17 ก.พ. 2021 เวลา 08:47 • การศึกษา
“การรับมือความกลัว...ผิดวิธี”
การรับมือความกลัวผิดวิธี ส่งผลให้ “ความโกรธและความกลัวเพิ่มมากขึ้น”
บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่าน
มาทำความเข้าใจในเรื่อง
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เกี่ยวกับ “วิธีการรับมือความกลัว”
ซึ่งนอกจากจะรับมือความกลัวไม่ได้แล้ว
ยังทำให้แผ่ขยายความกลัว
และความโกรธ
ไปยังสิ่งรอบตัว
หรือแม้กระทั่งคนรอบข้าง
จนเกิดปัญหาและความขัดแย้งตามมา
สิ่งใดทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อน
แล้วจะเข้าใจอย่างตรงตามความจริงได้อย่างไร
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
ลองนึกถึง “เด็กน้อยคนหนึ่ง”
ที่กำลังเดินสำรวจทุกซอกทุกมุมของบ้าน
เมื่อเด็กน้อยคนนี้
กำลังเดินไปยังโต๊ะที่ตั้งอยู่กลางบ้าน
โดยโต๊ะตัวนั้นก็มีแก้วกาแฟ
“ซึ่งภายในนั้นก็มีอเมริกาโน่ร้อน ๆ อยู่เต็มแก้ว”
เมื่อพ่อแม่มองเห็นลูกตัวเองเดินเข้าไปใกล้
ก็เผลอตีความไปว่า
“ลูกอาจจะเดินไปชนโต๊ะจนแก้วกาแฟตกแตก”
บวกกับความกลัวที่เจือปนอยู่ในใจ
“กลัวลูกเป็นอันตรายจากเศษแก้ว หรือลูกอาจโดนกาแฟลวก”
ณ เสี้ยววินาทีดังกล่าวนี้
ทั้งพ่อแม่ก็ตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน
ร่างกายก็เริ่มตึงเครียด
หัวใจก็เริ่มเต้นแรง
จิตใจก็ถูกบีบคั้น
“สูญเสียความสงบทั้งกายใจ”
ผลจากความไม่สงบ
พ่วงด้วย การตีความและความกลัวที่เจือปนอยู่ในใจ
จึงทำให้พ่อแม่พูดขึ้นมาทันที เช่น...
-“อย่าไปตรงนั้นนะลูก!!!”
-“ห้ามเดินใกล้โต๊ะ!!!”
เป็นต้น
คลื่นกระแทกจากพ่อแม่ที่ส่งออกไปด้วยถ้อยคำ
พร้อมสีหน้าที่ไร้ซึ่งรอยยิ้ม
“พ่อแม่จึงกลายเป็นยักษ์ในสายตาลูก”
เด็กน้อยจึงถูกคลื่นแห่งความกลัว
และคลื่นของความเดือดดาลจากพ่อแม่โถมใส่
ผลที่ตามมา...
-เด็กน้อยอาจหยุดเดิน
-เด็กน้อยอาจกลัวเสียงตวาดของพ่อแม่
-เด็กน้อยอาจรู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ
ฯลฯ
“เกิดการเรียนรู้และฝังใจว่า...สิ่งที่เป็นอันตรายหรือน่ากลัวไม่ควรเข้าใกล้”
การเรียนรู้ว่า สิ่งที่น่ากลัวไม่ควรเข้าใกล้
เป็นความรู้ที่ส่งต่อกันมา
เราอาจนับขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของมนุษย์...
-ที่รู้ว่าไม่ควรเข้าไปใกล้สัตว์นักล่า เพราะจะโดนกิน
-ที่รู้ว่าไม่ควรกินพืชบางอย่าง เพราะอาจป่วยได้
“ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอันตราย”
พอมาถึงยุคนี้
ที่ไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อครั้งโลกยุคโบราณ
แต่เราก็ยังมีความรู้ที่ได้รับการส่งต่อกันมา
(อาจเรียกว่า ความรู้จากโคตรพ่อโคตรแม่ก็ได้ 555)
ผ่านถ้อยคำมากมาย เช่น “อย่า - ห้าม”
ประสบการณ์ที่ถูกจัดไว้ในประเภทของความกลัว
ไม่ว่าจะเป็น
-งู
-ผี
-คนแปลกหน้า
-ความมืด
-ฟ้าผ่า
-ความตาย หรือ ความเจ็บป่วย
“ล้วนทำให้มนุษย์เผลอเชื่อว่า...ไม่ควรอยู่ใกล้กับสิ่งที่น่ากลัว...ไม่ควรแม้แต่จะนึกถึงสิ่งที่น่ากลัว”
ด้วยความไม่รู้
และขาดการใคร่ครวญอย่างรอบด้าน
จึงทำให้มนุษย์
“เผลอนำวิธีการเผชิญความกลัวจากโลกภายนอก”
มาปรับใช้กับโลกภายในจิตใจ
เช่น “เวลามีความรู้สึกแย่ ๆ เกิดขึ้นในใจ...จะไม่ยอมรับรู้”
แต่ใช้วิธีการเก็บกดเก็บซ่อน
ใช้วิธีเบี่ยงความสนใจไปคิดเรื่องอื่น
หรือ ตัดขาดจากประสบการณ์นั้น ๆ ในใจไปเลย
“เพื่อจะทำให้ตนเองรู้สึกว่า...ปลอดภัยแล้ว”
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้
ล้วนเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ผลจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทำให้เราคุ้นเคยกับการหนีประสบการณ์ในใจ
“สิ่งไหนน่ายินดีเราจะคว้า...สิ่งไหนไม่น่าพอใจเราจะผลักไส”
ผลจากการหลบหนีและผลักไส เช่นนี้
เท่ากับเป็นการสะสมสัมภาระทางใจไว้โดยไม่รู้ตัว
“สะสมความไม่พึงพอใจ”
เมื่อเกิดการสะสมประสบการณ์ที่เรียกว่า ความไม่พึงพอใจ
ทั้งความรู้สึกกลัว โกรธ เศร้า เสียใจ ไร้ค่า
เบื่อ เซ็ง โดดเดี่ยว หรือแม้แต่ความด้านชา
“ประสบการณ์เหล่านี้มิได้หายไปไหน”
แต่แค่ถูกผลักไสและขังลืมไว้
ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในดินแดนอันมืดมิดในจิตใจ
และเฝ้ารอจังหวะที่จะได้หวนกลับมา
เราอาจลองมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต
โดยเฉพาะเวลาที่เรา “เริ่มไม่มีความสุข”
ประสบการณ์ทางใจมักจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
“คล้ายกับระเบิดที่ถูกจุด...โดยมีสายชนวนสั้น ๆ”
ชั่วครู่เราก็สามารถระเบิดความไม่พอใจออกมาอย่างง่ายดาย
บางคราวเราก็รู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
“เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ปน ๆ กันไป”
แล้วด้วยการหยิบฉวยความรู้เพื่อที่จะได้หายทุกข์ไว ๆ
หรือ การเลือกเอาเฉพาะวิธีการคลายทุกข์ที่ถูกใจ
“ใช้ความรู้ ใช้เทคนิค ใช้วิธีการมากมาย...อย่างไม่รอบคอบ และด้วยความไม่รู้”
จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเองให้เข้าใจผิดมากยิ่งขึ้น
แล้วยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การหนี
สร้างความเคยชินให้หลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่ดี
สร้างความยุติธรรมให้กับการระเบิดอารมณ์
สร้างมาตรฐานปกติให้กับความรุนแรง
เช่นการบอกว่า...
“เป็นธรรมชาติของมนุษย์...เป็นสัญชาตญาณ...ใคร ๆ เค้าก็ทำกัน”
ซึ่งหากมองผ่านขอบเขตของกลไกป้องกันตัว
เราจะพบว่าข้ออ้างมากมายเหล่านี้
“เป็นกลไกป้องกันตัวอย่างหนึ่ง”
“เป็นการใช้ความรู้เพียงเสี้ยวส่วนมาแก้ตัว”
เพื่อที่จะได้ปัดความรับผิดชอบไปยังผู้อื่น
และ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบกับความทุกข์ในใจตัวเอง
มาถึงตรงนี้
เราอาจจะเริ่มเห็นภาพลวงตาครั้งใหญ่ของมนุษย์แล้ว
เพราะหากวิธีการ ความเข้าใจ และเทคนิคเหล่านี้
“ได้ผลจริง และมีประสิทธิภาพจริง”
เราคงจะได้เห็นความทุกข์ที่สิ้นสุดลงเมื่อใช้การหลบหนี
เราคงจะได้เห็นการเป็นอิสระจากทุกข์เมื่อระเบิดอารมณ์
เราคงจะได้เห็นความผูกพันเมื่อใช้ความรุนแรงฟาดฟันกัน
แต่กลับกลายเป็นว่า
มนุษย์นั้นหวาดกลัวง่ายยิ่งขึ้น
มนุษย์นั้นไม่ไว้วางใจกันมากกว่าเดิม
และมนุษย์ยังใช้ความรุนแรงใส่กันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ
“ทั้งในโลกจริง และ โลกโซเชียล”
“แล้วถ้าไม่หนี...จะให้ทำอย่างไร”
เราก็เพียงแค่อยู่กับสิ่งที่เรากลัว
และสังเกตประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ
“การสังเกต...มีพลังมหาศาล”
ซึ่งจะทำให้ความกลัว ความโกรธ
หรือ ความไม่พึงพอใจใด ๆ “หยุดการลุกลาม”
เนื่องจากท่าทีแห่งความไม่รู้ตัว เช่น
-การหลบหนี
-การเก็บกด
-การเบี่ยงเบนความสนใจ
-การแอบไปคิดเรื่องอื่น
-การกินดื่มเพื่อให้ลืมทุกข์
หรือ แม้แต่การหาข้ออ้างไปซื้อของจนแทบหมดตัว
ล้วนเท่ากับเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้ความทุกข์ (ทั้งในวันนี้และในวันหน้า)
“มิได้เข้าไปรู้จักรากเหง้าอันเป็นต้นตอแห่งความกลัวเหล่านั้น”
หากเราสามารถสังเกตความทุกข์ในใจอย่างใส่ใจ
จะเกิดช่องว่างอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ความรู้ตัว”
แล้วเมื่อความรู้ตัวเกิดขึ้น
“ความไม่รู้ตัวจากการโดนเล่นงานด้วยความรู้สึกแย่ ๆ ก็จะลดลงไป”
เมื่อใจเรามีความรู้ตัว มีการสังเกตตนเอง
และหยุดหลบหนีเช่นนี้ได้
ย่อมทำให้เราได้มองเห็นเงื่อนไขบางประการในใจ
ความคาดหวังบางอย่างที่ใจโหยหา
หรือ การอยากให้ทุกสิ่งเป็นตามใจทันที
“เห็นความอยาก หรือ ไม่อยาก”
“เห็นการอยากให้ความจริงเป็นดั่งใจ”
รวมทั้งยังเป็นการเปิดเผยคุกอันคับแคบในจิตใจ
ที่จองจำชีวิตมนุษย์ไว้อย่างแนบเนียน นั่นคือ
“ถ้าได้ตามเงื่อนไข...จะไม่โกรธ”
“ถ้าได้ตามเงื่อนไข...จะหายกลัว”
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ คืออีกหนึ่งรากฐานของความทุกข์
เป็นประสบการณ์ที่กลัวการถูกสังเกตมากที่สุด
เพราะเมื่อเราสังเกตเห็นมันได้แล้ว
“ความรุนแรงของมันจะลดลงไปเอง”
แล้วเมื่อเราเข้าใจว่า
ทุกสิ่งก็เป็นไปตามทางของมัน
และตัวเราก็มีอิสระในการปรับตัว
“เพื่อให้อยู่กับความจริงนั้นอย่างลงตัว...มิใช่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความอยากหรือไม่อยาก”
รากเหง้าของความกลัว
ก็จะค่อย ๆ ถูกทำให้หมดพลังอำนาจไปทีละน้อยเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา