10 พ.ค. 2021 เวลา 12:43 • สุขภาพ
ทำไมถึงควรฉีดวัคซีนโควิดให้ครบโดสทั้ง 2 เข็ม?
ตอนที่ 1: การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดหลังฉีดเข็มแรก
ขณะนี้มีประชากรทั่วโลกหลายล้านคนได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว โดยประเทศอันดับต้นๆของโลกที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้มากที่สุด คือ อิสราเอล, ชิลี, บาห์เรน, อังกฤษ และ อเมริกา
ในประเทศอเมริกา วัคซีนที่มีการอนุญาตให้ฉีดเป็นหลัก คือ Pfizer/BioNTech, Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนแบบสองเข็มครบโดส และ Johnson & Johnson เป็นวัคซีนแบบเข็มเดียวครบโดส
CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกาแนะนำให้รับวัคซีนเข็มที่สองภายใน 21 วันถ้าเป็น Pfizer และ 28 วัน ถ้าเป็น Moderna
ส่วนในประเทศอังกฤษ วัคซีนที่ใช้ส่วนมากคือ Pfizer/BioNTech และ AstraZeneca/Oxford University ซึ่งเป็นวัคซีนแบบสองเข็มครบโดสเช่นกัน โดยอังกฤษได้ชะลอการรับวัคซีนเข็มที่สองของประชาชนออกไปเป็น 8-12 อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุดก่อน แต่ยังเน้นย้ำว่าถึงอย่างไรก็ต้องฉีดให้ครบทั้งสองเข็ม
มีรายงานการเก็บข้อมูลจากประชากรของอังกฤษจำนวน 375,000 คน พบว่าหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกของทั้ง Pfizer/BioNTech และ AstraZeneca/Oxford University สามารถลดการติดเชื้อโควิดได้ 65%, ช่วยลดความร้ายแรงของโรคหลังติดเชื้อ 72%, ไม่มีอาการของโรคแม้ติดเชื้อ 57% และ ช่วยลดการติดเชื้อภายในบ้าน 50%
1
เมื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เพิ่มขึ้น พบว่าสามารถคงอยู่ได้นานอย่างน้อย 10 อาทิตย์หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งงานศึกษาได้ติดตามวัดเพียงแค่ 10 อาทิตย์เท่านั้นจึงไม่มีข้อมูลที่นานกว่านี้ นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่อังกฤษตัดสินใจขยายเวลาการรับวัคซีนเข็มที่สองไปเป็น 8-12 อาทิตย์หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก
นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากประเทศอิสราเอล ซึ่งได้ใช้วัคซีน BNT162b2 จาก Pfizer/BioNTech ตั้งแต่เดือน 20 ธันวาคม 2020 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2021 จากประชากร 596,618 คน พบว่าหลังฉีดเข็มแรกไป 14-20 วัน ช่วยลดอาการของโรคหลังติดเชื้อ 46%, ช่วยลดความร้ายแรงของโรค 62%, ช่วยลดการอยู่โรงพยาบาล 57% และ ช่วยป้องกันการเสียชีวิต 72%
งานศึกษาจากสก็อตแลนด์ ได้ติดตามผลการฉีดวัคซีนเข็มแรกของ BNT162b2 จาก Pfizer/BioNTech และ ChAdOx1 nCoV-19 จาก AstraZeneca/Oxford University เก็บข้อมูลตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2020 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2021 จากประชากร 1,331,993 คน กลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 65 ปี
พบว่าหลังฉีดเข็มแรกจากวัคซีน Pfizer/BioNTech ไปแล้ว 28-34 วัน ลดการอยู่โรงพยาบาลหลังติดเชื้อได้ 95% ส่วนวัคซีนจาก AstraZeneca/Oxford University ลดการอยู่โรงพยาบาลหลังติดเชื้อได้ 88%
หน่วยงานสาธารณสุขของเกาหลีใต้ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ [https://twitter.com/KoreaDCA/status/1389461942213824515] ว่า ในประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี หลังฉีดเข็มแรกของ Pfizer อย่างน้อย 2 อาทิตย์ สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ 89.7% ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca หลังจากฉีดเข็มแรก สามารถป้องกันได้ 86%
สำหรับ Johnson & Johnson ซึ่งเป็นวัคซีนเข็มเดียว พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 66.1% ภายหลังจากฉีด 28 วัน
แต่ว่าเปอร์เซนต์ประสิทธิภาพแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น 72% ในประเทศอเมริกา, 64% ในแอฟริกาใต้ และ 68% ในบราซิล ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากร และ สายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดในแต่ละพื้นที่
เปอร์เซนต์ประสิทธิภาพของวัคซีน (Percentage efficacy)
หมายความว่า ภายใต้เงื่อนไขการทดลองเดียวกัน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน (หรือได้รับวัคซีนหลอก) พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีเปอร์เซนต์ความเสี่ยงลดลงเท่าใด เช่น 95% หมายความว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดลดลง 95% หรือ มีความเสี่ยงลดลงประมาณ 20 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับวัคซีน
โดยการเก็บข้อมูลของ Pfizer และ Moderna ให้นิยามของ เคสโควิด ไว้ว่าจะต้องได้ผลบวกในการตรวจหาเชื้อ และ มีอาการของโรคระดับอ่อนอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ส่วน Johnson & Johnson ให้นิยามว่าต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นบวก และ มีอาการของโรคที่เห็นชัดระดับปานกลางหนึ่งอย่าง หรือ มีอาการของโรคระดับอ่อนสองอย่าง
ทั้งนี้การประมาณประสิทธิภาพของวัคซีนเพียงแค่เข็มเดียว ยังไม่ถือเป็นข้อมูลที่สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน เพราะการเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ใช้เวลาหลังจากฉีดเข็มแรกไม่นาน เนื่องจากต้องฉีดเข็มที่สองต่อ ทำให้มีข้อมูลน้อย แต่ยังพอบอกได้ว่าการฉีดวัคซีนเพียงแค่เข็มเดียวก็ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดได้ระดับนึง เมื่อศึกษาในกลุ่มประชากรจำนวนมาก
รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น อายุ, เพศ, พันธุกรรม, สภาพร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
ต่อตอนที่ 2 >>
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา