23 ก.พ. 2021 เวลา 15:00 • ความคิดเห็น
อย่าจดจ่ออยู่กับเรื่องแย่ ๆ มากเกินไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารเกณฑ์ส่วนมากไม่ได้ตบเท้าเข้ามารับใช้ชาติด้วยความสมัครใจ หลายคนรู้สึกว่าเป็นความซวยแท้ ๆ ที่ต้องมาสูญสิ้นอิสรภาพ และสูญเสียโอกาสในชีวิตที่กำลังไปได้สวย เช่น หน้าที่การงาน ธุรกิจส่วนตัว ความรัก ครอบครัว ฯลฯ
เมื่อคนชอกช้ำระกำทรวงมารวมกันเป็นจำนวนเกือบร้อยคน เมื่อมีเวลาว่าง (ในช่วงพักระหว่างชั่วโมงฝึก) พวกเขาก็จะนั่งจับเจ่าบอกเล่ากันว่าชีวิตข้างนอกก่อนหน้านี้เป็นอย่างไรบ้างและการเป็นทหารพรากอะไรไปจากพวกเขา
อารมณ์คล้ายกลุ่มบำบัดในต่างประเทศ เพียงแต่ไม่มีคนนำที่จะช่วยปรับทิศทางความคิดให้ไปในทิศทางบวก
1
เนื้อหาที่อยู่ในกลุ่มสนทนาจึงวนเวียนอยู่แค่เพียงความท้อแท้ สิ้นหวัง หดหู่ ยิ่งคุยยิ่งตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า “ทำไมต้องเป็นกูด้วยวะ!?” สุขภาพจิตของทหารใหม่ส่วนมากจึงไม่ค่อยดีนัก ยังไม่นับรวมความเหนื่อยล้าจากการฝึกที่เข้ามาเพิ่มปริมาณความรู้สึกแย่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ผ่านไปไม่กี่วันผมจึงเริ่มเข้าใจว่าทำไมจึงมีครูฝึกบางคนที่ทำหน้าที่ตัวโจ๊กหรือนำกิจกรรมสันทนาการอยู่บ่อย ๆ แน่นอนว่าช่วยผ่อนคลายความเครียดได้บ้าง (บางกิจกรรมก็ทำผมเครียดกว่าเดิม)
แต่ที่ผมมองว่าเป็นผลพลอยได้อย่างมากก็คือการที่เขาไม่ปล่อยให้เรามีเวลาว่างคิดเรื่องลบซ้ำไปซ้ำมา ช่วยปลดปล่อยเราจากภาวะหดหู่ได้ดีทีเดียว
ผมนึกถึงทฤษฎีการแทนที่ในการปรับเปลี่ยนนิสัยที่ระบุว่าเราต้องเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เราติดอยู่ในวงจรของนิสัยนั้นๆ
เช่น เมื่อพลทหารว่าง > พวกเขาจะนั่งคุยแต่เรื่องแย่ๆ บั่นทอนจิตใจ > ความรู้สึกก็ยิ่งแย่ (ทำให้ไม่ค่อยอยากฝึกมากขึ้นด้วย)
วิธีแก้ไม่ใช่การสั่งห้ามทหารนั่งคุยกัน แต่เป็นการเปลี่ยนตัวกระตุ้นแรกนั่นคือ “เวลาว่าง”
เมื่อไม่ว่าง > พวกเขาก็ไม่ได้คุย > เมื่อไม่ได้คุย หากมีความเครียดก็มีแค่ส่วนตัวไม่ได้ส่งต่อให้เพื่อนหรือรับเพิ่มมาจากเพื่อน
หรือจะมองว่าเป็นวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจก็ได้ หากิจกรรมอื่นเข้ามาโฟกัสแทนปัญหาที่เราเจออยู่ ทำกิจกรรมใหม่นี้ไปเรื่อย ๆ บางครั้งเมื่อผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่งนอกจากเราจะลืมปัญหาที่เคยโฟกัสแล้ว เวลายังอาจช่วยแก้ไขปัญหานั้นให้เราไปแล้วด้วยก็ได้
แต่สำหรับบางปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วยการเผชิญหน้า การเปลี่ยนเรื่องโฟกัสไม่ใช่การหนีปัญหาอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่บางครั้งมันคือการถอยมาตั้งหลัก พักเอาแรง คิดวิเคราะห์จนตกผลึกแล้วค่อยกลับไปประจันหน้ากับปัญหาต่อ เพราะหลายครั้งเราอยู่ใกล้กับปัญหามากเกินไปจนมองไม่เห็นภาพรวมหรืออาจมองข้ามองค์ประกอบบางอย่างไปก็เป็นได้ ทำให้ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้ยิ่งกลุ้ม
อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือ "สิ่งแวดล้อม" หากเราอยู่ในกลุ่มหรือวงสนทนาที่มีแต่การพูดถึงเรื่องแย่ ๆ ที่พ่นพลังลบต่าง ๆ ออกมา แนวโน้มความคิดและความรู้สึกของเราก็จะเป็นไปในทิศทางลบเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นดีที่สุดคือเลือกวงสนทนาที่ดีทั้งคนและเนื้อหา หรืออย่างน้อยก็ให้มีเนื้อหาที่ดี เพื่อที่เราจะได้รับพลังบวกเข้ามาในชีวิต จะได้มีแรงเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ต่อไป ✌️
สวัสดีครับ 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา