาจีนกลางจะเปลี่ยนคำที่ใช้
- ภาษากวางตุ้งเปลี่ยนคำที่ใช้ แต่ภาษาจีนกลางจะคงใช้คำเดิม
- คำยืมจากภาษาตะวันตกในภาษากวางตุ้ง ผ่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองกว่างโจว ฮ่องกงและมาเก๊าที่มีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก
ภาษากวางตุ้งใช้อักษรจีนทั้งแบบตัวเต็ม (ในฮ่องกงและมาเก๊า) และแบบตัวย่อ (ในจีนแผ่นดินใหญ่) จึงมีระบบการเขียนด้วยอักษรโรมันหลายรูปแบบเพื่อบอกการออกเสียงภาษากวางตุ้ง ตามตำราเรียนภาษากวางตุ้งสำหรับคนต่างชาติและพจนานุกรม (เช่นเดียวกับ “ตัวพินอิน” ในภาษาจีนกลาง) แต่แบบที่ปรากฏบ่อย ได้แก่...
- “การถอดเสียงภาษากวางตุ้งด้วยอักษรโรมันแบบเยล” (Yale romanization of Cantonese หรือ Yèh-lóuh) เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1952 ที่ใช้เครื่องหมายกำกับบอกเสียงวรรณยุกต์
- “หยวิดเพ็ง” (Jyutping /粵拼) พัฒนาโดยสมาคมภาษาศาสตร์ฮ่องกง ในปี ค.ศ.1993 ใช้ตัวเลขกำกับบอกเสียงวรรณยุกต์
หากใครสนใจเรื่องหลักการทับศัพท์ภาษากวางตุ้งด้วยอักษรไทย ที่ผ่านการถอดเป็นตัวหยวิดเพ็งมาก่อน สามารถอ่านในบล็อกรุ่นพี่ผมได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20190208
ไวยากรณ์ของภาษากวางตุ้งมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างจากภาษาจีนกลาง ตัวอย่างของไวยากรณ์ภาษากวางตุ้ง ได้แก่...
1) คำสรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์ในภาษากวางตุ้ง “เขา/เธอ/มัน” จะใช้ตัวเดียวกันคือ 佢 (keoi5) ต่างจากภาษาจีนกลางที่แยกคำสรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์เป็นหลายกรณี
2) โครงสร้างการเรียงลำดับคำในประโยค : ประธาน กริยา กรรม
ปกติแล้วโครงสร้างประโยคในภาษากวางตุ้งจะเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาจีนกลาง
- คุณพูดภาษากวางตุ้ง
你講廣東話。(nei5 gong2 Gwong2 dung1 waa2)
你 = คุณ 講 = พูด 廣東話 = ภาษากวางตุ้ง
- ฉันกินเสี่ยวหลงเปา
我食小籠包。(ngo5 sik6 siu2lung4baau1)
我 = ฉัน 食 = กิน 小籠包 = เสี่ยวหลงเปา
3) การแสดงความเป็นเจ้าของในภาษากวางตุ้งส่วนหนึ่ง จะตัดคำบ่งชี้ความเป็นเจ้าของ “嘅” (ge3) ออกไป แต่จะใช้คำลักษณนามของคำนามนั้นแทน ตัวอย่างเช่น “หนังสือของฉัน”
- ภาษากวางตุ้ง : 我本書 (ngo5 bun2 syu1)
คำ 本 (bun2) เป็นคำลักษณนาม “เล่ม” ของคำนาม “หนังสือ”
- ภาษาจีนกลาง : 我的書 (Wǒ de shū)
คำ 的 (de) เป็นคำบ่งชี้ความเป็นเจ้าของ
4) โครงสร้างการเรียงลำดับคำในประโยค : กรรมตรง (Direct object) และกรรมรอง (Indirect object)
“กรรมตรง” คือคำนามที่ทำหน้าที่กรรมตามใจความประโยค ส่วน “กรรมรอง” คือผู้ได้รับกรรมตรงหรือตัวที่ได้รับผลจากกรรมตรงอีกทีหนึ่ง ซึ่งเฉพาะกรณีที่มีคำ 畀 ในภาษากวางตุ้ง กรรมตรงอยู่หน้ากรรมรอง แต่ในภาษาจีนกลาง กรรมรองจะอยู่หน้ากรรมตรง ตัวอย่างเช่น “เอากระดาษให้ฉัน”
- ภาษากวางตุ้ง : 畀紙我 (bei2 zi2 ngo5 / เอาให้ + กระดาษ + ฉัน)
- ภาษาจีนกลาง: 给我纸 (Gěi wǒ zhǐ / เอาให้ + ฉัน + กระดาษ)
5) ภาษากวางตุ้งมีคำต่อท้ายประโยค เพื่อบ่งชี้สถานการณ์หรืออารมณ์ของผู้กล่าวประโยคนั้น (Final particles) ตัวอย่างเช่น...
- 呀 (aa3) ใช้กับประโยคคำถาม หรือต่อท้ายประโยคตอบรับให้ฟังดูนุ่มนวลขึ้น
- 未 (mei6) ใช้กับประโยคคำถาม เพื่อถามว่ากริยาในประโยคจบลงเรียบร้อยแล้วหรือไม่
- 添 (tim1) ใช้ในความหมายว่า “เช่นกัน” “เช่นเดียวกัน” “ก็” “ด้วย”
6) ไม่มีการผันท้ายคำกริยาตามประธานและกาล (Tense) แบบที่ปรากฏในภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับภาษาจีนกลาง
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพรวมของภาษากวางตุ้ง ทั้งเรื่องประวัติความเป็นมาของภาษากวางตุ้ง การรักษาร่องรอยเสียงภาษาจีนยุคกลาง การใช้ภาษากวางตุ้งในประเทศจีนและต่างประเทศ การแพร่หลายและลดบทบาทของภาษาผ่านการค้า การอพยพของผู้คนและยุครุ่งเรืองของท้องถิ่น คำกับตัวอักษรในภาษากวางตุ้ง และตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษากวางตุ้ง จนถึงเรื่องความแตกต่างของภาษากวางตุ้งจากภาษาจีนกลาง อย่างเรื่องเสียงวรรณยุกต์ คำ ตัวอักษร หรือไวยากรณ์ ผมก็หวังว่าเนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษากวางตุ้งมาก่อนได้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ
สำหรับท่านใดสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในบล็อกนี้ตอนก่อนหน้า สามารถดูได้จากซีรีส์ “ภาษาในเอเชียตะวันออก” ได้ที่นี่ครับ https://www.blockdit.com/series/601446b96bd37c0ba4b34fb0
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถร่วมเป็นกำลังใจให้ผมด้วยการกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ ไว้พบกันใหม่ครับ
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
- Hugh Baker, Pui-Kei Ho. Complete Cantonese. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Dana Scott Bourgerie, Keith S.T. Tong, Gregory James. Colloquial Cantonese. Oxfordshire, UK: Routledge; 2010.
โฆษณา