28 มี.ค. 2021 เวลา 10:17
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #11
The Ninth Wave เมื่อคลื่นถาโถม
2
ความโคลงเคลงที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันบนเรือโดยสารข้ามฟาก ทำให้เกิดเสียงสบถดังขึ้นบนเรือ ผู้โดยสารหลายคนรีบคว้าสิ่งใกล้ตัวเพื่อทรงตัวไม่ให้ล้ม คลื่นปะทะจากเรือบรรทุกขนาดใหญ่ที่แล่นสวนกับเรือข้ามฟากบนแม่น้ำอีสต์ (East River) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ผู้โดยสารบนเรือข้ามฟากเลยมักไม่ค่อยระมัดระวังคลื่นขนาดใหญ่ที่นานครั้งจะเกิดขึ้นสักครั้ง
เส้นทางเรือข้ามฟาก East River Ferry จากย่านบรุกลิน (Brooklyn) เข้าสู่แมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นเส้นทางที่โรเบอร์โต้มักเลือกใช้เดินทางในวันที่อากาศแจ่มใสและไม่เร่งรีบ แม้จะใช้เวลาบนเรือข้ามฟากไม่นานแต่ทัศนียภาพที่มองเห็นแมนฮัตตันกับความยิ่งใหญ่ของกลุ่มอาคารสูงระฟ้า ช่วยให้โรเบอร์โต้รู้สึกผ่อนคลายและพร้อมเข้าสู่ภาระหน้าที่ประจำวันของนักวิเคราะห์การลงทุน
คลื่นปะทะเรือที่เกิดขึ้นนี้ทำให้โรเบอร์โต้ย้อนระลึกถึงเมื่อเขายังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในชั่วโมงบรรยายเกี่ยวกับหลักการวิเคราะห์
สิบกว่าปีก่อนหน้า...
"เมื่อคืนไปไหนมาล่ะ ถึงเข้าเรียนสายกว่าสิบนาที นายเป็นนักศึกษาคนโปรดของโปรเฟสเซอร์ลุยจิ เชียวนะ"
มาร์โกหันมากระซิบถามโรเบอร์โต้ที่ทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ว่างด้านข้างในห้องบรรยายขนาดใหญ่
"เมื่อคืนปาร์ตี้หนักไปหน่อย เสียดายนายไม่ไปด้วย" โรเบอร์โต้รีบตอบมาร์โกแล้วหันมองไปที่ด้านหน้าห้องบรรยาย เขารู้สึกประหลาดใจกับภาพศิลปะขนาดใหญ่ที่โปรเฟสเซอร์ลุยจินำขึ้นจอแขวนขนาดใหญ่บนเวทีบรรยาย ภาพของลูกเรือบนซากเรือที่อัปปางท่ามกลางคลื่นยักษ์กลางผืนมหาสมุทรใหญ่
ภาพนี้เกี่ยวอะไรกับการบรรยายในวันนี้? โปรเฟสเซอร์ลุยจิมีเทคนิคการสอนที่่น่าสนใจเสมอเลย
"The Ninth Wave ของไอวาซอฟสกี (Ivan Aivazovsky) จิตรกรชาวรัสเซีย แสดงถึงคลื่นที่มีขนาดเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นหลังจากคลื่นลูกต่างๆ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ" มาร์โกเห็นโรเบอร์โต้ มีอาการมองภาพบนจอนิ่งเลยพูดขึ้น
"ภาพนี้เป็นผลงานที่รู้จักกันดี ชื่อ คลื่นลูกที่เก้า (The Ninth Wave) เป็นภาพที่เข้ากับหัวข้อบรรยายในวันนี้ คือ ทฤษฎี Elliott Wave Cycle ที่จำลองพฤติกรรมของกราฟที่ขึ้นลงในลักษณะเป็นลูกคลื่น ผลจากพฤติกรรมการซื้อขายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาแบบซ้ำๆ หลายครั้ง จนปรากฎแนวโน้มราคาบนกรอบเวลาหนึ่งๆ" โปรเฟสเซอร์ลุยจิเริ่มการบรรยาย
"ในทางการลงทุนมีผู้นำทฤษฎีนี้ไปใช้วิเคราะห์แนวโน้มด้านราคาของหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน เราจึงต้องทำความเข้าใจกับทฤษฎีนี้"
"Ralph Nelson Elliott สังเกตว่า การเคลื่อนไหวของตลาดมักเกิดโครงสร้าง 5-3 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นที่มาของทฤษฏี Elliott Wave Cycle"
"การเคลื่อนที่ของราคาที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) กราฟจะปรับตัวขึ้นแบบ 5 คลื่น ที่พุ่งทะยานขึ้นไป และตามมาด้วย 3 คลื่นที่ปรับตัวลง สำหรับในรอบที่เป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) จะมีรูปแบบกลับข้าง คือ 5 คลื่น ที่ปรับตัวลง และ 3 คลื่น ที่ปรับตัวขึ้น"
Credit : www.fxstreet.com/education/elliott-waves-in-a-nutshell
"เมื่อคลื่นที่ 5 ขึ้นถึงจุดสูงสุดหรือลงถึงจุดต่ำสุด จะเกิดการปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกันเป็นกราฟ A B C ซึ่งนับได้เป็นคลื่นลูกที่ 8 จากนั้นแนวโน้มก็จะเข้าสู่วงจรรอบใหม่ หากเราจะนับคลื่นลูกที่ 9 ก็คือคลื่นที่ 1 ของกราฟในรอบใหม่นั่นเอง"
จากนั้นโปรเฟสเซอร์ก็อธิบายรูปแบบการวิเคราะห์กราฟแบบ Elliott Wave ในรายละเอียดให้กับนักศึกษาทุกคน
The Ninth Wave - Hovhannes Aivazovsky  (1850) : State Russian Museum
ก่อนจบการบรรยาย โปรเฟสเซอร์ลุยจิ เปิดภาพ The Ninth Wave ขึ้นมาอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นภาพแบบเต็ม ทำให้เห็นลูกเรือบนซากอัปปางของเรือเป็นเพียงส่วนเล็กๆ กลางกลุ่มคลื่นยักษ์ คลื่นลูกที่ 9 อยู่ห่างออกไปไกลๆ ทางขวามือของภาพ บนยอดคลื่นปรากฎแสงสว่างสีเหลืองส้มเรืองรอง ให้ความรู้สึกลางเลือนถึงโอกาสรอดของลูกเรือเหล่านี้
"เรามาดูภาพนี้กันอีกครั้ง ลูกเรือบนซากอัปปาง กับคลื่นขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปบอกเราว่า หากเรือที่กำลังแล่นผ่านคลื่นทั้ง 8 ลูกนี้ไม่สามารถฝ่าไปได้และอัปปางลงก่อน คลื่นลูกที่ 9 จะกลายเป็นคลื่นลูกที่พัดถล่มให้ลูกเรือเหล่านี้หมดโอกาสไปสู่แสงสว่างเรืองรองที่อยู่หลังคลื่นลูกที่ 9"
"ไม่ใช่ทุกคลื่นที่ทำให้เรืออัปปางได้ ในฐานะว่าที่นักวิเคราะห์การลงทุน พวกคุณต้องหาคลื่นลูกที่สามารถสร้างความเสียหายหนักจนทำให้เรืออัปปางให้พบ"
"วันหนึ่งเมื่อพวกเรามีหน้าที่รับผิดชอบในการวิเคราะห์แนวโน้มราคา พึงระลึกว่าเรายังมีภาระในการนำลูกเรือของเราให้แล่นไปจนถึงฝั่ง บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องแล่นฝ่าคลื่นลมที่กระหน่ำอย่างหนักหน่วงทุกลูกเสมอไป"
"อย่าให้เราต้องเป็นเหมือนกัปตันเรือ Flying Dutchman ที่เชื่อมั่นในตัวเองจนเกินไปและพยายามแล่นฝ่าสภาพอากาศที่เลวร้ายโดยไม่ฟังคำทัดทานของลูกเรือ จนสุดท้ายเรือชนเข้ากับโขดหินและทุกคนบนเรือต้องจมไปพร้อมกับเรือ"
Flying Dutchman - Albert Pinkham Ryder (1887) :  Smithsonian American Art Museum, Gift of John Gellatly
โปรเฟสเซอร์ลุยจิ ปิดการบรรยายด้วยภาพศิลปะอีกชิ้นที่มาจากเรื่องเล่าขานของ The Flying Dutchman ที่ถูกสาปให้ท่องไปทั่ว 7 คาบมหาสมุทรอย่างไม่วันจบสิ้น
เรือแล่นเข้าจอดเทียบท่าเรือที่ 11 ถนนวอลล์สตรีท ทำให้โรเบอร์โต้หยุดความคิดลงเพื่อเตรียมก้าวลงจากเรือ หลักการที่เขาได้รับจากชั้นเรียนวันนั้นยังคงเป็นหลักการที่โรเบอร์โต้ใช้ในการทำงานในหน้าที่นักวิเคราะห์การลงทุนเสมอมา เพื่อนำพาทุกคนให้ไปถึงแสงสว่างเรืองรองที่อยู่หลังคลื่นลูกที่ 9 ของทุกๆ คน
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ โดยนำไอเดียเรื่องสั้นแนวศิลปะของพี่บี เพจให้เพลงพาไป มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินพื้นฐาน แต่ละตอนถูกเขียนให้มีตัวละครที่เชื่อมโยงกัน แต่ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์สมมุติเพื่อความบันเทิง อาจมีบางส่วนจากเรื่องราวหรือตัวตนของบางท่านที่นำมาใช้เป็นโครงของเรื่อง และเป็นมุมมองของผมซึ่งอาจยังไม่ถูกต้องครบถ้วน อ่านเพื่อความสนุกเท่านั้น
ตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่สมมุติขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือชี้นำใดๆ และบางส่วนอาจอิงข้อมูลที่ค้นจากแหล่งต่าง รวมทั้งการแต่งขึ้นตามจินตนาการที่ไม่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ ผมขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ภาพประกอบ เจ้าของประโยคข้อความต่างๆ และผู้ที่ถูกเชื่อมโยงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
สำหรับผู้อ่านที่สนใจศึกษาเรื่อง Elliott Wave สามารถค้นคว้าได้จากเพจต่างๆ ที่เขียนเรื่องนี้ไว้มากมายครับ
Flying Dutchman อาจเป็นที่รู้จักของเราในฐานะเรือผีสิง ในภาพยนต์เรื่อง Pirates of The Caribben ซึ่งก็นำเค้าโครงมาจากตำนานของเรือที่เล่าขานกันมานานครับ
โฆษณา