15 เม.ย. 2021 เวลา 13:48 • ข่าว
หากเจ้าหญิงแอนน์คือเชื้อพระวงศ์ที่ไม่โปรดปรานการตกเป็นข่าวรายวันเข้าไส้ หลานของท่านคนนี้คือบุคคลขั้วตรงข้ามอย่างแท้จริง
เรียนกันตามตรงสิ่งนี้คือ ความแตกต่างระหว่างยุค (Difference in age) เจ้าหญิงแอนน์คือบุคคลที่เติบโตมาในช่วงเวลาที่กรอบความคิด (Mindset) เป็นแบบหนึ่ง แต่ลูกๆ หลาน ๆ ในราชวงศ์เติบโตมาอีกแบบหนึ่ง แต่เชื้อพระวงศ์ท่านอื่นยังเลือกท่าทีประนีประนอม พยายามไม่ให้เกิดการชนกันระหว่างคนจาก 2 ยุคมากเกินไป
และบุคคลผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุคแห่งซัสเซกซ์ พระราชโอรสองค์รองของเจ้าชายชาร์ลส์กับเลดี้ ไดอาน่า สเปนเซอร์ เป็นพระอนุชาของเจ้าชายวิลเลี่ยมและเป็นพระราชนัดดาของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 กับ เจ้าชายฟิลิป (อดีตลำดับสันตติวงศ์หลายเลข 6)
https://www.wegointer.com/2018/09/9-fact-about-prince-harry/
เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รี่ประกาศยุติบทบาทการเป็นเชื้อพระวงศ์และการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ “อย่างเป็นทางการ” ภายหลังที่เมื่อปีที่แล้วประกาศเหตุการณ์ที่ช็อกหัวใจทุกคนในสมาชิกตระกูลวินด์เซอร์ว่า ตนและพระชายา “ดัสเชสแห่งซัสเซกซ์” จะประกาศลดบทบาทตัวเองในราชวงศ์ชั้นสูง
เพราะฉะนั้นบทบาทของเจ้าชายแฮร์รี่หลังจากนี้จะมีเพียงแค่การมาเข้าร่วมงานพระราชพิธีศพพระอัยกาของตัวเองเท่านั้น เสร็จแล้วก็จะบินกลับไปที่บ้านพักของตัวเองในแคลิฟอร์เนียทันที
ในส่วนท่าทีของข้าราชบริพารในวังหรือเชื้อพระวงศ์ระดับสูงนั้น จะค่อนข้าง “ผ่อนคลาย” กับการตัดสินใจของเจ้าชายแฮร์รี่ในครั้งนี้
เพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีในรั้ววังว่า “อุปนิสัยของเมแกน มาร์เคิล พระชายาของพระองค์เข้ากับคนอื่น ๆ ไม่ได้” แม้แต่ตัวเจ้าชายฟิลิปผู้ล่วงลับหรือควีนเอลิซาเบธที่มักจะไม่ค่อยก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูกหลาน ยังเคยออกมาห้าม มาปรามตัวลูกสะใภ้คนนี้อยู่เนือง ๆ ว่า “เพลา ๆ ลงบ้าง”
1
เจ้าชายแฮร์รี่จึงตกอยู่สภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อภายในวังไม่มีพื้นที่ให้กับเสรีภาพการแสดงออกในฐานาปัจเจกบุคคล พระองค์จึงมองว่าเป็นการดีกว่าที่จะเป็นฝ่ายไปเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทิ่มแทงใจทั้ง 2 ฝ่าย
เมื่อเจ้าชายแฮร์รี่และชายาเลือกทางเดินของตัวเองอย่างแน่วแน่แล้ว นั่นจึงเป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมเวลาเราอ่านข่าว เรามักพบแต่ชื่อของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิลอยู่บ่อย ๆ บางทีเผลอ ๆ ได้ยินบ่อยกว่าชื่อพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เองเสียด้วยซ้ำไป
1
ซึ่งบางทีตัวท่านอาจไม่ได้อยากเป็นข่าวอะไรขนาดนั้น แต่เพียงเพราะสถานะทางสังคมที่เจ้าชายแฮร์รี่กำลังเป็นอยู่ มันทำให้คนเข้าถึงง่ายจนกลายเป็นว่า “ข่าวมันเดินมาหาท่านเองโดยอัตโนมัติ ทำอะไรคนก็ให้ความสนใจใคร่รู้เสมอ”
เป็นเคสตัวอย่างชั้นดีของคำว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” อย่างแท้จริง
https://www.thaipost.net/main/detail/50475
เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชบุตรคนที่ 3 ของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 กับ เจ้าชายฟิลิป ต่อจากเจ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงแอนน์ (ลำดับสิบสันตติวงศ์หมายเลข 8)
ถ้าหากเจ้าหญิงแอนน์ถูกพูดถึงในแง่การเป็น “ลูกคนโปรด” ของเจ้าชายฟิลิป ในทางกลับกัน เจ้าชายแอนดรูว์ก็ถูกสื่อนำเสนอออกมาว่าเป็น “ลูกคนโปรด” ของควีนเอลิซาเบธที่ 2
แม้ควีนจะไม่เคยพลั้งพูดออกมาด้วยตัวเอง แต่มีการเปิดเผยออกมาจากวงในว่า สาเหตุที่ควีนรักใคร่เอ็นดูบุตรคนนี้มากกว่าคนอื่นเพราะช่วงให้กำเนิดเจ้าชายแอนดรูว์ ควีนเอลิซาเบธทรงปันเวลาจากงานพระราชกรณียกิจมาให้กับเจ้าชายแอนดรูว์ได้มากกว่าคนอื่น อีกทั้งท่าน “ยังเหนื่อยล้ามากเกินไป” กับการเลี้ยงพระโอรสองค์โตอย่าง เจ้าชายชาร์ลส์ เพราะด้วยลำดับศักดิ์ที่จะขึ้นมาคุมบังเหียนราชวงศ์ต่อ ทำให้มีข้อห้ามและระเบียบปฏิบัติการที่ยุ่งยากและน่าเหนื่อยใจมากกว่าบุตรองค์อื่น ๆ
ถึงกระนั้นก็ตาม ลูกชายคนโปรดคนนี้ของควีนได้ก่อเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับราชวงศ์อย่างยากที่จะให้อภัยนั่นก็คือ คดีข่าวฉาวการล่วงละเมิดทางเพศเด็กวัย 17 ปี จากการคบค้าสมาคมกับ เจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินชาวอเมริกันที่เบื้องหลังคือนักล่อลวงหญิงสาวไปค้าประเวณี
แม้เรื่องนี้จะไม่มีใครกล้ายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จมากน้อยประการใด (ยกเว้นตัวเหยื่อที่ออกมาแฉ) และแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิเสธหนักแน่นเสียงแข็งยังไงก็ตาม แต่จากรูปถ่ายที่ยืนยันความสนิทสนมชิดเชื้อในระดับหนึ่งกับตัวเจฟฟรีย์ และหลักฐานการพบปะนัดเจอกันบ่อยครั้งที่อเมริกา ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ขึ้นที่วังบักกิงแฮม จนในที่สุดเจ้าชายแอนดรูว์ก็ต้องประกาศขอ “ถอยหลัง” ออกมาจากบทบาทการเป็นสมาชิกราชวงศ์นี้ไปก่อนจนถึงปัจจุบัน
แต่บทบาทในความเป็นลูกนั้น ถือได้ว่าเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ได้ทำหน้าที่บกพร่องแม้แต่น้อย เพราะมีการเปิดเผยออกมาว่า เจ้าชายแอนดรูว์คือบุตรที่มีการติดต่อ และแวะมาเยี่ยมเยียนพระราชมารดาผู้ให้กำเนิดบ่อยที่สุด หนำซ้ำภายหลังการจากไปของเจ้าชายฟิลิป พระองค์คือเชื้อพระวงศ์คนแรกที่รีบรุดมายังวังบักกิงแฮมเพื่อให้กำลังใจควีนเอลิซาเบธที่ 2
ลึก ๆ เจ้าชายแอนดรูว์นั้นทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่พระเชษฐาของพระองค์อย่าง เจ้าชายชาร์ลส์ที่เป็นว่าที่ประมุขคนต่อไปของประเทศ มีท่าทีที่หนักแน่นเช่นกันว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้”
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำเล็ก ๆ ขึ้นระหว่างสองพี่น้องตระกูลวินด์เซอร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสะสางได้ในเร็ววัน
https://www.oprahdaily.com/entertainment/tv-movies/a34642998/prince-edward-windsor-facts/
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 กับ เจ้าชายฟิลิป (ลำดับสืบสันตติวงศ์หมายเลข 12)
อีกหนึ่งเชื้อพระวงศ์ที่เป็นที่รักใคร่ของสมาชิกคนอื่น ๆ ในความอุตสาหะอุทิศตนช่วยเหลืองานพระราชกรณีกิจอย่างไม่ปริปากบ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่เจ้าชายแอนดรูว์ก้าวถอยบทบาทการเป็นสมาชิกราชวงศ์ออกมา และการประกาศยุติบทบาทการเป็นสมาชิกราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รี่
เรื่องนี้ส่งผลให้งานราษฎร์ งานจิปาถะต่าง ๆ ถูกส่งมาถึงตัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะด้วยลำดับสถานะตามกฏมณเฑียรบาล เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะไม่ค่อยถูกส่งไปทรงงานหลวง หรืองานพระราชพิธีใหญ่ ๆ ข้ามหน้าข้ามตาเจ้าชายท่านอื่น
และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรา บุคคลภายนอกจากประเทศโลกที่ 3 มักไม่คุ้นหน้าคุ้นตากับเจ้าชายท่านนี้ สื่อหลักต่าง ๆ มักไม่ค่อยลงข่าวหรือพูดถึงมากเท่าไหร่นัก เพราะทั้งชีวิตของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแทบไม่ปรากฏข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ไม่นอกลู่นอกทาง พบรักและอภิเษกสมรสกับผู้หญิงคนเดียวมาตลอด 20 ปี จนเคยมีมุกล้อเลียนเจ้าจากฝั่งแอนตี้ราชวงศ์ออกมาว่า “เจ้าชายอาจเป็นพระโอรสแท้จริงเพียงคนเดียวของควีนเอลิซาเบธที่ 2” เพราะโอรสองค์อื่นต่างเคยก่อวีรกรรมน่าปวดหัวมาแล้วทั้งสิ้น
ยิ่งกับการจากไปของพระบิดา เชื่อได้ว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะยังคอยรับศึกหนัก เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญให้กับราชวงศ์ต่อไปอย่างแข็งขัน
https://news.amomama.com/187131-expert-breaks-royal-family-tree-explaini.html
หากมองไปถึงการสืบทอดหัวโขนราชวงศ์รุ่นถัดไปหรือ 2-3 รุ่นจากรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 สิ่งหนึ่งที่จะแตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่ควีนเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์นั้นก็คือ “สายใยและกิ่งก้านในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น” นั่นหมายถึงภาระหน้าที่และบทบาทต่อประชาชนในเครือจักรภพจะไม่ต้องแบกรับไว้บนบ่าของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว
ต่างจากสมัยช่วงเริ่มเถลิงราชบัลลังก์ของควีนเอลิซาเบธ ที่พระองค์ทรงมีเพียงแค่เจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐา เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นเครือญาติใกล้ชิด และพระสวามี เจ้าชายฟิลิป ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ล่วงลับลาจากควีนเอลิซาเบธไปหมดแล้วทั้งสิ้น
อนาคตของสถาบันกษัตริย์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสายเลือดอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจากฝั่งรักใคร่นิยมเจ้าย่อมไม่คุ้นชินอย่างแน่นอนกับบริบททางการครองราชย์ที่กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปแบบนี้ และไม่มีใครทราบอนาคตอย่างแน่นอนว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำพาสถาบันกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษไปสู่เส้นทางไหน”
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา