26 ก.พ. 2021 เวลา 11:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 12] แนะนำภาพรวมของภาษาญี่ปุ่น
An overview of Japanese language
1
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 5 ของซีรีส์ "แนะนำภาษาตะวันออก" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาของดินแดนอาทิตย์อุทัย - The land of rising sun “ภาษาญี่ปุ่น” ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร ภาษาญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศแถบเอเชียที่คนไทยนิยมเรียนกัน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องสื่อบันเทิง การท่องเที่ยว การศึกษาต่อ การทำงานที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นหรือในบริษัทญี่ปุ่น (อย่างภาคบริการ ธุรกิจ อุตสาหกรรมหรือโรงพยาบาล) ภาษาญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านกันได้เลยครับ
[ที่มาของภาพ : Hokkaido University]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงป๊อปภาษาญี่ปุ่น 般若心経 “ฮันเนียชิงเงียว” (Heart Sutra / บทสวดปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร) โดย Kanho Yakushiji
ภาษาญี่ปุ่น (日本語 “Nihongo / นิฮงโงะ”) เป็นภาษาทางราชการของประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่ประมาณ 127 ล้านคน ทั้งคนญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นที่ย้ายไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ
สถิติน่าสนใจที่เกี่ยวข้องคือ ดินแดนที่มีคนญี่ปุ่นอพยพและคนท้องถิ่นเชื้อสายญี่ปุ่นมากที่สุด ได้แก่
- บราซิล : ประมาณ 2 ล้านคน
- สหรัฐฯ : 1.54 ล้านคน โดยเฉพาะในฮาวาย และแถบชายฝั่งตะวันตก
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ประมาณ 293,000 คน โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ (มีมากถึง 120,000 คน) ไทย และสิงคโปร์
- ทวีปอเมริกาใต้ (ไม่รวมบราซิล) : ประมาณ 190,000 คน (โดยเฉพาะเปรู และอาร์เจนตินา)
ตัวอย่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีคนญี่ปุ่นโพ้นทะเลและคนเชื้อสายญี่ปุ่น (Nikkei) [Credit ภาพ : The Association of Nikkei & Japanese Abroad]
ประชากรกลุ่มนี้ในแต่ละประเทศมีทั้งแบบที่ส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นที่มาทำงานหรือย้ายถิ่นฐานในต่างประเทศ (กรณีของไทยและสิงคโปร์) และแบบที่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายญี่ปุ่นที่บรรพบุรุษอพยพออกจากญี่ปุ่นในช่วงการปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) เนื่องจากญี่ปุ่นมีประชากรหนาแน่นและการจ้างงานในประเทศไม่เพียงพอ (อย่างกรณีบราซิล สหรัฐฯ เปรู) ซึ่งคนเชื้อสายญี่ปุ่นรุ่นหลังที่อาจไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแม่แล้ว เพราะกลมกลืนไปกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเองอยู่ แต่ก็มีกรณีที่คนเชื้อสายญี่ปุ่นรุ่นหลังส่วนหนึ่งย้ายมายังญี่ปุ่นจึงต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น เช่น คนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น
"ไปอเมริกาใต้พร้อมครอบครัวกันเถอะ" โปสเตอร์ในญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเมื่อก่อนอพยพมายังทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ผู้อพยพชาวญี่ปุ่น ณ เมืองโควเบะ (Kobe)
ภาษาญี่ปุ่นมีหลากหลายสำเนียงที่พูดกันในแต่ละท้องถิ่น ขณะที่ภาษาญี่ปุ่นแบบที่ใช้ในหลักสูตรตามโรงเรียนในญี่ปุ่นหรือสอนคนต่างชาติ สื่อมวลชน และการติดต่อราชการ จะเป็นภาษาญี่ปุ่นมาตรฐาน (Standard Japanese / 標準語 “เฮียวจุงโงะ”) ที่อ้างอิงตามสำเนียงของกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ เช่นเดียวกับภาษาไทยมาตรฐานอ้างอิงสำเนียงกรุงเทพฯ ภาษาจีนมาตรฐานอ้างอิงสำเนียงกรุงปักกิ่ง หรือภาษาเกาหลีมาตรฐานอ้างอิงสำเนียงกรุงโซล
นักภาษาศาสตร์ได้พยายามศึกษาว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นสมาชิกในตระกูลภาษาใด วิธีหนึ่งในการหาความเป็นไปได้ คือ การศึกษาเปรียบเทียบภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะในดินแดนเพื่อนบ้าน พบว่าไวยากรณ์ของภาษาญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกับภาษาเกาหลีและภาษามองโกล ตรงที่เป็น ”ภาษาคำติดต่อ” และมีโครงสร้างประโยคแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ประโยค “ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว”
ภาษามองโกล: Би энэ номыг уншсан. (Bi ene hom-yg unsh-san)
- Би (Bi) = ฉัน
- энэ (Ene) = นี้
- ном (Nom) = หนังสือ
- ыг (-yg) = คำชี้กรรมของประโยค
- унш (Unsh) = อ่าน
- сан (-san) = ส่วนต่อท้ายกริยาเพื่อบ่งชี้ว่ากริยานั้นทำในอดีต
 
ภาษาเกาหลี: 저는 이 책을 읽었습니다. (Jeo-neun i chaeg-eul ilgeotseumnida)
- 저 (Jeo) = ฉัน
- 는 (-neun) = คำชี้ประธานของประโยค
- 이 (i) = นี้
- 책 (chaeg) = หนังสือ
- 을 (-eul) = คำชี้กรรมของประโยค
- 읽다 (ikda) = อ่าน (คำกริยา)
- 읽었습니다 (ilgeotseumnida) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
ภาษาญี่ปุ่น: 私は この本を 読みました。(Watashi-wa kono-hon-o yomimashita)
- 私 (Watashi) = ฉัน
- は (-wa) = คำช่วยเพื่อชี้ประธานของประโยค
- この (kono-) = นี้
- 本 (Hon) = หนังสือ
- を (-o) = คำช่วยเพื่อชี้กรรมของประโยค
- 読む (yomu) = อ่าน (คำกริยา)
- 読みました (yomimashita) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
 
ความคล้ายคลึงกันด้านไวยากรณ์ดังกล่าวนี้เอง ส่งผลให้นักภาษาศาสตร์สมัยก่อน (ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20) เสนอว่า ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาสมาชิกหนึ่งในตระกูลภาษาอัลไต (Altaic languages) ร่วมกับภาษาเกาหลี ภาษามองโกล และภาษาตุรกี
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่ใช้ภาษาสมาชิกในตระกูลภาษาอัลไต อย่างกลุ่มภาษาเตอร์กิก (สีน้ำเงิน) กลุ่มภาษาตุงกูซิก (สีแดง) กลุ่มภาษามองโกล (สีเขียว) กลุ่มภาษาเกาหลี (สีเหลือง) และกลุ่มภาษาญี่ปุ่น (สีม่วง) [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ Wikipedia]
นักภาษาศาสตร์ยังพบความสัมพันธ์ของภาษาญี่ปุ่นต่อตระกูลภาษาอื่น ดังนี้
 
- คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นสมัยโบราณส่วนหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกับคำศัพท์ของภาษาในกลุ่มภาษามาลาโย-พอลินีเชีย (Malayo-Polynesian) ที่ใช้กันในบริเวณประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มชาติพันธุ์บนเกาะไต้หวัน จนเคยเกิดสมมติฐานว่าอาจเคยมีชาวพอลินีเชียโพ้นทะเลมาสำรวจและอพยพมาอยู่ตามชายฝั่งญี่ปุ่น
- คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นส่วนหนึ่งคล้ายกับคำศัพท์ในกลุ่มภาษาจีน (ภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต) เนื่องจากญี่ปุ่นรับอิทธิพลทางภาษาและวัฒนธรรมในสมัยโบราณผ่านจากจีน ส่งผลให้อักษรจีนมีอิทธิพลหรือแม้แต่เป็นต้นกำเนิดของอักษรญี่ปุ่น แต่นักภาษาศาสตร์กลับพบว่าไวยากรณ์ของภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เข้ากับไวยากรณ์ของภาษาต่าง ๆ ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
 
ในภายหลังเริ่มมีการนำเสนอและยอมรับกันในวงการภาษาศาสตร์มากขึ้นว่าทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลีไม่ขึ้นกับตระกูลภาษาอัลไต เป็นภาษาโดดเดี่ยว (Isolate language) ที่ไม่ขึ้นกับตระกูลภาษาขนาดใหญ่ตระกูลอื่น ๆ และมีตระกูลภาษาของตนเองทั้งคู่
จุดยากข้อแรกของภาษาญี่ปุ่นสำหรับผู้เรียนคนไทยคือ “ไวยากรณ์” ที่ต่างจากภาษาไทยมาก ตัวอย่างของไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น ได้แก่
 
1) โครงสร้างการเรียงคำในประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ซึ่งได้ยกตัวอย่างโครงสร้างประโยคไปแล้ว ตอนเปรียบเทียบกับภาษาเกาหลีและภาษามองโกลช่วงต้นบทความ
 
2) ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาแบบ “ภาษาคำติดต่อ” (Agglutinative languages) ตรงที่หน่วยคำไม่สามารถอยู่โดด ๆ ได้แบบภาษาไทย แต่ต้องเติมหน่วยเติมต่อท้าย ซึ่งมีหลายแบบ ได้แก่
แบบที่ 1 - “คำช่วย” ไว้ช่วยบอกว่าหน่วยคำแต่ละหน่วย ที่คำช่วยอยู่ข้างหลังนั้นทำหน้าที่อะไร (ประธาน หัวข้อ กรรม หรือสถานที่ เป็นต้น) รวมถึงใช้แทนคำบุพบท (Preposition) บอกสถานที่และเวลา ตัวอย่างเช่น
- คำช่วย は และ が บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นประธาน (กรณี が) หรือหัวข้อ (กรณี は) ของประโยค
- คำช่วย に บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นสถานที่หรือเวลาที่มีประธานหรือเกิดกริยาของประโยค
- คำช่วย の บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นเจ้าของ
- คำช่วย を บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นกรรมของประโยค
 
แบบที่ 2 – การผันคำที่ท้ายรากคำกริยา ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น การผันคำตามกาล (Tense) การผันคำตามมาลา (Mood : บอกสถานการณ์หรืออารมณ์ที่ผู้กล่าวประโยคนั้นใช้ เช่น คำถาม ปฏิเสธ ชักชวน) และการผันคำตามระดับของคำพูด
หากเทียบการผันคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษจะไม่ได้มีรูปแบบการผันมากเท่าภาษาญี่ปุ่น และคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นจะไม่ผันตามประธานแบบภาษาอังกฤษ (อย่าง I study, He studies, We study)
 
ตัวอย่างการผันคำกริยาในภาษาญี่ปุ่น : คำกริยา 勉強する (Benkyousuru แปลว่า “เรียน”)
แบบที่ 3 – การผันคำที่ท้ายรากคำคุณศัพท์ขึ้นกับกาลและมาลา เช่นเดียวกับคำกริยาภาษาญี่ปุ่น ต่างจากภาษาอังกฤษที่ไม่มีการผันคำคุณศัพท์แบบนี้
 
ตัวอย่างการผันคำคุณศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น : คำคุณศัพท์ 優しい (Yasashii แปลว่า “ใจดี”)
1
จุดยากของภาษาญี่ปุ่นข้อที่สองคือ ภาษาญี่ปุ่นมี “ระดับภาษา” ที่แตกต่างตามสถานะทางสังคม อาชีพ ความอาวุโส และเพศของอีกฝ่ายที่เป็นคู่สนทนาเช่นเดียวกับภาษาไทย อย่าง “ภาษาสุภาพ” (敬語 “เคย์โงะ”) ที่แบ่งย่อยออกเป็น 3 แบบ ประกอบด้วยภาษาสุภาพเชิงยกย่อง (尊敬語 “ซงเกย์โงะ”) ภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัว (謙譲語 “เคนโจวโงะ”) และภาษาสุภาพเชิงมารยาท (丁寧語 “เทย์เนย์โงะ”) หรือภาษาญี่ปุ่นแบบเป็นกันเอง (砕けた日本語 “คุดาเคตะนิฮงโงะ”)
 
ตัวอย่างคำภาษาญี่ปุ่นในระดับภาษาต่าง ๆ : คำว่า “กิน”
ตัวอย่างสถานการณ์การใช้ระดับภาษาในภาษาญี่ปุ่น ได้แก่
- ภาษาสุภาพเชิงยกย่องกับภาษาสภาพเชิงถ่อมตัวจะใช้ในกรณีระหว่างสองฝ่ายที่สถานะต่างกัน (ครู-ลูกศิษย์ ลูกค้า-พนักงานร้านค้า เจ้านาย-ลูกน้อง)
- ภาษาสุภาพเชิงมารยาทจะใช้ในกรณีคนสองคนที่ไม่ได้สนิทกันมาก และมีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกัน สำหรับชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นยังไม่คล่อง ภาษาสุภาพเชิงมารยาทเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุด
- ภาษาแบบเป็นกันเองจะใช้ในการสนทนาที่ไม่เป็นทางการ (เช่น การพูดคุยระหว่างเพื่อน) หรือคนที่สถานะสูงกว่าใช้พูดกับคนที่มีสถานะต่ำกว่า
สำหรับตัวอักษรที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่น จะมี 4 แบบ ได้แก่
- อักษรคันจิ (Kanji) : อักษรจีนที่ญี่ปุ่นรับมาใช้ในสมัยโบราณ และมีบางตัวที่ญี่ปุ่นคิดขึ้นมาเอง อักษรฮิรางานะและคาตากานะยังวิวัฒนาการมาจากอักษรคันจิในภายหลัง ถือเป็นจุดยากข้อที่สามของภาษาญี่ปุ่น
- อักษรฮิรางานะ (Hiragana) : อักษรที่ภาษาญี่ปุ่นมักใช้กับคำทางไวยากรณ์ (เช่น คำช่วย หรือการผันท้ายคำกริยา) และคำที่ไม่มีอักษรคันจิใช้
- อักษรคาตากานะ (Katakana) : อักษรที่ภาษาญี่ปุ่นมักใช้ทับศัพท์ชื่อหรือคำยืมจากภาษาต่างประเทศ ใช้เน้นคำให้ดูเด่นชัดขึ้น (อย่างตามโฆษณา) คำเลียนเสียงธรรมชาติ ศัพท์เทคนิคหรือศัพท์วิทยาศาสตร์ (พวกพืช สัตว์ แร่)
- อักษรโรมาจิ (Romaji) ; อักษรโรมัน (อักษรแบบที่ภาษาอังกฤษและหลายภาษาในยุโรปใช้) ที่ใช้ถอดเสียงคำภาษาญี่ปุ่น
 
ตัวอย่างคำเดียวกันในอักษรทั้ง 4 แบบที่ภาษาญี่ปุ่นใช้ : คำ “นิฮง” หมายถึง “ประเทศญี่ปุ่น”
ในภาษาเขียนของภาษาญี่ปุ่น มักจะปรากฏอักษรทั้ง 3 แบบ (ฮิรางานะ คาตากานะ คันจิ) ในคราวเดียวกัน ต่างจากภาษาอื่นที่ใช้ตัวอักษรแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เช่น ภาษาไทยใช้อักษรไทย ภาษาอังกฤษใช้อักษรโรมัน ภาษาจีนกลางในจีนแผ่นดินใหญ่ใช้อักษรจีนตัวย่อ หรือภาษาเกาหลีใช้อักษรฮันกึล
 
ตัวอย่างประโยคภาษาญี่ปุ่นที่ใช้อักษรทั้ง 4 แบบ : ประโยคแนะนำตัวเมื่อเจออีกฝ่ายครั้งแรก
หากใครสนใจเรื่องหลักการทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นด้วยอักษรไทย สามารถอ่านในบล็อกรุ่นพี่ผมได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20130109
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพรวมของภาษาญี่ปุ่น ทั้งเรื่องประชากรคนใช้ภาษาญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นมาตรฐาน ตระกูลภาษาที่เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นในทางภาษาศาสตร์ ตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น ระดับภาษาที่แบ่งกันอย่างชัดเจนในภาษาญี่ปุ่น ไปจนถึงเรื่องตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่น ผมก็หวังว่าเนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อนได้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ
สำหรับท่านใดสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในบล็อกนี้ตอนก่อนหน้า สามารถดูได้จากซีรีส์ “ภาษาในเอเชียตะวันออก” ได้ที่นี่ครับ https://www.blockdit.com/series/601446b96bd37c0ba4b34fb0
โฆษณา