3 เม.ย. 2021 เวลา 16:58 • ข่าว
ทุกครั้งที่ผู้เขียนเห็นข่าวการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ สถานีใหม่ ๆ นอกจากความยินดีที่มีให้แล้ว มันยังมีอีกความคิดนึงที่สปาร์คขึ้นมาในหัวตลอดว่า “แล้วบัตรแมงมุมล่ะ ต้องรอให้เปิดครบอีกกี่สายกัน ถึงจะได้ใช้จริง ๆ จัง ๆ สักที”
ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผู้โดยสารหลายท่านต่างฮือฮาและขานรับกับโปรเจกต์บัตรร่วมที่ใช้จ่ายค่าโดยสารได้ทั้งรถไฟฟ้า BTS, MRT รวมไปถึงสาย Airport Link
แต่สุดท้ายอย่างที่ทราบกันดีว่า โปรเจกต์บัตรแมงมุมก็กลายเป็นหมันเป็นที่เรียบร้อย สูญเงินไปร่วม 600 ล้านบาทโดยที่กระทรวงคมนาคมไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ตามแผนที่ตั้งไว้
โดยปัญหาหลัก ๆ ที่เผยออกมาก็คือ ทั้ง 2 เจ้าไม่สามารถเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กันได้ เพราะทั้งฟากบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือผู้เดินรถไฟฟ้า BTS กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ผู้เดินรถไฟฟ้า MRT มองว่ามีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบเพื่อให้เชื่อมถึงกันสูงเกินไป รวมถึงมีวิธีการกำหนดค่าโดยสารที่แตกต่างกัน
จึงเป็นผลให้ในแง่ปฏิบัติแล้ว บัตรแมงมุมใช้ได้แค่เฉพาะรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินกับม่วงเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างชัดเจน
https://www.kobkid.com/news-condominium/เมื่อรัฐสนับสนุน-emv-และลดบทบาทของบัตรแมงมุมลง-เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีโลก
แต่ความผิดพลาดครั้งแรกคือบทเรียนที่ดีที่สุดเสมอ ทางผู้เดินรถไฟฟ้า MRT ซึ่งรับหน้าเสื่อเป็นผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วม มีแนวคิดที่จะได้อัปเกรดบัตรแมงมุมเป็นบัตร MRT Plus ใช้กับสายสีน้ำเงิน สีม่วง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ระบบเทคโนโลยี “บัตร EMV” ที่ใช้บัตรเครดิตและเดบิตจ่ายค่าบริการรถไฟฟ้า รถเมล์ ทางด่วน เรือ และร้านค้าในระยะยาว มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้เสนอตัวจะลงทุนให้
พอมาถึงขั้นนี้ฝั่ง BTS มองว่าเป็นความคิดที่เข้าท่าทีเดียว อย่างน้อย ๆ ก็ดีกว่าบัตรแมงมุมในครั้งก่อน หลาย ๆ ฝ่ายจึงเริ่มมองเห็นสัญญาณที่ดีในการจะจับมือกันของ 2 เจ้าชัดขึ้นเรื่อย ๆ
มีการเซ็นข้อตกลง MOU กันเรียบร้อยเป็นมั่นเหมาะในวันที่ 27 มีนาคม 2563 ระหว่างบริษัทผู้เดินรถไฟฟ้า BTS กับ MRT รวมไปถึง กทม. และ สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
แต่จนถึงปัจจุบันนี้ (3/4/64) ทุกอย่างก็ยังดูคลุมเครือเหมือนรถติดหล่มที่เร่งเครื่องยังไงก็ไม่ไปข้างหน้าสักที บัตรที่มีก็ยังคงใช้ได้แค่สำหรับรถไฟฟ้า MRT เหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? คราวนี้ปัญหามันเกิดจากตรงไหนกันล่ะ?
https://www.tech-hangout.com/ktb-metro-link-debit-card-smartway-for-bangkok-journe/
สาเหตุที่ทำให้โปรเจกต์นี้ที่แม้จะถูกขัดเนื้อขัดตัวแล้วมาในชื่อใหม่ยังคงสะดุดอยู่นั้น ส่วนหนึ่งมาจาก “ปัญหาโควิด” ผู้คนสัญจรด้วยระบบขนส่งสาธารณะกันน้อยลงในช่วงนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบเปิดใช้งาน
แต่มีการเปิดเผยจากวงในออกมาว่า จริง ๆ แล้ว เรื่องนั้นเป็นประเด็นรองเสียมากกว่า ปัญหาที่แท้จริงก็คือ “1 ใน บริษัทเอกชนที่ร่วมเซ็น MOU ในครั้งนี้เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากลงทุนปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้รับบัตรโดยสารของกันและกันได้”
โดยบริษัทนั้นอยากที่จะให้หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ลงทุนในส่วนนี้ให้ โดยที่จะรองรับกับ “ระบบ EMV” ที่มีธนาคารกรุงไทยดำเนินการให้ในคราวเดียวเลยมากกว่า
แต่จะให้หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ลงทุนแทน และอยากจะข้ามชอตไปที่ “ระบบ EMV” ที่มีธนาคารกรุงไทยดำเนินการให้ในคราวเดียว
เอวัง ก็เป็นด้วยประการฉะนี้ ที่ทำให้ทุกอย่างยังล่มกลางคันอยู่แบบนี้
เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสะท้อนถึงความล้มเหลวเชิงนโยบายที่กวัดแกว่งไปมาเพราะความไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจของฝั่งรัฐบาล การขาดความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือขาด “ความจริงใจในการทำธุรกิจร่วมกัน”
ดูจากสถานการณ์แล้ว ผู้โดยสารก็ยังคงต้องร้องเพลง “รอเก้อ” กันต่อไปอีกสักระยะอย่างแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา