3 มี.ค. 2021 เวลา 07:25 • สุขภาพ
“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ คืออะไร ?”
“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ” จะต้องไปเข้าวัด สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือไปบวชเลยไหม ?
บทความนี้เกิดขึ้นมาจากความสงสัย
ของผู้รับบริการท่านหนึ่งครับ
เนื่องจากเวลาผมให้บริการปรึกษา
ผมจะแจ้งแนวทางการให้บริการ
(ใช้ทฤษฎีไหน-แนวทางอะไร)
ซึ่งหนึ่งในแนวทางการปรึกษาที่ผมใช้ก็คือ
“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ”
เมื่อผู้รับบริการได้ยินดังนั้น
เลยถามผมว่า
ถ้ามาคุยกับคุณนักจิตฯแล้ว...
“จะต้องสวดมนต์และนั่งสมาธิไหม”
“จะต้องไปเข้าวัดถือศีลไหม”
ผมถือว่าเป็นคำถามที่มีประโยชน์มากครับ
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน
ดังนั้น บทความนี้ผมเลยจะมานำเสนอ
“แผนที่ในการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ”
“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ”
เป็นการนำหลักธรรมจากพุทธศาสนา
ในเรื่องธรรมชาติของชีวิต
มาใช้ในการให้บริการ
เพื่อคลี่คลายโจทย์ หรือความทุกข์ในใจของผู้รับบริการ
ผมขอเริ่มจากหลักธรรมดังต่อไปนี้
ในแบบภาษาของผมครับ
(ไม่ได้เป็นแบบภาษายาก ๆ นะครับ วางใจได้ 555)
1. ความเปลี่ยนแปลง (ไตรลักษณ์)
-ไม่มีสิ่งไหนที่ไม่เปลี่ยนแปลง
-การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ
-ความทุกข์มาจากการไม่อยากเปลี่ยนแปลง
-การพบเจอ การเกิดหรือความตาย การได้มาหรือสูญเสีย
ก็ล้วนเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง
-การตั้งเงื่อนไขว่า
“ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปตามใจฉัน”
นั้นเป็นเงื่อนไขที่ตายตัว
และไม่อยู่กับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงเสมอ
2. วงจรของความคาดหวัง (ปฏิจจสมุปบาท)
-ความคาดหวังทำให้ไม่อยู่กับความจริง
-ความคาดหวังมักมาในรูปของ
“ความอยาก/ไม่อยาก”
“ต้องเป็นแบบนี้/ห้ามเป็นแบบนี้”
-เมื่อคาดหวัง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบความผิดหวัง
“อยากได้ แต่ดันไม่ได้” เช่น อยากได้เกรด A แต่ดันได้แค่ B+
“ไม่อยากได้ แต่ดันได้มาซะงั้น” เช่น ไม่อยากให้แฟนไปไหน แต่แฟนกลับชอบไปเที่ยว
-ความคาดหวัง เกิดจากการไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง
-เมื่อไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง จึงเกิดความกลัว
-เมื่อความกลัวเกิดขึ้น เราก็จะชอบยึดติด/ครอบงำ/บังคับ/ควบคุม
-ผลจากการชอบยึดติด จึงสร้างความทุกข์ในใจ
เช่น ความกดดัน อึดอัด ไม่พอใจ โกรธ เศร้า เสียใจ เบื่อ เซ็ง ด้านชา
3. แผนที่ในการเป็นอิสระจากความทุกข์ (อริยสัจ 4)
-รากเหง้าของความทุกข์อยู่ที่ความคาดหวัง
-ถ้ารากเหง้านั้นยังอยู่ ความทุกข์ก็จะทิ่มแทงใจ
-การเข้าใจความเปลี่ยนแปลง
และหยุดต่อต้านความจริง จะช่วยให้เราเป็นอิสระมากขึ้น
-เมื่อเป็นอิสระได้แล้ว ใจเราจะโล่ง เบาสบาย สงบสุข
และมีพลังสร้างสรรค์สำหรับการทำงาน การตัดสินใจ และการปรับตัว
4. ที่มาความเป็นไปของทุกสิ่ง (อิทัปปัจจยตา)
-เหตุการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้นได้
ล้วนต้องอาศัยองค์ประกอบมากมาย
-ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอด
ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งไหนเลยที่จะยั่งยืน/ถาวร
-การเชื่อว่าสามารถควบคุมทุกอย่างได้
หรือ ควบคุมความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้
เป็นความเชื่อที่ขัดแย้งกับความจริง
นี่คือตัวอย่างหลักธรรมจากพุทธศาสนา
ที่ผมหยิบยกขึ้นมาให้อ่านกันครับ
(ยั้งตัวเองให้หยุดไว้เท่านี้ก่อน...เดี๋ยวจะยาวเกินไป 555)
โดยสรุปแล้ว
“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ”
เอื้อเฟื้อให้ผู้รับบริการ
ได้กลับมาสังเกตและเท่าทันตนเอง
ในเรื่องของ “ความอยาก/ไม่อยาก”
แล้วเข้าใจเงื่อนไขที่ตนเองเผลอตั้งไว้
หรือ เผลอยึดเอาไว้โดยไม่รู้ตัว
เมื่อเกิดความเข้าใจ และสลายรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว
ก็จะสามารถ
ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
ด้วยใจที่โล่งโปร่ง เบาสบาย สงบสุข
และนอบน้อมต่อความผันแปรในชีวิต
เช่น
วันไหนฝนตกก็กางร่ม หรือ ไปหาที่หลบ
(ไม่ใช่มัวแต่ไปยืนด่าฟ้าฝนว่า “จะตกหาบิดาเอ็งเหรอ!!!” ฮ่าาา)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา