16 เม.ย. 2021 เวลา 17:41 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการค้นพบห้องแห่งความลับในมหาพีระมิดแห่งกิซ่า
5
ด้วยพลังแห่งวิทยาศาสตร์ได้เผยให้เห็นถึงห้องลับที่ซ่อนอยู่ในสิ่งก่อสร้างที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
1
ตำแหน่งของห้องลับซ่อนตัวอยู่เกือบกึ่งกลางด้านในของพีระมิด
หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ยืนตระหง่านท้าทายกาลเวลามาเกือบห้าพันปีนี้ยังคงไม่หยุดสร้างความประหลาดใจให้กับเรา เมื่อวันนี้เราได้รู้ว่ายังมีห้องลับที่ซ่อนตัวอยู่ด้านใน
แล้วเขารู้ได้ยังไงกัน ว่ามีห้องลับที่ว่านี้อยู่แม้ว่ายังไม่สามารถหาทางเข้าได้เลย??
ก็ด้วยเทคนิคการตรวจสอบที่ใช้พื้นฐานของฟิสิกส์อนุภาค โดยการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคมิวออน(Muon) ติดตั้งไว้ในห้อง Queen's Chamber ที่อยู่ต่ำที่สุดในตัวพีระมิด (ไม่รวมห้องใต้ฐานพีระมิด)
2
ตำแหน่งของอุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคมิวออน และตำแหน่งของที่ว่างซึ่งวางตัวอยู่เหนือทางเดินหลักไปยัง King's Chamber
ซึ่งอนุภาคมิวออนนี้ถูกจัดให้เป็นอนุภาคมูลฐาน (Elementary Particle) ซึ่งหมายถึงอนุภาคที่ไม่ได้ประกอบขึ้นจากอนุภาคย่อยอื่นใด มิวออนมีคุณสมบัติคล้ายกับอิเล็กตรอนแต่มีมวลมากกว่าอิเล็กตรอนประมาณ 207 เท่า
4
และมีอันตรกิริยา (Interaction) กับนิวเคลียสของอะตอมน้อยมาก เหตุนี้เองที่ทำให้มิวออนสามารถเคลื่อนที่ทะลุผ่านวัตถุต่าง ๆ ได้โดยถูกดูดกลืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รังสีพลังงานสูงจากอวกาศเมื่อพุ่งชนกับอะตอมของก๊าซในชั้นบรรยากาศก็จะทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคต่าง ๆ ซึ่งบางตัวไม่เสถียรและสลายตัวไปอย่างรวดเร็วอย่างเช่นมิวออน
อนุภาคมิวออนที่ใช้ในการตรวจวัดหาห้องลับในพีระมิดนี้เกิดขึ้นจากการชนของรังสีคอสมิกกับอะตอมหรืออนุภาคในชั้นบรรยากาศ (เช่น ออกซิเจนและไนโตรเจน) ในระดับสูงจากพื้นโลกหลายกิโลเมตร
3
ปกติแล้วมิวออนเป็นอนุภาคที่อายุไม่ยืนและมันจะสลายตัวไปเป็นอนุภาคชนิดอื่นอย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 2 ไมโครวินาที(2 ในล้านของวินาที)
3
แต่สาเหตุที่นักฟิสิกส์สามารถตรวจพบมิวออนที่มาจากชั้นบรรยากาศในระดับใกล้พื้นผิวโลกได้ เป็นเพราะมิวออนเคลื่อนที่เร็วมากจนมีอายุยืนขึ้นตามหลักการยืดและหดของเวลา (Time Dilation) ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity Theory)
1
ซึ่งผลจากการยืดและหดของเวลาทำให้มิวออนสลายตัวช้าลงถึง 27 เท่าเมื่อมองจากผู้สังเกตภายนอก
อุปกรณ์ตรวจวัดมิวออนที่ติดตั้งไว้ในพีระมิด
อนุภาคมิวออนเคลื่อนที่ผ่านอากาศได้โดยไม่ถูกดูดกลืน แต่หากมันเคลื่อนที่ผ่านหินหรือวัสดุก่อสร้างมันจะถูกดูดกลืนบางส่วนทำให้มิวออนที่เคลื่อนผ่านหินหนา ๆ มีจำนวนน้อยลง นักฟิสิกส์จึงนำคุณสมบัตินี้มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยี Muongraphy เทคนิคในการถ่ายภาพด้วยอนุภาคมิวออน
2
ซึ่งใช้เครื่องตรวจจับอนุภาคมิวออน (Muon Detectors) เพื่อค้นหาโครงสร้างภายในของโบราณสถาน หลักการนี้เหมือนกับการใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพภายในร่างกายมนุษย์ เนื่องจากกระดูกและเนื้อเยื่อมีการดูดกลืนรังสีที่แตกต่างกัน เมื่อทำการวัดรังสีเอกซ์ที่เหลืออยู่หลังจากเคลื่อนที่ผ่านร่างกายทำให้เรารู้ว่าบริเวณใดเป็นกระดูกและบริเวณใดเป็นเนื้อเยื่อ
ตำแหน่งของโถงที่ว่างปริศนาที่ตรวจพบโดย Muongraphy
หลังจากเริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2015 มาจนปี 2017 ทีมนักฟิสิกส์และนักโบราณคดีก็ได้ประกาศผลการวิเคราะห์โครงสร้างภายในพีระมิดที่พบว่ายังมีโถงที่ว่างยาวกว่า 30 เมตรทอดตัวอยู่เหนือ Grand Gallery โถงทางเดินหลักไปยัง King's Chamber
3
ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างประเด็นถกเถียงถึงวัตถุประสงค์การมีอยู่ของช่องว่างขนาดใหญ่ในพีระมิดที่เพิ่งค้นพบนี้
โดยนักโบราณคดีบางส่วนเชื่อว่าไม่ได้เป็นห้องลับแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นช่องทางที่ใช้ในช่วงการก่อสร้างพีระมิดส่วนยอด ซึ่งเมื่อใช้งานเสร็จก็ทำการวางหินปิดทับไปเลย
หินขัดเงาที่ยังหลงเหลืออยู่ในบริเวณส่วนยอดของพีระมิดคูฟู พีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า อาจใช้ช่องที่ว่างนี้ในการขนส่งขึ้นไปติดตั้งที่ส่วนยอดก็เป็นได้
อีกแนวคิดหนึ่งก็คือด้วยการที่โถงที่ว่างนี้วางตัวอยู่ด้านบนไล่เรียงขนานไปกับ Grand Gallery จึงอาจเป็นการจงใจที่จะสร้างช่องว่างเพื่อลดน้ำหนักที่กดลงบนห้อง King's Chamber
1
แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราคงได้แต่คาดเดาว่าเหล่าสถาปนิกและวิศวกรแห่งอียิปโบราณนั้นคิดอะไรกันแน่ถึงจงใจสร้างช่องว่างนี้ไว้และซ่อนไว้ในพีระมิดอย่างแยบยล
3
ด้วยความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคได้ทำให้เราค้นพบความลับที่น่าทึ่งของมหาพีระมิดแห่งกิซ่านี้
และ Muongraphy นี้คงได้ทำให้เราค้นพบความลับที่น่าทึ่งอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในโบราณสถานต่าง ๆ รวมถึงยังมีประโยชน์อย่างมากต่อการสำรวจทางธรณีวิทยา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา