1 เม.ย. 2021 เวลา 23:58 • การเมือง
สำนักงานสหประชาชาติประจำเมียนมา ที่นครย่างกุ้ง ประกาศแจ้งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ เมื่อวันพฤหัสบดี (1 เม.ย. 64) ว่า ผู้บริหารหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของสหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก ได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่และครอบครัวที่ประสงค์จะเดินทางออกจากเมียนมา สามารถเดินทางได้ทันที
หมายเหตุภาพ AP ผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร เผชิญหน้ากับตำรวจในนครย่างกุ้ง
สำนักงานสหประชาชาติที่ย่างกุ้งย้ำว่า ประกาศฉบับนี้เป็นเพียงคำเตือน และเป็นมาตรการชั่วคราว
ทางด้าน อากิโอะ นากายามา หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM ทวีตข้อความยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในสำนักงานที่เมียนมา จะปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในเมียนมาต่อไป เพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปกครองด้วยระบบกฎหมายที่เป็นธรรม และเสรีภาพ
IOM มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental organization) มีบทบาทหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งผู้ลี้ภัย ทั้งภายในประเทศ (IDP) และลี้ภัยข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นไปด้วยดี ผู้ลี้ภัยใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างมีความสุข
IOM รายงานสถานการณ์ในเมียนมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ว่า เป็นประเทศที่มีการอพยพโยกย้ายประชากรในอัตราที่ค่อนข้างสูง ทั้งการอพยพภายในประเทศ และการอพยพไปต่างประเทศ
ประมาณว่า ประชากรเมียนมาทุก ๆ 4 คน ต้องมีอย่างน้อย 1 คน อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
IOM ระบุว่า วิกฤตการเมืองเป็นปัจจัยหลัก ที่ผลักดันประชากรเมียนมาต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ดังเช่น กรณีเหตุการณ์ลอบวางเพลิงที่เขตอุตสาหกรรมไล ทา ยา (Hlaing Thar Yar) ในนครย่างกุ้ง ซึ่งกองทัพเมียนมา มีปฏิกิริยาด้วยการประกาศกฎอัยการศึก และปราบปรามประชาชนรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่นั้น ส่งผลให้ประชาชนอพยพออกจากไล ทา ยา จำนวนมาก
ประชากรในเขตไล ทา ยา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพจากชนบทเข้ามาหางานทำในย่างกุ้ง เช่นเดียวกับคนงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป และอื่น ๆ ในย่างกุ้ง ล้วนมีพื้นเพเป็นคนในชนบท เป็นส่วนใหญ่
📌อัปเดตสถานการณ์การเมืองเมียนมาได้ที่ www.thaipbs.or.th/MyanmarPolitics

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา