23 มิ.ย. 2021 เวลา 06:53 • ประวัติศาสตร์
โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์
4
จริง ๆ แล้วตอนนี้ตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องหน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่ แห่งสก็อตแลนด์ ผู้ถูกราชินีอีลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษลงนามสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดหัว รวมถึงเรื่องราวที่กล่าวขานกันว่าวิญญาณของพระนางแมรี่ยังคอยหลอกหลอนผู้คนจนถึงปัจจุบัน
5
แต่ครั้นจะเล่าตอนตายเป็นผีเลยก็เกรงว่าคนอ่านที่ไม่คุ้นกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษกับสก็อตแลนด์จะไม่ทราบที่มาที่ไปของราชินีแมรี่ เลยลงมือเขียนประวัติคร่าว ๆ ของราชินีแมรี่เสียก่อน แต่ขนาดเขียนอย่างคร่าว ๆ แล้วเรื่องก็ยังยาว เลยเปลี่ยนใจให้ตอนนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของราชินีแมรี่ก่อน แล้วตอนหน้าจึงเล่าเรื่องลึกลับที่เกิดขึ้นกับหน้ากากแห่งความตายของราชินีแมรี่ กับเรื่องเล่าวิญญาณของพระนางที่ผู้คนได้ประสบพบเห็นกัน
4
ราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์มีทุกสิ่ง ทั้งอำนาจ ราชทรัพย์ และหน้าตารูปร่างที่กล่าวขานกันว่างดงามงามจนราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ผู้แก่กว่าริษยา แต่ชีวิตกลับไม่ได้สวยงามดังเช่นสิ่งที่พระนางมี อาจจะเป็นเพราะการเลือกตัดสินใจเดินทางผิดอย่างไม่ฉลาดเฉลียวทั้งเรื่องการเมืองและการมุ้ง
4
ภาพจารึกการตัดหัวราชินีแมรี่ ภาพนี้น่าจะทำขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 19 (Image: Alamy.com)
👸🏼ชีวิตวัยเยาว์ของราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์
เจ้าหญิงแมรี่ สจ๊วร์ต (Mary Stuart, Mary Stewart) เกิดเมื่อปี 1542 เป็นพระธิดาเพียงองค์เดียวที่รอดชีวิตของกษัตริย์เจมส์ที่ 5 แห่งสก็อตแลนด์ กับมารีแห่งกีส (Mary of Guise) มเหสีคนที่ 2 จากตระกูลขุนนางที่ทรงอำนาจในฝรั่งเศส (พี่น้องคนอื่นตายตั้งแต่ยังเป็นทารก และกษัตริย์เจมส์ที่ 5 มีลูกนอกสมรสกับคนอื่นด้วย)
6
แมรี่กลายเป็นราชินีแห่งสก็อตแลนด์เมื่อมีอายุได้เพียง 6 วันเนื่องจากกษัตริย์เจมส์ที่ 5 พระราชบิดาของนางสิ้นพระชนม์ พอเวลาล่วงเข้าเก้าเดือนต่อมาก็มีพิธีขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 กันยายน ปี 1543 แต่ในทางปฏิบัติสก็อตแลนด์มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปกครองแทน คือมารีแห่งกีส
1
ในตอนแรก มีการจัดแจงตกลงกันแล้วว่าจะให้เจ้าหญิงแมรี่แต่งงานกับเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายรัชทายาทของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 โดยเมื่อแมรี่อายุได้ 10 ปีจะถูกส่งตัวมาอภิเษกและอยู่ที่อังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อคาร์ดินัลบีตันผู้นำคาทอลิกขึ้นสู่อำนาจจึงต่อต้านข้อตกลงนี้ และได้นำตัวราชินีแมรี่ไปไว้ที่ปราสาทสเตอร์ลิงเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายฝ่ายสก็อตแลนด์จึงเบี้ยวข้อตกลงที่เคยทำไว้ ซึ่งทำให้กษัตริย์เฮนรีที่ 8 กริ้วมาก จึงส่งกองทัพไปสั่งสอนสก็อตแลนด์ด้วยการทำลายเผาโบสถ์ต่าง ๆ รวมถึงทำลายพืชผลที่เพาะปลูกของชาวสก็อต ส่วนราชินีแมรี่ถูกย้ายไปย้ายมาตามปราสาทต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย
10
แต่ไม่ว่าจะโดนสั่งสอนอย่างไร เมื่อราชินีแมรี่มีอายุได้ 5 ขวบ สก็อตแลนด์กับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาให้พระนางแต่งงานกับรัชทายาทแห่งบัลลังก์ฝรั่งเศส เพื่อผนึกแนวร่วมพันธมิตรชาติคาทอลิกเพื่อยันกับฝ่ายอังกฤษที่เป็นโปรเตสแตนท์ ด้วยเหตุนี้ในปี 1548 นางจึงถูกส่งตัวไปยังราชสำนักฝรั่งเศสเพื่อไปเป็นว่าที่เจ้าสาวของว่าที่กษัตริย์ฝรั่งเศสโดยพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 13 ปี ภายใต้รัชสมัยของกษัตริย์เฮนรีที่ 2 (หรืออองรีที่ 2) กับมเหสีคือแคทเธอรีน เดอ เมดิซี
4
ที่ราชสำนักฝรั่งเศสอันหรูหราฟู่ฟ่า ราชินีแมรี่ได้รับการเลี้ยงดูเยี่ยงราชินีตามฐานันดรศักดิ์ พระนางเรียนรู้เรื่องการเต้นรำ ล่าสัตว์ และได้เล่าเรียนเขียนอ่านภาษาลาติน อิตาเลียน สแปนิช และภาษากรีก ส่วนภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นภาษาแรกของพระนาง ด้วยเหตุนี้ราชินีแมรี่จึงเติบโตมาแบบสาวฝรั่งเศสทุกกระเบียดนิ้วมากกว่าที่จะเป็นคนสก็อต ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นข้อเสียอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมา เพราะสก็อตแลนด์ในเวลานั้นออกจะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเมื่อเทียบกับฝรั่งเศส
6
ในวันที่ 24 เมษายน ปี 1558 เมื่อมีอายุได้ 15 ปี ราชินีแมรี่ก็เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับรัชทายาทของฝรั่งเศส คือดอฟินฟรานซิส (หรือดอแฟงฟรองซัวร์) วัย 14 ปี ที่ปารีส ถึงแม้จะเป็นการจับคู่แต่งงานกันทางการเมือง แต่ทั้งคู่ก็ชอบพอกันและกันเนื่องจากถูกเลี้ยงดูให้เติบโตมาด้วยกัน พระนางเป็นที่รักในราชสำนักฝรั่งเศสยกเว้นกับราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิซี
6
พอกษัตริย์เฮนรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ในปี 1559 จากอุบัติเหตุถูกหอกแทงในการประลองยุทธของอัศวินบนหลังม้า (เป็นไปตามคำทำนายของนอสตราดามุส) ฟรานซิสวัย 15 ปีและแมรี่วัย 16 ปีก็กลายเป็นกษัตริย์และราชินีแห่งฝรั่งเศสพระองค์ใหม่ ราชินีแมรี่กลายเป็นดาวดวงเด่นของวงการราชวงศ์ในยุโรป แต่ระยะเวลานี้สั้นเพียงปีเศษ เพราะยุวกษัตริย์ฟรานซิสที่ 2 สิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันสมควรในเดือนธันวาคม ปี 1560 เพราะมีอาการติดเชื้อที่หูแล้วลามไปสมอง ราชินีแมรี่จึงกลายเป็นมเหสีม่ายด้วยวัย 18 ปี และเชื่อกันว่าการแต่งงานนี้น่าจะไม่สมบูรณ์ในทางพฤตินัย เนื่องจากว่ากษัตริย์ฟรานซิสสุขภาพอ่อนแอมาก ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันมารดาของพระนางคือมารีแห่งกีสก็เสียชีวิต
15
ภาพกษัตริย์ฟรานซิสที่ 2 กับราชินีแมรี่ (Image: Worldhistory.org)
👸🏼สิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษและการตั้งตัวเป็นศัตรูกับราชินีแห่งอังกฤษ
เมื่อเจ้าหญิงอีลิซาเบธ ทิวเดอร์ ขึ้นครองบัลลังก์เป็นราชินีอีลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1558 โดยลำดับสายเลือดแล้วเท่ากับว่าราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์อยู่ในลำดับถัดไปในการเป็นราชินีอังกฤษ เพราะย่าของราชินีแมรี่คือเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ ซึ่งเป็นพระธิดาของกษัตริย์เฮนรีที่ 7 และเป็นพี่สาวของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 พระราชบิดาของราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ดังนั้นราชินีแมรี่จึงมีสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษต่อจากพระโอรสและธิดาของกษัตริย์เฮนรีที่ 8
1
แต่ในสายตาของชาวคาทอลิกแมรี่คือผู้ที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษมากกว่า ส่วนราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ถูกพวกคาทอลิกมองว่าเป็นลูกนอกกฎหมาย เพราะเห็นว่ากษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทิ้งแคทเธอรีนแห่งอรากอนมเหสีองค์แรกมาอภิเษกสมรสกับมารดาของพระองค์คือแอนน์ โบลีน ผู้เป็นมเหสีคนที่ 2 นั้นไม่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย
6
ยิ่งราชินีอีลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษไม่ได้อภิเษกกับใครและไม่มีรัชทายาทยิ่งทำให้ราชินีแมรี่และผู้สนับสนุนฮึกเหิมว่าบัลลังก์อังกฤษต้องตกเป็นของพระนางอย่างแน่นอน ในวันที่ 4 เมษายน ปี 1558 ราชินีแมรี่ลงนามในข้อตกลงลับโดยยกสก็อตแลนด์และยกการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษให้แก่ฝรั่งเศสหากพระนางสิ้นพระชนม์โดยไม่มีโอรสหรือธิดา
6
ด้วยความที่ฝรั่งเศสไม่ถูกกับอังกฤษที่เป็นศัตรูกัน กษัตริย์เฮนรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่พยายามอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์อังกฤษให้กับลูกสะใภ้ตนเอง โดยเรียกลูกชายและลูกสะใภ้ตัวเองว่าเป็น ‘กษัตริย์และราชินีแห่งอังกฤษ’ ด้วย
5
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อราชินีแมรี่ทำพิธีราชาภิเษกเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสนั้น มีการออกแบบตราประจำตัวของพระนางด้วยการนำเอาบางส่วนของตราราชวงศ์อังกฤษที่ราชินีอีลิซาเบธใช้อยู่มาใช้ด้วย ซึ่งแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งในการอ้างสิทธิ์ต่อบัลลังก็อังกฤษท้าทายราชินีอีลิซาเบธ
5
ที่ร้ายไปกว่านั้น ราชินีแมรี่ยังปฏิเสธไม่ยอมรับสนธิสัญญาเอดินเบรอะปี 1560 ที่เป็นเอกสารอย่างเป็นทางการที่ระบุสิทธิ์ของราชินีอีลิซาเบธว่าเป็นราชินีแห่งอังกฤษ (และสนธิสัญญานี้ยังไม่ให้ราชินีแมรี่อ้างสิทธิ์ใด ๆ ในราชบัลลังก์อังกฤษ) ผู้แทนของฝรั่งเศสและสก็อตแลนด์ลงนามในสนธิสัญญานี้แล้ว แต่ราชินีแมรี่ที่อยู่ฝรั่งเศสไม่ยอมให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาดังกล่าว
4
ความพยายามเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อตัวราชินีแมรี่เอง เพราะทำให้พระนางได้เปิดศึกเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยต่อราชินีอีลิซาเบธที่ 1 แทนที่จะอยู่เงียบ ๆ รอรับช่วงราชบัลลังก์ไป สิ่งที่ตามมาคือราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ตอบโต้ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมให้ราชินีแมรี่เป็นรัชทายาทของพระนาง
6
ราชินีแมรี่เป็นที่เลื่องลือในเรื่องความงาม พระนางมีร่างสูงระหงถึง 180 เซนติเมตร มีผมสีทองออกแดง ตาสีอำพัน มีรสนิยมเรื่องดนตรีและกาพย์กลอน ซึ่งเป็นลักษณะในอุดมคติของเจ้าหญิงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ส่วนราชินีอีลิซาเบธนั้นมีอายุมากกว่า แถมใบหน้ายังเต็มไปด้วยแผลเป็นจากโรคฝึดาษ
9
แม้สองราชินีแห่งอังกฤษและสก็อตแลนด์จะเป็นญาติกัน และดินแดนทั้งสองติดกัน แต่ทั้งคู่ไม่เคยพบกัน (ถ้าใครเคยดูหนังแล้วในเรื่องเห็นว่าเจอกันนั้นไม่ใช่เรื่องจริง) โดยทั้งคู่ติดต่อกันเฉพาะทางจดหมายเท่านั้นและสื่อสารผ่านคนกลาง
3
ตราที่ราชินีแมรี่ใช้ก่อนที่จะมีสนธิสัญญาเอดินเบรอะปี 1560 (Image: Wikipedia)
👸🏼กลับคืนสู่สก็อตแลนด์
เมื่อกษัตริย์ฟรานซิสสิ้นพระชนม์ ราชินีม่ายแมรี่ก็ต้องกลับดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนแม้จะลังเลที่จะต้องกลับสก็อตแลนด์ก็ตามที ดินแดนสก็อตในช่วงเวลานั้นเผชิญกับการปฏิรูปศาสนาขุนนางควบคุมการทำงานของรัฐบาลและยังแตกแยกกันเองระหว่างขุนนางฝ่ายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์
4
ราชินีอีลิซาเบธที่กริ้วจากพฤติกรรมที่เป็นการท้าทายบัลลังก์ของราชินีแมรี่ขู่ว่าไม่รับรองความปลอดภัยของพระนางเมื่อเดินเรือผ่านช่องแคบเพื่อกลับไปยังสก็อตแลนด์
1
เมื่อราชินีแมรี่เดินทางกลับสก็อตแลนด์ในเดือนสิงหาคม ปี 1561 พระนางพบว่าชีวิตในราชสำนักฝรั่งเศสที่เติบโตขึ้นมาไม่ได้เตรียมความพร้อมใด ๆ ให้แก่พระนางที่จะปกครองสก็อตแลนด์ เพราะเมื่อย่างเท้าเข้าสู่ดินแดนที่พระนางจะต้องปกครอง ดินแดนนี้ได้ผ่านการปฏิรูปศาสนาจนกลายเป็นประเทศโปรเตสแตนท์ไปแล้ว ในขณะที่พระนางเป็นคาทอลิก จึงทำให้ผู้นำทางศาสนาของชาวสก็อตอย่างสาธุคุณจอห์น น็อกซ์ (John Knox) ผู้นำการปฏิรูปศาสนาไม่ต้อนรับพระนาง โดยมองพระนางว่าเป็นราชินีต่างด้าวผู้นับถือศาสนาต่างแดน
1
แต่สิ่งที่ยากกว่าเรื่องศาสนาคือบรรดาขุนนางชาวสก็อตที่มีปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแถมยังมีนิสัยวุ่นวายสร้างความโกลาหลโดยทะเลาะกันไปกันมา แถมยังมุ่งสร้างอำนาจให้แก่ตนมากกว่าที่จะจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง ราชินีแมรี่ไร้ซึ่งขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ซึ่งเรื่องนี้ต่างจากสถานการณ์ของราชินีอีลิซาเบธที่มีขุนนางจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมที่จะรับใช้ถวายหัวให้แก่ราชินีของตน
3
ปีแรก ๆ ในการกลับมาปกครองสก็อตแลนด์ แมรี่สามารถบริหารประเทศได้เป็นอย่างดี ยังมีการใช้นโยบายอดทนอดกลั้นทางศาสนาอยู่ และมีการเสด็จไปทั่วประเทศด้วยพระองค์เองในช่วงปี 1562-1566 โดยมีเจมส์ สจ๊วร์ต (James Stewart) พี่ชายต่างมารดาที่เป็นผู้นำฝ่ายโปรเตสแตนท์คอยช่วยบริหารประเทศ
2
ชีวิตราชินีแมรี่ที่สก็อตแลนด์ช่วงเวลาแรกคือราชินีสาวผู้งดงามมีชีวิตชีวา ผู้สร้างชีวิตในราชสำนักของพระองค์ให้คึกคักหรูหราสง่างามและบันเทิงรื่นเริงไปกับการจัดงานเลี้ยง การเต้นรำ ล่าสัตว์ ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้มาจากรายได้ของพระองค์จากที่ดินครอบครองอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่การกระทำนี้ทำให้พระนางถูกสาธุคุณจอห์น น็อกซ์ เทศน์ว่าเอาแต่เต้นรำและแต่งตัวหรูหราเกินไป พระนางจึงเรียกตัวเขามาพบ แต่เขาไม่มา พระนางจึงสั่งให้จับเขาในข้อหากบฏ แต่เขาก็พ้นจากคำกล่าวหานี้และถูกปล่อยตัวไป
8
ด้วยความไม่ประสีประสาทางการเมืองหรืออาจจะเป็นเพราะการที่เติบโตในราชสำนักฝรั่งเศสจนไม่คุ้นเคยกับวิถีการเมืองบนเกาะบริเตนของราชินีแมรี่ ทำให้พระนางสร้างศัตรูไว้มากมาย อีกทั้งการที่แมรี่นับถือคาทอลิกในขณะที่ชาวสก็อตจำนวนมากนับถือโปรเตสแตนท์ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น การที่ราชินีแมรี่และผู้สนับสนุนชาวคาทอลิกแสดงตัวว่ามีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษมากกว่าราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ยิ่งทำให้นางมีศัตรูทั่วทุกหัวระแหง เพราะชาวโปรเตสแตนท์ทั้งในอังกฤษและสก็อตแลนด์ต่างไม่พึงปรารถนาราชินีคาทอลิกอย่างพระนางอยู่ดี
5
สองราชินีแห่งอังกฤษและสก็อตแลนด์ (Image: Biography.com)
👸🏼ราชินีแมรี่เลือกคู่
จุดเริ่มต้นของความตกต่ำอย่างชัดเจนของราชินีแมรี่คือการเลือกคู่ผิด ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะเลือกคู่จากราชวงศ์ในยุโรปแต่ก็ล้มเหลว ราชินีอีลิซาเบธก็เสนอตัวเลือกให้เป็นขุนนางคนสนิทที่เป็นคู่รักของพระนาง (เชื่อกันว่าแนะนำเพียงเพื่อให้ราชินีแมรี่ดูต่ำต้อยลง) ซึ่งก็แน่นอนว่าราชินีแมรี่ปฏิเสธ
2
ในเดือนกรกฎาคม ปี 1565 แมรี่เดินหมากทางการเมืองด้วยการแต่งงานกับผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษอีกคนคือเฮนรี สจ๊วร์ต (Henry Stewart) ที่มียศเป็นเอิร์ลแห่งดาร์นลีย์ (earl of Darnley) ผู้ที่เป็นหลานมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ เหมือนกัน โดยมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ ย่าของราชินีแมรี่ แต่งงาน 3 รอบ รอบแรกแต่งงานกับปู่ของพระนาง ส่วนรอบสองแต่งงานกับตาของเฮนรี สจ๊วร์ต
1
ดาร์นลีย์เป็นโปรเตสแตนท์ การแต่งงานกับชายผู้นี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับสก็อตแลนด์ แต่เขาเป็นโปรเตสแตนท์ที่หันมาฝักใฝ่คาทอลิก (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเขาเป็นคาทอลิกเลย) ซึ่งทำให้ชาวโปรเตสแตนท์ในสก็อตแลนด์ไม่พอใจและไม่ไว้ใจ มีเรื่องเล่ากันว่าราชินีแมรี่หลงเสน่ห์ของดาร์นลีย์ที่รูปหล่อมาก พระนางเลยหน้ามืดตามัวแต่งงานด้วยโดยไม่พิจารณารายละเอียดใด ๆ โดยเจอกันเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น
การเลือกแต่งงานกับดาร์นลีย์ทำให้ราชินีแมรี่สร้างความเป็นปรปักษ์ต่อทุกภาคส่วนในองค์ประกอบของอำนาจที่มีอยู่ในสก็อตแลนด์รวมถึงต่อราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ของอังกฤษด้วย มีผู้วิเคราะห์ว่าความหมกมุ่นที่อยากจะได้บัลลังก์อังกฤษมากเกินไปจนไม่มองปัญหาในสก็อตแลนด์ สุดท้ายก็ทำให้พระนางไม่มีแม้กระทั่งมงกุฎของสก็อตแลนด์ ก่อนที่จะมีพิธีแต่งงาน ราชินีแมรี่กล่าวกับทูตของราชินีอีลิซาเบธว่า “การที่จะไม่แต่งงานนั้น ท่านก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับตัวข้า” เหมือนเป็นการเหน็บราชินีอีลิซาเบธกลาย ๆ และการที่ราชินีแมรี่กับดาร์นลีย์เป็นญาติกันโดยหลักการแล้วแต่งงานกันไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้มีอำนาจเสมอ ซึ่งพระสันตะปาปาก็ยกเว้นให้ทั้งคู่แต่งกันได้
5
สำหรับสก็อตแลนด์ การที่ราชินีแมรี่อภิเษกกับดาร์นลีย์ทำให้ตระกูลเลนน็อกซ์ (Lennox) ของเขากลายเป็นตระกูลที่มีอำนาจของสก็อตแลนด์ จึงทำให้เจมส์พี่ชายต่างมารดาของพระนางเกิดความริษยาจึงกลายเป็นศัตรูกับราชินีแมรี่และสวามี และร่วมมือกับขุนนางโปรเตสแตนท์คนอื่น ๆ ก่อกบฏ
5
สำหรับราชินีอีลิซาเบธที่ 1 พระนางถือว่าดาร์นลีย์เป็นพลเมืองของอังกฤษและเป็นสมาชิกราชวงศ์ ซึ่งการแต่งงานจะต้องขออนุญาตจากพระนางเสียก่อนแต่ก็มิได้มีการขออนุญาตเกิดขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าขัดต่อพระราชอำนาจของพระนาง และราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ไม่ต้องการให้ผู้สืบเชื้อสายทิวเดอร์มาแต่งงานกับราชินีแมรี่เพื่อมาท้าทายสิทธิ์ในราชบัลลังก์จากพระนาง
8
และการแต่งงานครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จโดยเนื้อในของตัวมันเอง มีเรื่องซุบซิบกันว่าลอร์ดดาร์นลีย์นั้นเป็นไบเซ็กซวล แถมยังเป็นชายผู้อ่อนแอ ขี้เมาหยำเป แต่กลับโหดร้ายเจ้าอารมณ์ และทะเยอทะยานในอำนาจ เขาสั่งให้มอบอำนาจในการปกครองสก็อตแลนด์ร่วมกับราชินีให้แก่เขา และถ้าหากราชินีแมรี่สิ้นพระชนม์ไปก่อนเขาก็จะได้ครองบัลลังก์สก็อตแลนด์ต่อ แต่ราชินีแมรี่ปฏิเสธและปกครองสก็อตแลนด์โดยมิให้อำนาจใด ๆ แก่ดาร์นลีย์
5
ราชินีแมรี่มีที่ปรึกษาคนสนิทที่เป็นชาวอิตาเลียนชื่อว่าเดวิด ริคชิโอ (David Riccio) ซึ่งใกล้ชิดกับพระนางมากจนทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาเป็นพ่อของลูกในท้องราชินี และลอร์ดดาร์นลีย์เกิดความริษยา ในเดือนมีนาคม ปี 1566 ดาร์นลีย์จึงร่วมมือกับขุนนางชั้นสูงคนอื่น ๆ สังหารริคชิโอที่พระตำหนักโฮลีรู้ดต่อหน้าต่อตาราชินีแมรี่ในขณะที่กำลังตั้งท้องได้ 6 เดือน โดยลากตัวริคชิโอไปแทง 56 ครั้ง จึงทำให้ราชินีแมรี่เชื่อว่าแม้กระทั่งตัวพระนางเองดาร์นลีย์ก็คิดหมายเอาชีวิตด้วย ดังนั้นไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นการอภิเษกด้วยความรักหรือการเมือง มาถึงตอนนี้ความต้องการในชีวิตคู่นี้ก็หมดไป
8
เมื่อคลอดพระโอรสในเดือนมิถุนายน ก็มิได้ทำให้พระนางแมรี่กับดาร์นลีย์กลับมาปรองดองกันได้ แถมยิ่งมีรัชทายาทตามที่ต้องการแล้วราชินีแมรี่จึงมองหาวิธีการที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ที่แทบทนไม่ได้ในชีวิตคู่นี้ ส่วนพระโอรสของทั้งคู่มีชื่อว่าเจมส์ ผู้ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ และได้ครองบัลลังก์อังกฤษต่อจากราชินีอีลิซาเบธที่ 1 เป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ ได้รับการทำพิธีล้างบาปตามแบบพิธีคาทอลิกที่ปราสาทสเตอร์ลิง ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ชาวโปรเตสแตนท์ในสก็อตแลนด์ เพราะไม่ต้องการมีผู้ปกครองเป็นคาทอลิก
6
แปดเดือนต่อมา เชื่อกันว่าราชินีแมรี่ไปสานสัมพันธ์แบบชู้สาวกับเจมส์ แฮพเบิร์น เอิร์ลแห่งบอธเวลล์ (James Hepburn, Earl of Bothwell) ผู้ซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว แถมยังมีเรื่องเล่าว่าพระนางถึงขั้นวางแผนที่จะสังหารดาร์นลีย์แล้ววางแผนแต่งงานต่อจากนั้น แต่การคบชู้นี้ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดในตอนนั้นเลยนอกจากจดหมายและบทกลอนจำนวนหนึ่งที่เชื่อกันว่าราชินีแมรี่เขียนถึงบอธเวลล์ แต่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันลงความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันว่าพระนางคบชู้กับบอธเวลล์ไม่ได้
7
แต่ที่แน่ ๆ คือราชินีแมรี่ต้องการหย่าขาดจากดาร์นลีย์ โดยเฉพาะหลังจากที่พระนางล้มป่วยอย่างหนักจนเกือบสิ้นพระชนม์ในเดือนตุลาคม ปี 1566 พระนางอาเจียนตลอด พูดไม่ได้ มองไม่เห็น และหมดสติไปด้วย ซึ่งทำลายสุขภาพของพระนางและทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงด้วย ซึ่งดาร์นลีย์ก็ไม่ได้มาดูดำดูดี
6
ในยามดึกของวันที่ 9 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1567 บ้านพักที่ลอร์ดดาร์นลีย์ไปพำนักอยู่ที่ชานเมืองเอดินเบอระเพื่อฟื้นฟูสุขภาพได้เกิดระเบิดขึ้น หลังการระเบิดศพของเขาถูกพบในสวน แต่เขาไม่ได้ตายเพราะแรงระเบิด แต่พบว่าศพของเขาถูกรัดคอจนตายในขณะที่พยายามหนี ซึ่งสาเหตุของการระเบิดนี้มีคนลงความเห็นหลายอย่าง แนวคิดหนึ่งเชื่อว่าดาร์นลีย์วางแผนจะวางระเบิดเพื่อฆ่าราชินีแมรี่แต่กลับทำให้ตัวเองตายเสียก่อน
6
แนวคิดที่เชื่อกันมากที่สุดและเป็นไปได้ที่สุดคือดาร์นลีย์ถูกฆ่า และคนลงมือสังหารดาร์นลีย์คือเหล่าขุนนางที่เกลียดชังเขา ซึ่งคนที่เกลียดเขามากที่สุดคงหนีไม่พ้นเอิร์ลแห่งบอธเวลล์ ซึ่งเล่าลือกันในราชสำนักว่าเป็นชู้รักของราชินีแมรี่ แถมยังซุบซิบกันว่าพระนางกำลังตั้งท้องลูกของเขาอยู่ แต่เอิร์ลแห่งบอธเวลล์ผู้นี้หลุดรอดจากความผิดไปได้ ส่วนราชินีแมรี่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนี้ด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่พระนางกระทำหลังจากนี้เป็นสิ่งที่โง่เง่ามาก และสะท้อนถึงการไร้ซึ่งที่ปรึกษาที่ดีและฉลาดเฉลียว (หรือแท้จริงแล้วพระนางอาจจะไร้ซึ่งที่ปรึกษาเลยก็เป็นได้)
10
ภายหลังจากที่เอิร์ลแห่งบอธเวลล์หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาได้ไม่นาน ราชินีแมรี่ก็อภิเษกกับเขาหลังจากเหตุการณ์ระเบิดได้เพียง 3 เดือน ซึ่งเป็นการแต่งงานกับสามีคนที่ 3 ภายในปีเดียวกันกับที่สามีคนที่ 2 ถูกลอบสังหาร แถมบอธเวลล์ได้หย่ากับภรรยาคนแรกมาสด ๆ ร้อน ๆ ได้เพียง 12 วัน
4
ก่อนอภิเษกรอบ 3 มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้น คือ บอธเวลล์ลักพาตัวราชินีแมรี่และกักขังกระทำชำเราพระนาง ซึ่งบ้างก็เชื่อว่าพระนางไม่เต็มใจ แต่บ้างก็เชื่อว่าพระนางเต็มใจและรู้เห็นจึงสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อจะได้อ้างเหตุอภิเษกกับเขา ซึ่งคนเชื่อในเรื่องนี้มากกว่า แต่หากพระนางไม่ได้เต็มใจที่จะถูกลักพาตัวจริง แล้วการที่ยอมแต่งงานกับเขาแสดงว่าพระนางสิ้นหวังและสิ้นไร้ไม้ตอกมากที่จะรับมือกับกิจการอันปั่นป่วนวุ่นวายในสก็อตแลนด์ และต้องการอ้อมแขนอันแข็งแรงมาช่วยโอบอุ้มพระนางเอาไว้
3
เหตุการณ์นี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของราชินีแมรี่อย่างมหาศาล เพราะเป็นการแต่งงานที่อื้อฉาวและผู้คนไม่ยอมรับอย่างหนัก ขุนนางสก็อตรู้สึก ‘พอ’ แล้วกับราชินีฝรั่งเศสผู้เป็นคาทอลิกที่มีชีวิตส่วนตัวที่น่าสงสัยเช่นนี้ และขุนนางสก็อตคนอื่น ๆ ต่างริษยาและไม่ยอมรับการขึ้นสู่อำนาจของบอธเวลล์เหนือตระกูลขุนนางอื่นใด ราคาค่างวดของการแต่งงานครั้งนี้ที่ราชินีแมรี่ต้องจ่ายคือตำแหน่งราชินีแห่งสก็อตแลนด์
2
ภาพราชินีแมรี่กับดาร์นลีย์ (Image: Worldhistory.org)
👸🏼สละราชสมบัติและลี้ภัยไปอังกฤษ
ขุนนางสก็อตโกรธแค้นกับการกระทำของราชินีแมรี่มาก จึงก่อกบฏ (โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ผู้รอจังหวะนี้มานานแล้ว) ราชินีแมรี่เลยนำกองกำลังไปปราบเหล่าขุนนางเหล่านี้ เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ปี 1567 แต่ผลปรากฏว่าฝ่ายพระนางเป็นผู้พ่ายแพ้ไป
2
ในเดือนมิถุนายน ปี 1567 ราชินีแมรี่ถูกจับกุมตัวและถูกนำไปกักขังไว้ที่ปราสาทเลเวน (Leven Castle) ที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ และในวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1567 ราชินีแมรี่ถูกบังคับให้สละราชสมบัติให้แก่พระโอรสวัย 1 ปีของพระนางเอง และที่ปราสาทแห่งนี้ราชินีแมรี่ก็ได้แท้งลูกแฝดที่ท้องกับบอธเวลล์
1
ส่วนเอิร์ลแห่งบอธเวลล์หลบหนีไปที่แถบสแกนดิเนเวียและราชินีแมรี่ไม่เคยได้เจอกับเขาอีกเลยนับจากนั้น เพราะเขาถูกจับและจำคุกตลอดชีวิตที่เดนมาร์ก สุดท้าย 11 ปีต่อมาบอธเวลล์ตายที่นั่นด้วยสภาพที่กลายเป็นคนเสียสติ เมื่อปี 1578
7
ในเดือนพฤษภาคม ปี 1568 ราชินีแมรี่ได้หลบหนีออกจากปราสาทเลเวน พระนางพยายามหนีอยู่หลายรอบ รอบแรกปลอมตัวเป็นหญิงซักผ้าแต่ถูกจับได้และส่งตัวกลับ รอบสองพระนางพายเรือหนีออกจากเกาะและสำเร็จ แต่พระนางไม่ยอมแพ้ที่จะเรียกสิทธิ์ในบัลลังก์คืนมา จึงได้รวบรวมกองทัพเล็ก ๆ ขึ้นเพราะยังมีขุนนางบางตระกูลที่สนับสนุนพระนางอยู่ แต่กองทัพนี้ถูกตีแตกพ่ายไปโดยกองทัพของฝ่ายผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่เป็นพี่ชายต่างมารดาของพระนางเอง
3
ราชินีแมรี่กลัวสงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงหลบหนีลงมาทางใต้ยังชายแดนอังกฤษ ส่วนพี่ชายคนละแม่ของพระนางเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และกษัตริย์เจมส์ที่ 6 พระโอรสของพระนางถูกเลี้ยงดูตามแบบโปรเตสแตนท์
1
ภาพวาดเมื่อปี 1586 แสดงการไต่สวนราชินีแมรี่แห่งสก็อตที่ปราสาทฟอเธอร์ริงเกย์ เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม ปี 1586 (Image: Wikipedia)
👸🏼จุดจบราชินี
ในตอนแรกที่ลี้ภัยมายังอังกฤษ ราชินีแมรี่เชื่อว่าตนจะได้รับการสนับสนุนและช่วยให้คืนสู่บัลลังก์จากราชินีอีลิซาเบธ (ไม่น่าจะคิดได้เช่นนั้น เพราะไปก่อเหตุตั้งตัวเป็นศัตรูกันขนาดนั้น) ซึ่งในตอนแรกพระนางได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่เมื่อราชินีแมรี่กลายเป็นตัวการในการทำให้พวกคาทอลิกในอังกฤษและชาติคาทอลิกอย่างสเปนวางแผนโค่นล้มราชินีอีลิซาเบธแล้วให้ราชินีแมรี่ครองบัลลังก์อังกฤษแทน ราชินีอีลิซาเบธจึงออกคำสั่งให้กักกันตัวราชินีแมรี่ไว้ไม่ให้ออกจากที่พำนัก
1
ราชินีแมรี่ถูกคุมขังเป็นเวลา 19 ปีที่อังกฤษ โดยโยกย้ายที่กักขังตามปราสาทต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ วิธีบรรเทาความทุกข์ส่วนหนึ่งคือการใช้ศาสนาปลอบประโลมจิตใจ ส่วนหนึ่งคือทำงานเย็บปักถักร้อย และเลี้ยงสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างสุนัขและนกที่ร้องเพลงได้
3
การถูกกักขังทำให้พระนางไม่ได้ออกกำลังกายยิ่งทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง ความงามที่เคยมีก็ลดน้อยถอยลง แถมหุ่นที่เคยสะโอดสะองสูงเพรียวก็กลายเป็นตัวหนาตันขึ้น แต่การกักขังนี้ไม่ได้อยู่ในรูปขังกรงแคบ ๆ ไว้เหมือนนักโทษ เป็นการกักกันให้อยู่แต่ในตัวปราสาทไม่ให้ออกไปไหนและพบเจอใครนอกจากผู้ดูแลและคนรับใช้ส่วนตัว
4
สาเหตุที่ราชินีแมรี่ถูกกักกันตัวนานถึง 19 ปีเป็นเพราะราชินีอีลิซาเบธตัดสินใจไม่ได้ที่จะทำอย่างไรกับราชินีแมรี่ดี ด้านหนึ่งราชินีแมรี่คือตัวอันตรายที่เป็นหอกข้างแคร่พร้อมสั่นคลอนบัลลังก์ของพระนางได้ตลอด แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นญาติกันและได้รับอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นกษัตริย์เหมือนกัน การจะลงมือฆ่าไม่ใช่เรื่องที่ตัดใจทำได้ง่าย ๆ และถือเป็นบาป ราชินีอีลิซาเบธจึงผัดผ่อนการตัดสินใจไปเรื่อย ๆ และย้ายที่กักขังราชินีแมรี่ไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสมคบคิดเป็นกบฏและเกิดการชิงตัวไป โดยจะมีคนคอยเฝ้าสังเกตดูตลอด
4
แต่ราชินีแมรี่มิได้ยอมอยู่อย่างจำนน เมื่อถูกห้ามไม่ให้เจอพระคาทอลิกก็จะมีพระคาทอลิกปลอมตัวมาเป็นอย่างอื่นแทน และพระนางพยายามใช้พลังงานที่มีอยู่ไปกับการร้องขอให้ปล่อยตัวพระนางจากการจองจำที่เห็นว่าไร้ซึ่งความยุติธรรมนี้ แต่เมื่อไม่สำเร็จพระนางก็วางแผนคบคิดอย่างอื่นแทน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความอยู่รอดของพระนาง และด้วยความเป็นคาทอลิกของพระนางจึงทำให้ราชินีแมรี่มุ่งสนใจไปที่ความหวังว่าชาวคาทอลิกในอังกฤษจะต้องการให้มีราชินีคาทอลิกมาแทนที่ราชินีโปรเตสแตนท์อย่างอีลิซาเบธที่ 1
3
ฟางเส้นสุดท้ายมาถึงในปี 1586 เมื่อมีการพบว่ามีการวางแผนลอบสังหารราชินีอีลิซาเบธที่ 1 ราชินีแมรี่รบเร้าให้กษัตริย์ฟิลิปแห่งสเปนบุกอังกฤษและสังหารราชินีอีลิซาเบธ และชาวคาทอลิกจะก่อความไม่สงบขึ้น โดยขุนนางผู้จงรักภักดีต่อราชินีอีลิซาเบธสืบจนพบจดหมายลับและถอดรหัสออกมา แผนการนี้ถูกเรียกว่าแผนบาบิงตัน (Babington Plot) ตามชื่อขุนนางที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
4
วันที่ 14 ตุลาคม ปี 1586 มีการไต่สวนราชินีแมรี่ที่ศาลอังกฤษ ถึงแม้ว่าราชินีแมรี่จะประท้วงว่าพระนางบริสุทธิ์และปฏิเสธที่จะขึ้นศาลเพราะพระนางมีสถานะเป็นราชินี แต่จากหลักฐานการมีส่วนรู้เห็นกับแผนการนี้พระนางจึงต้องข้อหาเป็นกบฏ โทษคือประหารชีวิต
2
โอรสของพระนางผู้ซึ่งไม่เคยพบหน้าพระมารดาของตัวเองเลยตั้งแต่อายุได้ 10 เดือน รับทราบโทษการประหารชีวิตนี้โดยไม่ได้แสดงการคัดค้านใด ๆ อาจจะเป็นเพราะมุ่งความสนใจไปที่การสืบต่อราชบัลลังก์อังกฤษจึงไม่แสดงอาการใด ๆ ที่เป็นเหตุให้บัลลังก์อังกฤษหลุดลอย เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมกับสิ่งที่พระมารดาเคยทำ (แต่บางแหล่งข้อมูลบอกว่าพอราชินีแมรี่ถูกประหารแล้ว กษัตริย์เจมส์ที่ 6 ส่งจดหมายมาบ่นแบบเป็นทางการพอเป็นพิธี)
6
ขุนนางอังกฤษต่างเคยรบเร้าให้ราชินีอีลิซาเบธที่ 1 สั่งประหารราชินีแมรี่มาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าตราบใดที่ราชินีแมรี่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ของพระองค์ไม่รู้จบสิ้น แต่พระนางลังเลที่จะทำเช่นนั้นเพราะไม่อยากสังหารญาติของตัวเอง อีกทั้งการสั่งประหารผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์หรือราชินีของชาติอื่นจะทำให้เกิดปัญหาตามมาจากการที่ชาติอื่น ๆ จะไม่ยอมรับ
3
แต่ท้ายที่สุด ราชินีอีลิซาเบธก็ลงนามสั่งประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1587 โดยระบุว่าก่อนประหารขอให้เหล่ามนตรีมาหารือกับพระนางเสียก่อน แต่เหล่าคณะมนตรีมิได้แจ้งพระนางและรวบรัดตัดตอนให้ปัญหานี้จบสิ้นไป ราชินีแมรี่จึงถูกนำตัวไปประหารที่ปราสาทฟอเธอริงเกย์ (Fotheringhay Castle ซึ่งปัจจุบันปราสาทนี้ถูกทำลายไปแล้ว) พระนางถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัวเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ปี 1587 จบระยะเวลา 44 ปีที่มีชีวิตโลดแล่นในการเมืองยุโรป
10
ในวันถูกประหาร ราชินีสวมชุดดำและสวมกระโปรงชั้นในสีแดงเพื่อแสดงความเชื่อในคาทอลิกเรื่องการสละชีพ เรื่องเล่าว่าเมื่อราชินีแมรี่คุกเข่ารอการตัดคอ พระนางกล่าวขอบคุณเพชฌฆาตที่ทำให้ “ปัญหาทุกอย่างของข้ายุติลง” จากนั้นเพชฌฆาตฟันขวานลงไป 3 รอบ เมื่อคอขาด เพชฌฆาตก็ชูหัวพระนางขึ้นให้แก่ผู้มาดูเป็นสักขีพยานพร้อมกับตะโกนว่า “God save the queen.” (หมายถึงราชินีอีลิซาเบธ) แต่หัวของราชินีแมรี่ร่วงหล่นลงไปเหลือแต่วิกในมือเพชฌฆาต ร่างของพระนางถูกฝังไว้ที่โบสถ์ปีเตอร์เบอเรอะ (Peterborough Cathedral)
9
เมื่อราชินีอีลิซาเบธรู้เรื่องการประหารพระนางกริ้วมากที่บรรดาคณะมนตรีไม่มาหารือพระนางก่อน แต่พระนางก็มิได้ลงโทษเหล่าขุนนางรุนแรงอะไร มิหนำซ้ำพระองค์อาจจะโล่งใจด้วยซ้ำที่ไม่ต้องเอ่ยปากสั่งประหารด้วยตัวพระองค์เอง
3
เมื่อพระโอรสของราชินีแมรี่ได้กลายเป็นกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษสืบต่อจากราชินีอีลิซาเบธในปี 1603 ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่มีความทรงจำใด ๆ เกี่ยวกับพระราชมารดา แต่ในปี 1612 พระองค์ได้ขุดหลุมฝังศพของราชินีแมรี่แล้วนำไปฝังใหม่ในสถานที่ที่มีเกียรติกว่า คือที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey)
4
กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษคือต้นราชวงศ์สจ๊วร์ต ที่ขึ้นชื่อในเรื่องที่คนในราชวงศ์นี้มักต้องถูกตัดหัวในเวลาต่อมา
3
ที่ฝังพระศพราชินีแมรี่แห่งสก็อตแลนด์ (Image: Dean and Chapter of Westminster)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา