9 มี.ค. 2021 เวลา 14:03 • ธุรกิจ
ขอแวะมาเล่าถึงวิกฤตในชีวิตเจ้าของกิจการ
(ต้มยำกุ้ง และ โควิด19)😉
เมื่อต้นปี 1997 หรือ พ.ศ. 2540 เป็นปีที่มดเปิดบริษัทเล็ก ๆ ร่วมกับเพื่อน เราวางแผนและมีฝันที่ใหญ่โตเกินตัวไปมากมาย ตามประสาเด็กอายุ 20 ... เงินล้านแรกเป็นเงินก้อนมหาศาลที่ครึ่งนึงมาจาก การนำที่ดินของแม่เพื่อนไปกู้ และอีกครึ่งนึงมาจากหุ้นส่วนอีก 5 คนซึ่งก็คือเพื่อนสนิทคนหนึ่งและสมาชิกครอบครัวอีก4
เงินล้านแรกเหมือนจะเยอะ แต่ก็ไม่เยอะ เราลงทุนไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่าเช่าห้องค่ามัดจำต่าง ๆ ผ่านไปสองเดือนก็ถึงเวลาตะลุยหาลูกค้ากันด้วยสายตาแห่งความหวัง โดยที่ไม่ได้ระแวงระวังถึงพายุลูกใหญ่ที่กำลังจะมากวาดล้างทุกอย่างให้สิ้นซาก
2
กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว เราฟังข่าวอันฮือฮานั้นแบบงง ๆ ว่า มันจะกระทบอะไรหนักหนางั้นเหรอ อ้อ คงไม่เกี่ยวกับเราหรอกมั้ง
ณ ช่วงเวลานั้นประเทศไทยยังไม่รู้จักอินเตอร์เนตกันแพร่หลายอย่างปัจจุบัน บริษัทเล็ก ๆ ที่มดเปิดนั้น เราทำเกี่ยวกับการสร้าง Website ให้กับบริษัทหรือห้างร้านเพื่อโชว์สินค้า หรือเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวบริษัท
มดต้องเช่าเซอร์เวอร์ที่อเมริกาไว้สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซท์ เพราะที่ประเทศไทยยังไม่มีใครให้บริการนอกจาก Internet provider สองสามเจ้าที่ครองตลาดอยู่ ซึ่งมีราคาแพงกว่าของต่างประเทศสามสี่เท่า เมื่อมีการประกาศค่าเงินบาทลอยตัว เรานั่งมองตัวเลขของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลล่าห์ที่ปรับขึ้นทุกวัน จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าห์ ถีบขึ้นไปจนถึง 60 บาท นั่นล่ะ ถึงได้รู้ว่าเรื่องนี้กระทบกับเราโดยตรงเช่นกัน ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต้องโอนไปต่างประเทศ อยู่ดี ๆ ก็เพิ่มชึ้นเท่าตัว
ความหวังที่ว่าจะหาลูกค้าได้ไม่ยากก็ริบหรี่ ข่าวที่มีคนฆ่าตัวตายออกทีวีรายวัน ณ ตอนนั้นไม่เข้าใจหรอกว่า มันแย่ขนาดที่ต้องฆ่าตัวตายกันเลยเหรอ คนตกงานมหาศาล เจ้าของกิจการต้องมาเดินเร่ขายแซนวิช มาขับแท็กซี่ ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นของชาวกรุง
2
ตัวมดเองด้วยความที่ยังเด็ก และมีทุ่งลาเวนเดอร์อันกว้างขวางไว้ครอบครอง ไม่ได้มองว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตายอะไรนัก การที่เพิ่งตั้งบริษัททำให้เรายังมีเงินสดอยู่ในมือมากพอที่จะอยู่ได้สบาย ๆ ไปจนถึงปลายปี ซึ่งมันก็จริง เราอยู่กันมาแบบไม่เดือดร้อนโดยไม่มีลูกค้าเลยสักรายจนจบปี 2540
นั่นก็ถึงเวลาที่เราเริ่มกังวลว่า แล้วเราจะอยู่อย่างไรในปีต่อ ๆ ไป วิกฤตต้มยำกุ้งจึงเกิดกับมดจริง ๆ เมื่อเข้าปี 2541 ต่างหาก บริษัทที่เราตั้งขึ้นมามีพนักงานอยู่ 3 คนเท่านั้น จะว่าไปค่าใช้จ่ายหลักจริง ๆ ก็คือ ค่าเช่าร้าน ค่าเช่าเซอร์เวอร์ เงินเดือน และจิปาถะนิดหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็คือรายจ่ายคงที่เดือนละครึ่งแสน คำนวนดูแล้ว ถ้ายังอยู่แบบไม่มีลูกค้าแบบนี้ อีกไม่เกิน 6 เดือนเราต้องวอดวายและตายไปในที่สุด
อาการหนาว ๆ ร้อน ๆ เกิดขึ้นทุกวันที่ลืมตาตื่น สมองคิดหากลยุทธ์ทุกทางที่จะหาลูกค้ามาให้ได้ สักรายก็ยังดี หนังสือเคล็ดลับ วิธีลัด ฯ ถูกกางออกมาชำแหละ เพื่อหาวิธีให้เหมาะกับสถานการณ์ของบริษัทเรา และนำมาใช้กันรายวัน
ดังนั้นเวลาใครในปัจจุบัน เอ่ยถึงอดีตของวิกฤตต้มยำกุ้ง มดจึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “จำได้” และจำได้ขึ้นใจจริง ๆ มันคือความเครียดตลอดระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2541 มีการทะเลาะกันกับหุ้นส่วนในบริษัท มีการร้องไห้ด้วยความอัดอั้น มีความเหนื่อยกับภาระที่แบกไว้บนหลัง มีความหวัง มีความท้อ ....
แต่เราก็ผ่านมันไปได้ มดเปิดบริษัทนี้กับเพื่อนอยู่เจ็ดปี มีลูกค้าผ่านมือมาทั้งบริษัทห้างร้านเล็ก ๆ ไปจนถึงบริษัทใหญ่ระดับโลก ทั้ง ๆ ที่เราก็ยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่มีกันอยู่ 3 คนนั่นแหละ
1
โหลด font ใหม่มาเล่น จาก FontCraft.com
ในวันนี้เกิดวิกฤตโควิด19 ขึ้นมาอีกครั้ง มันจะหนักเท่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วหรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้มดไม่ใช่เด็กสาวอายุ 20ปีคนเดิมอีกต่อไป อาจจะไม่มีความมุ่งมั่นและมองโลกในแง่ดีสุด ๆ แบบตอนนั้น แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่ดีขึ้นมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงในจิตใจ สายตาที่มองโลกแบบเข้าใจขึ้น
1
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันที่มดต้องเดินทางกลับสวิสและมีข่าวว่าประเทศสวิสประกาศมีผู้ติดเชื้อไวรัส 1 คน วันนั้นเป็นวันเริ่มต้นการตื่นตระหนกของลูกค้าของมด จากที่คอยประคองความรู้สึกกันไว้มาร่วมเดือน ทลายลงอย่างไม่เป็นท่า ด้วยข่าวสั้น ๆ ข่าวเดียว ลูกค้าทยอยติดต่อกันมาทีละคนสองคน ณ เวลานั้นคนที่ตั้งตัวไม่ติดและแทบจะรักษาอาการไม่ได้มากที่สุดก็คือตัวมดเอง
เป็นความประมาทที่ไม่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในเรื่องนี้ ทั้ง ๆ คติประจำใจที่ใช้มาตลอดชีวิตคือ Hope for the Best and Prepare for the worst ถ้าเตรียมรับมือกับเรื่องที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่ะก็ อะไรก็ไม่สามารถมากระทบจิตใจได้ทั้งนั้น
3
แต่ในเมื่อไม่ได้เตรียมใจ ความเครียดความกังวลต่าง ๆ ก็รุมจับทันที จากตารางทริปของปีที่ถูกจองเต็มแน่นตั้งแต่มีนาคมไปจนถึงกรกฎาคม แน่นจนแทบจะไม่ได้พักหายใจ ก็เริ่มดูเหมือนว่าจะได้นอนหายใจทิ้งยาว ๆ หลายเดือน
เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ วันที่ 27-28-29 กพ มดไม่สามารถนอนหลับได้อย่างปกติสุข คอยตื่นมาเช็คว่าจะมีข้อความจากลูกค้ากลุ่มไหนส่งมาสอบถาม มายกเลิก มาเลื่อนหรือไม่ ถ้ามีข้อความมาก็ไม่อยากเปิดอ่าน ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ประวิงเวลาในการเปิดข้อความขึ้นมาอ่านอยู่เป็นชั่วโมง พอมีสายโทรเข้า ใจก็ตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม ยิ่งเห็นชื่อคนโทรมาก็ยิ่งไม่อยากจะรับ นั่นมันลูกค้ากลุ่มนั้นนี่ โอ๊ย จะโทรมาเลื่อนใช่มั้ย หรือจะโทรมายกเลิก
การที่ไม่ได้นอนอย่างเต็มที่ ในสมองเต็มไปด้วยฮอร์โมนเครียด สภาพร่างกายและจิตใจจึงเหมือนคนตกอยู่ในนรกทั้งเป็น ความชื่นบานของลูกสาวไม่ได้ช่วยฉุดให้แม่ขึ้นมาได้เลย จนเย็นวันที่ 29 ลูกเข้ามากอด น้ำตาคลอ ๆ แล้วพูดว่า “แม่คะ มะลิรู้สึกเหมือนแม่กลับมา แต่แม่ยังกลับมาไม่ครบ ยังขาดไปอีกครึ่งนึง”
2
เนี่ยลูกเรามันสายศิลปินเชิงดราม่า เด็กเจ็ดขวบที่ไหนจะสรรหาคำพูดอะไรแบบนี้มาพูดได้ เอาล่ะ เราก็ไม่อยากใช้ชีวิตแบบครึ่งบกครึ่งนรกแบบนี้ จึงเรียกประชุมกรรมการบริษัท (ผัวนั่นแหละ) ถึงสถานการณ์ The Worst ที่อาจจะเกิดขึ้น คุยกันเคร่งเครียดอยู่สองชั่วโมง เราหาทางออกในการแก้ปัญหาอะไรไม่ได้หรอก เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเหนือการควบคุม
2
แต่สิ่งที่ทำได้คือวางแผนว่าเราจะเดินไปทางไหน จะอยู่อย่างไร และจะหารายได้ทางไหนมาประคองรายจ่ายคงที่ เมื่อได้คำตอบสำหรับ Worse case แล้ว ทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้น สมองเริ่มเคลียร์ ความเครียดจางลงไป จากที่นั่งรอให้ลูกค้าติดต่อมาเอง ก็กลั้นใจติดต่อไปที่ลูกค้าก่อน เมื่อเริ่มทำได้จากรายแรก รายต่อ ๆ ไปก็ง่ายขึ้น แถมทำไปด้วยจิตใจที่มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มองผลประโยชน์ตัวเองเล็กกว่าความกังวลของลูกค้า
2
แม้การเลื่อนทริปออกไปหมด 3 เดือน มีนา เมษา พฤษภา จะไม่ใช่เรื่องดีที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยในสถานการณ์เช่นนี้เราก็สามารถจัดการมันได้ด้วยความสงบนิ่ง เข้าอกเข้าใจ ปราศจากความเครียดและเศร้าหมอง
1
เมื่อ Prepare for the worst เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึง Hope for the best บ้างแล้วล่ะ ชีวิตจะไม่มีความหมายเมื่อเราหมดหวัง
2
ไม่ว่าอีกสามเดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร Hope for the best จะช่วยทำให้สามเดือนระหว่างนี้ดำเนินชีวิตไปอย่างทุกข์น้อยที่สุด
1
❤️
เขียนไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563
(วันนี้ของปีที่แล้ว ช่วงที่เจอวิกฤตใหญ่ครั้งที่สองในการทำธุรกิจ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา