6 เม.ย. 2021 เวลา 04:39 • ข่าว
ย้อนกลับไปสักเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วเราอาจจะเห็นกระทู้ตามพันทิปบอกเล่าถึงการลาออกจากงานประจำ หรือคนตกงานแล้วมาสมัครเป็นไรเดอร์ส่งอาหารได้เงินปาไป 30,000-40,000 ต่อเดือน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหากเราลองสังเกตตามสี่แยกไฟแดง หรือรถที่วิ่งสวนขึ้นบนทางเท้า จากปกติที่เราจะเห็นแค่วินมอเตอร์ไซค์ มาตอนนี้เราจะเห็นคนขับขี่เสื้อเขียว เสื้อส้ม เสื้อชมพู ที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อรีบไปส่งอาหาร เพิ่มมาด้วย
หากเทียบในเส้นกราฟแล้ว อาชีพนี้กำลังอยู่ในจุดไหน ก่อนช่วงพีค? กำลังพีค? หรือกำลังดิ่งลงอย่างฮวบฮวบจนน่าตกใจ
หากพร้อมแล้ว เราลองมาเปิดเลนส์ส่องอนาคตของอาชีพนี้กันดู
เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food delivery) ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนทั้วทุกแห่งหนที่บริการนี้เข้าถึง
ย้อนกลับไปสักประมาณสี่ซ้าห้าปีที่แล้ว เราเคยใช้ชีวิตด้วยการออกไปทานข้าวตามร้าน หรือทำกับข้าวทานเองตามปกติมาได้นานแสนนาน แต่เราคงคาดไม่ถึงแน่ ๆ ว่า ปากท้องเราช่วงนี้จะมาพึ่งอยู่กับการสั่งอาหารออนไลน์
สิ่งที่ทำให้มันบูมขึ้นมานั้นมาจากปัจจัยหลัก ๆ 2 อย่างนั่นก็คือ การเข้ามาของแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มขนาดย่อมที่เข้ามาท้าทายเจ้าตลาดเดิมที่ตั้งอยู่ตามห้าง แบรนด์ร้านพวกนี้จะใช้กลยุทธ์การกระจายพื้นที่ เน้นมีปริมาณมากสาขาเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย เน้นโปรโมทให้ผู้คนจดจำง่าย ไปที่ไหนก็เจอ
อีกปัจจัยนึงก็คือ การผุดขึ้นของเพจรีวิวอาหารมากมาย เพจรีวิวอาหารเหล่านี้ทำให้ร้านอาหารข้างทางไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะคนแถวนั้นอีกต่อไป แต่จะทำอย่างไรล่ะถึงจะให้คนจากโซนอื่น ๆ ได้ลิ้มรสความอร่อยได้อย่างสะดวก
ยังมีปัจจัยยิบย่อยต่าง ๆ อีกมากที่เอื้อแก่การมาถึงธุจกิจจำพวกนี้เช่น สถานการณ์บังคับที่ผู้คนต้อง WFH (Work from home) มากกว่าแต่ก่อน, พลวัติการเติบโตของความเป็นเมืองแบบไทย ๆ เป็นต้น
เมื่ออุปสงค์เท่ากับอุปทาน ก็ถึงคิวของสตาร์ทอัพหัวหมออย่าง Grab, Foodpanda, Line man, Gojek ที่เข้ามาบุกตลาดนี้เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่รักความสะดวก และมีแนวโน้มว่าจะมีเจ้าใหม่ ๆ ที่หันมาเปิดบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน
https://workpointtoday.com/food-delivery-platform-no-profit/
แต่เชื่อหรือไม่ว่าจนถึงปัจจุบันนี้ (5/4/64) ยังไม่มีธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าไหนทำกำไรได้เป็นที่น่าพอใจเลยสักเจ้า
เพราะฉะนั้นมันอาจจะฟังดูแหม่ง ๆ ไปสักเล็กน้อย ถ้าหากในองค์กร ๆ หนึ่ง ลูกน้องจะได้เงินเดือนที่น่าพอใจสวนทางกับเจ้านาย คำถามก็คือ เรื่องนี้เป็นไปได้จริง ๆ อย่างนั้นเหรอ?
คำตอบก็คือ เป็นไปได้ครับ ถ้าหากว่าคุณซิ่งรถหน้าตั้งอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงเป็นไรเดอร์ขับรถส่งอาหารให้กับหลายเจ้า และมันอาจจะเป็นไปได้ง่ายกว่านี้ใน 1-2 ปีที่แล้วที่ตลาดนี้กำลังอยู่ในช่วงมาแรง
แต่นั่นคือเหตุการณ์ที่ “น่าจะ” เป็นไปได้ในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติจริงมันมีเงื่อนไขจิปาถะจากเรื่องส่วนตัวและบริษัทมากมายที่ทำให้ไรเดอร์แต่ละคนไปไม่ถึงยอดที่ตั้งเอาไว้ในใจ
https://workpointtoday.com/food-delivery-platform-no-profit/
Foodpanda: ที่นี่จะมีการแบ่งระดับไรเดอร์ออกเป็นแบตช์ (Batch) หากคุณเข้ามาใหม่ก็ต้องลงไปทำคะแนนจากระดับล่างขึ้นมาก่อน โดยแต่ละจังหวัดเรทอาจจะไม่เท่ากัน แต่ทั่วไปแล้วหลังจากหักค่าหัวคิวจากทางบริษัท จะตกที่ออเดอร์ละ 26-28 บาท ลดหลั่นกันไปตามแบตช์ ข้อดีอีกอย่างนึงของคนที่อยู่แบตช์ระดับต้น ๆ คือ จะได้เลือกช่วงเวลาการทำงานก่อน
ที่นี่จะมีการแบ่งเป็นแต่ละรอบเช่น 7:00-12:00, 8:00-13:00, 9:00-14:00 เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่กว่ารอบจะถึงมือคนที่อยู่แบตช์ท้าย ๆ มันก็เต็มหมดแล้ว เพราะฉะนั้นใน 1 วันเขาจะจำกัดคนวิ่งในแต่ละรอบ นั่นหมายความว่า คุณมีโอกาสสูงมากที่จะไม่ได้ทำงานหากคุณอยู่ในแบตช์ท้าย ๆ
ซึ่งวิธีการคำนวณแบตช์ก็จะดูจากเรื่อง เข้างานเยอะไหม ออกงานก่อนเวลาไหม ฝนตกหนัก น้ำท่วม พายุเข้าก็ยังทำถ้าอยู่ในเวลางาน ไม่สาย ไม่ขาดงานสักวันเดียว หรือทำออเดอร์ได้เยอะ
ไรเดอร์สามารถลาหยุดได้นานแค่ไหนตามที่ต้องการ จะแค่ 1-2 วันก็ได้ แต่แค่นี้มันก็เพียงพอแล้วเช่นกันที่จะทำให้คะแนนของไรเดอร์ที่อยู่แบตช์สูง ๆ ตกลงมาอยู่แบตช์ท้าย ๆ
ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่น ๆ อย่าง ร้านอาหารทำนาน ฝนตกถนนลื่น รถติด ลูกค้าปักหมุดไม่ตรง ช่วงเวลางานที่เราเลือกมีออเดอร์เข้ามาน้อย ค่าสึกหรอของยานพาหนะ ค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายเอง หากอยากได้สวัสดิการที่ดีมีประกันต่าง ๆให้ ต้องทำงานครบอย่างต่ำ 6 เดือน แต่ก่อน 6 เดือนหากเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต บริษัทไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
https://www.matichon.co.th/lifestyle/tech/news_2301023
Grab: ข้อดีอย่างนึงของการทำงานที่นี่คือ การได้เป็นเจ้านายตัวเองอย่างแท้จริง อยากออกวิ่งตอนไหนแค่กดเปิดรับออเดอร์ในมือถือ อยากหยุดก็แค่กดปิด
ข้อดีอีกอย่างคือที่นี่จะไม่มีการกำหนดโซนวิ่ง จะวิ่งข้ามจังหวัดก็ได้ถ้าหากมีออเดอร์เข้ามา ยิ่งส่งไกลยิ่งได้เงินค่าส่งเยอะ โดยทั่วไปแล้วจะได้ออเดอร์ละ 30 บาทในรัศมีส่ง 5 กม. โดยค่าคอมมิชชั่นจะหักต่างหาก
ซึ่งในแอพคนขับของ Grab ทุกคนจะมีกระเป๋าเงินในแอพ 2 กระเป๋า
กระเป๋าใบแรกคือกระเป๋าเครดิต เมื่อรับงานใดๆก็ตาม ค่าคอมมิชชั่น จะถูกหักจากกระเป๋าใบนี้ ถ้ามีเงินไม่พอกับค่าคอมมิชชั่นในกระเป๋าเครดิต ก็ไม่สามารถรับงานได้
กระเป๋าใบที่สองคือกระเป๋าเงิน เวลาลูกค้าจ่ายเงินผ่านบัตรเงินจะเข้ากระเป๋านี้ หรือเวลาลูกค้าใช้ส่วนลดจากโปรโมชั่น เงินส่วนต่างที่ลดให้ลูกค้าก็จะเข้ากระเป๋านี้เช่นกัน เงินในกระเป๋านี้สามารถโยกไปกระเป๋าเครดิต เพื่อเอาไว้ให้หักคอมมิชชั่นได้ หรือสามารถถอนออก โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีระบบโบนัสเป็นการสะสมเพชรที่แลกเป็นเงินได้ไว้ล่อตาล่อใจไรเดอร์ในการทำยอดให้สูงกว่าเดิม
ทาง Grab มีค่าประกันอุบัติเหตุรองรับให้คนขับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างจัดส่งรายการอาหารเท่านั้น ระหว่างที่ขับขี่หาร้านหรือออเดอร์ ทาง Grab จะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ปัญหาหลัก ๆ เลยสำหรับเจ้านี้คือ “ไรเดอร์ล้นเมือง” ในชั่วโมงเดียวกันอาจมีไรเดอร์หลักพัน ต่อจำนวนออเดอร์แค่เพียงหลักร้อยเท่านั้น สัดส่วนการได้จำนวนออเดอร์จาก Grab มีน้อยกว่า Foodpanda เป็นอย่างมากในหลาย ๆจังหวัด
และเมื่อไม่ได้ถูกกำหนดโซนวิ่ง ไรเดอร์มือใหม่ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจุดไหนคือ แหล่งทำเงิน (Hot Spot) ที่ควรจะวิ่งบ่อย ๆ
นอกจากนี้คะแนนดาวจากลูกค้าสำคัญมาก ๆ ได้ดาวน้อยสะสมมากเข้าอาจถูกพักงาน จนถึงขั้นถูกตัดสัญญาณวิ่งได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หากคุณทำงานดีเกินไป เช่น ส่งอาหารเร็วเกินไป ได้แต้มเพชรเยอะทุกวัน ได้ดาวเยอะติด ๆ กันมากเข้า ทางระบบอาจเด้งขึ้นว่าเป็นการทุจริตได้ จนโดนระงับสัญญาณวิ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว
https://www.lazada.co.th/products/lineman-garb-foodpanda-robinhood-gojek-wongnai-i1774546421.html
ในขณะที่เจ้าอื่น ๆ กฏเกณฑ์ก็จะไม่หนีกันมาก อย่างล่าสุด Line Man ประกาศเลิกรับสมัครไรเดอร์หน้าใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีของปัญหา “คนขับเกินความต้องการของตลาด”
เมื่อบวกรวมกับเงื่อนไขที่แต่ละบริษัทตั้งไว้ หักลบกลบหนี้แล้ว มีไรเดอร์เกือบ 80% ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันที่ตั้งใจไว้ บางคนยอมออกกลางคันเพราะค่าแรงไม่คุ้มกับความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างในชีวิต
แต่แน่นอนว่าพีระมิดประชากรแบบนี้ก็ย่อมมีคนส่วนน้อยอยู่บนยอดแหลมๆ แคบ ๆ ที่ประสบความสำเร็จได้เงินเป็นกอบเป็นกำ สมกับหยาดเหงื่อที่เสียไปกับการขับขี่ทั้งวัน ทุกวัน
แต่มันจะเป็นแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน เมื่อจำนวนขาเข้าที่จ่อคิวยื่นใบสมัครยังมีจำนวนมากกว่าจำนวนคนขาออก ผู้ใช้งานแอพสั่งอาหารทุกเจ้าเท่านั้นคือผู้ที่จะจุดชนวนระเบิดเวลาลูกนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา