10 มี.ค. 2021 เวลา 11:38 • การศึกษา
“การเผชิญความจริงเร็วเกินไป”
“การเผชิญความจริงเร็วเกินไป” ส่งผลอย่างไร ?
ผมขอชวนท่านผู้อ่านให้ลองนึกถึง...
-เด็กน้อยที่เร่งเรียนตั้งแต่ยังอยู่อนุบาล
-เด็กโตขึ้นมาหน่อยที่เรียนพิเศษจนถึงค่ำมืด
-วัยรุ่นที่จำต้องฝืนใจแต่งงานตั้งแต่ยังหนุ่มสาว
-วัยรุ่นที่จำใจต้องเลี้ยงลูกเนื่องจากความรับผิดชอบ
-วัยรุ่นที่เร่งหาสถานศึกษาไปก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไร
-ผู้ใหญ่ที่รีบด่วนตัดสินใจสร้างครอบครัวทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม
“เหมือนชีวิตตั้งอยู่บนความเร่งรีบ”
จนไม่ยอมลดสปีด
และ ไม่ยอมหยุดพัก
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา
โดยตั้งอยู่บนรากฐานที่ว่า
“เรารีบร้อน...โดยหลงลืมความรอบคอบ”
ซึ่งแน่นอน
ชีวิตมิได้มีสูตรตายตัวว่า
“อะไรคือเร็ว หรือ อะไรคือช้า”
โดยมีจุดหนึ่งที่เรามักจะมองข้าม
นั่นคือ
“เราเผลอยึดติดในสูตร...ว่าชีวิตจะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว”
จากการทำงาน
บนเส้นทางสายนักจิตวิทยาการปรึกษา
บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมได้ยินคำว่า
“รู้งี้ไม่ทำดีกว่า / ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่เลือกทางนี้ ”
โดยเรื่องราวมากมาย
ที่พอมองย้อนไปมักเกิดคำว่า “รู้งี้”
สามารถมีได้ตั้งแต่...
-เร่งให้ลูกโตเร็วเกินไป จนลูกไม่ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็ก
-บีบตัวเองให้เก่งทุกอย่าง จนสุดท้ายไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไรกันแน่
-รีบสร้างครอบครัว จนลงเอยด้วยการทะเลาะเนื่องจากไม่ได้รู้จักกันมากพอ
-หักโหมสร้างฐานะให้ตัวเอง แต่กลับต้องแลกมาด้วยสุขภาพและความตาย
การเลือกเส้นทางชีวิตเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า
“บางครั้งก็พาให้เราตกหลุม”
ซึ่งล้วนเป็นเรื่องธรรมดา และเราก็สามารถ
นำบทเรียนมาปรับใช้กับชีวิตในวันข้างหน้าได้
ดังนั้น
จึงนำมาสู่คำถามสำคัญก็คือ
“แล้วอะไรผลักดันให้เราเลือกอย่างไม่รอบคอบล่ะ ?”
ส่วนมากแล้ว
มนุษย์เรามักจะเผลอ
“ยึดเป้าหมายบางอย่างไว้ในใจ”
เช่น
-แผนการในอนาคต
-ความรู้สึกที่อยากได้
-รางวัลตอบแทน
“โดยมิได้ทบทวนตัวเองอย่างลึกซึ้ง”
คล้ายกับการที่เรารีบออกเดินทาง
โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาเส้นทาง
หรือ เรียกว่า “ยังเตรียมตัวไม่พร้อม”
ผลที่ตามมาจึงมีทั้งการหลงทาง
และ การผิดหวังที่ตัดสินใจออกเดินทาง
มีประสบการณ์บางอย่าง
ซึ่งมักจะเตือนให้เรารู้ตัวแบบอ้อม ๆ
คือความรู้สึกและการรู้ตัวว่า
-“เหมือนอะไรซักอย่างมันหายไป”
-“เหมือนจะมีครบทุกอย่าง...แต่มันเหมือนขาดอะไรไป”
และบางครั้ง
ก็ออกมาในรูปของการถามตัวเอง
เช่น
-“นี่มันคือเส้นทางที่เราต้องการจริง ๆ เหรอ ?”
เหล่านี้คือ การทำงานของสติปัญญาที่ติดตัวเรามาอยู่แล้ว
แต่เรามักละเลยและไม่ยอมรับฟัง
เนื่องจากมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเป้าหมายในอนาคต
การรีบเร่งออกเดินทางชีวิต
จึงมีราคาที่ต้องจ่าย
นั่นคือ
“การไม่ได้ศึกษาเส้นทางชีวิต”
แล้วผลที่ตามมา
ก็มักจะพรากช่วงเวลาอันล้ำค่าไป
และ ทำลายสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งลง
หรือแม้กระทั่ง สร้างรอยบาดแผลให้กับชีวิตจิตใจ
“แต่เราก็ยังรอดชีวิตมาได้”
พร้อมกับบทเรียนอันล้ำค่าให้แก่ตนเอง
หรือ เป็นบทเรียนให้กับเพื่อนมนุษย์
บางครั้งโลกรอบตัวเรา
ก็มีค่านิยมที่ชอบรีบเร่ง
“ติดสปีดให้ชีวิต”
เราในฐานะมนุษย์
นอกจากจะเผลอคล้อยตามแล้ว
ก็ยังสามารถเหยียบเบรกให้ตัวเอง
“กลับมาเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง”
ผ่านการศึกษา ผ่านการสนทนา
หรือ ผ่านการทบทวนตัวเอง
เช่น
-ตัวเรานั้นเหมาะกับเส้นทางไหน
-ตัวเราต้องรีบเร่งขนาดนี้เลยเหรอ
-เรากำลังกลัวอะไร ถึงได้รีบร้อนขนาดนั้น
“เราจะรีบอะไรขนาดนั้นโว้ยยยย 5555”
อย่างน้อยที่สุด
การให้เวลาตัวเองได้หยุด
และกลับมาสำรวจตัวเอง
ก็ช่วยให้เรามีพื้นที่ว่างมากพอ
“สำหรับการเรียนรู้เส้นทางต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจ”
โดยไม่ต้องรีบด่วนเผชิญความจริง
หรือ ออกไปเผชิญอุปสรรคแบบห้าว ๆ
“จนลงเอยด้วยความเจ็บช้ำ”
สุดท้ายนี้
ผมขอชวนให้ท่านผู้อ่าน
ให้นึกถึงรถที่ขับมาด้วยความเร็วสูงงงงง
“จนสุดท้ายก็เลยซอยที่ตัวเองจะเข้า”
แล้วก็ลงเอยด้วยการเหยียบเบรกจนหัวทิ่ม
และอาจเลวร้ายจนถึงขั้นรถพลิกคว่ำกันเลยทีเดียว
นี่ล่ะครับที่เรียกว่า “เร็วเกินไป”
ชีวิตมักสอนให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แบบซื่อตรง
จังหวะไหนเร่งได้ก็เร่ง
จังหวะไหนช้าได้ก็ค่อยเป็นค่อยไป
“ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับจังหวะของชีวิต”
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้ายทาย
ที่ชีวิตเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา