10 เม.ย. 2023 เวลา 05:54 • ข่าวรอบโลก

“The Seven Sisters - พี่น้อง 7 นาง” อดีตบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก

ในอดีต มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่ทรงอิทธิพลระดับโลกครอบงำทั้งธุรกิจน้ำมันและโยงใยมาครอบงำการเมืองอยู่ 7 บริษัทจนถูกขนานนามว่า “The Seven Sisters” หรือ “พี่น้อง 7 นาง” หรือ “พี่น้องทั้ง 7”
1
เกือบทั้งหมด เป็นบรรษัทน้ำมันข้ามชาติของสหรัฐฯ ที่เข้าไปทำธุรกิจน้ำมันในตะวันออกกลาง ทั้งฉกฉวยกอบโกยผลประโยชน์ทรัพยากรน้ำมันของบรรดาประเทศในตะวันออกกลาง และผูกขาดการผลิตและซื้อขายน้ำมัน จนบรรษัทน้ำมันเหล่านี้ร่ำรวยมหาศาล
เมื่อประเทศเจ้าของทรัพยากรน้ำมันมิได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของตนได้อย่างเต็มที่ จึงพลิกเกมด้วยการร่วมมือกันก่อตั้งองค์กรของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ OPEC ในที่สุด
ต่อไปนี้คือโฉมหน้าพี่น้องทั้ง 7 นาง
•พี่น้องทั้งเจ็ดยุคเก่า
คนที่เรียก “The Seven Sisters” ขึ้นมาเป็นคนแรกคือ Enrico Mattei เจ้าของบริษัทน้ำมันของอิตาลี เมื่อปี 1951 แต่พี่น้อง 7 นางนี้ครอบงำอุตสาหกรรมของโลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 ซึ่งในช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดพี่น้อง 7 นางนี้ควบคุมน้ำมันและก๊าซสำรองของโลกมากถึง 85%
ส่วนเหตุที่ต้องเรียกว่า “ยุคเก่า” เพราะพี่น้องหลายคนในบรรดาเจ็ดนางนี้ได้ทำศัลยกรรมตกแต่งเปลี่ยนแปลงโฉมหน้า หรือกล่าวตรง ๆ คือบรรษัทน้ำมันทั้ง 7 นี้ได้ควบรวมกิจการหรือเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามไป จึงใช้คำว่าพี่น้องทั้งเจ็คในยุคเก่า บรรษัทเหล่านี้ประกอบไปด้วย:
  • 1.
    Standard Oil of New Jersey หรือ Standard Oil Company
  • 2.
    Socony-Vacuum Oil Company
  • 3.
    Standard Oil Company of California
  • 4.
    Texas Company
  • 5.
    Gulf Oil Company
  • 6.
    Anglo-Persian Oil Company
  • 7.
    Royal Dutch Shell group
ห้านางแรกเป็นคนอเมริกัน ส่วนอีกสองนางสุดท้ายเป็นอังกฤษ และลูกครึ่งอังกฤษ-ดัตช์ ตามลำดับ
1. เรามาดูนางคนแรกกันก่อนดีกว่า Standard Oil of New Jersey ชื่อนี้ไม่คุ้นหูเลย แต่ต่อมาในปี 1972 นางก็เปลี่ยนชื่อเป็น Exxon จนมีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงทุกวันนี้
2. นางที่สอง ชื่อว่า Socony-Vacuum Oil Company (ซึ่ง Socony มาจากชื่อย่อของ Standard Oil Company of New York และควบรวมกิจการกับ Vacuum Oil Company) แล้วจากนั้นก็ตามรอยพี่สาวเปลี่ยนชื่อเป็น Socony Mobil ในปี 1955 แต่ก็ยังไม่พอใจ เลยเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สั้นลงจะได้จำง่าย ๆ ว่า Mobil ในปี 1966
พอมาในปี 1998 พี่คนที่หนึ่งคือ Exxon ก็ควบรวมกับพี่คนที่สองคือ Mobil กลายเป็น Exxon-Mobil
4
3. นางที่สาม มีชื่อว่า Standard Oil Company of California ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อจนคนคุ้นหูกันดีว่า Chevron
4. นางที่สี่ ชื่อว่า Texas Company เปลี่ยนชื่อให้เก๋ว่า Texaco ในปี 1959 และก็ถูก Chevron ควบรวมไปในปี 2001
5. นางที่ห้า Gulf Oil Company ซึ่งต่อมาก็รวมร่างถูกพี่คนที่สามซื้อกิจการในปี 1984 ก็กลายเป็นบรรษัทเดียวกับพี่สาวคนที่สามที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Chevron
6. นางคนที่ 6 คือ Anglo-Persian Oil Company ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Anglo-Iranian ในปี 1935 และก็เปลี่ยนชื่ออีกเป็น British Petroleum ในปี 1954 ที่ต่อมาเราเรียกกันสั้น ๆ ว่า BP นั่นเอง ซึ่งตอนแรกรัฐบาลอังกฤษถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1914 จนมาถึงราวทศวรรษที่ 1980 นายกรัฐมนตรีหญิงมาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ ก็ขายหุ้นของรัฐบาลให้แก่นักลงทุนเอกชน
2
7. นางคนสุดท้าย Royal Dutch Shell group ชื่อนี้ใช้มายาวนานที่เรารู้จักกันคือ Shell นางเป็นลูกครึ่ง โดยดัตช์ถือผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนอังกฤษถือ 40% แต่การดำเนินกิจการและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอน เลยถูกมองว่าเป็นบรรษัทของอังกฤษไป
1
• การเมืองเรื่องผลประโยชน์น้ำมัน
ตอนปี 1945 สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณการผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก แต่การขุดเจาะน้ำมันในประเทศไม่เท่ากับสัดส่วนความต้องการที่มากขึ้น สงครามโลกทำให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น และเมื่อสงครามยุติความต้องการน้ำมันยิ่งสูงขึ้นไปอีก สหรัฐฯ มีการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงมาก
สิ่งที่สหรัฐฯ ทำคือการมองหาแหล่งน้ำมันจากภายนอกเพื่อมาเติมความต้องการนี้ ดังนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ จึงไปหนุนหลังบรรษัทน้ำมันทั้ง 7 นี้ เพื่อพยายามควบคุมธุรกิจน้ำมันในตะวันออกกลางเพื่อนำไปป้อนความต้องการน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันตก เพราะต้องการน้ำมันไปขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกภายหลังสงคราม
ซึ่งแหล่งที่มีน้ำมันมากที่สุดในโลกคือตะวันออกกลางกับลาตินอเมริกา และบรรษัทน้ำมันทั้งห้าของสหรัฐฯ กับอีกสองบรรษัทน้ำมันของอังกฤษและอังกฤษกับดัตช์ที่ทำสัมปทานน้ำมันโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ถูกขนานนามว่า Seven Sisters นี้เป็นตัวสร้างและควบคุมระเบียบพลังงานโลกหลังสงคราม ซึ่งทำให้ประเทศตะวันตกบริโภคน้ำมันได้ในราคาที่ถูก
สิ่งนี้ทำให้กลุ่มประเทศเจ้าของน้ำมันมองว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ เพราะมองว่าได้ผลประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้ ดังนั้นในปี 1960 ประเทศที่ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางกับลาตินอเมริกาจึงรวมตัวกันก่อตั้ง Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC) ขึ้น เพราะมองเห็นถึงความไม่เท่าเทียมในธุรกิจน้ำมันที่ครอบงำโดยบรรษัทจากชาติตะวันตกที่เรียกว่า the Seven Sisters นี้
กลายเป็นว่าสภาพภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป OPEC ช่วงชิงอำนาจในธุรกิจน้ำมันของโลกไปจาก the Seven Sisters ได้ระหว่างปี 1969 - 1973 ยิ่งเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลนในปี 1973–1974 ยิ่งทำให้ OPEC มีอำนาจควบคุมทั้งการผลิตน้ำมันและควบคุมราคาน้ำมันโดยสิ้นเชิง เตะพี่น้องทั้งเจ็ดกระเด็นตกกระป๋องไป และทำให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพา OPEC ในด้านความมั่นคงด้านพลังงานแทน
แต่การต่อสู้ด้านพลังงานยังไม่ยุติและยังดำเนินต่อไปมาจนถึงปัจจุบัน บรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่เคยทรงอำนาจอย่างพี่น้องทั้งเจ็ดปรับตัว และมีบรรษัทน้ำมันหน้าใหม่ ๆ ก้าวเข้ามา น้ำมันไม่ใช่สินค้าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดสงคราม เกิดการแทรกแซงทางการเมือง การพยายามโค่นล้มผู้นำในลาตินอเมริกาและตะวันออกกลาง โดยมีบรรษัทน้ำมันและรัฐบาลตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง
•พี่น้องทั้งเจ็ดยุคใหม่
ทุกวันนี้ พี่น้องทั้ง 7 นาง กลายเป็นบรรษัท 4 แห่งคือ ExxonMobil, Chevron, BP และ Royal Dutch Shell แล้วทั้ง 4 บรรษัทนี้รวมกับบรรษัทอื่น ๆ ถูกเรียกใหม่ว่าเป็น “seven SUPERMAJORS” หรือ “the new Seven Sisters” ซึ่งได้แก่:
  • 1.
    BP (British Petroleum)
  • 2.
    CHEVRON
  • 3.
    EXXONMOBIL
  • 4.
    ROYAL DUTCH SHELL
  • 5.
    TotalEnergies (ฝรั่งเศส)
  • 6.
    ConocoPhillips (สหรัฐฯ)
  • 7.
    ENI (Ente Nazionale Indrocarburi) (อิตาลี)
เมื่อปีที่แล้ว (2022) พี่น้องทั้งเจ็ดยุคใหม่นี้มีผลกำไรอย่างงามดังต่อไปนี้:
1. ExxonMobil – 59.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2. Shell – 39.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. Chevron – 36.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. TotalEnergies – 36.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. BP – 27.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6. ConocoPhillips – 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
7. ENI – 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่บางเจ้าอย่างนิตยสาร Financial Times ได้ระบุแตกต่างไปว่าพี่น้องทั้งเจ็ดยุคใหม่นั้นเป็นบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด และครอบครองการผลิตน้ำมันและก๊าซของโลกรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ซึ่งได้แก่
  • 1.
    Saudi Aramco ของซาอุดิอาระเบีย
  • 2.
    Gazprom ของรัสเซีย
  • 3.
    CNPC ของจีน
  • 4.
    NIOC ของอิหร่าน
  • 5.
    PDVSA ของเวเนซูเอล่า
  • 6.
    Petrobras ของบราซิล
  • 7.
    Petronas ของมาเลเซีย
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา