11 พ.ค. 2021 เวลา 13:49 • ครอบครัว & เด็ก
“เชื่อฟัง - ฟังแล้วเชื่อ” ฝรั่ง VS ไทย
หลายครั้งที่เรานึกถึงคำพูดเกี่ยวกับการสอนลูกที่เราคุ้นเคย “จะสอนลูกอย่างไงให้ลูกเป็นเด็กดี ไม่ดื้อ ไม่ซน อยู่ในโอวาท ว่านอนสอนง่าย และเชื่อฟังคำสั่งสอน”👶🏻 👦🏻 👧🏻
เมื่อเรามีโอกาสได้เป็นแม่ที่เลี้ยงลูกในประเทศสวีเดน เราจึงเห็นว่าที่นี่มีแนวคิดและวิธีการสอนลูกที่ต่างไป แนวคิดที่แตกต่างนั้นเป็นอย่างไร และคุณคิดอย่างไรกับวิธีที่เราเลือกสอนลูก มาจับเข่าคุยกันดีกว่าเด้อคะ 😄😄
ส่วนตัว เรามองว่าการสอนแบบไทยนั้น พ่อแม่มักจะคาดหวังให้เด็กเป็นเด็กดี โดยกำหนดแบบแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเด็กที่ดีนั้นจะต้อง อ่อนน้อม ไม่ดื้อ ไม่ซน โดยเฉพาะจะต้อง "เชื่อฟัง พ่อแม่ ผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์”
เราว่าข้อดีมีนะ เด็กส่วนใหญ่ที่ผ่านกระบวนการสอนนี้มักจะสุภาพ เรียบร้อย น่ารัก หัวอ่อน แต่เรามองว่าข้อเสียมีเยอะกว่า เพราะมันเป็นการปิดกั้นความคิดและความเป็นตัวเองของเด็ก
"เชื่อฟัง ฟังแล้วเชื่อ" มันเป็นเหมือนคำสั่ง ที่สั่งให้เด็กเชื่อว่าผู้ใหญ่นั้นทำหรือพูดอะไรก็ถูกไปหมด พวกเขาถูกห้ามคิดห้ามเถี่ยง สิ่งที่พวกเขาทำได้เพียงแค่ฟังและเชื่อทุกสิ่งที่พวกเขาได้รับการถ่ายทอดจากผู้ใหญ๋ 😫😫
ถามว่าฝรั่งเขาเลี้ยงลูกให้เชื่อฟังไหม? เราคิดว่าเขาทำนะ แต่ความแตกต่างคือ เขาจะกระตุ้นให้เด็ก “คิดวิเคราะห์” ก่อนที่จะเชื่อ ส่วนของไทยเรา เราสอนให้เด็กเชื่อเมื่อได้ฟังจาก “พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์”
ประมาณว่าฝรั่งเขาสอนให้เด็กคิดว่าฟังอะไรอยู่ ส่วนไทยเราสอนให้เด็กดูว่าฟังจากใคร 🤔สอนให้เขาเป็นเด็กช่างคิด มันเหมือน "สอนฉันจับปลา ฉันมีกินตลอดไป" 👌
เราเลือกที่จะสอนให้ลูกคิดวิเคราะห์ก่อนที่จะเชื่อ ไม่เชื่อไม่ทำตามก็ได้ ถ้าเขามีเหตุผลอธิบาย ทำไม อะไร อย่างไร เราไม่คิดว่าเรากำลังสอนให้ลูกเป็นเด็กดื้อหรือเด็กหัวแข็ง แต่เรากำลังสอนให้เขาเอาตัวรอดในสังคมและโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ โดยเฉพาะในเวลาที่เขาไม่มีเรา
กุญแจสำคัญของเราที่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง ไม่ใช่การบังคับด้วยความเป็นแม่ แต่เป็นเหตุผล และหากเขามีเหตุผลที่ดีกว่า เราก็พร้อมรับฟัง เราไม่คิดว่าเราเป็นแม่ทำผิดแล้วจะเสียหน้า ตรงกันข้ามมันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากลูก หากเป็นความคิด เขาก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเรา เราต่างก็เคารพในความคิดของกันและกัน
1
เราบอกเขาเสมอว่า ไม่ว่าจะพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ หรือผู้ใหญ่ที่ไหน ก็มีโอกาสทำพลาดได้ เขาสามารถบอก เตือน หรือแสดงความคิดเห็นได้เสมอ แต่เขาควรทำด้วยเหตุผลและด้วยความสุภาพ 😍
ลูกของเราตอนนี้เรียน ป.5 เราเคยสอนเขาว่า เขาไม่ควรเชื่อไปทุกเรื่องผ่านรายการยูทูปที่เขามักจะดู ลูกก็เสริมมาทันทีว่า "ใช่แล้วแม่ เราต้องดูว่ามันน่าเชื่อถือแค่ไหน ใครที่ทำรายการยูทูปนั้น เขามีความรู้และประสบการณ์ในสิ่งที่เขาทำแค่ไหน มีจุดประสงค์เพื่ออะไร หรือกำลังพยายามขายของให้เราอยู่ และโดยเฉพาะอะไรที่ดีเกินไป ต้องคิดว่าเป็นไปไม่ได้ไว้ก่อน" 😅
เราไปต่อไม่ถูกเลย ตะลึงกับสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้ แต่ก็ดีใจที่เขาเข้าใจ เราถามเขาว่าสิ่งนี้ได้มาจากไหน เขาบอกว่า “ที่โรงเรียนเขาสอนตั้งนานแล้วละ แม่” 😍
เราไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่แม้แต่กับเด็กไทย เพียงแต่เรายกตัวเอย่างระบบการศึกษาที่นี่ ที่สอนและกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เสมอ
เราพยายามไม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นอย่างไร เขาอาจจะดื้อบ้าง ซนบ้าง อาจจะไม่อยู่ในโอวาทตลอดเวลา อาจจะไม่ว่านอนสอนง่ายเสมอ และไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของเราทุกครั้ง เราขอเพียงให้เขาได้มีความสุขในการที่เขาได้เป็นตัวของตัวเอง ในแบบที่เขาต้องการ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นและสังคม ❤️❤️
น่าคิดไหม ทำไมวิธีการสอนเด็กของฝรั่งและไทยนั้นต่างกัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามกาลเวลา หรือมีใครเป็นผู้กำหนดแนวคิดให้กับสังคมจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ใครที่เป็นผู้กำหนดแนวคิดนี้ เขามีจุดประสงค์อะไร และต้องการอะไร ทำไมเขาถึงต้องการให้เด็กไทยซึ่งเติบโตเป็นคนไทยที่ "เชื่อฟัง" โดยไม่ต้องใช้ความคิด 🙄🤔
1
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างเราก็ยอมรับ หากมีใครฝากความเห็นหรือคำแนะนำไว้ในคอมเมนท์ ก็ขอบคุณมาก 👍👍
 
เหรียญมีสองด้าน เรายังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปัญหาการเลี้ยงลูกของเราในสไตล์นี้ รวมถึงเป็นปัญหาของพ่อแม่ชาวสวีเดนอีกหลายๆ คน แล้วเราจะมาเล่าให้ฟังเมื่อถึงเวลานั้น😁😁 ฝากแวะมาอ่านเรื่องเล่าของเราอีกนะ ไปก่อนละ บายๆ 🤗🤗
อ่านเพิ่มเติม
🌼 “เยาวชน กับ การชุมนุม” ฝรั่ง VS ไทย
🌼 "โรงเรียน" ฝรั่ง VS ไทย
🌼 "ภาษี" ฝรั่ง VS ไทย
🌼 “หญิงไทยสเปคฝรั่ง” ในความคิดของ ฝรั่ง VS ไทย
โฆษณา