10 ก.พ. 2021 เวลา 08:46 • การศึกษา
“การกดดันตัวเอง”
จะทำอย่างไร เมื่อรับรู้ว่า “เผลอกดดันตัวเอง”
บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่าน
มาทำความเข้าใจในเรื่องของ
“การกดดันตัวเอง”
ซึ่งสามารถสร้างความตึงเครียด
รวมทั้งความอึดอัดกดดัน
ให้เกิดขึ้นกับชีวิตจิตใจของมนุษย์
เหตุใดจึงเกิดประสบการณ์เช่นนี้ขึ้น
แล้วผลจากความกดดันเหล่านี้
จะนำไปสู่สิ่งใดได้บ้าง
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
การตั้งเป้าหมายให้กับชีวิตตนเองนั้น
คล้ายกับการวาดแผนที่สำหรับเดินทาง
ว่าเราจะไปที่ใดบ้าง
เราจะแวะพักที่ไหนบ้าง
มีจุดไหนที่พึงหลีกเลี่ยง
มีสิ่งไหนที่ควรงดเว้น
รวมทั้งยังเป็นการกำหนดเวลาเดินทาง
“จะไปให้ถึงจุดหมายเมื่อใด”
จุดหมายของแต่ละคน
จึงขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่
ความรับผิดชอบที่มี
และความตั้งใจ
ความกดดันจะเข้ามาเยือนทันที
หากเราตั้งเป้าหมาย
หรือ ถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบ
“ในสิ่งที่หนักเกินกว่าจะแบกรับไว้คนเดียว”
เช่น
-ให้เวลาตัวเองน้อยเกินไป
-งานนั้นใหญ่เกินกำลัง
-ความรู้ที่มีไม่เพียงพอ
ฯลฯ
“ความกดดัน”
จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือน
ที่เข้ามาให้เรารู้ว่า
“มีกำแพงสูงใหญ่...กีดขวางเส้นทางชีวิตอยู่เบื้องหน้า”
ด้วยเหตุนี้
ชีวิตจึงเข้าสู่ฤดูกาลแห่งความดิ้นรน
ทั้งการพยายามยิ่งขึ้น
การขอความช่วยเหลือ
หรือแม้กระทั่ง การยอมจำนน
“เพื่อเป็นอิสระจากความกดดันที่ต้องแบกรับ”
หากเดินทางชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง
และพึ่งค้นพบว่า
“ไม่ว่าตนเองจะทำสิ่งไหน...ก็ชอบเผลอกดดันตัวเอง”
แล้วก็มักจะมีความปั่นป่วนอยู่ลึก ๆ ในใจ เช่น...
-กลัวจะทำไม่สำเร็จ
-กังวลเรื่องความล้มเหลว
-โหยหาเพียงแต่ชัยชนะ
-หวั่นเกรงสายตาจากผู้อื่น
-ตัดสินก่นด่าตัวเองไม่จบสิน
“กลับต้องรู้สึกถึงความกดดันแบบนี้ตลอดเลย”
นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า
เราถูกนิสัยแห่งความกดดันครอบงำ
และเผลอสร้างความคุ้นชินให้กดดันตนเองเสียแล้ว
“หากมองความกดดันอย่างผิวเผิน”
ประสบการณ์เช่นนี้
มุมหนึ่งก็อาจมีประโยชน์
เช่น เป็นแรงกระตุ้น และเป็นแรงผลักดัน
“แต่หากมองความกดดันอย่างลึกซึ้งรอบด้าน”
ในอีกมุมหนึ่งก็แฝงไปด้วยพิษร้าย
เช่น บีบคั้นชีวิตจิตใจ และทำร้ายตัวเองทางอ้อม
การสะสมความกดดัน
และความตึงเครียดโดยไม่ได้รับการดูแล
จึงมักต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายมากมาย...
-ปัญหาสุขภาพกาย ที่ถูกรุมเร้าด้วยสภาวะตึงเครียด
-ปัญหาสุขภาพใจ ที่ถูกเสียบแทงด้วยความกดดัน
-ปัญหาสัมพันธภาพ ที่ถูกความหนักหน่วงของชีวิตรบกวน
-ปัญหาการงาน ที่โดนความเหนื่อยล้าเล่นงานจนหมดสภาพ
“สร้างรอยร้าวให้กับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต”
การยกย่องความกดดัน
การเชิดชูความตึงเครียด
“ให้เป็นตัวแทนของสิ่งกระตุ้นความสำเร็จ”
สามารถใช้ได้ในบางขอบเขตของชีวิต
แต่หากเราใช้มากจนเกินเลย
หรือ เผลอใช้อย่างประมาท
ในท้ายที่สุด
เราย่อมต้องโดนสิ่งที่เชิดชูเหล่านั้นหล่นทับใส่
สิ่งที่น่าตั้งคำถามและสำรวจต่อไปก็คือ
“จะเป็นไปได้ไหม....ในการอยู่กับสิ่งที่เข้ามาท้ามาย...โดยไม่กดดัน”
เราอาจเริ่มจาก
รากฐานแห่งความกดดันที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ
นั่นคือ “ความคาดหวัง”
เช่น
-อยากให้งานออกมาดีที่สุด
-ต้องทำให้เสร็จทันเวลา
-ไม่อยากให้มีข้อผิดพลาด
-ทุกอย่างต้องอยู่ในการควบคุม
-ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามแผน
ฯลฯ
ด้วยสัมภาระมากมายเช่นนี้
ย่อมสามารถทำให้เรากดดันได้อย่างง่ายดาย
เนื่องจากความคิด ข้อสรุป
และกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้
“ล้วนสวนทางกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต”
แล้วสวนทางได้อย่างไร ?
“นั่นก็เพราะ...ความจริงนั้นยิ่งใหญ่กว่า...ความคิดในใจ”
ความจริงอันยิ่งใหญ่นี้
หมายถึง
“ทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้”
และอาจยิ่งใหญ่กว่าแผนการที่เตรียมเอาไว้
แต่ด้วยคุณภาพของจิตใจ
ที่ถูกคุมขังไว้ในกรงของความคิดแคบ ๆ
ย่อมสร้างความมืดบอดทางใจไปชั่วคราว
จนหลงลืมความจริงพื้นฐานของชีวิต
“นั่นคือ...การปรับตัวเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลง”
เมื่อหลงลืมไปเสียแล้ว
อาจทำให้เผลอคิดไปเองว่า
“ตนเองสามารถเอาชนะความจริงได้ทุกอย่าง”
และมองเห็นความจริงที่ไม่ตรงตามใจเหมือนเป็นศัตรู
จึงส่งผลให้เกิดความกดดัน ความขัดแย้ง
และพร้อมสู้รบกับความจริงอย่างหน้ามืดตามัว
“เป็นใจที่พร้อมฟาดฟันความจริง...พร้อมฉุดดึงทุกสิ่งให้ได้ตามแผน”
คำถามที่ตามมาก็คือ
“มีสิ่งเหล่านี้ก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ...จะได้เอาไว้เตือนใจไม่ให้เอื่อยเฉื่อย”
นี่คือตัวอย่างของรากฐานความเข้าใจอันคับแคบ
ที่มักทำให้เรามองโลกแบบคู่ตรงข้าม
เช่น
-ขยัน กับ ขี้เกียจ
-สู้ กับ หนี
-แอคทีฟ กับ อืดอาด
“ถ้าไม่มีการกดดัน...ถ้าไม่มีความเครียด...ก็ต้องเป็นความไร้เรี่ยวแรง”
ด้วยเมฆหมอกแห่งความรู้ซึ่งไม่ได้มองอย่างรอบด้าน
ด้วยการรีบเชื่อโดยไม่ได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง
และด้วยการด่วนสรุปโดยใช้ความรู้ในโลกยุคแห่งความเร็ว เช่นนี้
อาจทำให้เราหลงลืมสิ่งที่เรียบง่ายไป
สิ่งนั้นก็คือ “ความผ่อนคลาย”
ข้อคำถามต่อจากนี้
ผมตั้งใจเขียนเพื่อให้ท่านผู้อ่าน
ได้ท้าทายตัวความเชื่อที่มักบีบให้ท่านต้องคอยกดดันตัวเอง
และให้ท่านได้ลองหันกลับมามองชีวิตจิตใจของตนเอง
“อย่างละเอียดอ่อนอีกครั้ง”
ท่านเคยสังเกต “ประสบการณ์บางอย่าง” ผ่านสิ่งเหล่านี้บ้างไหม...
-ในโมงยามที่ท่านเฝ้ารอชมความงามของตะวันยามเช้า
-ในเวลาที่ท่านเดินชมธรรมชาติด้วยใจอันเปิดกว้าง
-ในสถานที่ซึ่งท่านอยู่กับคนรักจนลืมเวลา
-ในการงานที่ท่านทำด้วยความใส่ใจจนสิ่งรอบตัวมลายหายไป
-ในการสร้างสรรค์บางสิ่งที่ท่านลงมือด้วยสภาวะของใจอันลื่นไหล
-ในยามที่ท่านสบตากับเด็กน้อยจนแลเห็นความน่าเอ็นดู
-ในจังหวะที่ท่านร่วมยินดีกับมิตรสหายหรือใครก็ตามอย่างอิ่มเอม
-ในวันที่ท่านปล่อยวางความคับแค้นและยอมให้อภัย
-ในห้วงขณะที่ท่านยอมรับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
-ในเสี้ยววินาทีที่ท่านตัดใจจากใครสักคนเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
“ท่านเห็นอะไรที่คล้ายกันบ้าง?”
หากเราสังเกตด้วยใจอันอ่อนโยน
เราจะค้นพบสิ่งที่มีร่วมกัน นั่นคือ
“ใจที่กลมกลืนไปกับความจริง”
-ใจที่ไม่แบ่งแยก
-ใจที่ไม่ยกตัวเองให้เหนือกว่าผู้อื่น
-ใจที่อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มที่
-ใจที่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์ตายตัวให้กับความเป็นจริง
-ใจที่ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
-ใจที่ยินดีกับสิ่งตรงหน้าอย่างนอบน้อม
-ใจที่มอบหัวใจทั้งหมดให้กับสิ่งที่กำลังทำ
-ใจที่อ่อนโยนและปราศจากความรุนแรง
“ใจที่อยู่กับความเป็นจริงของชีวิต”
ด้วยคุณภาพของจิตใจเช่นนี้
ย่อมเป็นการตัดเชื้อไฟแห่งความกดดัน
ย่อมเป็นการตัดรากถอนโคนนิสัยที่ชอบตั้งเงื่อนไขให้สิ่งต่าง ๆ
ดังนั้น
หากเราดูแลใจตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ
โดยหมั่นรดน้ำและบำรุง
“ปัจจัยสำหรับการอยู่กับความจริง...โดยไม่ต่อต้าน”
เมล็ดพันธุ์แห่งความกดดันที่แอบซ่อนเร้นอยู่
นิสัยที่ชอบปฏิเสธความจริงซึ่งปิดบังอำพรางเอาไว้
ย่อมถูกลดอานุภาพลงไปทีละน้อย
แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถอยู่กับความเป็นจริงได้อย่างกลมกลืน
“ความเบาสบาย / ความเรียบง่าย / ความผ่อนคลาย / ความสุขสงบ...ย่อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”
เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เรามักเริ่มสิ่งต่างๆ...
“ด้วยความหนักใจ / ด้วยความยุ่งยาก / ด้วยความกดดัน / ด้วยความตึงเครียด...ซึ่งมักเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ”
ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเช่นนี้
เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้
ด้วยการหมั่นดูแล ฝึกฝน
และขัดเกลาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้
เมื่อเราไม่จำเป็นต้องเริ่มสิ่งต่าง ๆ...
ด้วยเชื้อไฟแห่งความกดดัน
และด้วยความคุ้นชินที่ชอบสู้รบกับความจริง
ชีวิตจิตใจของเราย่อมมีพื้นที่ว่างมากยิ่งขึ้น
ให้กับความสุขที่ละเอียดอ่อน และสงบยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งเอื้อเฟื้อให้เราเข้าถึงสมรรถนะมากมาย
“ที่มีติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด...แต่เรากลับหลงลืมไป”
เริ่มตั้งแต่ความรู้ตัว ความใส่ใจ
ความอ่อนโยน สภาวะจิตใจอันมั่นคง
และ ความเข้าใจอันกระจ่างชัด
“ที่ทำให้เราพร้อมอยู่กับทุกฤดูกาลของชีวิต”
ใช้ชีวิตไปกับความเปลี่ยนแปลง...ด้วยใจที่พร้อมเปลี่ยนแปลง
“อยู่กับความจริงอย่างเป็นมิตร...มิใช่อยู่กับความจริงอย่างเป็นศัตรู”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา