2 ก.พ. 2021 เวลา 11:03 • การศึกษา
“การให้ความช่วยเหลือ...เพื่อหลบหนีแผลใจตนเอง”
การช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ แตกต่างจาก การพยายามช่วยเพื่อหลบหนีแผลใจตนเอง
บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่าน
มาทำความเข้าใจในเรื่องของ
“การให้ความช่วยเหลือ”
ซึ่งมีทั้งการให้ความช่วยเหลือ
ที่สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้รับความช่วยเหลือ
และยังมีการช่วยเหลืออีกแบบหนึ่ง
ที่เป็นไปเพื่อลดความไม่สบายใจของตัวเองลง
(ถ้าไม่ได้ช่วยจะรู้สึกแย่...ถ้าได้ช่วยจะรู้สึกโล่งใจ)
ทั้งสองอย่างนี้นั้นมีที่มาแตกต่างกัน และให้ผลที่ต่างกัน
แล้วอะไรทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องนี้
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
การให้ความช่วยเหลือผ่านความเข้าใจ
ล้วนเริ่มมาจาก
“การสังเกต”
ซึ่งเป็นความใส่ใจที่จะเข้าไปเชื่อมโยงถึงความรู้สึก
และความต้องการของใครสักคน
เมื่อสามารถรับรู้ได้แล้ว
ก็จะสามารถกลับมาทบทวนตัวเองได้ว่า
“พร้อมให้ความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด”
หรือแม้กระทั่งการติดต่อผู้อื่นที่เชี่ยวชาญกว่า
ด้วยกระบวนการที่ชัดเจนซื่อตรง
และ ไม่หวังผลใด ๆ เช่นนี้
การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลก็จะเป็นไปอย่างพอดี
ไม่ขาด ไม่เกิน
“ลงตัว”
ซึ่งเป็นการช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน
ไม่แอบซ่อนเงื่อนไขใด ๆ ไว้เบื้องหลัง
“ช่วย เพื่อ ช่วย”
ภาวะจิตใจที่ดำเนินไปด้วยความสงบเช่นนี้
จึงสร้างประโยชน์อย่างยิ่ง
คล้ายกับการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ใครสักคนได้หยุดพัก
เป็นร่มเงาให้ใครสักคนได้สัมผัสความสงบเย็น
“แล้วเมื่อจังหวะเวลาแห่งการช่วยเหลือสิ้นสุดลง”
ต่างคนก็แยกย้ายไปใช้ชีวิต
เดินตามเส้นทางของตัวเอง
“ด้วยหัวใจที่เป็นอิสระ”
แล้วหากในวันหนึ่งอาจพบพานกันอีก
หรือได้พึ่งพาอาศัยกันอีกครั้ง
นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต
ส่วนการพยายามช่วยเพื่อหลบหนีแผลใจตนเอง
นั้นมีท่าทีแห่งการเกื้อกูล
แต่มักถูกเจือปนด้วยประสบการณ์มากมาย เช่น
-ความเจ็บปวด
-ความกลัว
-ความทรมาน
-ความปั่นป่วนว้าวุ่น
“ทุกประสบการณ์ของความไม่สงบทางใจ”
ด้วยความปั่นป่วนลักษณะนี้
สายตาแห่งการสังเกตจึงถูกจำกัดลง
“มองผู้อื่นเล็กน้อย...มองหาวิธีลดความทุกข์ของตัวเองมากกว่า”
เมื่อมีทั้งความอยากช่วยเหลือผู้อื่น
และการอยากกำจัดความทุกข์ในใจตนเองขึ้นมา
“ความสับสนย่อมมาเยือน”
ใจที่สับสนนั้น
ย่อมสูญเสียศักยภาพแห่งความเข้าใจผู้อื่นไป
ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างผู้อื่นขาดสะบั้นลง
ทำให้การรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นเสื่อมถอย
ทำให้การเห็นความต้องการของผู้อื่นถูกปิดกั้น
“แล้วในขณะเดียวกัน”
ก็พยายามดิ้นรนหาวิธีเพื่อให้ตัวเอง
ได้หลุดพ้นออกจากความไม่สบายใจที่ก่อตัวขึ้น
เมื่อไม่สามารถรับรู้ความต้องการของผู้อื่นได้อย่างกระจ่างชัด
แถมยังแอบซ่อนความอยากเป็นทุกข์น้อยลงเอาไว้
“การใช้ผู้อื่น...เพื่อเป็นสะพานไปสู่ความสบายใจจึงเริ่มขึ้น”
ถึงจุดนี้
เราอาจมองเห็นได้จากเหตุการณ์มากมาย
-ทั้งการให้แบบยัดเยียด (บังคับให้เค้ารับ เพราะกลัวตัวเองเสียความรู้สึก)
-การให้คำแนะนำโดยไม่สนใจผู้ฟัง (จะได้รู้สึกว่า ตัวเองมีส่วนช่วยแก้ปัญหา)
-การห้ามคนที่กำลังจะร้องไห้ (บอกให้เค้าเข้มแข็ง เพื่อไม่ทำให้ตัวเองร้องตาม)
-การช่วยทั้ง ๆ ที่ผู้อื่นไม่ต้องการ (ถ้าได้ช่วย จะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วย)
“ทั้งหมดนี้...เป็นการบีบคั้นผู้รับความช่วยเหลือ”
เป็นการสร้างความพึงพอใจให้ตนเอง
และเป็นการนำมาซึ่งความโล่งใจส่วนตัว
โดยแลกมากับการครอบงำผู้อื่น
“ผ่านคำว่า...การให้ความช่วยเหลือ”
บางครั้งของชีวิตมนุษย์
ก็สามารถตกหลุมพรางได้
“ผ่านการมองเห็นความทุกข์ในชีวิตผู้อื่น”
เช่น
การรับรู้ถึงความอ่อนแอในคนใกล้ชิด
การสัมผัสถึงความปวดร้าวในใจผู้คน
การเห็นความสูญเสียของเพื่อนพ้อง
“ซึ่งอาจสะท้อน...ถึงรอยบาดแผลในใจเหล่านั้นของตัวเอง”
แล้วด้วยความไม่เท่าทัน
แทนที่จะสังเกตชีวิตจิตใจตนเอง
เพื่อรับรู้ ทำความเข้าใจ
และหาทางเยียวยาอย่างถูกต้อง
แต่กลับเลือกที่จะผลักไสความทุกข์นั้นให้พ้นไป
โดยอาศัยการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ มากมาย
มาเป็นเกราะกำบัง / มาเป็นฉากบังหน้า
“แต่ยิ่งช่วยเท่าไหร่...ตนเองกลับไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเสียที”
เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความทุกข์ของผู้คน
หรือ รับรู้ถึงเสียงขอความช่วยเหลือ
“พึงสังเกตจิตใจตนเอง...ว่ามีสิ่งใดเจือปนหรือไม่”
หรือ เรากำลังใช้การให้ความช่วยเหลือเหล่านั้น
เพียงเพื่อลดความไม่สบายใจของตนเองหรือไม่
ดังนั้น
การให้ความช่วยเหลือที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
เมื่อเราสามารถเป็นอิสระจากความต้องการที่แอบแฝง
“ไม่ถูกการหลบหนีความทุกข์กักขัง”
หากเราไม่ถูกจองจำด้วยการช่วยเหลือแบบหวังผล
เราย่อมสามารถเข้าถึงสายตาอันกระจ่างชัด
“สายตาที่เข้าถึงความจริงในใจของเพื่อนมนุษย์”
ในการเข้าไปเชื่อมโยง รับรู้
เพื่อสัมผัสถึงความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่น
“เมื่อนั้น...การให้อย่างตรงตามความต้องการย่อมเกิดขึ้น”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา