27 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • ไลฟ์สไตล์
รับมือกับการสูญเสียคนรักอย่างไรดี?
1
การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเผชิญและย่อมทำให้รู้สึกเจ็บปวดโศกเศร้าเป็นอย่างมาก
1
รับมือกับการสูญเสียคนรักอย่างไรดี?
โดยบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้่น และความโศกศัลย์ที่เกิดจากวิกฤตนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงจะช่วยให้ปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวและสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ต่อไป
ความโศกเศร้าจากการสูญเสียเป็นอย่างไร?
ความโศกเศร้าเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่ตอบสนองต่อการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก สูญเสียความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการสูญเสียสุขภาพที่ดี
โดยลำดับขั้นของความโศกเศร้าจากการสูญเสียนั้นมักเริ่มจากการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง การเกิดความกลัว ความโกรธ ความซึมเศร้า และอาจไปถึงขั้นสุดท้าย คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหรือค่อย ๆ เกิดขึ้นตามลำดับก็ได้
และในขณะที่เผชิญลำดับขั้นต่าง ๆ อยู่ ผู้ที่สูญเสียอาจมีความรู้สึกสับสน เสียใจ กลัว รู้สึกผิด หรือหมดหวังร่วมด้วย โดยระดับความรุนแรงของสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้มักขึ้นอยู่กับระดับของการสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วย
ภาวะเศร้าโศกแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน
ในปี ค.ศ. 1996 อลิซาเบธ คูเบอร์ รอส จิตแพทย์เชื้อสายสวิสอเมริกัน ผู้ศึกษาเรื่องภาวะเข้าใกล้ความตาย ได้กล่าวถึง "ลำดับขั้นของความเศร้า" (The 5 stages of grief and loss) เอาไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อ On Death and Dying จากการที่เธอได้ศึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยใกล้ตาย ซึ่งเธอได้สังเกตจากผู้ป่วยและญาติ นำมาสู่การพัฒนารูปแบบในการอธิบายการเกิดภาวะเศร้าโศกออกเป็นขั้นตอน โดยทั้ง 5 ขั้นนั้นมีดังนี้
1. ช่วงปฏิเสธและหลีกหนีความจริง (Denial and isolation)
2. ช่วงขุ่นเคือง (Anger)
3. ช่วงคิดต่อรอง (Bargaining)
4. ช่วงซึมเศร้า (Depression)
5. ช่วงรับความจริงและเข้าใจได้ (Acceptance)
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันในเรื่องราวที่ได้เจอะเจอมา จึงไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องมีประสบการณ์ในการเข้าสู่ลำดับขั้นแห่งความโศกเศร้าตามลำดับนี้เป๊ะ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียงลำดับไปตามที่กล่าวถึงนี้ บางคนอาจจะข้ามขั้นก็ได้ เพราะนี่คือการอธิบายเพื่อให้เห็นภาพรวมของที่มาที่ไปของการมีความเศร้าและสูญเสียเท่านั้น
แนวทางรับมือความสูญเสียและความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น
แม้ว่าวิธีเผชิญความสูญเสียและการแสดงออกถึงความเจ็บปวดเสียใจของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป แต่การปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงหนึ่งของชีวิตนี้ไปได้
1. ตั้งสติและทำใจยอมรับการสูญเสีย
แม้ว่าการยอมรับจะเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่หากคุณยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ความเจ็บปวดนี้ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา การยอมรับเหตุการณ์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอารมณ์โศกเศร้าที่ผิดปกติหรือโรคซึมเศร้าได้ ขอให้คุณตระหนักรู้ไว้ว่าคุณมีความสามารถที่จะจัดการดูแลทุกความเจ็บปวดทางจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับและสร้างกระบวนการเยียวยาให้ตนเอง
2. อนุญาตให้ตนเองอยู่กับความอ่อนแอทางอารมณ์
ความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียเป็นสิ่งปกติ คุณต้องอนุญาตให้ตนเองรู้สึกและระบายออกความรู้สึกต่าง ๆ นั้นอย่างอิสระ ไม่ควรแสร้งหลอกว่าตัวเองเข้มแข็ง หรือกดดันตัวเองว่าควรโศกเศร้าได้แค่ไหนและใช้เวลานานเท่าใด การพูดเล่าความคิดภายในใจและร้องไห้คร่ำครวญตามความต้องการที่แท้จริงเป็นสิ่งที่คุณควรทำ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ความเจ็บปวดของคุณเบาบางลง
3. ระบายความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนที่คุณไว้ใจ หรือเขียนระบายความรู้สึก
1
หลายคนที่อยู่ในระยะซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะแยกตัวและเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆ ไว้กับตัวเอง การได้พูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจและพร้อมที่จะเข้าใจจะช่วยให้คุณสามารถปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดนี้ หากคุณพบความยากลำบากในการสื่อสารกับบุคคลรอบข้างและไม่สามารถจัดการความคิดและความรู้สึกที่อ่อนแอสับสนนี้ การปรึกษากับจิตแพทย์ นักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
4. ดูแลสุขภาพร่างกายและพยายามควบคุมการใช้ชีวิตให้เป็นปกติ
ปฏิกิริยาความโศกเศร้าไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ แต่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณด้วย หลายคนมักเกิดอาการปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนล้า หายใจขัด ความดันผิดปกติ อาหารไม่ย่อย ฯลฯ ฉะนั้นคุณจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายขั้นพื้นฐาน
อันได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นการดื่มสุราและใช้สารเสพติดเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้คุณควรพยายามควบคุมกิจวัตรให้เป็นปกติเพื่อช่วยสร้างเป้าหมายของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และช่วยไม่ให้ตัวคุณจมอยู่กับความคิดและความรู้สึกด้านลบมากจนเกินไป
5. สร้างแนวความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการสูญเสีย
รูปแบบของความคิดที่เป็นบวกจะช่วยให้เกิดกระบวนการจัดการความคิดและความรู้สึกที่เป็นลบ และสนับสนุนให้คุณสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมีความสุขมากขึ้น ตัวอย่างความคิดเชิงบวก เช่น
1
- การสูญเสียครั้งนี้ทำให้คนที่ฉันรักไม่ต้องอยู่กับความทุกข์ทรมานอีกต่อไปแล้ว
- แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว ชีวิตของฉันยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่เขาก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ดีในใจของฉัน และของทุก ๆ คนที่รู้จักเขา
- คนที่ฉันรักคงจะมีความสุข ถ้าฉันจะตั้งใจสานต่อความฝันหรือสิ่งดี ๆ ที่เขาได้สร้างไว้
เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์ ?
การสูญเสียคนรักเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดทางจิต หากพบว่าตนเองมีอาการต่อไปนี้
- รู้สึกผิดหรือโทษตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น
- รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
- ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- ไม่อยากพบเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก
- รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไป
- รู้สึกอยากตายตามคนที่รักไปด้วย
หากคนใกล้ตัวเผชิญกับการสูญเสีย ควรทำอย่างไร ?
หากบุคคลใกล้ชิดต้องเผชิญกับการสูญเสีย สิ่งที่สามารถทำได้ คือ คอยอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจ พยายามพูดคุยเพื่อให้ผู้ที่สูญเสียระบายความรู้สึกปวดร้าวออกมา และเป็นผู้ฟังที่ดีในกรณีที่บุคคลนั้นพูดถึงคนรักที่จากไปซ้ำ ๆ เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ขณะโศกเศร้า และไม่จำเป็นต้องรู้สึกกังวลหรือหลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ที่จากไป
นอกจากนี้ อาจช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พาไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพอารมณ์ให้ดีขึ้น
- พยายามให้ผู้ที่สูญเสียตั้งสติก่อนตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต เช่น การลาออกจากโรงเรียน การลาออกจากงาน เป็นต้น
- พยายามเข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้ที่สูญเสียในขณะที่รู้สึกโกรธหรือโมโหได้ง่าย เพราะอารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความโศกเศร้า
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา