12 มี.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 14] แนะนำภาพรวมของภาษามองโกเลีย
An overview of Mongolian language
1
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 7 ของซีรีส์ "แนะนำภาษาตะวันออก" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาของดินแดนแห่งท้องนภาสีฟ้า - The land of the blue sky “ภาษามองโกเลีย” ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งภาษามองโกเลียนั้นแทบจะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย และภาษามองโกเลียจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านกันได้เลยครับ
1
บทกวีภาษามองโกเลีย "ฉันเป็นชาวมองโกล" ที่เขียนบนกระดานดำด้วยอักษรมองโกเลีย [ที่มาของภาพ : WeChat]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : คลิปการแสดงและดนตรีพื้นเมืองในงานเปิดเทศกาลนาดัม 2020 ทางโทรทัศน์และทางออนไลน์ของประเทศมองโกเลีย
ภาษามองโกเลีย (Mongolian language / Монгол хэл) เป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุดในกลุ่มภาษามองโกล (Mongolic languages / Монгол хэлний бүлэг) ซึ่งนักภาษาศาสตร์ในสมัยก่อน (ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20) จัดว่ากลุ่มภาษามองโกลเป็นกลุ่มภาษาย่อยใน “ตระกูลภาษาอัลไต” (Altaic languages) ร่วมกับกลุ่มภาษาเตอร์กิก กลุ่มภาษาตุงกูซิก กลุ่มภาษาเกาหลี และกลุ่มภาษาญี่ปุ่น
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่ใช้ภาษาสมาชิกในตระกูลภาษาอัลไต อย่างกลุ่มภาษาเตอร์กิก (สีน้ำเงิน) กลุ่มภาษาตุงกูซิก (สีแดง) กลุ่มภาษามองโกล (สีเขียว) กลุ่มภาษาเกาหลี (สีเหลือง) และกลุ่มภาษาญี่ปุ่น (สีม่วง) [Credit แผนที่ : User 'Fobos92' @ Wikipedia]
นักภาษาศาสตร์เคยพยายามศึกษาว่ากลุ่มภาษามองโกลเป็นสมาชิกในตระกูลภาษาใด ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะตามดินแดนเพื่อนบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยดำรงชีวิตแบบเร่ร่อนเช่นเดียวกับชาวมองโกลมาก่อน พบว่าไวยากรณ์ของกลุ่มภาษามองโกล มีความสัมพันธ์ห่าง ๆ กับกลุ่มภาษาเตอร์กิก (ภาษาตุรกี ภาษาอาเซอร์ไบจาน ภาษาเติร์กเมน ภาษาอุซเบก ภาษาคีร์กีซ ภาษาคาซัค และภาษาอุยกูร์) กลุ่มภาษาเกาหลี และกลุ่มภาษาญี่ปุ่น ตรงที่เป็น ”ภาษาคำติดต่อ” และมีโครงสร้างประโยคแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ร่วมกัน ตัวอย่างเช่นประโยค “ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว”
1
ภาษามองโกเลีย: Би энэ номыг уншсан. (Bi ene hom-yg unsh-san)
- Би (Bi) = ฉัน
- энэ (Ene) = นี้
- ном (Nom) = หนังสือ
- ыг (-yg) = คำชี้กรรมของประโยค
- унш (Unsh) = อ่าน
- сан (-san) = ส่วนผันคำท้าย เพื่อบ่งชี้ว่ากริยานั้นทำในอดีต
ภาษาตุรกี: Ben bu kitabı okudum.
- Ben = ฉัน
- Bu = นี้
- Kitap = หนังสือ
- ตัวลงท้าย -ı แล้วเปลี่ยนตัวสะกดของกรรม (p -> b) กลายเป็น -bı = คำชี้กรรมของประโยค
- okumak = อ่าน (oku- เป็นรากคำกริยา)
- ส่วนลงท้าย -dum = ส่วนผันคำท้ายกริยาสำหรับประโยคบอกเล่ารูปอดีต
ภาษาญี่ปุ่น: 私は この本を 読みました。(Watashi-wa kono-hon-o yomimashita)
- 私 (Watashi) = ฉัน
- は (-wa) = คำชี้ประธานของประโยค
- この (kono-) = นี้
- 本 (Hon) = หนังสือ
- を (-o) = คำชี้กรรมของประโยค
- 読む (yomu) = อ่าน (คำกริยา)
- 読みました (yomimashita) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
ภาษาเกาหลี: 저는 이 책을 읽었습니다. (Jeo-neun i chaeg-eul ilgeotseumnida)
- 저 (Jeo) = ฉัน
- 는 (-neun) = คำชี้ประธานของประโยค
- 이 (i) = นี้
- 책 (chaeg) = หนังสือ
- 을 (-eul) = คำชี้กรรมของประโยค
- 읽다 (ikda) = อ่าน (คำกริยา)
- 읽었습니다 (ilgeotseumnida) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
นอกจากนี้ กลุ่มภาษามองโกลและกลุ่มภาษาเตอร์กิกมีกระบวนการกลมกลืนเสียงสระ (Vowel harmony) ซึ่งแบ่งกลุ่มของสระเป็นสระกลุ่มหน้า-สระกลุ่มกลาง-สระกลุ่มหลัง แล้วเมื่อพิจารณาสระของรากคำกับสระของส่วนต่อท้ายเมื่อผันคำ สระกลุ่มหน้ากับสระกลุ่มหลังจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่สระกลุ่มกลางอยู่ร่วมกับกลุ่มอื่นได้หมด
สระกลุ่มหน้าในภาษามองโกเลีย : สระ э, ү, ө (เสียงตามตัว IPA เป็น /e/, /u/, /o/)
สระกลุ่มกลางในภาษามองโกเลีย : สระ и, й (เสียงตามตัว IPA เป็น /i/)
สระกลุ่มหลังในภาษามองโกเลีย : สระ a, y, o (เสียงตามตัว IPA เป็น /a/, /ʊ/, /ɔ/)
สระกลุ่มหน้าในภาษาตุรกี : สระ e, i, ü, ö (เสียงตามตัว IPA เป็น /e/, /i/, /y/, /œ/)
สระกลุ่มหลังในภาษาตุรกี : สระ a, ı, u, o (เสียงตามตัว IPA เป็น /a/, /ɯ/, /u/, /o/)
อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ในรุ่นหลังปฏิเสธแนวคิดเรื่องตระกูลภาษาอัลไต และแยกกลุ่มภาษาทั้งสี่กลุ่ม (ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกล เตอร์กิก) ออกจากกันชัดเจน
ภาษามองโกเลียใช้อักษรหลายแบบ แต่อักษรแบบที่เจอได้บ่อยที่สุดในภาษานี้ มี 3 แบบ ได้แก่ อักษรมองโกเลีย อักษรโรมัน และอักษรซีริลลิก
ภาษามองโกเลียในสมัยโบราณจะใช้อักษรมองโกเลีย (Mongolian script / Монгол бичиг) ที่บางครั้งเรียกว่าอักษรพื้นเมืองมองโกเลีย (Traditional Mongolian script) หรืออักษรมองโกเลียดั้งเดิม (Classical Mongolian script) เป็นระบบการเขียนหลัก ประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ.1204 ภายใต้คำบัญชาของเจงกีสข่าน (Genghis Khan) ผู้ปกครองมองโกล มีต้นแบบจากอักษรอุยกูร์เก่า (Old Uyghur alphabet) ซึ่งภาษามองโกเลียมาตรฐานปัจจุบันในประเทศมองโกเลียจะไม่ค่อยใช้ แต่ยังคงใช้กับภาษามองโกเลียในประเทศจีน
อักษรมองโกเลียจะมีลักษณะการเขียนโดยมีเส้นแกนกลางในแนวดิ่ง แล้วเติมพยัญชนะหรือสระปรากฏเป็นรายละเอียดต่าง ๆ (เช่น รูปตะขอ) บนเส้นแกนกลาง เรียงลำดับทั้งพยัญชนะ สระจากด้านบนลงด้านล่าง
อักษรโรมันเคยนำมาใช้ในภาษามองโกเลียช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 เมื่อมองโกเลียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้อักษรซีริลลิกในปี ค.ศ.1941 ในปัจจุบันนี้ อักษรโรมันใช้ในการถอดเสียงภาษามองโกเลียที่ปรากฏตามชื่อต่าง ๆ (เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่) เพื่อให้คนต่างชาติออกเสียงภาษามองโกเลียง่ายขึ้น
อักษรซีริลลิกจากโซเวียตเริ่มเข้ามาใช้ในประเทศมองโกเลียช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 เมื่อครั้งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์และพันธมิตรกับอดีตสหภาพโซเวียต
ในช่วงการปฏิวัติประชาธิปไตยมองโกเลียเมื่อปี ค.ศ.1990 (ตรงกับช่วงท้ายสงครามเย็น) มีกระแสความต้องการนำอักษรมองโกเลียกลับมาใช้เป็นระบบการเขียนหลักในประเทศ ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 แต่ก็ประสบปัญหาต่าง ๆ จึงยกเลิกแผนไป จนในปี ค.ศ.2020 ทางรัฐบาลมองโกเลียประกาศส่งเสริมการใช้อักษรมองโกเลีย และวางแผนเริ่มใช้อักษรมองโกเลียคู่กับอักษรซีริลลิกตามเอกสารทางราชการ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2025
ภาษามองโกเลียและภาษาอื่นในกลุ่มภาษามองโกล มีประชากรผู้ใช้เป็นภาษาแม่ประมาณ 10 ล้านคน ใช้กันใน 3 ประเทศ ได้แก่
- ประเทศมองโกเลีย (อดีตดินแดน “มองโกเลียนอก” (Outer Mongolia) สมัยมองโกเลียทั้งหมดอยู่ใต้การปกครองของจีนช่วงราชวงศ์ชิง) มีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน
- ประเทศจีน : เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) และจังหวัดปกครองตนเองชนชาติมองโกล 4 แห่ง โดยทั่วประเทศจีนนั้น มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลประมาณ 6 ล้านคน (ในจำนวนนี้ อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในมากกว่า 4 ล้านคน)
- ประเทศรัสเซีย : มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในสาธารณรัฐคัลมืยคียา (Kalmykia) ทางภาคใต้ และสาธารณรัฐบูเรียตียา (Buryatia) ทางฝั่งตะวันออกไกล ติดชายแดนประเทศมองโกเลีย
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรคนใช้ภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษามองโกล ได้แก่ ภาษามองโกเลีย (พื้นที่สีเขียวอ่อน) ภาษาบูเรียต (สีส้มอ่อน) ภาษาออยรัต (สีน้ำตาล) และภาษาคัลมิก (สีส้มคล้ำ) [Credit แผนที่ : Dr. phil. İhsan Yılmaz Bayraktarlı และ Maximilian Dörrbecker]
ดังนั้น ภาษามองโกเลียจึงใช้เป็นภาษาทางราชการในประเทศมองโกเลียและเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน (กรณีหลังจะใช้เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาจีนกลาง) แต่ภาษามองโกเลียในสองประเทศนี้จะมีภาษามาตรฐานและระบบการเขียนแตกต่างกัน
- ภาษามองโกเลียในประเทศมองโกเลีย: ใช้อักษรซีริลลิกในการเขียน (อักษรแบบเดียวกับที่ใช้ในภาษารัสเซีย ยูเครน เซอร์เบีย และบัลแกเรีย) ซึ่งมองโกเลียรับมาจากรัสเซีย และอ้างอิงภาษามาตรฐานจากภาษามองโกเลียสำเนียงคัลคะ (Khalkha Mongolian / Халх аялгуу) ที่ใช้สื่อสารของชาวมองโกลกลุ่มคัลคะ (Khalkha Mongols / Халх) ซึ่งเป็นกลุ่มชนในกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมองโกเลีย ถือเป็นกลุ่มชนที่มีประชากรมากกว่า 90% ของประชากรประเทศมองโกเลีย
แผนที่แสดงพื้นที่ประเทศมองโกเลีย ที่ใช้อักษรซีริลลิกในการเขียน และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ของประเทศจีนที่ใช้อักษรมองโกเลียในการเขียน พร้อมยกตัวอย่างคำในภาษามองโกเลียที่มีลักษณะแตกต่างกัน หากเขียนด้วยอักษรต่างแบบกัน [Credit แผนที่ : AFP]
- ภาษามองโกเลียในประเทศจีน (เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน): ใช้อักษรมองโกเลียในการเขียน และอ้างอิงภาษามาตรฐานจากภาษามองโกเลียสำเนียงสะฮาร์ (Chakhar Mongolian) ซึ่งเป็นภาษามองโกเลียสำเนียงที่ใช้กันบริเวณตอนกลางของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
แต่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงหลังเริ่มมีนโยบายสำหรับเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เพื่อส่งเสริมให้ใช้ภาษาจีนกลางมากขึ้น ลดบทบาทภาษามองโกเลียลง ด้วยการยกเลิกการใช้ภาษามองโกเลียตามตำราหลักสูตรการศึกษาส่วนหนึ่งไปใช้ภาษาจีนกลางแทน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเกิดการประท้วงในเขตปกครองตนเองเมื่อปี ค.ศ.2020 (เช่นเดียวกับการประท้วงในเมืองกว่างโจวและฮ่องกงเรื่องการลดบทบาทภาษากวางตุ้ง เมื่อปี ค.ศ.2010)
กลุ่มผู้ประท้วงชาวมองโกเลียที่จัตุรัสซุคบาตาร์ กรุงอูลานบาตาร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลียที่คัดค้านนโยบายลดการใช้งานภาษามองโกเลียตามหลักสูตรการศึกษา ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของประเทศจีน เนื่องด้วยโอกาสที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนเดินทางเยือนประเทศมองโกเลีย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2020 [Credit ภาพ : REUTERS/B. Rentsendorj]
ขณะที่สำเนียงพูดภาษามองโกลของกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลกลุ่มอื่นในจีน (อย่างชาวออยรัต) และรัสเซีย (ชาวบูเรียตหรือชาวคัลมิก) จะเป็นสำเนียงที่แตกต่างออกไปจากภาษามองโกเลียมาตรฐานในประเทศจีนและประเทศมองโกเลีย
คำศัพท์ของภาษามองโกเลียมาตรฐานในประเทศมองโกเลีย (สำเนียงคัลคะ) จะมีคำที่มาจากหลายแหล่ง ได้แก่
- คำมองโกลพื้นฐาน มักจะเกี่ยวกับวิถีชีวิตชนเร่ร่อน และมีมาตั้งแต่ช่วงที่จักรวรรดิมองโกลเริ่มเรืองอำนาจ
- คำทางศาสนา มักเป็นคำยืมจากภาษาทิเบตและภาษาสันสกฤต มากับศาสนาพุทธแบบทิเบตที่เข้ามายังมองโกเลีย
- คำยืมจากภาษาแมนจูและภาษาจีนกลางที่ภาษามองโกเลียรับเข้ามา ในช่วงที่มองโกเลียตกอยู่ใต้การปกครองของจีน ช่วงราชวงศ์ชิง (แมนจู)
- คำศัพท์เฉพาะทางและคำทางการเมือง ที่ได้อิทธิพลจากภาษารัสเซีย ในช่วงที่มองโกเลียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ (ค.ศ.1924 – 1992)
- คำยืมจากภาษาอังกฤษ
ตัวอย่างของไวยากรณ์ที่พบในภาษามองโกเลีย ได้แก่
1) โครงสร้างการเรียงคำในประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ซึ่งได้ยกตัวอย่างโครงสร้างประโยคไปแล้ว ตอนเปรียบเทียบกับภาษามองโกเลีย-ภาษาตุรกี-ภาษาญี่ปุ่น-ภาษาเกาหลี ในช่วงต้นบทความ
2) มีลักษณะเป็น “ภาษาคำติดต่อ” (Agglutinative language) ตรงที่หน่วยคำไม่สามารถอยู่โดด ๆ ได้แบบภาษาไทย แต่ต้องเติมหน่วยเติมต่อท้าย ซึ่งมีหลายแบบ ได้แก่
2.1 “คำชี้/คำช่วย” ไว้คอยบอกว่าหน่วยคำแต่ละหน่วย ที่คำชี้/คำช่วยอยู่ข้างหลังนั้นทำหน้าที่อะไร (ประธาน หัวข้อ กรรม หรือสถานที่ เป็นต้น)
- คำตัวอย่าง : ном (Nom) = หนังสือ
2.2 การผันคำที่ท้ายรากคำกริยา (Inflection) โดยไม่ค่อยเปลี่ยนรูปรากคำ (word stem) ที่ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น การผันคำตามกาล (Tense) การผันคำตามมาลา (Mood : บอกสถานการณ์หรืออารมณ์ที่ผู้กล่าวประโยคนั้นใช้ เช่น คำถาม ปฏิเสธ ชักชวน)
- คำกริยาตัวอย่าง : унших (Unshih) = อ่าน
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของภาษามองโกเลีย ทั้งเรื่องกลุ่มภาษากับตระกูลภาษาที่เกี่ยวกับภาษามองโกเลีย อักษรพบบ่อยในภาษามองโกเลีย (อักษรมองโกเลีย อักษรโรมันและอักษรซีริลลิก) ประชากรคนใช้ภาษามองโกเลีย ภาษามองโกเลียมาตรฐาน (ในพื้นที่ประเทศมองโกเลียกับประเทศจีน) คำศัพท์ในภาษามองโกเลียมาตรฐานฝั่งประเทศมองโกเลีย ไปจนถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษามองโกเลีย ผมก็หวังว่าเนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้คนที่ไม่รู้จักภาษามองโกเลียมาก่อนได้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ
สำหรับท่านใดสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในบล็อกนี้ตอนก่อนหน้า สามารถดูได้จากซีรีส์ “ภาษาในเอเชียตะวันออก” ได้ที่นี่ครับ https://www.blockdit.com/series/601446b96bd37c0ba4b34fb0
[ที่มาของข้อมูล]
- Mongolian : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
- Alan J. K. Sanders, Jantsangiin Bat-Ireedüi. Colloquial Mongolian. Oxfordshire, UK: Routledge; 2015.
- (ตัวอย่างการผันคำกริยา จากบทความภาษามองโกเลีย)
โฆษณา