Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักจิตฯเก้ากระบี่
•
ติดตาม
16 ก.พ. 2021 เวลา 10:31 • การศึกษา
“ไม่หลอกตัวเอง...ด้วยการคิดบวก”
การคิดบวก แตกต่างจาก “การอยู่กับความจริง”
บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่าน
มาทำความเข้าใจในเรื่อง
ความแตกต่างระหว่าง
“การคิดบวก กับ การอยู่กับความจริง”
ซึ่งทั้งสองอย่างนี้
ล้วนมีผลต่อการรับรู้
และการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
แล้วอะไรผลักดันให้คิด
และสิ่งใดผลักดันให้อยู่กับความจริง
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
ผมขอเริ่มจากประโยคนี้ครับ
“เมื่อใดก็ตามที่ท่านคิด...เมื่อนั้นท่านก็ไม่ได้อยู่กับความจริงแล้ว”
(ซึ่งผมก็ดันลืมไปแล้วว่า ท่านใดพูดประโยคดังกล่าว 555)
ถ้อยคำจากประโยคข้างต้น
ช่วยให้เรามองเห็นกระบวนการหนึ่งในจิตใจ
นั่นคือ “การเคลือบและย้อมความจริง ด้วยความคิด”
เราลองสังเกตจากเรื่องราวรอบตัว เช่น
“มีคุณแม่คนหนึ่งที่ขึ้นเสียงและด่าลูก”
คนที่อยู่ในเหตุการณ์
ก็อาจเกิดการตีความได้มากมาย เช่น
-แม่โมโหลูก
-แม่ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง
-ลูกคงทำอะไรให้แม่โกรธ
-ลูกไม่ควรโดนแม่ทำแบบนี้
-เดี๋ยวพวกเค้าก็ดีกัน
แต่ไม่ว่าเหตุการณ์นี้
จะมีความเป็นมา หรือ มีบทสรุปอย่างไร
“การตีความบางครั้งก็ตรง...บางครั้งก็คลาดเคลื่อน”
มนุษย์เรานั้นมักมีแนวโน้มที่จะ “คิด”
ซึ่งเรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า
-การประเมิน
-การตัดสิน
-การวิเคราะห์
-การคาดเดา
ซึ่งทั้งหมดนี้
เราอาจเรียกรวม ๆ ว่า “ความคิด”
โดยธรรมชาติของความคิดนั้น
มักจะวิ่งวนอยู่ในอดีต
และวาดฝันเกี่ยวกับอนาคต
“ซึ่งไม่ได้เป็นใจที่อยู่ในขณะนี้”
แต่กลับเป็นใจที่โดนความคิดลากจูงไป
และเป็นใจที่โดนความคิดมากระซิบบอกให้เชื่อตาม
ในชีวิตประจำวัน
เราอาจใช้ความคิดในการระบุชื่อสิ่งของต่าง ๆ
เอามาประมวลผลเส้นทางในการกลับบ้าน
นำมาใช้สำหรับเรียบเรียงคำพูดในการสื่อสาร
ฯลฯ
ทีนี้ เราจะพอเห็นได้ว่า
“ความคิด”
เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จิตใจหยิบขึ้นมาใช้งาน
เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกขึ้นในบางกรณี
แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้น
เมื่อเราอยู่กับสิ่งตรงหน้า
“ด้วยใจของอดีต หรือ ด้วยใจของอนาคต”
ซึ่งเป็นการอยู่อย่างยึดติด
จนอาจทำให้เราเข้าใจความจริงคลาดเคลื่อนไป
กลับมาที่ “การคิดบวก”
จุดสำคัญที่เราพึงทำความเข้าใจก็คือ
อะไรทำให้เราเผลอคิดบวก
“ก่อนที่จะทำความเข้าใจความจริง”
เหตุใดเราต้องบิดเบือนความจริงด้วยการคิดบวก
และเหตุใดเราต้องใช้ความคิดดี ๆ มาตีกรอบความจริง
จุดที่น่าสำรวจจึงอยู่ตรงนี้
“การใช้ความเคยชินเป็นตัวนำ...มักมีความกลัวอยู่เบื้องหลัง”
แล้วสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับมนุษย์บ่อย ๆ ก็คือ
เมื่อความกลัวเกิดขึ้นแล้ว
“จะไม่กล้ารับรู้ความกลัว”
กับดักอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จึงเริ่มขึ้นตรงนี้
เมื่อเราเชื่อว่า
“ไม่ต้องไปรับรู้มันหรอกความกลัว...แค่คิดอะไรดี ๆ ขึ้นมาก็จะรู้สึกดีไปเอง”
ซึ่งเป็นท่าทีของการไม่ยอมรับรู้ความกลัว
เป็นการผลักไสความกลัวให้พ้นตัว
และยังเป็นการเก็บซ่อนความกลัวอย่างแนบเนียน
ด้วยผลจากท่าทีและความเคยชินเหล่านี้
มักทำให้มนุษย์ไม่ยอมใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง
“ไม่ยอมดูว่า...จริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่”
ราคาที่ต้องจ่ายจากการมัวแต่คิดก็คือ
“การมองข้ามในสิ่งที่พึงมอง”
เช่น
-เมื่อรู้ว่าโดนทำร้ายร่างกายบ่อย ๆ แต่บอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ปล่อยไป
-เมื่อธุรกิจกำลังพินาศ กลับบอกว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น แล้วก็ไม่ทำอะไร
-เมื่อสุขภาพกำลังย่ำแย่ แต่บอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จนไม่สนใจดูแล
-เมื่อรู้ว่าทำงานพลาด กลับบอกว่าใคร ๆ ก็พลาดได้ แล้วก็ไม่ยอมแก้ไข
ฯลฯ
บางครั้งการคิดบวกก็อาจมอบพลัง และความหวัง
“ในบางขอบเขตของชีวิต”
แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง
การอาศัยคำว่า “การคิดบวก”
ด้วยจุดประสงค์ที่แอบแฝง
เช่น เพื่อหนีความจริง
ย่อมเป็นการซ้ำเติมชีวิตให้ทุกข์หนักขึ้น
ความจริงไม่เคยสร้างปัญหา
แต่ใจที่หวาดกลัวและไม่ยอมรับรู้ความจริง
“ล้วนสร้างปัญหา”
สิ่งที่น่าประหลาดใจจะเกิดขึ้น
หากเราลองวางความคิด
“ที่มักเผลอหยิบขึ้นมาใช้งาน”
แล้วใช้การสังเกตอย่างอ่อนโยน
รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
“อยู่กับความจริงด้วยใจที่เปิดรับ”
เราจึงไม่จำเป็นต้องหยิบยกความคิดอะไรขึ้นมา
เพียงแค่อยู่กับความจริงอย่างซื่อตรง
แล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจ
ในการหาทางปรับตัว แก้ไข หรือ จัดการให้ลงตัว
“เพื่ออยู่กับความจริง...มิใช่ขังตัวเองไว้ในความคิด”
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
นักจิตฯในวงเล่า (บทความ)
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย