31 มี.ค. 2021 เวลา 12:30 • ความคิดเห็น
การุณยฆาต สิทธิการเลือกตายด้วยตัวเองในประเทศไทย
1
*หมายเหตุ​: บทความนี้เกิดจากการเข้าฟัง​ clubhouse ห้อง​ การุณยฆาต​ สิทธิ​เลือกตาย​ แล้วนำประเด็นที่น่าสนใจมาสรุปและหาข้อมูลประกอบเพิ่มเติมในแบบของผู้เขียนเองภายใน​ 25​ ข้อ
1. โดยส่วนตัวคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มี​ self-esteem เคารพในตัวเอง​ ไม่เคยเป็นโรคซึมเศร้า​ ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย​ นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่เกิดตามครอบครัว​ เมื่อก่อนเชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป​ แต่ปัจจุบัน​เป็นคนไม่นับถือศาสนา​ 60% แต่ยังเชื่อในคำสั่งสอนของศาสนาพุทธ​อยู่​ 40%
2
2. เริ่มสนใจเรื่องการการุณยฆาต​เพราะเมื่อปี 2562 มีชายไทยคนหนึ่งเดินทางไปทำการุณยฆาตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากไม่เคยคิดว่าจะจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีนี้มาก่อน เลยอยากทำความเข้าใจว่าคนที่ตัดสินใจทำแบบนี้มีเหตุผลอะไร รู้สึกอย่างไร จึงตามอ่านข่าว อ่านบันทึกเรื่องราวของเขา จนทราบว่าเป็นผู้ป่วยเนื้องอกในสมองยาวนานร่วม 10 ปี ได้รับการผ่าตัดรักษาถึง 3 ครั้ง และทุกครั้งก็กลับมาเป็นใหม่ แถมยังมีการติดเชื้อหลังผ่าตัดสองครั้งแรก ด้วยความที่ต้องทรมานกับความเจ็บปวด ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ ที่สำคัญคือเรื่องเงิน ที่ได้ใช้จ่ายกับการรักษาไปจนหมด หากต้องได้รับการผ่าตัดครั้งที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นเจ้าชายนิทรา นอนไม่ได้สติให้ครอบครัวดูแล ก็ขอเลือกจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเพื่อการหลับอย่างสงบ
และนี่คือส่วนหนึ่งในบันทึกส่วนตัวของผู้ชายคนนี้
‘...ไม่มีทางเลยที่คนที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคร้ายแรงจะเข้าใจความรู้สึกทุกข์ทรมานของคนที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้ นอกจากเขาจะเคยผ่านมันมาด้วยตนเอง เจออย่างนี้ผมก็จะเปลี่ยนเรื่องคุยไปครับ ไม่มีประโยชน์ที่จะไปถกอะไร ถ้าเข้าใจก็คือเข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจ ต่อให้พูดจนปากฉีกก็จะไม่มีวันรับรู้เข้าใจได้เลย เพราะคนเหล่านี้จะมั่นใจในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมากว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในโลก พวกเขาจะเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิด แต่ไม่เคยผ่านมันมาด้วยตัวเองนั้นถูกตัองเสมอ
 
สำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองมามากกว่า 10 ปี การหลับอย่างสงบคือสิ่งที่ผมมีความสุขกับมันที่สุดครับ หาใช่การมีลมหายใจอยู่อย่างทุกข์ทรมาน...’
7
3. การทำการุณยฆาต หรือ Euthanasia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ Eu แปลว่า Good และ Thanatos แปลว่า Death เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึงการตายดี หรือ ตายอย่างสงบ แบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) และ การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia)
4
▪️การุณยฆาตเชิงรุก ก็คือการที่ช่วยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียชีวิตเร็วขึ้น ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความทุกข์ทรมานของโรคร้ายหรือความเสื่อมถอยของร่างกาย
1
▪️การุณยฆาตเชิงรับ ก็คือการไม่ยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ และปล่อยให้เสียชีวิตตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยหนักระยะสุดท้ายที่ไม่ว่าจะรักษาอย่างไรก็ไม่อาจช่วยให้ร่างกายกลับมาปกติได้ รวมถึงการที่แพทย์หยุดทำการรักษาหากมีความยินยอมจากญาติ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบประคับประคองต่อไป
การการุณยฆาตเชิงรับ จะได้รับการยอมรับมากกว่า การุณยฆาตเชิงรุก เพราะถือว่าเป็นการช่วยให้บุคคลที่ประสบกับความทรมานจากความเจ็บป่วยได้หลุดพ้นจากความทรมานในอีกวิธีหนึ่ง สอดคล้องกับหลักจริยธรรมในใจของมนุษย์มากกว่า
4. ประเทศไทย การดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยหนักระยะสุดท้าย (Palliative Care) เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่า ‘เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นระยะสุดท้ายของโรค โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการ ตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น การดูแลจะเน้นการดูแลที่เป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย’
1
มีคนให้ความเห็นว่า การดูแลแบบประคับประคอง และ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน จะสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของโรคที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่ได้ แทนที่จะผลักดันการการุณยฆาต ควรพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และความรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจะดีกว่า
1
5. คนไทยก็มีสิทธิเลือกตาย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ตามมาตรา 12 ของ พรบ. สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ระบุไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฎิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
2
ซึ่งการบัญญัติมาตรา 12 นี้ก็เพื่อรองรับแนวคิดของการดูแลแบบประคับประคอง โดยให้บุคคลสามารถเขียนความต้องการไว้ล่วงหน้า เรียกอีกอย่างว่า Living will ซึ่งก็คือการเขียนพินัยกรรมชีวิตเพื่อแสดงเจตจำนงต่อการปฏบัติต่อตนเอง โดยอาจระบุแนวทางการปฏิบัติทางการแพทย์ทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการเมื่อเกิดกรณีต่างๆขึ้น โดยจะเป็นแนวทางการรักษาให้แพทย์ใช้ตัดสินใจเพื่อยื้อ​ หรือ​ ไม่ยื้อชีวิตและเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคองต่อไป
3
6. จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้น 8 เท่า จาก 12.6 ในปี 2510 เป็น 98.5 ต่อแสนประชากร ในปี 2555 โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นจาก 25.3 ในปี 2548 เป็น 31.7 ต่อแสนประชากร ในปี 2555 อัมพฤกษ์อัมพาต​ เพิ่มจากร้อยละ 0.8 ในปี 2547 เป็น 1.6 ต่อแสนประชากร ในปี 2553 สะท้อนถึงความต้องการการดูแลแบบประคับประคองที่มากขึ้น โดยมีการประมาณว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองเพิ่มขึ้นถึง 11%
7. ทั้งทางนิติศาสตร์และแพทยศาสตร์กำหนดให้ภาวะสมองตายเป็นการตายในทางกฎหมายของบุคคล หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในครอบครัวว่าจะรักษาต่อหรือยุติการรักษา
8. มีหลายคนมาแบ่งปันประสบการณ์ของ การุณยฆาตเชิงรับ ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว ส่วนใหญ่มักเป็นโรคร้ายแรงที่มีการพยากรณ์โรคค่อนข้างแน่นอน เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย ก็จะมีการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ที่ทำการรักษาร่วมด้วย ว่าถ้าทำการรักษาเพิ่ม อาจจะต้องทำหลายอย่างที่สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายคนไข้มากขึ้น แต่อาจไม่ได้ช่วยยื้อชีวิตของคนไข้ได้นานนัก
9. การรักษาเพื่อการยื้อชีวิตมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งครอบครัวและคนรอบข้างต้องรับผิดชอบ มีงานศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของคนไทยมีมูลค่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ
2
10. ผู้หญิงไทยที่ทำงานอยู่ประเทศเยอรมันได้แบ่งปันประสบการณ์ ว่า​ เธอบินกลับไทยมาดูแลคุณพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เพียงสองเดือนหมดเงินไปหลายล้าน ตอนที่คุณพ่อยังพูดได้ ท่านบ่นว่าปวดมากและไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เธอรู้ดีว่าคุณพ่อเป็นคนที่อดทนมากและจะไม่พูดแบบนี้ง่ายๆถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ จนสุดท้ายเมื่อคุณพ่ออาการหนักมาก คุณหมอก็พูดกับคนในครอบครัวให้ตัดสินใจว่าจะให้ทำการรักษาเพื่อยื้อชีวิตต่อหรือไม่
2
11. มีคนพูดเรื่องคำปฏิญาณของแพทย์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่าจะไม่ให้คำแนะนำหรือการรักษาใดๆ อันเป็นการทำลายชีวิตผู้ป่วยแม้ถูกร้องขอ” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา​คำปฏิญาณนี้ได้ถูกทบทวนอย่างหนักในหลายประเทศ ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายรับรองการการุณยฆาตเมื่อไหร่ ควรจะแก้คำปฏิญาณนี้ด้วย
1
12. คุณหมอท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ ถ้าเจอคนไข้ครั้งแรกในสถานการณ์​ฉุกเฉิน​ สิ่งที่ต้องทำให้เร็วที่สุดก็คือการรักษาชีวิตของคนไข้ ซึ่งในความเป็นจริงถึงแม้คนไข้จะเคยเขียน Living will แสดงเจตจำนงของการไม่ยื้อชีวิตไว้ล่วงหน้า ก็ไม่มีเวลาที่จะมาขอดูเจตจำนงนั้น ต้องรีบทำการรักษาไปก่อน
2
13. คุณหมออีกท่านแบ่งปันประสบการณ์ว่าจากคำปฏิญาณและจรรยาบรรณของแพทย์ การทำการุณยฆาตไม่สามารถทำได้ แต่ในบางกรณีที่รู้อยู่แก่ใจว่าโรคที่คนไข้ประสบอยู่อาจทำให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่นาน แพทย์ก็มีหน้าที่ต้องบอกความจริงกับคนไข้เช่นเดียวกัน
เช่น มีคนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งบริเวณมดลูกระยะสุดท้าย แล้วเนื้องอกไปเบียดท่อไต ทำให้ไตไม่ขับของเสีย ซึ่งอาจจะเสียชีวิตจากภาวะไตวายได้ คุณหมอเป็นหมอศัลยกรรมที่โดนเรียกให้ไปช่วยทำการผ่าตัด แต่เมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว ก่อนทำการผ่าตัดคุณหมอได้แจ้งให้ครอบครัวคนไข้ทราบว่า การผ่าตัดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง แต่เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตจากภาวะไตวายเท่านั้น ซึ่งต้องผ่าตัดตรงท่อไตและฟอกไตต่อ ประกอบกับอาการของโรคมะเร็ง คิดว่าคนไข้จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน จะเลือกผ่าหรือไม่ผ่า เพราะถ้าไม่ผ่า คนไข้จะมีของเสียสะสมในเลือด ภาวะนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึม หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ระหว่างนั้นก็จะคอยให้การดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้คนไข้จากไปอย่างสงบ​ โดยให้คนในครอบครัวตัดสินใจ​
1
14. แต่การผลักดันการุณยฆาตเชิงรุก​ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธที่เชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป​ เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด เป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกในสังคม ดังนั้น​ การจะทำให้การการุณยฆาตเป็นที่ยอมรับ​ ต้องให้ทัศนคติของคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันให้ได้ก่อน
3
15. แม้แต่ในห้อง clubhouse ก็มีหลายคนที่ยกประเด็นเรื่องศาสนามาพูด แต่คนเปิดห้องเน้นย้ำว่า ต้องการความคิดเห็นที่ไม่อ้างอิงความเชื่อและศาสนา เพราะในประเทศไทยไม่ได้มีแค่คนนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังมีศาสนาอื่นๆ และมีคนที่ไม่นับถือศาสนารวมอยู่ด้วย จึงอยากให้ถกกันโดยยึดศีลธรรมขั้นต่ำสุด ซึ่งก็คือ กฎหมาย ที่ถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันของคนในสังคม
16. แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนถามว่าจะไม่พูดเรื่องศาสนาได้อย่างไร เพราะในประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ทำการุณยฆาตได้ เป็นประเทศที่มีแนวคิดเสรีนิยม ประชาชนมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง และส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา แสดงให้เห็นว่า แนวคิดที่จะทำให้ประเทศไทยออกกฎหมายอนุญาตการุณยฆาตได้นั้น​ คงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกันอีกมาก เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้กระทบแค่บุคคลเดียว แต่ต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกหลายส่วน
17. นอกจากนี้​ ยังมีความคิดทางปรัชญา​ ​ว่า​ แท้จริงแล้วชีวิตเป็นของใคร? ในประเทศที่ประชาชนมีความเป็นปัจเจกสูงย่อมเชื่อว่า ชีวิตเราเป็นของเรา เรามีสิทธิเลือกที่จะทำอะไรกับตัวเองก็ได้ แต่การที่เราเลือกเกิดเองไม่ได้ ต้องมีคนอื่นทำให้เกิดขึ้นมา จะบอกว่าชีวิตเป็นของเราได้จริงหรือไม่?
1
18. ประเทศที่การการุณยฆาตถูกกฎหมาย​ มีไม่มากนัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก โคลอมเบีย แคนาดา อเมริกาในบางรัฐ ซึ่งทุกประเทศมีหลักการเหมือนกันคือ ต้องเป็นเจตจำนงและความสมัครใจของคนไข้เอง ร่างกายต้องได้รับความทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ร่างกายเสื่อมถอย ในบางประเทศอย่างออสเตรเลีย มีข้อกำหนดด้วยว่าต้องมีการรับรองจากแพทย์ 2 คนว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ถึงจะอนุญาต
3
19. สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ผู้ป่วยต่างประเทศเดินทางไปทำการุณยฆาตจำนวนมาก เพราะมีสถาบันด้านการทำยุติรักษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่เดียวในโลก
20. วิธีการุณยฆาต​เชิงรุก​ ส่วนใหญ่จะใช้การดื่ม หรือ ให้ยาทางสายน้ำเกลือ โดยคนไข้จะยกดื่ม หรือ เปิดสายน้ำเกลือเอง เพื่อบรรเทาความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องว่าไม่ได้เป็นคนลงมือ
21. ยกเว้นในบางกรณีที่อาการป่วยหนักมาก จนไม่สามารถยกแขนเองได้ อาจพิจารณาการฉีดยา ซึ่งต้องกระทำโดยแพทย์ ก็จะต้องสอบถามความสมัครใจของแพทย์เช่นกัน แน่นอนว่าแม้แต่ในแพทย์เอง ย่อมมีมุมมองต่างกัน บางคนมองว่าเป็น Mercy Killing คือ การช่วยทำให้คนไข้พ้นทุกข์ แต่บางคนอาจมองว่าถูกยืมมือให้เป็นฆาตกร ดังนั้นแพทย์ที่จะเข้ามารับผิดชอบหน้าที่นี้ ต้องมีความพร้อมด้านจิตใจและเห็นด้วยกับการการุณยฆาต
1
22. การทำการุณยฆาตเชิงรุก แม้แต่ในประเทศที่กฎหมายอนุญาตก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอนอย่างเข้มงวด​ มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยัน ที่สำคัญ ต้องผ่านการประเมินทางสุขภาพจิต ว่าเป็นคนมีจิตใจปกติ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ผ่านการยอมรับ เห็นชอบจากครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และ ค่าใช้จ่ายสูง
23. ผู้เปิดห้องใน clubhouse ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการฆ่าตัวตาย ถึงแม้จะมีหลายคนพูดประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายจากสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ แม้ร่างกายจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น การเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่ขอนับรวมประเด็นนี้ เพราะต้องการคุยเรื่องความเป็นไปได้ของการผลักดันกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย ซึ่งการฆ่าตัวตายสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เพราะบุคคลที่กระทำไม่มีชีวิตอยู่ให้เอาผิด แตกต่างจากการุณยฆาต ที่ต้องมีบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ก็จะกลายเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาทันที
24. ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน มีคนมาแชร์ประสบการณ์ว่า คนรู้จักนอนเป็นเจ้าชายนิทรา คุณหมอบอกว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะตื่นขึ้นมา แต่ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเพื่อนก็ตื่นขึ้นมา เมื่อรับการฝึกพูดและทำกายภาพบำบัด ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งการตัดสินใจทำการุณยฆาตก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในข้อนี้ด้วยเหมือนกัน
1
25. คนที่เห็นด้วยกับการุณยฆาต ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่กลัวตาย แต่กลัวความทุกข์ทรมานก่อนตาย ดังนั้นถ้าป่วยเป็นโรคร้าย ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ไม่อยากทรมานกับความเจ็บปวดนาน และขอเลือกที่จะจากไปอย่างสงบ
ไม่ว่าจะเป็น​ การุณยฆาต​เชิงรุก​ หรือ​ การุณยฆาต​เชิงรับ​ พร้อมการดูแลแบบประคับประคอง​ คนที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับ​ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ตัวคนไข้​ แต่เป็นครอบครัวและญาติพี่น้อง​ ถ้าได้มีการพูดคุยกันไว้ก่อนจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่เคย แล้ววันหนึ่งต้องตัดสินใจแทนคนไข้ ก็ให้เลือกสิ่งที่เป็นไปเพื่อคนไข้โดยแท้จริง​ ไม่ใช่เพื่อความรู้สึกของตัวเอง
1
🔉 ใน​ Blockdit​ ก็มีคุณหมอที่ศึกษาด้าน​การดูแลแบบประคับประคอง​ หรือ​ Palliative​ Care​ แล้วเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดีมากหลายบทความ​ คือ​ เพจ​ หมอสายดาร์ก​ จะขอยกส่วนหนึ่งมาแชร์ไว้ตรงนี้​ สามารถตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจของคุณหมอค่ะ​ >>
'ตายอย่างสงบ(จริงๆ)​เป็นยังไง'​
'ตายอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นยังไง'
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา