15 พ.ค. 2021 เวลา 09:32 • ประวัติศาสตร์
มงกุฎที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ (ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน)
มงกุฎนี้สวยมากจึงอยากให้เห็นรูปชัด ๆ เลยไม่ได้ใส่ตัวหนังสืออะไรเข้าไป มงกุฎในรูปนี้
•เป็นมงกุฎที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางของอังกฤษ
•เป็นของเจ้าหญิง Blanche แห่ง Lanchaster ของอังกฤษ
•มีชื่อเรียกว่า Crown of Princess Blanche
•ทำจากทองคำลงยา ประกอบด้วยไพลิน เพชร ทับทิม มรกต และมุก
•มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร และสูง 18 เซนติเมตร
•น่าจะมีอายุประมาณ 650 ปี
•ปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมนี
Photo: WIKIPEDIA
กำเนิดของมงกุฎ
มีบันทึกว่ามงกุฎนี้ถูกทำขึ้นมาในสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ของอังกฤษราวช่วงปี 1370-1380 ซึ่งระบุว่าใช้ไข่มุกจำนวน 91 เม็ด ทับทิม 63 เม็ด ไพลิน 47 เม็ด เพชร 33 เม็ด และมรกต 5 เม็ด และมีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัม และมูลค่าในเวลานั้นเท่ากับ 246 ปอนด์ 13 ชิลลิ่ง และ 13 เพนซ์
มงกุฎนี้มีรูปทรงแบบ fleur de lys หรือทรงดอกลิลลี่ซึ่งเป็นรูปทรงของมงกุฎซึ่งเป็นนิยมในช่วงยุคกลาง ดังนั้น มงกุฎนี้จึงมีก้านดอกลิลลี่ชูขึ้นมา 12 ก้าน และแหล่งผลิตของมงกุฎใบนี้สันนิษฐานว่าถูกทำขึ้นที่โบฮีเมียแต่วัตถุดิบในการทำมงกุฎมาจากปารีส โดยช่างที่ทำน่าจะเป็นคนฝรั่งเศสหรือไม่ก็เป็นช่างที่ถูกฝึกให้ทำงานฝีมือแบบฝรั่งเศส แต่บางแหล่งก็เชื่อว่ามงกุฎใบนี้ถูกทำขึ้นที่เวนิส
สันนิษฐานว่ามงกุฎนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นมงกุฎของราชินีแอนน์แห่งโบฮีเมีย มเหสีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ซึ่งอภิเษกกันในปี 1382 แต่เมื่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ถูกโค่นบัลลังก์ในปี 1399 โดยพระเจ้าเฮนรีที่ 4 จากราชสกุลสายแลงคาสเตอร์ จึงทำให้มงกุฎนี้เปลี่ยนมือเจ้าของไปสู่กษัตริย์องค์ใหม่
ริชาร์ดที่ 2 กับแอนน์แห่งโบฮีเมีย Photo: Medievalist.net
มงกุฎย้ายถิ่นตามเจ้าของ
เมื่อขึ้นครองบัลลังก์ กษัตริย์เฮนรีที่ 4 ต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อรักษาอำนาจและสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตน จึงให้พระธิดาองค์โตของพระองค์แต่งงานกับโอรสเพียงองค์เดียวของกษัตริย์รูเพิร์ตแห่งเยอรมนีของราชวงศ์ Wittelsbach
กษัตริย์เฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษมีพระธิดาองค์โตกับมเหสีองค์แรกชื่อว่าเจ้าหญิงบลานซ์ (หรือบางทีออกเสียงว่าบล็องซ์) บลานซ์จึงถูกจัดการให้สมรสกับลูอิสที่ 3 (หรือลุดวิกที่ 3) โดยในวันที่ 7 มีนาคม ปี 1401 มีการลงนามทำสัญญาแต่งงานกันที่กรุงลอนดอน ซึ่งค่าสินสมรสของเจ้าสาวมีการตกลงราคากันที่ 40,000 โนเบิล (ในสมัยยุคกลางนั้นสินสมรสของฝ่ายหญิงจะตกเป็นของสามีเมื่อแต่งงาน และโดยส่วนใหญ่ก่อนแต่งงานมักจะมีการทำข้อตกลงกันก่อน)
1
ก่อนที่จะมีการสมรสเกิดขึ้น มงกุฎใบนี้ถูกส่งไปซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดใหม่กับช่างทองในกรุงลอนดอน เมื่อซ่อมเสร็จ มงกุฎจึงได้ถูกส่งไปยังอาณาจักรที่เป็นบ้านใหม่พร้อมกับสมบัติอื่น ๆ ของเจ้าสาว และเจ้าสาวได้สวมมงกุฎใบนี้ในพิธีสมรสของตนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1402 ณ วิหารโคโลญจ์ในเยอรมนี
เมื่อเจ้าหญิงสมรสกับลุดวิกที่ 3 ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าผู้ครองนครรัฐพาลาทีนในปี 1402 มงกุฎนี้จึงได้ตกเป็นสมบัติของราชวงศ์ Wittelsbach ในฐานะที่เป็นสินสมรสของเจ้าสาวนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
บลานซ์แห่งอังกฤษ (กลาง) กับสวามี (ซ้าย) และมเหสีคนที่ 2 ของสวามี (ขวา) Photo: British Museum
ปัจจุบัน
การที่มงกุฎนี้เปลี่ยนมือผู้ครอบครองจากอังกฤษไปเป็นเจ้าผู้ครองรัฐในเยอรมนี จึงถูกเรียกในอีกชื่อว่า Palatine Crown หรือ Bohemian Crown
ในปี 1782 มงกุฎนี้ถูกถ่ายโอนเป็นสมบัติของกองคลังเมืองมิวนิครวมไปถึงเครื่องประดับอื่น ๆ ที่เป็นของราชวงศ์ Wittelsbach สายพาลาทีน ซึ่งต่างถูกมอบให้แก่กองคลังแห่งนี้ด้วย
ในปี 1925 มีการซ่อมแซมมงกุฎนี้ โดยใช้ไข่มุกใหม่ไปแทนไข่มุกเก่าที่ชำรุดเสียหายไป
1
ปัจจุบัน มงกุฎใบนี้ถูกจัดแสดงที่สำนักกองคลังแห่งเมืองมิวนิค ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและเก็บรักษามงกุฎนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1782

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา