18 พ.ค. 2021 เวลา 02:45 • ความงาม
เครื่องประดับจีนโบราณ (ของสื่อรักมัดใจ)
เครื่องประดับจีนโบราณ (ของสื่อรักมัดใจ)
- ต่างหู
สตรีจีนมีค่านิยมใส่ต่างหูเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบหมุด ห่วง แป้น หรือห้อยระย้า มีหลากแบบมากมาย โดยถูกเอ่ยถึงในบันทึกโบราณของจีนหลายแห่งเช่นกัน ที่พบเก่าแก่สุดคือในบันทึกโบราณซานไห่จิง ซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ สมัยก่อนฉิน (ราชวงศ์ฉิน 221-206 ปีก่อนค.ศ.)
#สาระจี๊ดจี๊ด
"หลี่อี๋ว์" นักประพันธ์ นักเขียนบทละครชื่อดังสมัยต้นราชวงศ์ชิง ก็เคยกล่าวถึงค่านิยมความงามของสตรีจีนไว้ว่า "หนึ่งปิ่นหนึ่งต่างหู ของคู่เคียงกายตลอดชีวิต" แสดงถึงความสำคัญของต่างหู ที่ถูกใช้เป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญของสตรีจีนมาแต่เก่าก่อน ซึ่งสมัยโบราณการหมั้นหมายถือเป็นการกำหนดความสัมพันธ์ชายหญิงสำคัญรองจากการแต่งงานเท่านั้น โดยจะต้องผ่านความยินยอมจากพ่อแม่ และมีแม่สื่อมาทาบทามสู่ขอ
- ปิ่นปักผม
ปิ่นปักผม ถือเป็นของใช้งานประจำกายชาวจีนสมัยโบราณ เพื่อใช้ยึดรวบผม ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องตกแต่งเพื่อความสวยงามชิ้นสำคัญของสตรีจีนด้วย รูปแบบก็มีความหลากหลาย ทั้งแบบขาเดียว สองขา หรือแบบมีพู่ห้อยระย้าเพิ่มความพิเศษงดงาม มีการพัฒนาต่อเนื่องจนได้รับความนิยมเฟื่องฟูสูงในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) และซ่ง (ค.ศ.960-1279) จะเห็นได้จากภาพวาดสตรีสมัยถังบนผนังถ้ำโม่เกาคู เมืองตุนหวง ที่มีการติดปิ่นประดับผมให้เห็นได้มากมาย
#สาระจี๊ดจี๊ด
ในสมัยโบราณพิธีบรรลุนิติภาวะของเด็กชายตระกูลสูงศักดิ์จะมีพิธีสวมกวาน (มงกุฏเล็ก) ซึ่งก็จะใช้ปิ่นเสียบยึดไม่ให้เลื่อนหลุด ส่วนเด็กหญิง โดยทั่วไปพออายุ 15 ปี จะมีพิธีเกล้าผมปักปิ่น แสดงถึงการโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถแต่งงานออกเรือนได้แล้ว ดังนั้น ปิ่นจึงเป็นตัวแทนความทรงเกียรติด้วย และหากฝ่ายชายปิ๊งสาวนางไหนเข้า ก็จะซื้อปิ่นปักผมมอบเป็นของขวัญแทนใจ ยิ่งสวยยิ่งล้ำค่าก็เหมือนแทนน้ำหนักความในใจของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ
- ถุงหอม
ชาวจีนสมัยโบราณให้ความสำคัญกับเครื่องหอมมาก โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนราชวงศ์ฉิน (ราชวงศ์ฉิน 221 -206 ปีก่อนคริสตศักราช) ไม่ว่าจะชนชั้นปกครองหรือสามัญชนคนทั่วไป จะเป็นชายหรือหญิง ต่างนิยมพกของหอมติดตัว ในบันทึกโบราณเกี่ยวกับมารยาททางสังคมก่อนยุคฉินที่ชื่อว่า " หลี่จี้ " ระบุว่าหากผู้เยาว์จะพบผู้ใหญ่ต้องทำการบ้วนปาก ล้างมือ หวีผมจัดเสื้อผ้าอาภรณ์ให้เรียบร้อย และยังต้องห้อยถุงหอมติดตัวด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ล่วงเกินผู้หลักผู้ใหญ่
#สาระจี๊ดจี๊ด
กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมเกี่ยวกับเครื่องหอมของจีนเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยฉิน เรื่อยมาจนได้รับความนิยมเฟื่องฟูอย่างถึงที่สุดในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) และเนื่องจากถุงหอมเป็นของที่พกติดกายไว้ตลอด การเย็บปักมอบถุงหอมให้แก่กัน จึงเป็นเสมือนตัวแทนถ่ายทอดความในใจให้กันของหนุ่มสาวจีนโบราณ
- หยก
นับแต่โบราณ ชาวจีนนำหยกมาแกะสลักเป็นข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะมากมาย รวมถึงทำเป็นเครื่องประดับเครื่องรางเพื่อพกติดตัวด้วย ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีนสมัยโบราณอย่างมาก โดยเฉพาะเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญของชายจีนที่ห้อยเอวให้เห็นได้ชัดเจนด้วย ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า " หากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หยกจะพกติดกายไม่มีห่าง " และ " ความงามของหยก เปรียบได้กับคุณธรรมของสุภาพชน " เมื่อห้อยหยกพกติดตัวไม่ห่างกาย การจะนำไปมอบให้หญิงสาว จึงเปรียบเสมือนเครื่องแสดงความจริงใจ และให้ไว้คอยคุ้มครองสาวคนรักแทนตัว
#สาระจี๊ดจี๊ด
นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวอีกว่า "เห็นหยกเหมือนเห็นคน" เพราะหยกที่พกประดับนี้ เป็นเสมือนเครื่องแสดงฐานะบอกระดับของผู้ที่พกพาด้วยว่า เป็นคนจากตระกูลผู้ดีมีฐานะ มีวิชาความรู้ติดตัว หรือเป็นถึงเชื้อพระวงศ์
- หวี
สมัยโบราณสังคมจีนยังไม่เปิดกว้าง คนหนุ่มสาวจะบอกรักกันตรง ๆ ไม่ได้ ต้องบอกผ่านสายลมแสงแดดแฝงไปในบทกวีแทน เพราะฉะนั้นจะสื่อให้ชัดให้มัดใจกันได้ชัวร์ ควรต้องมีอะไรที่จับต้องเอาไว้ให้คิดถึงแทนตัวได้ด้วยถึงจะดี ซึ่ง " หวี " เป็นอีกหนึ่งของสื่อรักมัดใจเอาไว้มอบให้กัน ซึ่งจะแทนถึงการหมั้นหมายว่าจะขอครองคู่กันไปจนแก่เฒ่า
#สาระจี๊ดจี๊ด
เนื่องจากหวีเป็นอุปกรณ์ใกล้ตัว จึงช่วยเตือนใจให้คอยระลึกถึงกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งหญิงจีนในสมัยโบราณ เมื่อต้องแต่งงานออกเรือนไปจะมีธรรมเนียมที่คนในครอบครัวหวีผมให้เจ้าสาว " หวีหนึ่งให้ราบรื่นถึงปลายสุด หวีสองให้รักใคร่ปรองดองไปจนแก่เฒ่า หวีสามให้ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง " ถือเป็นการอวยพรให้แก่ลูกหลานที่จะออกเรือน นอกจากนี้ การหวีผมในแต่ละวันยังทำให้ดูดีมีสง่าราศี เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองได้ด้วย หวีจึงยังเป็นตัวแทนถึงความแข็งแรงและมีความสุขสดใส
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา