1 ก.พ. 2021 เวลา 08:35 • การศึกษา
การถูกภาพลักษณ์บังตา
เพราะอะไร มนุษย์ถึงโดน “ภาพลักษณ์บังตา”
บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่าน
มาทำความเข้าใจในเรื่องของ
“การถูกบังตา”
ไม่ว่าจะเป็น...
การโดนภาพลักษณ์ที่ดูดีหลอกเอาจนหัวทิ่ม
หรือ
จะถูกต้มจนเปื่อยด้วยการกระทำที่ช่างแสนดี
สิ่งใดที่ทำให้เราดูไม่ออกมองไม่ขาด
จนท้ายที่สุดกลับพาตัวเองไปตกหลุมพราง
“สร้างรอยบอบช้ำให้แก่ชีวิตจิตใจ”
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
ทุกการโดนหลอกลวงจะสำเร็จได้
ล้วนต้องเริ่มจาก...
“ใครคนนั้น...ต้องหลอกลวงตัวเองจนสำเร็จเสียก่อน”
ยกตัวอย่างจากเรื่องง่าย ๆ
อย่างการที่ใครสักคนถูกหลอกให้ลงทุน
ซึ่งตอนแรกก็ได้ผลตอบแทนดีอยู่
ต่อมาก็โดนชักจูงให้ลงทุนมากขึ้น
เพื่อจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเดิม
ทีนี้ พอถลุงเงินทุนมากกว่าเดิมเพื่อหวังรวยมากขึ้น
“แต่สุดท้ายดันโดนเชิดเงินหนีไปซะอย่างงั้น”
เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้
จึงมักเริ่มจากที่ใครคนนั้น
เผลอหลอกตัวเองตั้งแต่ต้นว่า
“ต้องมีธุรกิจซักอย่างที่ได้เงินง่าย ๆ...ยิ่งลงทุนมาก...ก็จะยิ่งรวยมาก”
ฝันร้ายจึงเริ่มต้นขึ้นจากตะกอนความคิดเล็ก ๆ เหล่านี้
กลับมาที่เรื่องของการถูกบังตาด้วยภาพลักษณ์
คำว่า “ภาพลักษณ์”
นั้นสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายที่สามารถสังเกตและรับรู้ได้ เช่น
-การแต่งตัว
-ท่าทาง
-ลักษณะการพูด
-ท่าทีในการดูแลเอาใจใส่
-สิ่งที่นำมาพูด
-พฤติกรรมแสดงออก
-วิธีคิดที่แสดงให้เห็น
“แล้วสิ่งเหล่านี้หลอกลวง หรือ บังตา ได้อย่างไร”
การที่ใครสักคนจะโดนภาพลวงเหล่านี้หลอกเอาได้
ล้วนต้องเริ่มจากภายในจิตใจ
ที่มีคำนิยามของภาพลักษณ์ซ่อนอยู่ เช่น
-ดี (คนที่ทำดีแบบนี้...เค้าไม่โกหกหรอก)
-เก่ง (คนมีความสามารถและคิดเก่งขนาดนี้...เค้ารู้จริงไม่หลอกลวง)
-บุคลิกดีมีระดับ (ว้าวว ดูดีจัง ดีต่อใจมาก...เค้าดูเป็นมืออาชีพที่น่าเชื่อถือ)
“เมื่อเผลอยึดคำยามเป็นแผนที่ชีวิต...ถ้าจังหวะเหมาะให้โดนหลอก...การหลอกลวงก็จะสำเร็จ”
เบื้องหลังของการหลอกลวงตัวเอง
จึงเป็นสิ่งที่แนบเนียนและซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้ง
ซึ่งเล่นงานชีวิตของมนุษย์ได้อย่างโหดร้ายทารุณ
บางครั้งก็ต้องเสียทรัพย์สิน
บางคราวก็ต้องมาเศร้าโศกเสียใจ
บางทีก็เล่นเอาปางตาย
หรือบางจังหวะก็ทำลายกันจนถึงชีวิต
ต้นตอแห่งความสูญเสียเหล่านี้
“เป็นการยึดติดในความคิด”
-สิ่งไหนดูดี = ความจริง
-สิ่งไหนดูไม่น่ามอง = หลอกลวง
แต่บางจังหวะของชีวิต
ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป
จนสุดท้ายจึงจบลงด้วยการถูกหลอก “จากสิ่งที่ดูดี”
หากเรามาพิจารณาถึงตัวความคิด
เราจะพบว่า
“ความคิดเป็นเหมือนม่านบังตาอย่างหนึ่ง”
มีพลังในการบิดเบือนความจริงอย่างสูง
เริ่มตั้งแต่
-การคิดบวกเพื่อหลอกตัวเอง
-การตีความว่ามีคนกำลังนินทา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
-คิดไปเองว่ามีคนมากดดัน แต่แท้จริงกลับเป็นการเผลอกดดันตัวเอง
-เผลอคิดไปว่ามีคนมาชอบ แต่ความจริงเค้าไม่ได้รู้สึกอะไรด้วยเลย
“เป็นการอยู่กับความคิด...ไม่ได้อยู่กับความจริง”
หากเราเผลอใช้ความคิดอย่างไม่ระมัดระวัง เช่นนี้
“ความคิดก็อาจทำร้ายเราได้”
ซึ่งไม่ต่างจากการใช้มีดหั่นเนื้อ
ที่เผลอใช้โดยไม่ทันระวังว่า
“จะหั่นโดนนิ้วตัวเอง”
ความคิดจึงมีพลังร้ายกาจอย่างยิ่ง
หากใครสักคนถูกความคิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์บังตาเสียแล้ว
ใครคนนั้นย่อมมองข้ามสัญญาณอันตราย
หรือ ละเลยคำเตือนที่ได้รับ
“ความคิดบังตา...จนเผลอก้าวเข้าสู่หลุมพราง”
มนุษย์จึงสูญเสียอิสรภาพ
และสูญเสียสายตาแห่งการเข้าใจความจริงอย่างชัดแจ้ง
ด้วยการถูกจองจำไว้ในความคิดเช่นนี้
ถึงจุดนี้
ถ้าเราไม่ได้อยู่กับผู้คนตรงหน้าอย่างเต็มที่
แต่กลับอยู่โดยอาศัยความคิดที่เหมือนม่านหมอก
“เราย่อมถูกความคิด/คำนิยามเหล่านั้น...บังตาและลวงหลอก”
แล้วเมื่อนั้น ของปลอม ก็จะกลายเป็นของจริงในทันที
ดังนั้น
นอกจากการอยู่กับสิ่งตรงหน้าโดยการมองผ่านม่านทางความคิดแล้ว
เรายังสามารถมองด้วยใจที่ใสสะอาด
ซึ่งเริ่มได้จากการวางความคิด
วางคำจำกัดความ (สิ่งไหนดี/ไม่ดี)
วางคำอธิบายต่าง ๆ ลงก่อน (สิ่งไหนน่าเชื่อถือ/ไม่น่าเชื่อถือ)
“ซึ่งจะช่วยให้...ใจไม่ถูกจองจำไว้ในความคิด”
เป็นใจที่สามารถมองสิ่งรอบตัวอย่างชัดเจนซื่อตรง
เป็นใจที่สังเกตได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง
“ใจที่อยู่ตรงนี้...ใจที่อยู่ในขณะนี้...ใจของวันนี้...ใจที่อยู่กับปัจจุบัน”
แล้วเมื่อนั้น เราย่อมมองเห็นความจริงที่แท้
ความจริงที่อยู่มาโดยตลอด “แต่กลับโดนความคิดปิดบัง”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา