23 เม.ย. 2021 เวลา 21:30 • ปรัชญา
วัตรเช้าวัดใจ..🍃
ยามสี่.. ภิกษุผู้ชราเเหงนหน้าดูจันทร์คำนวณเวลาตามความเคยชิน เราเรียกเวลาตั้งแต่ตี๓จนถึงย่ำรุ่งหรือ๖นาฬิกาเป็นยามสี่ซึ่งเป็นยามสุดท้ายของคืน
..
จวนได้เวลาแล้ว ท่านละจากการเดินจงกรมตั้งแต่ยามสามคือหลัง๒๔นาฬิกาจวบจนถึงตีสาม รวมเวลาประมาณ๓ชั่วโมงพอดี
..
เหล่าสมณะผู้มีอายุห่มผ้าสบัดเฉียงบ่า เดินตามทางเดินเล็กๆที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้รกครึ้ม ประชุมพร้อมกันที่ศาลาไม้หลังเก่า โดยตามธรรมเนียมนั้นพระผู้มีพรรษาน้อย จะมาปัดกวาดจัดเสนาสนะก่อนหน้านี้
.
..🍃
.
ที่นี่ไม่มีระฆังบอกเวลา แต่กระนั้นทุกอย่างก็แลดูจะเป็นไปตามเวลาโดยประมาณ คงใช้ความเคยชินกระมังหรือจะเป็นเสียงกระแอมของสมภารดังออกมาจากกุฏิหลังเล็ก
ที่มีเพียงผืนผ้าจีวรผืนเก่าที่นำมาเย็บต่อกันกั้นเป็นฝาผนังกับเสาไม้ทั้งสี่ที่ยกพื้นสูงพอที่จะกันอันตรายจากงู้เงี้ยวเขี้ยวขอ
..
..🍃
..เสียงสมภารแม้จะเบาหากแต่ก็ได้ยินกันทั่ว สิ้นเสียงสมภาร เจ้าไก่โต้งก็โก่งคอรับคำทันทีเป็นเช่นนี้ทุกวัน
บรรดาภิกษุนั่งอาสนะไล่เลียงตามอายุพรรษา
แล้วจึงกราบพระพุทธรูป นั่งรออาคันตุกะด้วยอาการสงบ
เหล่าพ่ออกแม่ออกผู้เป็นชาวบ้านระแวกนั้นทยอยมานั่งท้ายสุด ซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับอุบาสก อุบาสิกาตามลำดับ
..
คงเหลือ อาสนะส่วนหน้ารอท่านสมภารผู้แก่พรรษากว่าใคร
ครั้นภิกษุชรามาถึงนั่งลงส่วนที่ควรแล้ว จึงกราบพระพุทธรูปเบื้องหน้าแทนคุณพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
ภิกษุผู้อ่อนพรรษากราบท่านสมณะชรานั้นความอ่อนน้อมเป็นคุณธรรมที่เย็นใจสร้างความศรัทธาแก่ผู้พบเห็นได้ดีกว่าความสวยงามทางวัตถุเสียอีก
..
อีกสาธุชนทั้งหลายกราบพระพุทธรูป กราบท่านสมภาร กราบภิกษุ ไหว้แม่ออกพ่อออก ไหว้ผู้ที่มาร่วมสังฆกรรม ไม่มีคำพูดมีแต่รอยยิ้ม แล้วแยกไปนั่งในมุมใครมัน
..
..🍃
..
วันนี้ท่านสมภารไม่ใคร่สบาย จึงให้พระผู้บวชใหม่นำสวด แม้จำเนื้อความไม่ได้ทั้งหมด แต่อาศัยเปิดหนังสือ ด้วยที่สมภารท่านแนะนำ อ่านบ่อยทำบ่อยเดี๋ยวจำได้เอง
..
"ไม่เร่งไม่รีบแต่ไม่ละนะไม่เลิกนะ "ท่านย้ำ..
..
บทสวดทำวัตร ที่นี่จะทำกันเช้าและเย็น
บทสวดตอนเช้าก็จะเรียกทำวัตรเช้า สวดตอนเย็นก็จะเรียกทำวัตรเย็น หลังจากสิ้นสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว ท่านสมภารก็พานั่งสมาธิ นั่งไม่นานราวชั่วโมงหนึ่งได้ จากนั้นปกติท่านจะทักทายสอบถามกับชาวบ้านผู้ที่มาร่วมทำวัตร หากมีปัญหาใดท่านก็จะเทศน์ในเรื่องนั้นๆ
..
..🍃
..
แต่วันนี้ท่านกลับให้พระนวกะผู้บวชใหม่ได้ไม่นานเทศน์เสียเอง เหล่าพ่อออกแม่ออก ดูจะสนใจเป็นพิเศษ นัยว่าคงลุ้น พระผู้มาใหม่ท่านจะเทศน์ออกมาแนวใด
..
..
..
"..อาตมาเพิ่งมาใหม่มีความรู้น้อย หากพูดสิ่งใดที่ผิดพลาดไป อาตมาขออภัยทุกคนนะ อาตมาขอไม่เทศน์ ขอเป็นสนทนาธรรมดีกว่า.. ดีมั้ย
อาตมามาอยู่นี่สิ่งหนึ่งที่อาตมาปราถนาคือทำอย่างไรจะตื่นเช้าให้ทันไก่โห่.."
..
เพียงเกริ่นถ้อยความสั้นๆ ก็ทำให้แม่ออกทั้งหลายยิ้มขำกันคิกคักด้วยความเอ็นดู
พ่อหนุ่มที่มาจากบางกอกต้องมาบวชในวัดป่าไกลปืนเที่ยงเช่นนี้
..
"..การตื่นแต่เช้ามืดคงเป็นเรื่องที่ยากของอาตมา แต่กลับได้พบสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือการได้มาทำวัตรเช้า ทำไมจึงสำคัญรู้มั้ย.."..พระหนุ่มตั้งข้อถามเพื่อเชิญชวนพ่ออกแม่ออกสนทนา
..
..🍃
..
"..ท่านเจ้าขา อิฉันอยากได้บุญมาทำวัตรก็ได้บุญ จิตใจอิฉันก็สบายเจ้าค่ะ .." แม่ออกคนหนึ่งกล่าว
..
"..ใช่แล้ว บุญย่อมนำความอิ่มใจมาให้ ในตำราที่อาตมาเคยอ่านก็กล่าวเช่นนั้น และเมื่อสิ้นจากโลกนี้ก็จะไปสู่ภพภูมิที่ดี..
แต่เหนือนอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่อาตมาได้
นอกจากบทที่ว่าด้วยคำสรรเสริญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว
มีบทหนึ่งที่สอนให้เราพิจารณถึงความเป็นจริงบางอย่าง..
และเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้เป็นส่วนมาก คุณโยมจำได้มั้ย.."
..
พระผู้บวชใหม่ถามแม่ออกที่นั่งตรงหน้า
ทุกคนดูนิ่งเงียบ
พระผู้มาใหม่จึงกล่าวว่า
..
"..ธะระมาโน โส ภะคะวา,
จึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเมื่อยัง
ทรงพระชนม์อยู่,
..
เอวัง พะหุลัง สาวะเก วิเนติ,
ย่อมทรงแนะนำสาวกทั้งหลาย
เช่นนี้เป็นส่วนมาก
..
..🍃
..
เหล่าพ่อออกแม่ออกพยักหน้ารับทราบด้วยถ้อยคำนั้นอยู่ในบททำวัตรเช้าที่สวดกันก่อนหน้านี้
..
" ..ท่านกล่าวเรื่องอะไรเป็นส่วนมากรู้มั้ย.."ภิกษุหนุ่มถามอีกครา
..
..🍃
..
"..มะยันตัง ธัมมัง สุตวา เอวัง ชานา
มะ
พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว,
จึงได้รู้
อย่างนี้ว่า :-
ชาติปิ ทุกขา,
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
..🌸
ชะราปิ ทุกขา,
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
..🌸
มะระณมปิ ทุกขัง,
แม้ความตายก็เป็นทุกข์
..🌸
ท่านกล่าวอย่างนี้เจ้าค่ะ .."แม่ออกตอบ
และกล่าวต่อไปว่า
".. การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายก็เป็นทุกข์ ตอนนี้อิฉันก็ผ่านมาหมดแล้ว เหลือแต่ความตายเท่านั้น แต่ที่เป็นทุกข์กลัวจะเป็นโคขวิดตายนะสิเจ้าคะ อิฉันว่ามันคงเจ็บทรมานน่าดู อิฉันเจ็บไม่เท่าไรแต่พาลไปติดคนอื่นๆ เจ้าแดงหลานอิฉันก็ยังน้อย ไหนจะพ่อมันแม่มัน คิดแล้วกลุ้มนะเจ้าคะ เคืองเจ้าคนที่นำมาแพร่ เขาบอกว่าเป็นที่อบายมุข
เป็นที่อโคจรทำไมยังไปเที่ยวสถานที่อย่างนั้นไม่ห่วงพ่อแม่ห่วงลูกกันบ้างเลย เดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า.."
..
ภิกษุพยักหน้าเข้าใจถึงความรู้สึกนั้น
..
..🍃
..
"...งั้นแม่อีหนูก็เข้ากับบทที่ท่านบอกว่า
..
โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนุสสปายา
สาปิ ทุกขา,
..
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบาย
กาย ความไม่สบายใจ ความคับ
แค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ;
..🌸
อัปปิเยหิสัมปะโยโค ทุกโข,
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่
พอใจ
ก็เป็นทุกข์ ;
..🌸
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข,
ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ที่พอใจ
ก็เป็นทุกข์ ;
..🌸
ยัมมปิจฉัง นะ ละภะต ตัมปิ ทุกขัง,
มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่ง
นั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ;
🌸
พ่อออกชายชราผู้เป็นสามีนั่งอยู่ข้างๆกล่าวบทสวด เย้าผู้เป็นภรรยา แล้วกล่าวต่อไปว่า
..
"..นี่..แม่อีหนูเขาเรียกโรคโควิดไม่ใช่โคขวิดดอกนะแม่.."
..
หญิงชรามองค้อน กระตุกดึงชายผ้าข้าวม้าของชายชราเบาๆ กิริยาตามจริตของหญิงชาวบ้าน แลดูช่างงามน่ารัก
..
..🌸🍃
..
"..ก็ตามนั้นเลยเจ้าค่ะ ตามที่ตาเฒ่าว่าหมดเลยเจ้าค่ะ แต่อิฉันจะทำอย่างไรดีเจ้าคะ
มันมีแต่ทุกข์ไปหมด แต่ว่าจริงๆก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็ได้แต่บ่นๆๆๆเอาเจ้าค่ะ.."
..
..🍃
..
"..บ่นอย่างเดียวไม่ได้นะแม่ออก เป็นชาวพุทธต้องเป็นผู้ศึกษานะ ท่านสอนอะไรแล้วลองทำดู คำตอบมันก็เกิดกับแม่ออกเอง เราไปวัดกันตอนทำพิสูจน์ดู พิจารณาดู.."
ภิกษุผู้บวชใหม่แนะ
..
"..แล้วจะต้องทำอย่างไรขอรับ.."ชายชราถาม
..
..🌸
..
"..สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุก
ขา,
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕
เป็นตัวทุกข์ ;
..
การยึดมั่น (อุปาทาน)ขันธ์ทั้ง๕เป็นตัวทุกข์
ขันธ์ทั้ง๕มีอะไรบ้าง.."
..
เสยยะถิทัง,
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ :-
..🌸
รูปูปาทานกขันโธ,
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึด
มั่น คือรูป ;
..🌸
เวทะนูปาทานักขันโธ,
ขันธ์ อันเป็นทื่ตั้งแห่งความยึดมั่น
คือ เวทนา ;
..🌸
สัญญูปาทานักขันโธ,
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น
คือ สัญญา ;
..🌸
สงขารูปาทานักขันโธ,
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น
คือ สังขาร ;
..🌸
วิญญาณูปาทานักขันโธ,
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น
คือ วิญญาณ
..🌸
เยสัง ปะริญญายะ,
เพื่อให้สาวกกำหนดรอบรู้
อุปาทานขันธ์เหล่านี้เอง,
..🌸
..
"...เห็นมั้ยสิ่งที่ท่านให้ศึกษาเรียนรู้คือขันธ์ทั้งห้า
ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่ท่านไปที่ต่างๆสาธยายธรรมล้วนเกี่ยวข้องกับอุปาทานหรือที่เราเรียกทั่วไปคือความยึดมั่นถือมั่นขันธ์๕ เป็นส่วนมาก .." ภิกษุหนุ่มสาธยาย ซึ่งบทสวดนี้ก็มีอยู่ในทำวัตรเช้าเช่นกัน
..
..
"..ปัดโธ่..กระผมนึกอยู่ทำไมท่านจึงพูดแต่เรื่องขัน คิดว่าขันตักน้ำเสียอีก.." พ่อออกเกาหัวดังแกร๊ก หัวเราะเบาๆแก้เขิน
..
..🌸
..
"..ภาษาพระคุณโยมอาจจะเข้าใจยาก
ถ้าแปลง่ายๆ
~รูปก็คือกายเรานี่แหละ
~เวทนาก็คือความรู้สึก
~สัญญาคือการจำได้ หมายรู้
~สังขารคือการปรุงแต่ง
~วิญญาณคือการรับรู้ ร้อนหนาวเป็นต้น
..
ถ้าจะเรียกย่อๆก็คือกายใจ เพราะกายก็คือรูปใช่มั๊ย ส่วนพวกความรู้สึก การจำได้หมายรู้ การปรุงแต่งคิดเองเออเอง การรับรู้ ก็ล้วนเป็นอาการทางใจ จึงรวมเรียกว่า "กายใจ.."
..🌸
แล้วเราจะเรียนรู้ถึงความยึดมั่นในกายใจได้อย่างไร ..
ตามที่ท่านบอกว่าพวกนี้คือตัวทุกข์ กายใจเป็นตัวทุกข์ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นตัวทุกข์
..
ทุกข์ในที่นี้ไม่ใช่ความทุกข์ แต่หมายถึงทุกขังคือความทนอยู่ไม่ได้ ทุกอย่างเป็นของเสื่อม แสดงว่ากายใจเป็นของเสื่อม ของทนอยู่ไม่ได้ แปรปรวนอยู่เสมอ บีบคั้นมีความพร่องอยู่เป็นนิจ
..
ท่านก็บอกอีก
เอวังภาคา จะ ปะนัสสะ ภะคะวะโต
สาวะเกสุ อะนุสาสะนี พะหุลา ปะ
วัตตะติ,
อนึ่ง คำสั่งสอนของพระผู้มีพระ
ภาคเจ้านั้น, ย่อมเป็นไปในสาวก
ทั้งหลาย, ส่วนมาก,
มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ว่า :-
..🌸
รูปัง อะนิจจัง,
รูปไม่เที่ยง ;
🌸
เวทะนา อะนิจจา,
เวทนาไม่เที่ยง ;
🌸
สัญญา อนิจจา,
สัญญาไม่เที่ยง ;
🌸
สังขารา อะนิจจา,
สังขารไม่เที่ยง ;
🌸
วิญญาณัง อะนิจจัง,
วิญญาณไม่เที่ยง ;
🌸
รูปัง อะนัตตา,
รูปไม่ใช่ตัวตน ;
🌸
เวทะนา อะนัตตา,
เวทนาไม่ใช่ตัวตน ;
🌸
สัญญา อะนัตตา,
สัญญาไม่ใช่ตัวตน ;
🌸
สงขารา อะนัตตา,
สงขารไม่ใช่ตัวตน ;
🌸
วิญญานัง อะนัตตา,
วิญญาณไม่ใช่ตัวตน ;
🌸
สัพเพ สงขารา อนิจจา,
สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง ;
🌸
สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ
ธรรมทั้งหลายทงปวง ไม่ใช่ตัว
ตน ดังนี้
🌸
"..ที่กล่าวมาท่านหมายถึงกายใจเป็น
อนิจจัง  คือความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
..
..🍃
..
 ทุกข์ในที่นี้คือทุกขังความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้น
เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว
..
..🍃
..
 อนัตตา ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร
..
..🍃
..
"..เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรพิจารณาเนืองๆเห็นการแสดงออกของกายใจว่าเป็นไปตามลักษณะหนึ่งในสามประการ
.
ถ้าเราเห็นบ่อยๆ อุปาทานหรือความยึดมั่นกายใจว่าเป็นของเราก็คลายตัวลง ปัญญาเราก็เกิด ความสุขก็โชยมาด้วยความเข้าใจตามสภาพตามความเป็นจริงของกายใจ ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่ความเข้าใจไม่เหมือนเดิม ความร่มเย็นเป็นสุขก็เกิด เห็นมั้ยในท่ามกลางวิกฤตเราก็เป็นสุขได้.."ภิกษุหนุ่มสรุปความแล้วกล่าวต่อว่า
..
ข้อดีขอการทำวัตรเช้าคือคอยกระตุ้นเตือนเรา ย้ำเตือนเราในตอนเช้า เพื่อเอาบทนี้ไปพิจารณาสิ่งที่พบเจอกระทบกายกระทบใจได้ทั้งวัน ความเข้าใจตามความเป็นจริงจึงเกิด
ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราก็จะไม่ทุกข์มาก ใจก็สบาย ..ดีมั้ย..คุณโยม.."ท่านขมวดปมท้ายสุดอีกครั้ง
..
..🌸
..
"..แจ่มชัดนักเจ้าค่ะ อิฉันพอจะเข้าใจ
อิฉันจะลองดูตามสติตามกำลังนะเจ้าค่ะ .."
..
..
เสียงสาธุการของเหล่าพ่ออกแม่ออกดังขึ้นแล้ว
..
..
การเรียนรู้ของใครบางคนเริ่มอุบัติขึ้นแล้ว
คงไม่ใช่ใครที่ไหน
..
..
คงเริ่มที่เราเอง
..
..
..........🌸.........🌸.......🌸.......🌸.....
บันทึก๑๔วัน..ข้ามสีทันดร
วันที่๔ของกักกักตัว
๒๒~๐๔~๖๔
..
ขบถ~ยาตรา เล่าเรื่อง
..
คลิปภาพไม่คมชัดนะขอรับเนื่องจากอัปโหลดได้ไม่เกิน๒จิก ต้องลดความคมชัดจึงจะโหลดได้ เหลือเพียง๗๒๐พิก เสียดายขอรับ ใช้เวลาทำคลิปหลายวัน ส่วนเสียงภิกษุผู้สวดกระผมให้เครดิตท้ายคลิปนะขอรับ ขออภัยมาณ.ที่นี้ด้วยขอรับ
..
ช่วงแรกจะเป็นบทสวดทำวัตร ช่วงหลังเป็นเพลงบรรเลงให้ใจสงบ เตรียมความพร้อมรับในวันใหม่ หวังว่าจะให้ประโยชน์กับผู้สนใจนะขอรับ🙏
..
อยากรู้รายละเอียดเรื่องขันธ์ กระผมเคยลงไว้เป็นบทขยายที่กระผมแจงจากอนัตลักขณสูตร ว่าด้วยเหตุเกิดขณะที่พระพุทธเจ้า เทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ หรือพูดง่ายๆคืออาจารย์สนทนากับลูกศิษย์ เรื่องขันธ์ ทำไมขันธ์จึงเกี่ยวข้องกับวิปัสสนา แนบไว้ข้างล่างขอรับ👇
โฆษณา