5 มี.ค. 2021 เวลา 11:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 13] แนะนำภาพรวมของภาษาทิเบต
An overview of Tibetan language
1
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 6 ของซีรีส์ "แนะนำภาษาตะวันออก" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาของดินแดนหลังคาโลก - The roof of the world “ภาษาทิเบต” ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งภาษาทิเบตนั้นไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยเท่าไหร่ บางคนก็อาจเคยได้ยินผ่านบทสวดในศาสนาพุทธแบบทิเบต และภาษาทิเบตจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพแสดงนักเรียนคนทิเบตกำลังเขียนอักษรทิเบต [Credit ภาพ : www.tibet-foundation.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง འཛོམས་པ་ཡག་མོ། “จ่มปาหยักโม” (Dzomba Yagmo / ความอุดมสมบูรณ์ที่สวยงาม) ของ Gangshug ศิลปินชาวทิเบต Cover โดย Drukmo Gyal และ Joosep Kõrvits
“ภาษาทิเบต” ในชื่อทั่วไป หรือ “ภาษาทิเบตมาตรฐาน” (བོད་སྐད་ “Böké / เผ่อแก้” หรือ Standard Tibetan) ในชื่อเฉพาะ เป็นภาษาที่อ้างอิงจากภาษาพูดสำเนียงที่ใช้แถบภาคกลางของทิเบต (อดีตจังหวัดอวีจาง (Ü-Tsang) ของทิเบตในอดีต) กับนครลาซ่า เมืองหลวงของทิเบต และเป็นภาษาใช้กันแพร่หลายที่สุดในบรรดาภาษาสมาชิกกลุ่มภาษาทิเบต (Tibetic languages) ที่มีประชากรใช้กลุ่มภาษานี้ประมาณ 6 ล้านคน ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่
- เขตปกครองตนเองทิเบต ใช้ภาษาทิเบตมาตรฐานเป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาจีนกลาง
- มณฑลอื่นของประเทศจีนที่อยู่ข้างเคียงเขตปกครองตนเองทิเบต (มณฑลซิงไห่ มณฑลเสฉวน และมณฑลยูนนาน)
- ดินแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เนปาล ภูฏาน อินเดียและปากีสถาน
แผนที่เชิงภาษาศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา เมื่อปี ค.ศ.1967 แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาทิเบตในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีน ปรากฏเป็นพื้นที่สีม่วงในเขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลซิงไห่ มณฑลเสฉวน และมณฑลยูนนาน แต่แผนที่นี้จะไม่ตรงกับการกระจายตัวของประชากรคนใช้ภาษาทิเบตในปัจจุบัน เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานหรือการกลืนให้ผู้คนไปใช้ภาษาอื่น [Credit แผนที่ : U.S. Central Intelligence Agency]
แม้ว่ากลุ่มภาษาทิเบตจะมีสำเนียงต่าง ๆ หลายสิบสำเนียง แต่ถือว่าภาษาสมาชิกหลักในกลุ่มภาษาทิเบตจะมีสามภาษา ภาษาสมาชิกอื่นอีกสองภาษานอกจากภาษาทิเบตมาตรฐาน จะแยกตามอีกสองจังหวัดในอดีตของทิเบต ได้แก่
- ภาษาทิเบตอัมโต (ཨ་མདོའི་སྐད་ “อัมโตแก้” / Amdo Tibetan) : ภาษาที่ชาวทิเบตใช้ในอดีตจังหวัดอัมโต (Amdo) ปัจจุบันคือมณฑลซิงไห่ของจีน
- ภาษาทิเบตคั่ม (ཁམས་སྐད་​ “คัมแก้” / Khams Tibetan) : ภาษาที่ชาวทิเบตใช้ในอดีตจังหวัดคั่ม (Kham) ปัจจุบันอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของเขตปกครองตนเองทิเบต และบางส่วนของมณฑลเสฉวนกับมณฑลยูนนาน
แผนที่แสดงพื้นที่อดีตจังหวัดทั้ง 3 ของทิเบต ได้แก่ อวีจาง อัมโต และคั่ม โดยซ้อนทับกับแผนที่ประเทศจีนปัจจุบัน [Credit ภาพ : User 'Kmusser' @ Wikipedia.org]
นอกจากนี้ ภาษาซองคา (རྫོང་ཁ་ “จ่งคา” / Dzongkha language) ภาษาทางการของประเทศภูฏาน เป็นภาษาสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มภาษาทิเบตและใช้อักษรทิเบตด้วยเช่นกัน แต่มีจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาซองคาอยู่ในหลักแสนคน ต่างจากจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาทิเบตมาตรฐาน ภาษาทิเบตอัมโต และภาษาทิเบตคั่ม ที่แต่ละภาษามีคนใช้มากกว่า 1 ล้านคน ทำให้เนื้อหาในตำราเรียนภาษาทิเบตส่วนหนึ่ง ไม่ได้กล่าวถึงภาษาซองคาในฐานะ “ภาษาสมาชิกหลัก” ของกลุ่มภาษาทิเบต
แผนที่แสดงการกระจายตัวของกลุ่มประชากรคนใช้ภาษาทิเบต (พื้นที่สีเขียว) และภาษาพม่า (พื้นที่สีเหลือง) ซึ่งภาษาทั้งสองเป็นภาษาสมาชิกในตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ Wikipedia.org]
ภาษาทิเบตมาตรฐานจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan languages) และตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman languages) ภาษาพม่าจึงถือว่าเป็นภาษาใหญ่ภาษาหนึ่งที่ใกล้ชิดกับภาษาทิเบตมากที่สุด แต่เนื่องจากภาษาทิเบตกับภาษาพม่าวิวัฒนาการแยกสายออกจากกันนานแล้ว คนพม่ากับคนทิเบตจึงไม่สามารถเข้าใจระหว่างกันหากพูดภาษาของตนได้
ขณะที่อิทธิพลของจีนต่อทิเบตที่มากขึ้นจนทิเบตอยู่ใต้การปกครองของจีน ทำให้ภาษาจีนกลางเข้ามามีบทบาทในทิเบต อย่างชาวทิเบตที่อาศัยในชุมชนเมืองส่วนใหญ่พูดภาษาจีนกลางได้
อักษรทิเบต (Tibetan script) ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยชาวทิเบตที่พระเจ้าซองแจนกั่มโป (སྲོང་བཙན་སྒམ་པོ་, Songtsen Gampo) กษัตริย์ผู้ปกครองทิเบตเคยส่งไปศึกษาในอินเดียเพื่อใช้แปลคัมภีร์ในศาสนาพุทธจากอินเดียเป็นภาษาทิเบต โดยมีต้นแบบจากอักษรคุปตะ (Gupta script) ที่ทางภาคเหนือของอินเดียใช้เขียนภาษาสันสกฤตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 – 6
1
ภาพวาดแสดง Thönmi Sambhota (ཐོན་མི་སམྦྷོ་ཊ་ "เทินมีสัมพโหฏะ") ขุนนางที่กษัตริย์ทิเบตส่งไปศึกษาในอินเดีย และกลับมาคิดค้นอักษรทิเบตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 [Credit ภาพ : Sahil Bhopal, Tashi Mannox]
จุดน่าสังเกตของอักษรทิเบต คือมีเครื่องหมายต่าง ๆ เฉพาะตัวใช้กำกับ ตัวอย่างเช่น
- เครื่องหมาย ་ ใช้คั่นหน่วยคำหรือพยางค์
- เครื่องหมาย ། หรือ ༎ ใช้บอกว่าประโยคสิ้นสุดลง (คล้ายจุด full stop ในภาษาอังกฤษ หรือเครื่องหมายวงกลมเล็กในภาษาจีนกลางและภาษาญี่ปุ่น)
- เครื่องหมาย ༄ ใช้บอกจุดเริ่มต้นเนื้อความ
คำว่า "เทือกเขาหิมาลัย" ที่เขียนด้วยอักษรทิเบต 6 รูปแบบในอักษรวิจิตรทิเบต (Tibetan caligraphy) ซึ่งอาลักษณ์คนทิเบตที่เขียนอักษรวิจิตรส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากวัดพุทธ [Credit ภาพ : User 'Бмхүн' @ WIkipedia.org]
สำหรับใครที่สนใจเรื่องการเขียนทับศัพท์ภาษาทิเบตที่เขียนเป็นอักษรทิเบตด้วยอักษรไทย รวมถึงคำอธิบายเสียงในภาษาทิเบตมาตรฐาน (สำเนียงลาซ่า) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บล็อกรุ่นพี่ผมครับ https://phyblas.hinaboshi.com/20200105
1
นับตั้งแต่การคิดค้นอักษรทิเบต ระบบการเขียนเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างน้อยจนภาษาเขียนมาตรฐานในปัจจุบันใกล้เคียงกับเสียงอ่านในภาษาทิเบตโบราณ ต่างจากภาษาพูดที่วิวัฒนาการเมื่อเวลาผ่านไป และยังแตกต่างกันไปตามสำเนียงต่าง ๆ กระจายกันตามภูมิประเทศพื้นที่สูงซับซ้อนของทิเบต ภาษาพูดกับภาษาเขียนในกลุ่มภาษาทิเบตจึงค่อนข้างแตกต่างกัน อย่างกรณีที่เสียงอ่านไม่ตรงกับเสียงของตัวอักษร
 
ตัวอย่างของเสียงอ่านที่แตกต่างจากเสียงตัวอักษรในอักษรทิเบต
- གཉིས = ག (ก) + ཉ (ญ) + ི ( ี ) + ས (ส)
ภาษาทิเบตโบราณอ่าน “กญีส”
ภาษาทิเบตมาตรฐานปัจจุบัน (สำเนียงลาซ่า) อ่าน “ญี”
- ཟླ་བ = ཟ (ซ) + ལ​ (ล) + བ (บ)
ภาษาทิเบตโบราณอ่าน “ซลาบา”
ภาษาทิเบตมาตรฐานปัจจุบัน (สำเนียงลาซ่า) อ่าน “ต่าวา”
คนทิเบตระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ จะใช้ภาษาเขียนสื่อสารเข้าใจมากกว่า แต่คนทิเบตที่พูดคนละสำเนียงอาจพูดสื่อสารกันไม่เข้าใจก็ได้ ซึ่งในตำราเรียนภาษาทิเบตสำหรับชาวต่างชาติส่วนหนึ่งจะบอกว่าภาษาทิเบตที่ปรากฏในตำราเป็นแบบภาษาพูดหรือภาษาเขียน
ลักษณะเด่นและตัวอย่างไวยากรณ์ของภาษาทิเบตมาตรฐาน ได้แก่
 
1. ภาษาทิเบตมาตรฐานเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ (Tonal language) เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ ในเอเชีย อย่างภาษาจีนกลาง ภาษากวางตุ้ง ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย หรือภาษาพม่า โดยภาษาทิเบตมาตรฐานมีเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง
 
2. ภาษาทิเบตมาตรฐานเป็นภาษาที่มีระดับภาษา (Honorific language) เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาไทย
 
3. การแสดงพจน์ (Grammatical number) ในภาษาทิเบตมาตรฐานมี 3 แบบ คือ เอกพจน์ (Singular) ทวิพจน์ (Dual) และพหูพจน์ (Plural)
 
คำสรรพนามเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงลักษณะของภาษาทิเบตมาตรฐานที่มีระดับภาษาและการแสดงพจน์ทั้ง 3 แบบ ทั้งคำสรรพนามบุรุษที่ 1 (ผม ฉัน เรา) บุรุษที่ 2 (คุณ ท่าน มึง เอ็ง) บุรุษที่ 3 (เขา เธอ นาย)
- คำสรรพนามบุรุษที่ 1
เอกพจน์ - ฉัน ང་ “หงา”
ทวิพจน์ - เราทั้งสอง ང་གཉིས་ “หง่าญี”
พหูพจน์ - พวกเรา ང་ཚོ་ “หง่าโช”
- คำสรรพนามบุรุษที่ 2
เอกพจน์ (ภาษาธรรมดา) - རང་ “หรัง”
เอกพจน์ (ภาษาแบบให้เกียรติ) - ཁྱེད་རང་ “เคยรัง” (khyed-rang)
เอกพจน์ (ภาษาหยาบคาย) - ཁྱོད་ “เคย่อ” (khyod)
ทวิพจน์ (ภาษาธรรมดา) - རང་གཉིས་ “หรั่งญี”
ทวิพจน์ (ภาษาแบบให้เกียรติ) – ཁྱེད་རང་གཉིས་ “เคยรังญี” (khyed-rang-gnyis)
ทวิพจน์ (ภาษาหยาบคาย) - ཁྱོད་གཉིས་ “เคยอญี” (khyod-gnyis)
พหูพจน์ (ภาษาธรรมดา) - རང་ཚོ་ “หรั่งโช”
พหูพจน์ (ภาษาแบบให้เกียรติ) – ཁྱེད་རང་ཚོ་ “เคยรังโช” (khyed-rang-tsho)
พหูพจน์ (ภาษาหยาบคาย) - ཁྱོད་ཚོ་ “เคยอโช” (khyod-tsho)
- คำสรรพนามบุรุษที่ 3
เอกพจน์ (ภาษาธรรมดา) – ཁོང་ “คง”
เอกพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้ชาย)) - ཁོ་(རང་) “โค (โครัง)”
เอกพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้หญิง)) - མོ་(རང་) “โหม (โหม่รัง)”
ทวิพจน์ (ภาษาธรรมดา) – ཁོང་གཉིས་ “คงญี”
ทวิพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้ชาย)) - ཁོ་(རང་)གཉིས་ “โค (รัง) ญี”
ทวิพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้หญิง)) - མོ་(རང་)གཉིས་ “โหม่ (รัง) ญี”
พหูพจน์ (ภาษาธรรมดา) – ཁོང་ཚོ་ “คงโช”
พหูพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้ชาย)) - ཁོ་(རང་)ཚོ་ “โค (รัง) โช”
พหูพจน์ (ภาษาแบบคุ้นเคย (อีกฝ่ายเป็นผู้หญิง)) - མོ་(རང་)ཚོ་ “โหม่ (รัง) โช”
4. โครงสร้างการเรียงคำในประโยคภาษาทิเบตเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา)
ตัวอย่างโครงสร้างประโยคภาษาทิเบต
- ང་རང་ལ་དགའ་པོ་ཡོད། (ฉันชอบคุณ / I like you.)
ང = I
རང་ = you
ལ་དགའ་པོ་ཡོད = like
- ང་ཡིས་ཤ་ཟ། (ฉันกินเนื้อ / I eat meat/)
ང = I
ཡིས་ཤ = meat
ཟ = eat
5. โครงสร้างการเรียงคำในประโยคภาษาทิเบต หากต้องการบอกลักษณะของประธาน จะเรียงแบบประธาน-ภาคแสดง-Verb to be
ตัวอย่างโครงสร้างประโยคภาษาทิเบต
- ང་སླབ་གྲྭ་བ་ཡིན། (ฉันเป็นนักเรียน / I am a student.)
ང = I
སླབ་གྲྭ་བ = student
ཡིན = am
- ང་ཚོ་བོད་པ་ཡིན། (พวกเราเป็นชาวทิเบต / We are Tibetan.)
ང་ཚོ = We
བོད་པ = Tibetan
ཡིན = are
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพรวมของภาษาทิเบต ทั้งเรื่องประชากรคนใช้ภาษาทิเบต ภาษาทิเบตมาตรฐาน กลุ่มภาษาทิเบตและตระกูลภาษาที่เกี่ยวข้อง อักษรทิเบต ภาษาเขียนและภาษาพูด จนถึงลักษณะเด่นและตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาทิเบต ผมก็หวังว่าเนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาทิเบตมาก่อนได้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ
สำหรับท่านใดสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในบล็อกนี้ตอนก่อนหน้า สามารถดูได้จากซีรีส์ “ภาพรวมของภาษาในเอเชียตะวันออก” ได้ที่นี่ครับ https://www.blockdit.com/series/601446b96bd37c0ba4b34fb0
[ที่มาของข้อมูล]
- Tibetan : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- Jonathan Samuels. Colloquial Tibetan. Oxfordshire, UK: Routledge; 2014.
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
โฆษณา