15 ต.ค. 2022 เวลา 01:00 • การเกษตร
ความตั้งใจในวัยใกล้เกษียณ...ตอนที่ 3
"ตั้งใจจะสร้างป่าเล็กๆ เป็นของตัวเอง และแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นที่ทำกินในยามแก่เฒ่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙"
ตอนที่ 3 ความพลิกผันทางการเกษตร
ความเปลี่ยนแปลงในการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสมที่พ่อทำจนได้รับผลผลิตและกำลังดำเนินไปได้ดี เริ่มเกิดขึ้นเมื่อพ่อจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ภาระหนักจึงตกอยู่กับแม่ ซึ่งมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องดูแลเพียงคนเดียว เนื่องจากลูกๆ แยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักและรายได้หลักของแต่ละคนในการดำเนินชีวิต
ด้วยความเป็นห่วงแม่และอยากให้ท่านได้พักผ่อน ดังนั้นลูกๆจึงลงความเห็นตรงกัน ปรับไร่นาสวนผสมเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ด้วยเหตุผลว่าเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก ปลูกครั้งเดียวแล้วอาศัยจ้างญาติๆคอยใส่ปุ๋ยเป็นครั้งคราว ซึ่งถือเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากที่เคยปลูกข้าวอย่างเดียวมาก่อนหน้านี้ 🌱🌱🌱🌱🌱
สวนปาล์มน้ำมัน (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
เมื่อต้องเปลี่ยนเป็นปาล์มน้ำมันจึงจำเป็นต้องปรับพื้นที่ จากท้องร่องที่มีสามท้องร่องก็ปรับเหลือสอง เพื่อให้ได้พื้นที่ปลูกปาล์มมากที่สุด พืชเดิมๆ ที่กำลังให้ผลผลิต มะพร้าว มะม่วงเบา ชมพู่ ฝรั่ง ก็ต้องใช้แทรคเตอร์ดันหรือขุดทิ้งไป ซึ่งตอนนั้นรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ
หลังจากเปลี่ยนเป็นปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว ในช่วงสามปีแรกก่อนที่จะได้รับผลผลิตก็ต้องคอยดูแลเป็นครั้งคราว ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงต้น และเมื่อได้รับผลผลิตแล้วก็ถือว่าดีหน่อยเพราะมีรายได้จากการขายผลปาล์มเข้ามาบ้าง และถือว่าสามารถเลี้ยงตัวมันเองได้
กล่าวคือยังสามารถเอารายได้จากการขายผลผลิตมาจ่ายเป็นค่าตัดทลายปาล์ม ค่าปุ๋ย ค่าตัดหญ้า โดยไม่ต้องควักทุนมาจ่าย แต่ก็ใช่ว่าจะมีรายได้เหลือจากการขายผลผลิตมากนัก เพราะราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ค่าปุ๋ยที่มีแต่แพงขึ้นๆ สิ่งเดียวที่ตอบโจทย์ได้คือการช่วยให้แม่ไม่ต้องเหนื่อยมากกับการต้องคอยดูแลสวน
ปาล์มน้ำมันนั้นเป็นพืชที่ต้องการน้ำและปุ๋ยในการเจริญเติบโต โดยเฉพาะปุ๋ยนั้นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพราะเห็นผลเร็ว และหากใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอก็ทำให้ผลผลิตน้อย ผลไม่สมบูรณ์ ไม่ได้น้ำหนัก ดังนั้นจึงต้องคอยใส่ปุ๋ยอยู่บ่อยๆ
เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นจากการปลูกปาล์มโดยใช้ปุ๋ยเคมี นั่นคือในหน้าแล้งดินจะแข็งมาก บางครั้งลองใช้จอบขุดแทบจะขุดไม่ลง และดินจะขาดจุลินทรีย์ธาตุ เพราะการปลูกปาล์มคนที่ตัดทลายเขาต้องการความสะดวก รอบโคนต้นต้องโล่ง เพราะจะได้ตัดทลายได้ง่าย ทั้งๆที่หากมีการจัดการที่ดีก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้พอสมควร เช่น การนำทางปาล์มหรือทลายปาล์มมาทำเป็นปุ๋ยหมัก แต่เมื่อไม่ได้เข้าไปทำด้วยตัวเองก็เป็นการยากที่จะจัดการ
ต้นตะกู
ช่วงที่ปลูกปาล์มใหม่ๆ ด้วยความที่ชอบปลูกต้นไม้ ผมจึงถือโอกาสปลูกต้นตะกูเป็นแนวรั้วเอาไว้ประมาณ 20 - 30 ต้น และรอดมาได้ประมาณ 20 ต้น ผ่านไปประมาณ 10 ปี ต้นโตเร็วพอสมควรประมาณเกือบ 1 คนโอบ สามารถตัดมาใช้งานได้แต่ผมยังไม่ได้ตัดเพราะเสียดาย อยากให้มันโตไปเรื่อยๆ และนี่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดจะสร้างป่าในสวนปาล์มในเวลาต่อมา...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา