Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักจิตฯเก้ากระบี่
•
ติดตาม
15 มี.ค. 2021 เวลา 03:30 • การศึกษา
“การปิดกั้นตัวเอง”
“การปิดกั้นตัวเอง” ส่งผลอย่างไร ?
ผมขอชวนให้ท่านผู้อ่านลองนึกถึง
บ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งที่...
-ล้อมรอบไปด้วยกำแพงหนาทึบและสูงใหญ่
-ปิดหน้าต่างทุกบานจนไม่มีแสงเข้า
-ปิดผนึกประตูทุกจุดไม่ให้ใครเข้าออก
“บ้านแสนโดดเดี่ยว”
ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศอันเวิ้งว้างว่างเปล่า
และเป็นความกว้างใหญ่ที่ชวนหดหู่
เมื่อเรามองกลับมายังชีวิตของใครสักคนที่...
-รู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ท่ามกลางผู้คน
-รู้สึกหวาดกลัวจนต้องสร้างกำแพงกับทุกสิ่ง
-รู้สึกว่า มันยากเหลือเกินที่จะมีความสุข
“ห้องหัวใจของมนุษย์ที่ถูกปิดตาย...ก็เป็นเช่นเดียวกับบ้านอันเวิ้งว้าง”
บทความนี้ผมจึงขอเขียนถึงบางแง่มุมของ
“การปิดกั้นตัวเอง”
ว่าเหตุใดมนุษย์เราถึงกระทำกับตัวเองได้ถึงเพียงนี้
ผมพบว่า
เบื้องลึกของการปิดกั้นตัวเอง
“มักมาจากความกลัว”
ซึ่งตัวความกลัวนี้
จะเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
เช่น
-สุขภาพกายและใจ
-บทบาทหน้าที่
-สัมพันธภาพ
-สิ่งที่ปรารถนา
“ความกลัวมักมาจาก...การกลัวว่าจะควบคุมสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้”
แล้วสถานการณ์ หรือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ก็มักเข้ามาตอกย้ำให้ใครสักคนรู้ว่า
“ควบคุมไม่ได้...สู้ไม่ได้...หนีไม่พ้น”
จนเกิดเป็นความหวาดผวา
หรือแม้แต่กลายเป็นแผลใจไปในที่สุด
คำสำคัญจึงมาอยู่ตรงที่
“ความเปลี่ยนแปลง กับ การควบคุม”
มนุษย์เรามักกลัวที่จะควบคุมไม่ได้
แล้วยิ่งความเปลี่ยนแปลงใด ๆ นั้นเกินจะควบคุม
บางครั้งก็ชวนให้รู้สึกหดหู่สิ้นหวังไปด้วย
ภาวะเหล่านี้หากรุนแรง เข้มข้น หรือยาวนานมากพอ
ก็สามารถสร้างบาดแผลทางใจอันบาดลึกได้
จนใครคนนั้นเลือกที่จะใช้ชีวิตด้วยการปิดตัวเอง
“ตัดขาดจากทุกคนและทุกสิ่ง...ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกอะไรอีกต่อไป”
เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องบาดเจ็บอีกครั้ง
อย่างน้อยที่สุด...ก็ทำให้เจ็บน้อยลง
แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์
ที่มี “ประตู” สำหรับรับรู้ประสบการณ์
“หากใครสักคนปิดประตูบานนั้น...เพื่อป้องกันความทุกข์”
ก็ย่อมต้องสูญเสียการรับรู้ความสุขไปด้วย
ชีวิตส่วนใหญ่จึงกลายเป็นว่า
รับรู้แต่เพียงความด้านชา และความว่างเปล่า
“ความสุขจึงกลายเป็นของหายาก”
ภาพกว้างของการปิดกั้นตัวเองจึงเป็นเช่นนี้
ซึ่งเป็นภาวะที่หากปล่อยไว้เนิ่นนาน
“การปิดกั้นตัวเอง”
ย่อมกลายเป็นคุกที่คุมขังชีวิตจิตใจของใครคนนั้น
พรากทั้งรอยยิ้มและความสุข
ทำลายสีสันของการมีชีวิต
ปิดกั้นโอกาสการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
“ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันอันงดงาม”
แต่กลับถูกขังไว้ในอดีตอันไกลโพ้น
และหวาดกลัวอนาคตที่อาจเข้ามาหลอกหลอน
มาถึงจุดนี้
ก็ไม่ได้แปลว่า
หากเกิดเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้
“ทุกคนจะต้องปิดกั้นตัวเองเหมือนกันหมด”
บนเส้นทางสายนักจิตวิทยาการปรึกษา
ผมมักได้เห็นเรื่องราว
และประสบการณ์อยู่บ่อย ๆ เช่นกัน
ที่ใครบางคนก้าวผ่านเหตุการณ์อันโหดร้ายมาได้
โดยที่ “ยังคงเปิดหัวใจเอาไว้”
แล้วใช้ชีวิตไปกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างเต็มที่
ไม่ยอมปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมสูญเสียรอยยิ้ม
และไม่ปิดผนึกประตูใจ
ผู้คนเหล่านั้น
มักมีความเข้าใจ
และสมรรถนะทางใจบางประการ
ที่เกื้อหนุนอยู่ในจิตใจ
“เป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน”
นั่นคือ การรู้ว่า...
-เราไม่มีทางควบคุมทุกอย่างได้
-เราไม่สามารถสมหวังในทุกสิ่งที่ปรารถนา
-เรื่องร้าย ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง “ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต”
-ความผิดหวังหรือสูญเสีย เป็นเพียงฤดูกาลหนึ่งของชีวิต
-ปัจจุบัน เป็นเวลาเดียวที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างอิ่มเอม
-การมีชีวิต เป็นโอกาสสำหรับการเติบโตและเริ่มต้นใหม่
“ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับ...มรสุมชีวิต”
ตัวอย่างสมรรถนะ และความเข้าใจเหล่านี้
ล้วนเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูตนเอง
และเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต
“เพื่อให้กลับมาเติบโต...แล้วใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”
สุดท้ายนี้
เราคงมิอาจบังคับให้ทุกคนมีสมรรถนะเหล่านี้ได้
หรือ บีบคั้นให้คนที่ปิดกั้นตัวเองรีบเปิดใจเร็ว ๆ
สิ่งที่เราพึงทำก็คือ
“ไม่เอาเงื่อนไขของตัวเองเป็นศูนย์กลาง”
ไปบีบคั้นให้คนอื่นเติบโต หรือ แข็งแกร่งขึ้นตามใจเรา
“ลองเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้อื่น”
เพราะอย่างน้อยที่สุด
คลื่นแห่งการไม่มีเงื่อนไข
ก็เพียงพอที่จะทำให้คนรอบข้างรู้สึกปลอดภัย
และอบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้ตัวเรา
“ไม่เอากรงขังไปครอบงำซ้ำเติมผู้ที่ปิดกั้นตัวเองอยู่แล้ว”
1 บันทึก
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
นักจิตฯในวงเล่า (บทความ)
1
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย