7 ก.พ. 2021 เวลา 12:14 • ธุรกิจ
แมว ‘ทามะ’ กับภาระกิจกู้ชีวิตทางรถไฟที่ใกล้ล่มสลาย - Kishigawa Railway
ช่วงประมาณกลางปี 2000’s รถไฟสาย Kishigawa ของ Wakayama Electric Railway กำลังประสบปัญหาครั้งยิ่งใหญ่
รายได้ที่ตกต่ำที่มาพร้อมกับจำนวนผู้โดยสารที่แทบนับนิ้วได้ในแต่ละเที่ยว บริษัทตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจนเกือบเลิกกิจการ ทางรถไฟระยะทางกว่า 14 กิโลเมตรนี้คือทางรถไฟสายเก่าแก่สายหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1916 แล้ว แต่มาถึงยุคที่ตกต่ำที่สุดในปี 2006 ทั้ง 14 สถานีไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการเลยตลอดทั้งสาย ตอนนั้นผู้บริหารของบริษัทต้องออกมากล่าวแถลงว่าอาจจะต้องปิดเส้นทางเดินรถไฟในพื้นที่ Wakayama ทั้งหมด
ทุกอย่างเหมือนว่ากำลังจะจบลงอย่างไร้ความหวัง, จนกระทั่งแมวจรตัวหนึ่งชื่อว่า “Tama” (ทามะ) ก็ปรากฎตัวขึ้นที่ Kishi Station ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของ Kishigawa Railway ที่กำลังจะไปแหล่ไม่ไปแหล่ ด้วยความน่ารัก ขี้เล่น และขึ้นกล้องของเจ้าทามะ ทำให้เริ่มมีผู้โดยสารกลายเป็นแฟนคลับมาถ่ายรูป ผู้คนที่อาศัยอยู่แถวนั้นก็เร่ิมตกหลุมรักน้องแมวขน 3 สีตัวนี้เข้าอย่างจัง กลายเป็นว่าผู้โดยสารเริ่มเชื่อมโยงเจ้าทามะเข้ากับรถไฟสายนี้ นักท่องเที่ยวหลายคนถึงขนาดลงทุนเดินทางมาเพื่อดูเจ้าทามะโดยเฉพาะ มันแวะเวียนมาที่สถานีอยู่เป็นประจำจนคนเริ่มเรียกมันว่านายสถานีรถไฟ หรือ “Stationmaster” เลยทีเดียว
ความนิยมของเจ้าเหมียวทามะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง Mitsunobu Kojima ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ดูแล Kishigawa Railway เริ่มอยากเห็นด้วยตัวเองว่าเจ้าแมวตัวนี้มันน่ารักขนาดไหนกัน ทั้งที่เขาเป็นคนรักหมา (dog person) แต่เมื่อเห็นเจ้าทามะเท่านั้นแหละ กลายเป็นตกหลุมรักไปด้วยอีกคน ถึงขั้นขอเอามาเลี้ยงดูแล ออเดอร์หมวกนายสถานีขนาดจิ๋วให้ใส่ และแต่งตั้งทามะว่าเป็น “The Stationmaster of Kishi Station” จริงๆเลยทีเดียว
ซึ่งทำทามะเป็นแมวตัวแรกของนายสถานีในญี่ปุ่น, โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าการกระทำครั้งนี้จะเป็นการพลิกสถานการณ์ของทางรถไฟที่กำลังจะปิดตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
ทามะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ Kishi Station, มีรายการทีวีออกมาสัมภาษณ์มากมาย กลายเป็นนายแบบโฆษณา อยู่บนหน้าของแผ่นพับ ใบโปรโมทของบริษัท เรียกว่าโด่งดังเป็นพลุแตกเลยทีเดียว ทามะกลายมาเป็นแมวประจำสถานี คอยทักทายผู้โดยสาร บูทขายตั๋วก็ถูกตบแต่งให้เป็นตีมแมวเหมียว มีร้านขายของที่ระลึก ทั้งขนม ลูกอม พวงกุญแจ และของเล็กๆน้อยๆที่ล่อตาล่อใจมากมาย รูปของเจ้าทามะถูกแขวนไว้ที่สถานีอย่างสวยงาม ผู้โดยสารมากมายแห่แหนกันมาที่สถานีแห่งนี้เพื่อที่จะมาเยี่ยมเจ้าทามะ สร้างรายได้มากมายให้กับทางรถไฟที่กำลังจะล้มแห่งนี้ ยอดขายของสินค้าท้องถิ่นก็กระเตื้องขึ้นไปด้วย ภายในปี 2007 เพียงแค่ปีเดียว การมีทามะอยู่ที่สถานีสามารถนำนักท่องเที่ยวมาได้กว่า 55,000 คน และระหว่าง 2007 - 2015 ประมาณ 3 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 1,100 ล้านเยน (ประมาณ 315 ล้านบาท)
แน่นอนว่าข่าวที่น่าเศร้าก็คือเจ้าเหมียวทามะนั้นจากไปเมื่อปี 2015 (เทียบกับอายุคนก็เกือบ 80 ไปแล้วในตอนนั้น)​ มีน้องเหมียวตัวอื่นมารับหน้าที่นายสถานีรถไฟต่อ โดยมีชื่อคล้องหลังว่า “tama” ทุกตัว
จากแมวจรจัด กลายเป็นมาสคอต กลายเป็นนายสถานีรถไฟ และในที่สุดเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังสำหรับชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น เส้นทางเดินรถไฟสายนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Tamaden Railway เพื่อให้เกียรติกับนายสถานีรถไฟแมวเหมียวตัวนี้
มีบทเรียนหลายอย่างในเรื่องราวของเจ้าเหมียวทามะ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการทำ storytelling ที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกของผู้รับสาร Gerald Zaltman ศาสตราจารย์ภาควิชาธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Harvard เชื่อว่า 95% ของการตัดสินใจของมนุษย์นั้นอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ในส่วนที่ลึกลงไปที่ควบคุมด้วยอารมณ์และความรู้สึก การสำรวจจากหลายๆบริษัทที่ทำการตลาดและโฆษณาต่างก็เห็นตรงกันว่าความรู้สึกนั้นเป็นส่วนสำคัญที่โน้มน้าวพฤติกรรมของลูกค้า และทางด้านวิทยาศาสตร์เมื่อมีการแสกนสมองด้วยวิธี MRIs ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าเราตัดสินแบรนด์ต่างๆด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เราตอบสนองต่อโฆษณาที่ดึงดูดอารมณ์ให้คล้อยตาม มากกว่าที่เป็นโฆษณาที่เต็มไปด้วยข้อมูลเยอะๆ แบรนด์ที่เป็นที่ชื่นชอบจะช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาล เจ้าเหมียวทามะเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จากเหมียวข้างถนนเป็นนายสถานีรถไฟแมวเหมียวไปกระตุ้นความรู้สึกรักและเอ็นดูแบรนด์นี้อย่างไม่รู้ตัว เป็นความรู้สึกที่อยากจะเข้าไปช่วยเหลือและดูแล ที่เปลี่ยนมาเป็นรายได้มหาศาลในโลกธุรกิจ
นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเพราะอยากจะมาเที่ยวเมืองห่างไกลที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอะไร แต่พวกเขาอยากมาเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเหมียวทามะ อยากแสดงให้โลกเห็นว่าฉันมาหานายสถานีรถไฟแมวเหมียวแล้วนะ
เรื่องราวของเจ้าเหมียวโทมะแสดงให้เห็นว่าการตลาดที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสินค้าหรือบริการ (เพราะที่จริงสินค้าก็ยังเป็นรถไฟและของชำร่วย) แต่มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ผู้ซื้อได้รับซะมากกว่า
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือว่าเราควรหาโอกาสที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยการสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับพวกเขา ใส่ความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกเข้าไปในการเล่าเรื่องราว สร้างแบรนด์ที่มีการเข้าถึงได้และ likeable
"รู้ทันการตลาด เพิ่มโอกาสธุรกิจ" อย่าลืมกดติดตาม กด Like กด Share "#ใดใดในโลกล้วนคือการตลาด" ไว้ด้วยนะครับ
.
ต่ายและทีมงานจะมาแนะนำสาระ ความรู้ เกี่ยวกับการตลาดมาแบ่งปันให้อีกเร็วๆนี้ครับผม
.
กด See First ติดตามคอนเทนต์ใหม่ๆจากเราได้ที่ Facebook : ใดใดในโลกล้วนคือการตลาด
.
.
#ใดใดในโลกล้วนคือการตลาด #MarketingJinglebells
========
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา