4 มี.ค. 2021 เวลา 12:01 • การศึกษา
“การเติบโต คืออะไร ?”
การเติบโตนั้นเป็นยังไง แบบไหนที่เรียกว่า "เติบโตแล้ว หรือ ยังไม่เติบโต"
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจ
มาจากการฟัง Clubhouse เมื่อคืนครับ
มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ
และทำให้หลายคนได้แลกเปลี่ยนกัน
นั่นก็คือ “นิยามของการเติบโต”
เช่น
-แบบไหนถึงเรียกว่าโต
-คนที่ไม่โตเป็นยังไง
-การเติบโตที่แท้จริงเป็นยังไง
-ต้องถึงตอนไหนถึงจะโตซักที
ซึ่งเป็นประเด็นที่ชวนให้ได้กลับมา
“สำรวจและเข้าใจตัวเอง”
ผมขอชวนท่านผู้อ่าน
ลองนึกถึงเมล็ดของต้นไม้
ที่ถูกปลูกลงในดิน
ซึ่งได้รับน้ำ แสงแดด
ร่มเงา และการดูแลที่อ่อนโยน
จนเมล็ดนั้นค่อย ๆ หยั่งราก
และเติบโตขึ้นทีละน้อย
“จนโผล่ขึ้นมาบนผืนดิน”
กระบวนการที่ดูธรรมดาเช่นนี้
หากเรามองด้วยสายตาอันละเอียดอ่อน
เราจะเห็นว่า
“เมล็ดนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว”
เนื่องจากเมล็ดนั้น
ค่อย ๆ งอกงามขึ้นเป็นต้นไม้
แล้วเติบใหญ่จนให้ร่มเงา
“จากเมล็ดในวันวาน...เป็นต้นไม้ในวันนี้”
เมื่อกลับมาพิจารณาถึงชีวิตของมนุษย์
อาจลองนึกถึงคุณแม่ที่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์
แล้วค่อย ๆ ดูแลตนเอง
และเฝ้ารอ...
“วันที่เด็กน้อยคนนั้นจะลืมตาดูโลก”
เมื่อเด็กน้อยเกิดมาก็ย่อมเติบโต
จากเดิมที่ได้แต่คลาน
“ก็สามารถเดินได้”
จากเดิมที่ดูแลช่วยเหลือตนเองไม่ได้
และต้องรอให้คนมาอุ้ม ป้อนอาหาร หรือพาไปอาบน้ำ
“ก็เริ่มดูแลจัดการตัวเองได้”
ซึ่งในวันหนึ่งทั้งคุณพ่อคุณแม่
ก็อาจจะได้เห็นวันที่ลูกเติบใหญ่
เรียนหนังสือ มีการงาน
มีครอบครัว หรือแม้กระทั่งมีลูก
ทั้งต้นไม้ และมนุษย์
ต่างก็มีจุดร่วมกัน
นั่นคือ “ความต่อเนื่อง”
เช่น
-จากเมล็ด เปลี่ยนเป็นต้นไม้
-จากทารก เปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่
ซึ่งความต่อเนื่องนั้น
“ไม่มีจุดที่ตายตัว”
ต้นไม้แต่ละชนิดก็มีวิธีเติบโตตามสายพันธุ์ของตน
มนุษย์เองก็เช่นกัน
ที่มีเส้นทางและระยะเวลาในการเติบโตของตัวเอง
แต่ด้วยความเป็นมนุษย์
เราจึงมักเผลอ
“ตั้งเงื่อนไขในการเติบโตอย่างแคบ ๆ”
แล้วเอามากดดัน
และบีบคั้นให้ตนเองเติบโต
“โตแล้วต้องเป็นแบบนี้ / อย่าเป็นแบบนี้ไม่งั้นไม่โต”
เราอาจมองเห็น
เงื่อนไขการเติบโตแบบตายตัวเหล่านี้มากมาย เช่น
-ต้องรวย
-ต้องไม่พึ่งพาใคร
-อายุเท่านี้ต้องมีงาน
-อายุเท่านี้ต้องมีครอบครัว
-โตแล้วต้องมีรถ
-โตแล้วต้องดูแลคนอื่นได้ / ต้องเป็นที่พึ่งได้
ฯลฯ
ซึ่งฟังดูก็เหมือนกับสมเหตุสมผล
หรือ ดูน่าเชื่อถือและต้องทำให้ได้
แต่หากเราใคร่ครวญอย่างใส่ใจ
เราจะพบว่า...
“เส้นทางการเติบโต...มีมากกว่า 1 วิธี”
ความทุกข์ของมนุษย์
จึงมาจากการตั้งเงื่อนไขตายตัวให้กับตนเอง
“ตั้งเงื่อนไขของการเติบโต”
แล้วเอาเงื่อนไขเหล่านั้นมารัดคอ
และกดดันบีบคั้นตัวเองอย่างหนักหน่วง
จนลงเอยด้วยความเหนื่อยหน่าย น้อยใจ
รู้สึกด้อยค่า ท้อแท้ และสิ้นหวัง
“โดนความทุกข์กัดกินทั้งกายใจ”
เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกไม่โต
หรือ รู้สึกว่ายังเป็นเด็ก
นี่อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกเราว่า
“เรายึดติดอยู่กับภาพของการเติบโตในอนาคต”
จนหลงลืมการเติบโตที่แท้จริงในปัจจุบัน
ซึ่งเหมือนกับคนที่มองของสักชิ้นหนึ่ง
แล้วบอกว่า...
-อันนี้ใหญ่ไป (อยากให้เล็กกว่านี้)
-อันนี้เล็กไป (อยากให้ใหญ่กว่านี้)
*ใหญ่ไป หรือ เล็กไป จึงไม่มีจริง
(เพราะอ้างอิงจากเงื่อนไขส่วนตัว)
เมื่อกลับมามองเรื่องการเติบโต
เราอาจจะค่อย ๆ สังเกตชีวิตของตนเองตั้งแต่เด็ก
ซึ่งผ่านวันเวลาและฤดูกาลต่าง ๆ
“จนเดินทางมาถึงวินาทีนี้”
เมื่อเราเห็นเส้นทางและความต่อเนื่องอย่างกระจ่างชัด
เมื่อนั้นเราก็จะเห็นถึงความเติบโตที่แท้จริงของตน
และเราก็สามารถให้เวลากับตนเอง
เพื่อใช้เวลารับรู้
และสัมผัสความรู้สึกของการเติบโตที่แท้
“การเติบโตที่แท้...ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าเงื่อนไขการเติบโตแบบแคบ ๆ”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา